Unbreakable

วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ | Unbreakable กับกรอบความคิดในการหาความจริง ความเชื่อ และการอธิบายโลก

Unbreakable เป็นหนึ่งในหนังเรื่องโปรดของผม และเวลาใครถามว่าชอบผู้กำกับฮอลลีวูดคนไหน ผมมักจะนึกถึง เอ็ม. ไนต์ ชยามาลาน พอตอบไปพวกเขาก็มักจะทำหน้าแปลกใจ ว่าทำไมผู้กำกับที่ทำงานแบบผีเข้าผีออกคนนี้ถึงได้น่าสนใจ

     ผมชอบหนังของชยามาลาน ไม่ใช่เพราะว่ามันสนุกหรือว่าบันเทิงอะไร แต่เพราะเวลาดูๆ ไปมันเหมือนได้เล่นเกมทายปริศนา เรื่องราวที่สมมติเงื่อนไขประหลาดๆ ขึ้นมาดูไม่ค่อยสมจริง และตัวละครทำอะไรก็ไม่ค่อยมีเหตุมีผล แต่เมื่อนำทุกองค์ประกอบมารวมกัน มันมีรูปแบบบางอย่างที่คอยบอกใบ้เรา ว่าจริงๆ แล้วทั้งเรื่องนี้สร้างขึ้นมาเพื่อบอกประเด็นอะไรกันแน่

     และเหมือนเดิม Unbreakable ไม่ได้เป็นหนังที่สนุก แต่มันเป็นเกมปริศนาที่สนุก เพราะรุ่มรวยไปด้วยประเด็นปรัชญาที่แอบแฝงอยู่ เหมือนเรานั่งเรียนอยู่ในวิชาระเบียบวิธีวิจัย สอนให้เราค้นหาความรู้และความจริงของโลก
เริ่มตั้งแต่แนวความคิด หรือ concept เราเริ่มต้นค้นหาความจริง ด้วยการนำแนวความคิดมาทดสอบว่าถูกต้องหรือไม่ โดยการตั้งสมมติฐาน หรือ hypothesis เพื่อพิสูจน์ด้วยวิธีการต่างๆ เมื่อสมมติฐานถูกต้อง มันก็กลายเป็นทฤษฎี หรือ theory และเมื่อทฤษฎีถูกพิสูจน์ซ้ำๆ จนไม่มีจุดผิดและถูกต้องเสมอ เราก็จะยกให้มันเป็นกฎ หรือ law และเรียกว่า unbreakable เหมือนกับชื่อหนังเรื่องนี้

 

     ในวิชาปรัชญา กล่าวถึงวิธีการแสวงหาความจริงด้วยการใช้เหตุผลหรือการอนุมานทำได้ 2 วิธี คือ การอนุมานแบบนิรนัยและการอนุมานแบบอุปนัย

     นิรนัยคือการนำความเชื่อหรือความรู้เดิม มาสรุปเหตุการณ์ย่อยว่าเป็นไปตามนั้นด้วย เช่น การบอกว่ามนุษย์ทุกคนต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย (ความรู้เดิม) ฉันคือมนุษย์ (เหตุการณ์ย่อย) ฉันก็ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย (คำตอบที่ได้) ส่วนอุปนัยคือการนำหลายเหตุการณ์ที่ตรงกันมาสรุปรวมเป็นความรู้ ว่าเหตุการณ์อื่นๆ ก็เป็นเหมือนกันหมด เช่น เรากำลังจะไปซื้อส้มในตลาด อยากรู้ว่าส้มหวานไหม เราเลยขอลองหยิบมาชิม ลูกแรกหวาน ลูกที่สองก็หวาน เราเลยยอมซื้อส้มมา 1 กิโลกรัม โดยความเชื่อว่าส้มทั้งหมดนี้จะต้องหวานเหมือนส้มที่หยิบมาชิม

     ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติก็ถกเถียงกันมาตลอดว่า วิธีการนิรนัยและวิธีอุปนัย แบบไหนดีกว่าและให้เราได้ความจริงแท้มากกว่ากัน ใน Unbreakable คือการต่อสู้กันระหว่างพระเอกและผู้ร้ายที่ใช้วิธีค้นหาความจริงแบบอุปนัยและนิรนัยตามลำดับ นับตั้งแต่เมื่อรถไฟขบวนที่ 177 เกิดอุบัติเหตุตกราง และมีเพียงพระเอกคนเดียวที่รอดชีวิตมาได้ นั่นจะนำมาอธิบายความจริงว่าอย่างไรได้บ้าง?

     ‘How many days of your life have you been sick? ประโยคคำถามในซองจดหมายลึกลับที่ถูกนำมาเสียบไว้ตรงกระจกหน้ารถ แสดงให้เราเห็นการแสวงหาความจริงของโลก ด้วยวิธีการ 2 แนวทาง

     ตัวร้ายใช้วิธีนิรนัย นำหนังสือการ์ตูนที่มีการมองโลกแบบสองขั้วตรงข้ามดำ-ขาว มาสร้างทฤษฎีอธิบายอาการเจ็บป่วยของตนเอง ที่เกิดมากระดูกเปราะ แตกหักง่ายเหมือนกระจก แปลว่าต้องมีคนในอีกขั้วตรงข้ามหนึ่งซึ่งแข็งแกร่ง ไม่มีวันแตกหัก เขาพยายามก่อการร้ายไปทั่วโลกเพื่อเฟ้นหาคนที่ unbreakable

     พระเอกใช้วิธีอุปนัย เริ่มต้นการแสวงหาความจริงจากการไม่รู้อะไรเลย และค่อยๆ เก็บข้อมูลมาเพิ่มเรื่อยๆ กระบวนการพิสูจน์ของพระเอกนั้นแสนเขย่าขวัญ คนดูลุ้นตัวโก่งในฉากที่เขายกน้ำหนัก โดยทดลองเพิ่มจำนวนลูกเหล็กเข้าไปเรื่อยๆ หรือตอนที่ลูกชายคว้าปืนมาจะยิงใส่ เพื่อจะได้รู้กันชัดๆ ว่าเขา unbreakable จริงหรือไม่

     วิธีนิรนัยเป็นวิธีหาความรู้ตั้งแต่บรรพกาล เป็นการคิดหาเหตุผลหรือความรู้มาอธิบายโลกและชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่จะได้คำตอบมาเป็นเรื่องพระเจ้า เทพเจ้า ความจริงสัมบูรณ์หนึ่งเดียว แล้วก็นำมาอธิบายเหตุการณ์ย่อยๆ ที่เกิดขึ้น ข้อจำกัดของมันคือถ้าชุดเหตุผลหรือทฤษฎีเริ่มต้นนั้นผิด ก็จะนำไปสู่คำตอบที่ผิดไปด้วยในท้ายที่สุด

     วิธีอุปนัยเป็นวิธีหาความรู้ในโลกสมัยใหม่ เป็นยุคสมัยที่คนเราเกิดความคิดแบบมนุษยนิยม เริ่มให้ความสำคัญกับศักยภาพของตนเอง คิดว่าตนเองสามารถเข้าถึงความจริงแท้ ได้จากการใช้เหตุผลและการใช้ประสาทสัมผัสเพื่อการสังเกต ซึ่งก็คือวิธีการทางวิทยาศาสตร์นั่นเอง

 

     หนังแนวซูเปอร์ฮีโร่ในสมัยนี้มักจะนำเสนอพระเอกที่มีความเป็นมาซับซ้อน มีความคิดในด้านมืด มีความเศร้าและระทมทุกข์ ซูเปอร์ฮีโร่ใน Unbreakable ก็เป็นเช่นเดียวกัน

     ชยามาลานต้องการจะบอกว่าโลกสมัยใหม่นั้นแห้งแล้ง ความทุกข์โศกในใจของผู้คนสมัยนี้เกิดจากการไม่เข้าใจว่าตนเองคือใคร เกิดมาทำไม ชีวิตนี้มีจุดประสงค์อะไร พวกเราไม่เคยมีทฤษฎีเกี่ยวกับชีวิตตัวเองเลย ความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นจากกระบวนทัศน์ที่เน้นว่าความจริงมีแต่แบบภววิสัย ตั้งอยู่ภายนอกตัว และต้องพิสูจน์ได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

     จนกระทั่งเราได้รับคำถามว่า How many days of your life have you been sick? คือเมื่อมีใครสักคนนำความเชื่อบางอย่างมาใส่ในหัวของเรา อาจจะเป็นศาสนาหรือลัทธิ เขามาบอกว่าเรามีศักยภาพอะไร เกิดมาทำไม และมีชีวิตอยู่ไปเพื่อจุดประสงค์ใด เมื่อมีสิ่งนี้ ความเข้าใจในตัวเองจึงบังเกิด นำไปสู่ความสงบสุขและพึงพอใจในตัวเอง

     Unbreakable ไม่ได้ให้ข้อสรุปแบบฟังธงลงไปว่าใครดีใครเลว ใครถูกใครผิด หรือวิธีการหาความจริงแบบไหนใช้ได้ผลกว่ากัน ชยามาลานเพียงแค่เสนอว่า ในจักรวาลหนังของเขา เปรียบเหมือนสภาพสังคมปัจจุบันของเรา คือมีผู้คนแตกต่างหลากหลายในความเชื่อ กรอบความคิด และกระบวนการทางความคิด เรื่องเลวร้ายที่เราปฏิบัติต่อกัน รวมถึงบรรดาโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น ก็ล้วนเกิดขึ้นจากการปะทะกันของกระบวนการค้นหาความจริงที่แตกต่างกันนี้

     บทเรียนที่ผ่านมาทำให้เราตระหนักว่า ต้องมีทั้งวิทยาศาสตร์และศาสนา มีทั้งอุปนัยและนิรนัยอยู่พร้อมกันจึงจะเข้าถึงศักยภาพที่แท้จริง และความจริงแท้ของชีวิตเราได้

 


หมายเหตุ: เรียบเรียงจากบล็อกส่วนตัวเมื่อปี ค.ศ. 2009