Urban Tribes

วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ | โครงสร้างความสัมพันธ์ที่ถูกสร้างมาตั้งแต่สังคมบรรพกาล

เวลาช่วงหยุดสงกรานต์ของผมหมดไปกับการนอนดู Stranger Things แบบข้ามวันข้ามคืนจนจบซีซัน

มันมีพล็อตเรื่องง่ายๆ เกี่ยวกับกลุ่มเด็กผู้ชายที่เผอิญไปเจอเด็กสาวแปลกหน้าผู้มีพลังพิเศษ แล้วทั้งหมดก็ร่วมออกเดินทางผจญภัยเพื่อช่วยชีวิตเพื่อนของพวกเขาจากเงื้อมมือสัตว์ประหลาดต่างมิติ

 

     ทำไมพล็อตง่ายๆ แบบนี้จึงดึงดูดให้เราติดตามไปเรื่อยๆ แบบหยุดไม่ได้ คำตอบคือเพราะมันเข้าร่องเข้ารอยกับธรรมชาติบางอย่างในชีวิตของเรา

 

     เคยสังเกตไหม? ว่าเรื่องเล่าต่างๆ ในป๊อปคัลเจอร์ที่เราเสพกัน มักจะดำเนินผ่านกลุ่มบุคคลที่มีรูปแบบคงที่สม่ำเสมอ เจ้ารูปแบบที่ว่านี้คือการนำตัวละครมาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีจำนวนตั้งแต่ 3-4 คนขึ้นไป โดยแต่ละคนมีลักษณะบุคคลแตกต่างกัน เพศ สีผิว ความสามารถ ความสนใจ ฯลฯ แต่ทุกคนยึดโยงเข้าด้วยกันด้วยโครงสร้างความสัมพันธ์ที่มีรูปแบบซ้ำๆ กันทุกเรื่อง

     ยกตัวอย่างชัดๆ ลองนึกถึงซิตคอมยอดนิยมที่ผ่านมาอย่าง Seinfeld, Friends และ Sex and the City ก็มีตัวละครเอกเป็นกลุ่มเพื่อนประมาณนี้ คนหนึ่งเป็นผู้นำกลุ่ม คนหนึ่งเป็นผู้ทรงพลัง คนหนึ่งเป็นหัวสมอง อีกคนหนึ่งเป็นตัวตลกคอยสร้างปัญหาความยุ่งยาก ฯลฯ

     รูปแบบที่ซ้ำกันเช่นนี้ไม่ได้มีเฉพาะแค่ในทีวีซีรีส์ฝรั่ง ถ้าใครยังจำได้ เป็นต่อ ซิตคอมของบ้านเราก็มีตัวละครแบบเดียวกันนี้ รวมไปถึงการ์ตูนญี่ปุ่นจำพวกมนุษย์ห้าสีที่สร้างมาตลอดหลายสิบปี แต่ละสีก็จะมีลักษณะบุคคลแตกต่างกัน เมื่อมาอยู่รวมกัน แต่ละสีจะมีรูปแบบคงที่ คือสีแดงเป็นหัวหน้า สีน้ำเงินเป็นรองหัวหน้า สีเหลืองเป็นคนอ้วน สีเขียวเป็นตัวตลก และสีชมพูเป็นผู้หญิงอ่อนแอ เกือบทุกเรื่องมีโครงสร้างความสัมพันธ์แบบนี้

     วงดนตรีเดอะบีเทิลส์ก็ประกอบด้วยสมาชิกสี่คนที่อยู่ร่วมกันในโครงสร้างเดียวกันนี้ คนหนึ่งเป็นผู้นำกลุ่ม คนหนึ่งเป็นผู้รู้ คนหนึ่งเป็นผู้มีพลัง อีกคนหนึ่งเป็นตัวตลก รายการคุยข่าวยามเช้าทางทีวีบ้านเราบางช่องมีพิธีกรคุยข่าว 3-4 คน มานั่งเรียงหน้ากระดานคุยข่าวกันไปมา ก็มีลักษณะใกล้เคียงกับซิตคอมและทีวีซีรีส์

 

     เราเสพเรื่องเล่าผ่านกลุ่มของตัวละครที่มีรูปแบบซ้ำกัน เคยสงสัยบ้างไหมว่าเพราะอะไร?

 

     หลายปีก่อนผมเคยเขียนสารคดีเรื่อง Urban Tribes ในสังคมไทย โดยนำแนวคิดของ Ethan Watters มาขยายความ เขาอธิบายปรากฏการณ์ในสังคมร่วมสมัย ที่คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่มักจะมาเกาะกลุ่มรวมกัน ใช้ชีวิตในช่วงหลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยและเริ่มต้นทำงานแรก พวกเขาอาจจะนัดเจอกันทุกสัปดาห์ นั่งกินข้าวสังสรรค์และพูดคุยอัพเดตชีวิต กลุ่มคนแบบ Urban Tribes ขยายตัวออกไปรวดเร็ว กลุ่มเพื่อนแบบนี้ทำให้พวกเขายืดเวลาในการแต่งงาน มีครอบครัว และมีลูกออกไป และกลายเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่มีพลังในการบริโภคสูงขึ้นเรื่อยๆ

     คนกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า Urban Tribes เพราะมันมีธรรมชาติพื้นฐานที่สุดสังคมมนุษย์แฝงอยู่

     ตั้งแต่สังคมบรรพกาลมา มนุษย์ไม่มีเขี้ยวเล็บ ต้องมาอยู่ร่วมกันเพื่อความปลอดภัยและร่วมมือกันทำงาน คนแต่ละชนเผ่ามาอยู่รวมกันด้วยโครงสร้างเดียวกันนี้ มีหัวหน้าเผ่า นักรบ หมอผี และตัวตลก รวมถึงสมาชิกอื่นๆ ผสมผสานเข้ามาอีก แต่ละเผ่าอยู่รอดได้ด้วยคุณลักษณะของแต่ละคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย แต่ละคนมีบทบาทหน้าที่ที่ต้องทำอย่างสอดคล้องกัน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายร่วมกันของคนในชนเผ่า

     สังคมแบบบรรพกาลผลิตซ้ำตัวเองออกมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมาถึงสังคมร่วมสมัยในทุกวันนี้ และยังรวมถึงกลายเป็นเรื่องเล่ามากมายในป๊อปคัลเจอร์รอบตัว ดังนั้น ด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ในชีวิตของเราจะต้องเป็นสมาชิกสังกัดอยู่ในโครงสร้างความสัมพันธ์ของกลุ่มคนหลากหลายด้าน หลากหลายมิติ ไม่ว่าจะในเรื่องครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน วงเพื่อน ฯลฯ เราทำความเข้าใจชีวิตและโลกรอบตัวผ่านเรื่องเล่า และเราเรียนรู้บทบาท การอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม ผ่านทางโครงสร้างความสัมพันธ์ที่มีรูปแบบซ้ำๆ เหล่านี้

 

     ไม่เพียงเรื่อง Stranger Things ไม่ได้เป็นแค่การผจญภัยต่อสู้กับสัตว์ประหลาด แก่นแกนที่แท้จริงของเรื่องเล่าเหล่านี้คือเรื่องโครงสร้างความสัมพันธ์ เราดูทีวีซีรีส์และซิตคอมเหล่านี้ตอนแล้วตอนเล่า เพื่อเผชิญหน้ากับบททดสอบเรื่องความสัมพันธ์ เมื่อมีคนในกลุ่มทะเลาะบาดหมางใจกัน มีปัญหาจากภายนอกแทรกแซงเข้ามา มีบางคนกำลังจะต้องออกจากกลุ่ม หรือมีสมาชิกใหม่ปรากฏตัวเพิ่มเข้ามา ฯลฯ แต่ละตอนๆ จะเกิดความขัดแย้งและความไม่มั่นคงทางโครงสร้าง แล้วกลุ่มคนนี้จะดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างไร

     ใน Stranger Things ก็ดำเนินเรื่องในรูปแบบเดียวกัน มีสมาชิกคนหนึ่งสูญหายไป มีสมาชิกหน้าใหม่เพิ่มเข้ามา ทำให้เกิดความบาดหมางระหว่างพระเอกกับพระรอง โดยมีตัวตลกเป็นเด็กผู้ชายอ้วนฟันหลอคอยช่วยประคับประคองกลุ่มนี้ไว้

     เรื่องราวการผจญภัยไม่ว่าจะตื่นเต้นสนุกสนานแค่ไหน แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเรื่องความสัมพันธ์ภายในกลุ่ม ซีซันนี้จบลงเมื่อโครงสร้างความสัมพันธ์กลับมาสู่เสถียรภาพเดิม ทิ้งเงื่อนปมปัญหาแบบแง้มๆ เอาไว้ ล่อให้เราเฝ้าติดตามต่อไป

 

     ทีวีซีรีส์พวกนี้ดึงดูดให้เราดูได้แบบข้ามวันข้ามคืน มันให้ความรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมอยู่ในกลุ่มคนผ่านเรื่องเล่าในหน้าจอ แม้ว่าเราจะนอนดูอยู่ที่บ้านคนเดียวไม่เกี่ยวข้องกับใคร

     แท้จริงแล้วสิ่งที่เราทุกคนแสวงหาอาจจะไม่ใช่ความสนุกสนานตื่นเต้นกับการผจญภัยต่อสู้กับโลกภายนอก เราแสวงหาความสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่เราใกล้ชิดสนิทสนมกันภายในมากกว่า