ปฏิสัมพันธ์

วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ | ปฏิสัมพันธ์ที่เรามีต่อเทคโนโลยีกับสำนึกที่เรามีต่อโลก

แม่บ่นว่าอยากได้โทรศัพท์มือถือใหม่… เปล่า เขาไม่ได้หมายถึงสมาร์ตโฟนแบบไอโฟนหรือแอนดรอยด์พวกนั้น เขาอยากได้โทรศัพท์แบบปุ่มกดที่ใช้ง่ายๆ

     เครื่องเก่าที่ผมซื้อให้เขาก็เป็นแบบปุ่มกดอยู่แล้ว ยี่ห้ออัลคาเทล ซื้อมาตั้งพันกว่าบาท จำได้ว่าตอนไปเดินหาซื้อ คนขายแนะนำว่ารุ่นนี้ยอดนิยมสำหรับกลุ่มคนหนุ่มสาวที่จะซื้อไปให้คนแก่ที่บ้านใช้กัน ผมหยิบขึ้นมาลองกดเล่นดูก็ชอบ ตรงที่มันมีปุ่มใหญ่ จอใหญ่ สีสันสดใส เมนูภาษาไทย ฟังก์ชันน้อยๆ แทบทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากโทร. เลยตัดสินใจซื้อมา พอแม่เปิดกล่องออกมาเห็นทีแรกก็ชอบใจ แต่พอใช้ๆ ไปไม่นาน แม่เริ่มบ่นว่าใช้ยาก ผมก็งงว่ามันยากตรงไหน นี่เป็นโทรศัพท์แบบที่เบสิกที่สุดแล้วเท่าที่เราจะหาซื้อได้ในท้องตลาดตอนนี้

     แม่บอกว่ามันมักจะมีกล่องสีขาวๆ โผล่มาบนหน้าจอ แล้วก็กดไม่ไปไหน แม่ทำไม่เป็น ผมลองหยิบมาดูก็เห็นว่ามันคือกล่องข้อความเข้า เป็นเอสเอ็มเอสโฆษณาอะไรพวกนั้น แค่เราต้องกดปุ่มถอยหลังกลับไปเรื่อยๆ ดูตามคำสั่งเมนูที่อยู่บนหน้าจอ จนกระทั่งย้อนกลับถึงหน้าโฮม เราก็จะใช้งานมันต่อไปได้ตามปกติ แม่ดูการอธิบายแล้วก็ยังไม่เข้าใจ เราต้องกดปุ่มไหนบ้างนะ กดกี่ที กดตามลำดับอย่างไร ทำไมมันใช้ยากแบบนี้

     ผมคิดว่าในโลกเรายุคนี้ ผู้คนไม่ได้ถูกจัดแบ่งกันแบบง่ายๆ แค่ระหว่างดิจิตอลเนทีฟกับดิจิตอลอิมไมแกรนต์ หรือคนที่มีอินเทอร์เน็ตกับคนที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต… แต่ในระดับที่ดิ่งลึกลงกว่านั้น ถ่างกว้างออกกว่านั้น ก็คือเราแบ่งกันด้วยปฏิสัมพันธ์ที่เรากระทำต่อเทคโนโลยี

 

     สิบกว่าปีก่อนตอนเครื่องเล่นวิดีโอซีดีที่บ้านพัง และผมซื้อเครื่องเล่นดีวีดีมาใช้งานแทน การสอนให้พ่อเปิดดูหนังจากแผ่นดีวีดีกลายเป็นเหตุการณ์สำคัญและบทเรียนยิ่งใหญ่ในชีวิตของคนแก่คนหนึ่ง ที่ได้เปลี่ยนกระบวนทัศน์ของยูสเซอร์อินเทอร์เฟซและยูสเซอร์เอกซ์พีเรียนซ์ เปลี่ยนมุมมองของตัวเองและวิธีปฏิสัมพันธ์ต่อเทคโนโลยีภายนอกตัว

     นั่นนับเป็นครั้งแรกที่คนรุ่นก่อนเราได้เผชิญหน้ากับสิ่งที่เรียกว่าเมนู เมื่อปุ่มกดปุ่มหนึ่งไม่ได้ทำหน้าที่เพียงหน้าที่เดียว แต่หน้าที่ของมันจะแปรผันไปได้สารพัดตามคำสั่งใหม่ที่ระบุขึ้นมาปรากฏบนหน้าจอ ลองนึกเปรียบเทียบกับเครื่องเล่นวิดีโอ ทีวี หรือวิทยุเทปคาสเซ็ตเมื่อสามสิบปีก่อน มันเต็มไปด้วยปุ่มจำนวนมาก แต่ละปุ่มมีหน้าที่เฉพาะของมัน และหน้าที่ก็จะคงที่อยู่แบบนั้นตลอดไป ปุ่มเล่น ปุ่มหยุด ปุ่มเอาแผ่นออก-เข้า เดินหน้า-ถอยหลัง อยากจะสั่งให้เครื่องทำอะไร เราก็กดปุ่มนั้น

     คุณเชื่อไหมว่าทีวีสีเครื่องแรกของบ้านเราเมื่อเกือบสี่สิบปีก่อน มีปุ่มละเอียดมากถึงขนาดที่แต่ละช่องสถานี ต้องมีปุ่มกดของมันเอง ช่องสามเลขหนึ่ง ช่องห้าเลขสอง ช่องเจ็ดเลขสาม ช่องเก้าเลขสี่ สมัยนั้นประเทศเรามีทีวีแค่สี่สถานี แต่ทีวีของเราทำปุ่มเผื่อไว้ให้มากถึง 12 ช่อง!

     พ่อหัดใช้ดีวีดีด้วยความทุลักทุเล ใส่แผ่นเข้าไปปุ๊บ ก็มีโฆษณาโผล่ขึ้นมาแบบอัตโนมัติ แล้วเราต้องทำอย่างไร เราก็กดฟอร์เวิร์ดเพื่อหนีมันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีหน้าเมนูปรากฏขึ้นมา ซึ่งนี่คือจุดที่ยากกว่าและน่าสับสนสุดๆ กดปุ่มซ้ายขวาขึ้นลงเพื่อเลือกระบบเสียง คำบรรยายไทย แล้วก็กดถอยย้อนกลับมาหน้าเมนูเพื่อเริ่มเล่น ถ้าจะเอาให้ง่ายกว่านั้น ถ้าไม่อยากกดปุ่มอะไรเลย ใส่แผ่นเข้าไปแล้วนั่งรอเฉยๆ ไปสักห้านาที แผ่นมันจะเล่นโฆษณาไปจนครบ แล้วก็เริ่มเล่นหนังเองแบบอัตโนมัติ เป็นเสียงไทย ไม่มีบรรยาย

     ทำให้นึกถึงฉากหนึ่งในหนังเรื่อง Christmas in August ที่พระเอกก็ต้องมานั่งสอนพ่อให้ใช้เครื่องดีวีดีแบบนี้เหมือนกัน ตลกดี ผมคิดว่าในยุคนี้ คนจำนวนมากกำลังจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่ใช่แค่เรื่องการมีเงินหรือไม่มีเงินพอจะเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิตอล และการมีเงินหรือไม่มีเงินพอจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แต่ยังรวมถึงเรื่องยูสเซอร์อินเทอร์เฟซ
ไม่ใช่แค่เฉพาะกับกลุ่มคนแก่เท่านั้น คนหนุ่มสาวอย่างเราๆ ก็ด้วย ที่ต้องเลือกว่าจะยอมปรับตัวตามอินเทอร์เฟซใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาเพิ่มทุกๆ วันหรือไม่

     สิ่งต่างๆ รอบตัวเรามีความสมาร์ตมากขึ้นเรื่อยๆ ฟีเจอร์มากขึ้น ฟังก์ชันมากขึ้น ในขณะที่จำนวนปุ่มลดลงๆ พวกมันจึงกระตือรือร้นที่จะมามีปฏิสัมพันธ์กับเรา มันสามารถสื่อสารย้อนกลับมาหาเรา ไม่ใช่เป็นฝ่ายที่รอรับฟังอย่างเดียว มันจะคอยบอกเรา แนะนำเรา ไปจนถึงขั้นที่เป็นฝ่ายสั่งเราว่าเราจะต้องทำอย่างไร เพื่อให้มันทำงานให้เราได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

     ผมนึกถึงกล้องถ่ายรูปตัวแรกในชีวิต Nikon FE2 มันเป็นกล้องแบบ DSLR มีระบบวัดแสงและมีม่านชัตเตอร์เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ นอกนั้นเป็นแมนวลทั้งหมด รูปร่างและการใช้งานคล้ายๆ กับ F3 และ FM ยูสเซอร์อินเทอร์เฟซของกล้องยุคนั้นทุกตัวเรียบง่าย มีไม่กี่ปุ่มที่ควบคุมการทำงานเพียงไม่กี่อย่าง ปรับขนาดหน้ากล้อง ปรับความเร็วชัตเตอร์ ปรับค่าความไวแสงฟิล์ม ปรับชดเชยแสง คันเลื่อนฟิล์ม ก็ปุ่มลั่นไก พอถ่ายหมดม้วนก็กรอฟิล์มกลับ มีจำนวนปุ่มเท่ากับจำนวนฟังก์ชันของมัน ถ้ารู้จักปุ่มครบถ้วนแค่นี้ก็ถ่ายรูปได้แล้ว

     เมื่อไปเจอวิวตรงไหนสวยๆ ก็แค่ยกกล้องขึ้นมา เอาตาข้างหนึ่งไปจ่อวิวไฟน์เดอร์ไว้ มือซ้ายประคองกล้องและหมุนปรับโฟกัส ใช้มือขวากดชัตเตอร์ลงไปครึ่งทางเพื่อวัดแสง แล้วก็หมุนปรับหน้ากล้องและชัตเตอร์สปีดอีกนิดหน่อย จัดคอมโพสิชันให้เข้าที่แล้วลั่นไก เราปรับและกดปุ่มต่างๆ ได้ด้วยมือขวาเพียงข้างเดียว มือซ้ายจับกล้องไว้ให้มั่น ไม่ต้องละสายตาออกจากวิวสวยงามตรงหน้าเลยแม้แต่เสี้ยววินาที

     เทียบกับกล้องดิจิตอลสมัยนี้ที่มีฟังก์ชันและฟีเจอร์เหนือกว่ากล้องรุ่นเก่า แต่ยูสเซอร์อินเทอร์เฟซของมันก็ซับซ้อนวุ่นวายตามไปด้วย กว่าจะใช้งานฟังก์ชันและฟีเจอร์ใดๆ เราจะต้องกดหน้าจอแอลซีดีที่ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เบราซ์เข้าไปในเมนูมากมาย การกดปุ่มหนึ่ง ก็จะพาเราไปสู่การเลือกกดอีกปุ่มหนึ่ง แล้วก็กดอีกปุ่มหนึ่ง… แบบนี้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

     สายตาของเราจึงไม่ได้ตรึงอยู่กับวิวสวยงามตรงหน้า แต่เราต้องก้มหน้ามองจอแอลซีดีเล็กๆ ด้านหลังกล้อง ไล่มองตัวอักษรหรือไอคอนเล็กๆ บนนั้น แล้วคิดว่าจะเลือกกดเมนูไหนภาพจึงจะสวย โดยไม่มีเวลาเหลือพอจะคิดว่าต้องจัดคอมโพสิชันอย่างไรภาพจึงจะสวย

 

     เราถอยออกห่างจากการปฏิสัมพันธ์กับโลก มาปฏิสัมพันธ์กับหน้าจอที่มียูสเซอร์อินเทอร์เฟซที่ฉูดฉาดหวือหวาแทน มันก็เหมือนกับการที่เราใช้ประสบการณ์ทั้งวันกับการก้มหน้ามองจอโทรศัพท์นั่นแหละ

     เมื่ออินเทอร์เฟซเปลี่ยนไป สำนึกของเราที่มีต่อโลกก็เปลี่ยนไปด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนจะเปลี่ยนรูปแบบไป การจะเปิดพัดลมในบ่ายอันระอุอ้าวอาจจะไม่ใช่แค่การลุกเดินไปกดปุ่มเดียว ภายในบ้านทันสมัยไฮเทค มันคือการเบราซ์เข้าไปในเมนูฟรุ้งฟริ้งบนหน้าจอขนาดใหญ่ที่อยู่บนฝ่ามือ ที่เราก้มหน้าจ้องมองมันทั้งวันโดยแทบไม่ได้เห็นหน้าคนที่นั่งอยู่ข้างๆ

     คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะรุ่นใหม่ของไมโครซอฟต์ที่มีปุ่มหมุนเอามาวางแปะบนหน้าจอทัชสกรีน คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ของแอปเปิ้ลที่มีคีย์บอร์ดแบบใหม่เป็นแถบทัชสกรีนเพิ่มเข้ามา สมาร์ตโฟนเซียวมี่รุ่นใหม่ออกแบบโดย ฟิลลิป สตาร์ก ทำสถิติใหม่ของสัดส่วนหน้าจอต่อขนาดตัวเครื่องสูงถึงเก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ เรากำลังจะไม่มีปุ่มจริงๆ เอาไว้กดอีกแล้ว เราจะมีแต่หน้าจอที่แปรผันไปเรื่อยๆ คอยบอกว่าเราจะต้องกดปุ่มไหนๆ ในลำดับต่อไป

     ในขณะที่ช่วงวันสุดสัปดาห์นี้ ผมกำลังจะไปมาบุญครองเพื่อหาซื้อโทรศัพท์มือถือแบบปุ่มกดเครื่องใหม่ ที่มันจะต้องใช้ง่ายกว่าโทรศัพท์แบบปุ่มกดเครื่องใดๆ ในโลกหล้าสำหรับคนแก่ที่บ้าน

 


*หมายเหตุ: บทความจากบล็อกส่วนตัวใน storylog.co ปี 2016