สงครามคือยาเสพติด เราชอบมันถึงขั้นเสพติด เพราะสงครามให้ความหมายกับชีวิตของเรา

วันนี้เมื่อหลายปีก่อน ผมนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ภายในนั้นมีแต่ภาพคนบาดเจ็บล้มตาย ตึกอาคารพังพินาศวอดวาย ความรุนแรงเกลื่อนเต็มท้องถนนกรุงเทพฯ ถ้อยคำดูถูก ด่าทอ เหน็บแนม เหยียดหยามฝ่ายตรงข้าม เกลื่อนเต็มโซเชียลมีเดีย

     ข้อมูลข่าวสารส่วนใหญ่ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเราทะเลาะกันได้ทุกเรื่อง ทุกประเด็น ทุกที่ ทุกเวลา และกับทุกคน แม้กระทั่งคนที่เราไม่รู้จักมาก่อนหรือคนที่เป็นเพื่อนฝูงกันมา กระทั่งรวมถึงคนในครอบครัวเราเอง

     มีเพื่อนหลายคนเล่าถึงประสบการณ์ที่คล้ายๆ กันว่าเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในปี พ.ศ. 2553 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เขาเริ่มฉุกคิดขึ้นมาว่าเทคโนโลยีการสื่อสารได้เปลี่ยนแปลงตัวเขาไปจากเดิม จนเมื่อได้กลับมารู้สึกตัวอีกครั้ง ก็พบว่าเขาได้กลายไปเป็นคนที่เขาไม่อยากเป็นไปเสียแล้ว พวกเขาจึงเริ่มระมัดระวังการใช้งาน ย้อนกลับมาวิพากษ์วิจารณ์ความคิดความเชื่อของตัวเองมากขึ้น และต้องหยุดคิด พิจารณาให้มาก ก่อนจะกระโจนเข้าไปร่วมวงความขัดแย้งใดๆ

     แต่จนถึงวันนี้ เวลาผ่านมาเนิ่นนาน คงยังมีผู้คนอีกมากมายที่ยังเดินทางมาไม่ถึงจุดเปลี่ยนนี้ หน้านิวส์ฟีดในเฟซบุ๊ก หน้าไทม์ไลน์ในทวิตเตอร์ รวมถึงเว็บบอร์ดต่างๆ จึงยังคงเต็มไปด้วยความรุนแรง ผู้ใช้อีกนับแสนนับล้าน ยังคงอุทิศตัวเองไปกับกิจกรรมการดูถูก ด่าทอ เหน็บแนม เหยียดหยามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

 

     “You know why I’m the way I am?”

     ในฉากท้ายๆ ของหนังเรื่อง The Hurt Locker ตัวละครหนึ่งเอ่ยถามคำถามนี้กับเพื่อน เพราะเขาไม่เข้าใจตัวเองว่าทำไมถึงได้มาสมัครเป็นทหารในหน่วยกู้ระเบิด ทั้งๆ ที่มันเป็นอาชีพน่าเขย่าขวัญสั่นประสาทเป็นที่สุด เพื่อนทหารก็ดูเหมือนว่าจะงงๆ กับคำถามนี้เช่นเดียวกันว่าทำไมพวกเขาจึงยังมาเป็นทหารกันอยู่อีก? ทำไมโลกนี้ยังเต็มไปด้วยความรุนแรง? ทั้งที่เราผ่านบทเรียนมาแล้วมากมาย ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ทุกคนบอกว่ารักสิ่งนั้น รักสิ่งนี้ ทุกคนบอกว่าโลกนี้ต้องการความรัก ทุกคนเชื่อว่าเราเป็นสัตว์ที่รู้เหตุผล มีเทคโนโลยีล้ำหน้า รู้สรรพวิชามากมาย ฯลฯ แต่ตลกดีที่สุดท้ายเรายังคงมาแชร์ข่าวหรือโพสต์ความเห็นลอยๆ เพื่อด่ากันไปด่ากันมา

     คำถามคือทำไม?

     คำตอบไม่ได้ลอยอยู่ในสายลม คำตอบนี้รออยู่ในใจของเราทุกคน มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะยอมรับความน่าขยะแขยงของคำตอบนี้ได้หรือเปล่า ถ้าตัดใจลุกออกมาจากสมรภูมิตรงหน้าให้ได้เสียก่อน แล้วค่อยมองย้อนกลับไปพิจารณาตนเองอย่างถี่ถ้วน เราจะเข้าใจตนเองได้ดีขึ้นว่าจริงๆ แล้วเราทะเลาะกันเพราะเราชอบทะเลาะกัน เหตุผลมันก็แค่นี้เองจริงๆ

 

“The rush of battle is often a potent and lethal addiction, for war is a drug.” – Chris Hedges

     ในหนัง The Hurt Locker เปิดเรื่องด้วยการอ้างอิงประโยคของ คริส เฮดเจส นักข่าวสงคราม ที่เคยเดินทางไปทำข่าวสงครามมาแล้วเกือบทั่วโลก เขาได้พบเห็นภาพและเรื่องราวมากมาย จนท้ายที่สุด เขาพบคำตอบให้กับตัวเองว่าทำไมเรายังคงเป็นอย่างที่เป็นอยู่?

     เขาพบว่าสงครามคือยาเสพติด ธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์คือเราถูกชักจูงให้เข้าสู่วังวนของสงครามได้อย่างง่ายดาย เราชอบมัน ชอบถึงขั้นเสพติดเลยทีเดียว เพราะสงครามคือสิ่งที่ให้ความหมายกับชีวิตของเรา

     เขาสารภาพว่าตนเองเคยเสพติดสงคราม เพราะเวิร์กสไตล์และไลฟ์สไตล์ทั้งหมดของเขาเกี่ยวพันกับการเดินทางไปทำข่าวสงครามทั่วโลก ถ้าเลิกทำข่าวสงคราม หรือถ้าไม่มีสงครามเหลืออยู่ที่ใดๆ บนโลกให้เขาไปทำข่าวได้อีก ตัวตนของเขาก็จะล้มครืนลง เขาพบว่าเพื่อนนักข่าวและเพื่อนที่เป็นทหารอีกหลายคน ก็มีอาการเสพติดแบบนี้เหมือนกัน ทุกคนรู้ว่าสงครามนั้นไร้เหตุผล น่าเศร้า น่าขยะแขยง แต่ทุกคนกลับเว้าวอน ปรารถนาที่จะกระโจนเข้าไปร่วม

 

     ผมคิดว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โซเชียลมีเดียได้กลายเป็น The Hurt Locker ของเราทุกคน เรากำลังเสพติดสงครามบนหน้านิวส์ฟีด มันน่าลุ่มหลง ดึงดูดใจ และเป็นยาเสพติดได้อย่างงอมแงม ไม่ต่างไปจากสงครามจริงๆ

     เราสร้างภาพลวงตาตัวเองว่ามีอุดมคติให้มุ่งไป มีศัตรูให้ต่อสู้ มีเพื่อนร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ …จากความว่างเปล่าอันน่าเบื่อหน่ายในชีวิต จากความเปลี่ยวเหงาแปลกแยกจากกันในสังคม ชีวิตเราฉับพลันกลับมีความหมายอย่างแจ่มชัดขึ้นมา แต่ละวันๆ เราดำเนินชีวิตไปอย่างมีวัตถุประสงค์

     มันเข้าใกล้ความเป็นศาสนาหรือกลุ่มลัทธิความเชื่อเข้าไปทุกที ไม่แปลกใจเลยที่จะเห็นหลายคนฉวยโอกาสนี้ตั้งตนขึ้นมาเป็นเจ้าลัทธิ หรือถ้าจะใช้ศัพท์ที่ทันสมัยให้เข้ากับยุคสมัย ก็คือพวกที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ในโลกโซเชียลมีเดีย หรือพวกแฟนเพจที่เน้นความขัดแย้ง

     คนพวกนี้ได้รับความนิยมพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมันมีรากฐานตั้งอยู่บนความเกลียดชัง มันเป็นศูนย์รวมของกลุ่มคนที่มีอุปาทานหมู่ร่วมกัน คิดและเชื่อไปในทางเดียวกัน มาอยู่ร่วมกันเพราะต่างคนต่างก็หนีมาจากสมรภูมิอื่น รักกันเพราะมีศัตรูร่วมกัน เป็นมิตรภาพที่เกิดจากความหวาดกลัว เหมือนเป็นสหายในสงคราม

     มันไม่ใช่มิตรภาพที่แท้จริง คริส เฮดเจส อธิบายความแตกต่างระหว่าง friendship และ comradeship ไว้อย่างน่าสนใจว่า friendship มีรากกำเนิดเกิดจากความรัก ส่วน comradeship นั้นเกิดจากความกลัว มันจึงแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว แต่คนส่วนใหญ่กลับสับสนและไม่เข้าใจ

 

     Comradeship เป็นอุปาทานหมู่ที่ทำลายความเป็นปัจเจก บิดเบือนเหตุผล และปั่นหัวให้เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสงคราม ให้ยอมสละแขนขา ยอมเสี่ยงชีวิต และยอมลงมือฆ่าคนอื่น หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไปสนับสนุนให้มีการฆ่ากันโดยเราไม่รู้สึกผิด แต่กลับรู้สึกว่ามันคือวีรกรรม

     จนกระทั่งเมื่อสงครามจบลง เมื่อความรู้สึกกลัวจางหายไปแล้ว ทหารผ่านศึกจำนวนมากที่บาดเจ็บ พิการ หรือเคยลงมือพรากชีวิตคนอื่น จึงกลับผิดหวัง เสียใจ และคิดว่าตนเองถูกหักหลัง หลอกให้ไปสู้รบอย่างไร้เหตุผล

     เหมือนตอนหลังจากการล้อมปราบผู้ชุมนุมปี พ.ศ. 2553 หรือหลังม็อบนกหวีดที่นำไปสู่การรัฐประหารปี พ.ศ. 2557 ลึกๆ ในใจของทั้งสองฝ่ายรู้สึกว่าโดนหักหลังและผิดหวังพอกัน เพราะก่อนหน้านั้นเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ของแต่ละฝ่ายต่างก็เพิ่งจะพาสาวกของตนเองออกมาห้ำหั่นกันมาหยกๆ

     วิธีการก็คือการแปลงความเกลียดชัง การใส่ร้ายป้ายสี และข่าวปลอมทั้งหลาย ให้กลายเป็นสเตตัส ทวีต คำคม แก๊กตลก บทความ ข่าว ภาพถ่าย ภาพการ์ตูน คลิปวิดีโอ แอพฯ จดหมายเปิดผนึก ฯลฯ หรือในรูปแบบอื่นๆ เท่าที่เทคโนโลยีดิจิตอลจะอำนวย เพื่อเปิดให้เราในฐานะสาวกแชร์ รีทวีต หรือส่งมันต่อๆ ไป

     หลังจากที่เราเป็นฝ่ายเปิดรับข่าวสารมาตลอดชีวิต พอมีโซเชียลมีเดียมาช่วยเปิดช่องให้สามารถเป็นฝ่ายส่งข่าวสารบ้าง เราก็รีบรับบทบาทนี้ด้วยความเห่อเหิม เราเลียนแบบพิธีกรคุยข่าว คอลัมนิสต์ การ์ตูนนิสต์การเมือง หรือแม้กระทั่งนักข่าวภาคสนาม เรารีบกระโจนเข้าสู่ทุกๆ สมรภูมิอย่างทันทีทันใด เมื่อเห็นอะไรโผล่ขึ้นมาใหม่บนนิวส์ฟีด รีบเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย รีบแสดงท่าที จุดยืน ความเห็น แล้วก็แชร์ต่อออกไป เพื่อระดมพวกพ้องออกไปเปิดศึกกับฝ่ายตรงข้าม แล้วท่าทีที่แสดงออกไปเหล่านั้นจะผูกมัดเราตลอดไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาของเราเอง

     พวกอินฟลูเอนเซอร์รู้จุดอ่อนพวกนี้ เขาจึงส่งเสริมอัตตาเราด้วยการอัดฉีดอุดมการณ์สูงส่งให้อัตตาเราโป่งพอง ในขณะที่เราก็ส่งเสริมอัตตาของพวกอินฟลูเอนเซอร์ด้วยการกดไลก์ รีทวีต และคอมเมนต์สรรเสริญเยินยอ ให้กลับไปเป็นการตอบแทน

     ในหน้าจอจึงฝุ่นตลบและคละคลุ้งคาวเลือด พวกเราคิดว่าตัวเองเป็นทหารหาญที่กำลังกุมเมาส์และคีย์บอร์ดในมือไว้มั่น เพ้อฝันว่ากำลังต่อสู้เพื่อเหตุผลที่สูงส่งมากๆ แสดงวีรกรรมอยู่หน้าจอของเรา หลอกตัวเองว่าไม่ได้ทะเลาะกันด้วยเหตุผลกระจอกงอกง่อย เพียงแค่เพราะว่าเราเสพติดมัน

     เรากำลังเสพติดความรุนแรง เราทะเลาะกันเพราะเราชอบทะเลาะกัน ไม่มีอะไรมากกว่านั้น

 

     อัตตาของเรา—ก่อสร้างขึ้นมาจากอุดมการณ์อันสูงส่ง ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งสร้างคู่ตรงข้ามแบบดำขาว เราเห็นว่าตัวเองขาว เพราะการชี้นิ้วใส่คนอื่นว่าเขาดำ

     ไลฟ์สไตล์ของเรา—คือการเว้าวอนหาเรื่องทะเลาะกับคนอื่น ทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม แต่มันเป็นโดยอัตโนมัติไปแล้ว ที่ตื่นขึ้นมาทุกเช้า เราจะกวาดตามองหาประเด็นความขัดแย้ง หรือใครสักคนมาเป็นเป้าหมายของการทะเลาะ

     เพื่อนฝูงรอบตัวเรา—ล้วนมีอุปาทานหมู่ร่วมกัน ต่างมาช่วยกันรีทวีตหรือกดไลก์แลกเปลี่ยนกันไปมา เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเดียวกัน

     ภายในกลุ่มของแต่ละฝ่าย ทุกคนต้องเร่งพิสูจน์ตัวเองว่ามีความจริงแท้ มั่นคงในอุดมการณ์ ทุกคนก็ยิ่งต้องแสดงความสุดโต่งโดยการเร่งแชร์และรีทวีตให้มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีใครอยากหยุด ลึกๆ ในใจทุกคนรู้ดีว่าถ้าความรุนแรงที่ดำเนินอยู่ในตอนนี้หยุดลงเมื่อใด หรือถ้าเราลด ละ เลิกไลฟ์สไตล์ที่สุดแสนจะไฮเทคแบบในตอนนี้ คือการติดตามข่าวสารและแชร์ความเห็นได้แบบทุกที่ ทุกเวลา ตัวตนของเราก็จะล้มครืนลงในพริบตา

     และแล้วเราแต่ละคนกลายเป็นเหมือนเม่น มีหนามแหลมรอบตัวเรา เรามุ่งทำร้ายกันและกัน และเราต่างก็ไม่กล้าเข้าใกล้กันอีกแล้ว

 

     ในขณะที่มีหลายคนเริ่มรู้สึกขยะแขยงพฤติกรรมเช่นนี้ของตัวเอง เขาพบว่าตัวเองได้เปลี่ยนแปลงไปจนกลายเป็นคนที่เราไม่อยากเป็น ผมคิดว่านั่นคือวินาทีที่เราได้เริ่มฉุกคิด เราต่างเป็นแรงปฏิกิริยาของกันและกัน เราต่างก็ถูกกำหนดโดยแรงกระทำที่มีมาก่อนหน้า และตอนนี้เราต่างก็กำลังสะท้อนแรงนั้นไปมาอย่างไร้เดียงสา ในทุกครั้งที่มีการสะท้อน เราก็ได้เพิ่มแรงส่งของเราเองเข้าไปอีก

     สภาพที่เห็นและเป็นอยู่ในทุกวันนี้ รวมถึงสิ่งที่ผ่านมาแล้ว ความสูญเสีย บาดเจ็บ ล้มตาย พังพินาศ และความบาดหมางกับเพื่อนฝูง หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัวเราเอง จึงล้วนเป็นผลรวมของแรงจากเราทุกคนที่กระทำต่อกัน

     มันจึงไม่ใช่เรื่องว่าใครถูกใครผิด ใครดีใครเลว ใครมีเหตุผลหรือใครไร้เหตุผล เพราะในยุคสมัยที่มนุษย์ได้ข้ามพ้นจากเหตุผลไปตั้งนานแล้ว เราสามารถหาเหตุผลที่ถูกต้อง ที่ดีงาม ที่สมเหตุสมผลที่สุด มาอวดอ้างเพื่อทำสิ่งที่ไร้เหตุผลได้เสมอ

     คำตอบที่น่าขยะแขยงจนไม่มีใครอยากยอมรับว่าเราเพียงแค่ชอบมัน เราเสพติดมัน ผมยกฝ่ามือทั้งสองข้างของตนเองที่กำลังวางอยู่บนเมาส์และคีย์บอร์ดขึ้นมาแบดูให้เห็นชัดๆ กับตา และนึกสงสัยขึ้นมาว่านี่พวกเรากำลังทำอะไรกันอยู่?

     เพียงแค่กรอบสี่เหลี่ยมเล็กๆ ขนาดไม่กี่นิ้ว ภาพคนบาดเจ็บล้มตาย ตึกอาคารพังพินาศวอดวาย ความรุนแรงเกลื่อนเต็มท้องถนน ถ้อยคำด่าทอ เหน็บแนม การดูถูกเหยียดหยามกันไปมา …เราสามารถยุติได้ ถ้าเราต้องการเช่นนั้นจริงๆ

 


หมายเหตุ – บทความเนื่องในวันครบรอบเหตุการณ์ล้อมปราบผู้ชุมนุมทางการเมือง ปี พ.ศ. 2553 เผยแพร่ครั้งแรกในงานแสดงศิลปะ Politics of Me – POM Article ปี 2555