“เหนื่อยไหม สิ่งที่เธอทำอยู่ สิ่งที่ฉันได้คอยเฝ้าดู ยิ่งรู้ยิ่งห่วงใย…”
พี่เบิร์ดหรือคนรุ่นพ่อแม่เราอาจอยากถามคำถามนี้กับชาวมิลเลนเนียล วัยรุ่นตอนปลาย วัยทำงานกลางคน มนุษย์รุ่นที่ถูกกล่าวขานว่าเป็นยุคสมัยที่หมดไฟ (burnout) ง่าย แม้ตัวช่วยในการทำงาน ในการใช้ชีวิตจะมีมากมาย แต่ดูเหมือนยิ่งโลกมีวิวัฒนาการไปมากเท่าไหร่ ความกดดันว่าเราต้องพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นดีขึ้นก็ทวีคูณเพิ่มขึ้นตามกัน ในยุคสมัยที่งานต้องทำ ชีวิตต้องใช้ จะไม่หมดไฟได้อย่างไรกัน
ล่าสุด The Guardian ได้ตั้งข้อสังเกตว่าอาการหมดไฟนี้นอกจากจะเกิดขึ้นกับคนยุคสมัยนี้ง่ายกว่ายุคก่อนๆ แล้ว ยังมีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางปีมากที่สุด ข้อสังเกตที่ถูกยืนยันด้วยแบบสอบถาม Could you be suffering from mid-year burnout? ที่คำตอบออกมาคล้ายกันว่า อาการหมดไฟนี้ส่วนมากมักเกี่ยวข้องกับเรื่องงาน ครั้นช่วงเวลากลางปีที่ผ่านความรู้สึกกระตือรือร้นพร้อมเริ่มใหม่ในต้นปีมาค่อนปี กว่าจะได้เฉลิมฉลองอีกรอบก็ดูอีกไกล เป้าหมายที่ตั้งไว้ก็ไม่ค่อยจะไปถึงไหน… (และอีกสมมติฐานว่าเป็นผลจากอากาศหน้าร้อนในอังกฤษที่ทำให้ผู้คนเหนื่อยง่ายเป็นพิเศษ ซึ่งจะว่าไปแล้วอากาศหม่นๆ ชื้นแฉะในหน้าฝนก็ทำเอาเราอยากนอนเฉื่อยแฉะหมกตัวในห้องเกินกว่าจะเยื้องกรายออกไปทำอะไร ไม่ต่างกับชาวบริติช)
หากคุณกำลังก่นด่าโทษว่าเป็นความขี้เกียจของตัวเองก็อาจสบายใจได้บ้าง เมื่อองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ชี้ให้เห็นว่านี่ไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคล แต่เป็น ‘ปรากฏการณ์วัยทำงาน’ (Occupational Phenomenon) ที่เราล้วนต่างเคยเผชิญ
WHO ชี้แจงให้ผู้คนแยกแยะอาการหมดไฟออกจากอาการซึมเศร้า โดยได้อธิบายไว้ว่า อาการหมดไฟมีลักษณะอาการคือรู้สึกหมดแรง ไม่มีความสุขกับงานที่ทำ และประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทั้งหมดนี้ไม่ใช่อาการที่ต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถจัดการให้ดีขึ้นได้โดยตนเอง
อาการหมดไฟกลายเป็นวาระระดับโลกจน WHO ถึงขั้นต้องออกมาป่าวประกาศจำแนกความแตกต่างระหว่างโรคซึมเศร้าและปรากฏการณ์หมดไฟ เพื่อป้องกันไม่ให้มนุษย์ที่มีจริตชอบเหมารวม เพลียกับสิ่งหนึ่งแล้วพาลเหมารวมว่าสิ่งที่เหลือนั้นแย่ไปหมดด้วยเสมอ จนเดี๋ยวจะเผลอลาออก วิ่งหนีจากมันไปซะ ทางหนีทีไล่ที่ง่ายที่สุดเวลาเกิดปัญหา แต่หากเราแก้ปัญหาด้วยการวิ่งหนี เราจะต้องวิ่งหนีไปอีกไกลเท่าไหร่กัน ท้ายสุดการวิ่งหนีนั้นอาจกลายเป็นความเหนื่อยล้ายิ่งกว่าเดิมจนอาจกลายเป็นซึมเศร้าขึ้นมาจริงๆ ด้วยซ้ำไป
เบน แฟนนิง (Ben Fanning) ผู้เขียน The Quite Alternative ได้เล่าประสบการณ์ไว้ในหนังสือว่า เขาเองวนเวียนอยู่กับอาการหมดไฟในที่ทำงานมาโดยตลอด อาการที่เหมือนจะดีขึ้นหน่อยเมื่อได้เปลี่ยนงาน แต่สุดท้ายอาการนี้ก็วนกลับมาเล่นงานเขาอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อเริ่มเห็นวงโคจรอันไม่มีที่สิ้นสุด เบนจึงตัดสินใจที่จะหยุดวิ่งหนีและเผชิญหน้ากับมัน จนค้นพบว่าการวิ่งหนีนั้นง่ายในระยะสั้น แต่ทางที่ดีกว่าในระยะยาวคือเผชิญกับสิ่งที่เป็นให้ได้ แต่ไม่ใช่เผชิญแบบจำนนยินยอม หากพร้อมที่จะปรับตัว หาวิธีการใหม่ๆในการเดินบนเส้นทางนั้น
แล้วเราจะเดินใหม่ บนเส้นทางเก่าได้อย่างไรกัน?
ท้าทาย ตั้งคำถามว่างานที่ทำอยู่นั้นต้องทำแบบนั้นจริงๆ เหรอ
แค่เพียงเพราะมีใครเคยทำแบบนั้น ไม่ได้หมายความว่าเราต้องทำเช่นนั้น ลองตั้งคำถามกับงานที่ทำซ้ำๆ อยู่ทุกวันด้วยความเคยชิน เพียงเพราะในวันแรกที่เราเข้ามามีคนทำไว้แบบนั้น แล้วเราก็เดินๆ ตามกันไป โดยลืมมองว่าจริงๆ แล้วเราทำแบบอื่นก็ได้ เช่น ไม่ต้องทำรายงานกระดาษ แต่เข้าไปสรุปให้ทีมฟังได้เลยหรือเปล่า การประชุมไม่ต้องเคร่งขรึมยาวนานแบบนั้นได้ไหม ฯลฯ ตั้งคำถามว่าอะไรกันที่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำ กับอะไรที่ทำเพียงเพราะความเคยชิน ใช้เวลาสังเกต ตั้งคำถาม และลองวิธีการทำงานใหม่ๆ ในงานเดิม
ค้นหาว่างานอะไรที่ทำให้เราสนุก อะไรทำให้เฉื่อยชา แล้วผสานมันเข้าด้วยกัน
รู้จักตัวเองให้ดีก่อนที่จะกระโจนเข้าไปทำงาน ถามตัวเองว่าอะไรกันที่เป็นความสนใจของเรา โดยไม่ยึดติดกับรูปแบบของงานนั้นๆ เช่น หากเป็นคนชอบสอน ชอบแชร์ เราสามารถเอาความชอบนี้ไปผสานกับงานที่ทำได้หรือเปล่า จัด session ถอดบทเรียนสนุกๆ ให้เพื่อนร่วมงานได้เรียนรู้ร่วมกันได้ไหม หรือเป็นคนชอบพูดคุย ชอบสร้างความสุขให้คนอื่น ครั้งต่อไปที่มีประชุมเราสามารถสร้างบรรยากาศยังไงได้บ้าง ผสานสิ่งที่ทำเพราะ ‘อยากทำ’ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ ‘ต้องทำ’ โดยไม่ต้องรอให้ใครสั่งการ ไม่ต้องทำงานให้เสร็จเพียงเพราะต้องทำ แต่ทำเพราะอยากทำ นั่นคือความสนุกของเราในการได้สอน ได้แชร์ ได้สร้างความสุขให้คนอื่น หรือใดๆ ก็ตาม
ฉันคิด ฉันจึงหมดไฟ
งานวิจัยด้านประสาทวิทยา ได้ยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างการคิดมากและการหมดไฟ เพราะสมองใช้พลังงานเปลือง เมื่อเทียบกับอวัยวะที่มวลเท่ากันในร่างกาย และเมื่อยิ่งเครียด เลือดก็ยิ่งข้น ยิ่งทำให้สมองทำงานหนักเข้าไปใหญ่ จึงไม่แปลกอะไรหากคนคิดมากจะเหนื่อยง่ายกว่าคนปกติ
ข้อยืนยันทางวิทยาศาสตร์ถึงการเผาผลาญพลังงานของสมองที่สอดคล้องกับหลักจิตวิทยาที่เชื่อว่าว่า ‘ทัศนคตินั้นคือทุกสิ่ง’ (attitude is everything) หากคิดว่าแย่ มันก็จะแย่ ยิ่งคิดว่ายาก มันก็ยิ่งยาก ราวกับว่าสมองต้องใช้พลังงานส่วนหนึ่งในการจัดการกับความเหนื่อยที่คิดไปล่วงหน้า ทางที่ดีที่สุดอาจเพียงแค่ลงมือทำไปเลย หรือหากจะคิดอะไรก็อาจเปลี่ยนความกังวลให้เป็นมั่นใจกับตัวเองว่าเราเอาอยู่ เราทำได้ ให้สมองได้ผ่อนคลาย ให้หายใจได้ช้าลง เผาผลาญพลังงานน้อยลง ปรับทัศนคติที่ส่งผลตรงกับการหมดไฟ
“เหนื่อยไหม สิ่งที่เธอทำอยู่…”
ครั้งต่อไป หากเริ่มรู้สึกหมดไฟ อาจเพียงแค่พักบ้าง เปิดเพลงพี่เบิร์ดช้าๆ แต่ไม่ต้องถอนหายใจแล้วตอบว่าเหนื่อยตาม อาจเพียงแค่ร้องเพลงคลอตาม ตอบพี่เบิร์ดหรือคนข้างๆ ว่าเหนื่อยบ้าง เพลียบ้าง เป็นธรรมดา แต่จะเดินหน้าต่อไป