ร้องไห้ในที่ทำงาน

หยุดร้องสักที หยุดไว้เลยน้ำตา จะร้อง (ไห้) ให้ได้อะไรในที่ทำงาน

ถ้าร้องไห้กลางสายฝนเป็นฉากเอ็มวีคลาสสิกของเพลงอกหัก ฉากหนีไปร้องไห้ในห้องน้ำก็คงเป็นอีกฉากฮิตที่เราต่างเคยดู และเจอกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเคดี้ (รับบทโดย ลินด์เซย์ โลฮาน) ในหนัง Mean Girls ที่ทานมื้อเที่ยงไปร้องไห้ไปในห้องน้ำโรงเรียนใหม่ที่ไม่มีใครคบ หรือแม้แต่ เฮอร์ไมโอนี เกรนเจอร์ ที่ก็ใช้ห้องน้ำเป็นที่แอบไปร้องไห้เหมือนกันหลังจากได้ยินรอนพูดแย่ๆ เกี่ยวกับเธอ

     ฉากวิ่งเข้าห้องน้ำไปแอบร้องไห้ที่ถูกนำไปสร้างซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็เพราะเป็นฉากที่เราต่างเคยเจอ และคงไม่ใช่แค่ในวัยเรียนเท่านั้น แต่แม้ในวันนี้ในวัยทำงาน ก็ต้องมีบ้างในบางวันที่เรากัดปากตัวเองไว้นาน กุมมือไว้แน่น เกร็งตาไว้ไม่ให้น้ำข้างในตาเอ่อไหลออกมา รีบขอตัวออกจากห้องประชุม ออกมาปล่อยโฮในห้องน้ำที่มีฉากกั้น สถานที่มิดชิดแห่งเดียวในที่ทำงานที่เราจะปล่อยให้ตัวเองร้องไห้ได้โดยไม่ต้องซ่อนน้ำตาจากใคร

     แล้วทำไมการร้องไห้ในที่ทำงานจึงต้องเป็นเรื่องหลบๆ ซ่อนๆ

     แล้วจริงๆ เราร้องไห้ในที่ทำงานได้หรือเปล่า?

     ทำไมเราต้องปล่อยโฮในห้องน้ำ ซับน้ำตาให้แห้ง เดินออกมาราวกับไม่มีอะไร แค่ไปทำ ‘ธุระ’ มา ถ้าการเข้าห้องน้ำเป็นเรื่องธรรมชาติไม่ต้องปกปิดอะไร ทำไมการร้องไห้ที่เป็นสัญชาตญาณมนุษย์ทั้งในการชำระล้างสิ่งระคายเคืองในตาและชำระล้างอารมณ์หม่นหมองในใจ ถ้าการร้องไห้ทำหน้าที่ชำระล้างของเสียไม่ต่างจากการเข้าห้องน้ำ ทำไมเราต้องปิดบัง ทำเนียนว่าไปเข้าห้องน้ำมา เปล่าเลย เปล่า ไม่ได้แอบไปร้องไห้แต่อย่างใด

 

     หรือการร้องไห้จะไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ? หากเป็นวิวัฒนาการทางสังคมที่ส่งผลต่อพฤติกรรม การเลือกปฏิบัติของเราว่าจะร้องไห้กับใคร ที่ไหน หรือเราที่อยู่ในร่างของ ‘เพศ’ หญิงชายนี่ร้องไห้ได้หรือไม่ งานวิจัยชิ้นหนึ่งด้านจักษุวิทยา (Ophthalmology) ในเยอรมนีแสดงตัวเลขสำรวจว่าโดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงร้องไห้ประมาณ 30-64 ครั้งต่อปี ในขณะที่ผู้ชายร้องไห้โดยเฉลี่ย 6-17 ครั้งเพียงเท่านั้น ครั้นจะร้องทั้งทีก็ร้องเพียง 2-4 นาทีสั้นกว่าผู้หญิงถึงครึ่งที่ร้องไห้ได้ต่อเนื่องยาวนานถึง 6 นาที และ 65% ของผู้หญิงยังสะอึกสะอื้นได้ต่อไปในขณะที่ 94% ของผู้ชายร้องไห้แล้วก็จบไป ไม่สะอึกสะอื้นต่ออีกให้เสียเวลา (และน้ำตา)

     ฟังเช่นนั้นแล้วก็อาจทึกทักไปว่ามันเป็นธรรมชาติของผู้หญิงที่ร้องไห้มากกว่าผู้ชาย แต่ ทอม ลัตซ์ (Tom Lutz) เล่าไว้ในหนังสือของเขา Crying: A Natural and Cultural History of Tears2 ผ่านเหตุการณ์ประวัติศาสตร์หลายช่วงของมนุษย์ตั้งแต่การบันทึกหลักฐานการมีน้ำตาของมนุษยชาติในยุคก่อนคริสตกาล ร่ายมาจนถึงการปรากฏขึ้นของน้ำตาในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่งานปรัชญาของเพลโต งานวิทยาศาสตร์ของดาร์วิน ไปจนถึงงานศิลปะของปิกัสโซ ที่ค่อยๆ เผยให้เห็น ‘ฟังก์ชัน’ ของน้ำตาที่ต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย

     การศึกษาเรื่องราวของน้ำตาที่ทำให้เห็นว่า เจ้าน้ำใสๆ นี่ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงชำระล้างฝุ่นผงหรือเศษซากอารมณ์ที่ตกตะกอนในใจ แต่หากใช้ให้ถูกที่ถูกทางแล้ว สิ่งที่ดูเหมือนต้องหลบๆ ซ่อนๆ ปิดมันไว้ อาจกลายเป็นเรื่องดีได้หากเราเปิดเผยมันอย่างถูกวิธี

 

     คำถามคือ แล้วเราจะเผยน้ำตาอย่างไรในที่ทำงาน ให้เสียน้ำตาทั้งทีต้องเสียให้ได้ดี

     ตามทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรนั้น ผู้นำมีบทบาทสำคัญในการกำหนดว่าพฤติกรรมไหนถูกผิด เป็นปกติหรือผิดแปลก ซิลเวีย แอน ฮิวเลตต์ (Sylvia Ann Hewlett) อธิบายเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ Executive Presence: The Missing Link between Merit and Success3 ว่ามันไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เราต้องแอบไปร้องไห้ในห้องน้ำ ในวัฒนธรรมที่ชายเป็นใหญ่ และผู้นำส่วนมากยังเป็นผู้ชายที่ไม่ค่อยแสดงความรู้สึก จนกลายเป็นภาพจำ เป็นวิถีปฏิบัติของผู้คนในองค์กรนั้นๆ ว่าการร้องไห้เป็นเรื่องแปลก ไม่เป็นมืออาชีพ อย่าเชียว อย่าได้เผยมันออกมาในที่ทำงาน

     ในทางตรงกันข้าม หากผู้นำจะชายหรือหญิงก็ตามแต่ เป็นผู้แสดงออก ยอมรับความรู้สึกเหล่านั้น แทนที่จะกลบเกลื่อนเวลาใกล้ถึงจุดระเบิดราวเสียกับว่าการร้องไห้นั้นเป็นสภาวะอ่อนแอ คนเป็นผู้นำเขาไม่ทำกันหรอก หากผู้นำคนนั้นรู้ถึงบทบาทตนเองว่าสิ่งที่เขาทำจะเป็นสิ่งที่กำหนดวัฒนธรรมองค์กรได้ต่อไป ยอมปล่อยให้ความรู้สึกที่แท้จริงได้เผยออกมา แทนที่จะกลบเกลื่อน เฉไฉ ปล่อยให้น้ำตาได้ไหลออกมาบ้าง หรือพูดถึงความรู้สึกเปราะบางนั้นอย่างตรงไปตรงมา “ผม/ดิฉัน คงแคร์กับเรื่องนี้มากจริงๆ” น้ำตานั้นอาจเปลี่ยนเป็นรอยยิ้ม ความอ่อนแออาจเปลี่ยนเป็นความอ่อนโยน เรื่องต้องห้ามอาจเปลี่ยนเป็นการยอมรับว่าน้ำตาไม่ใช่เรื่องประหลาด หากเราสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาถึงข้อความในใจระหว่างคนทำงานด้วยกัน

     การยอมรับอย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องไปหลบๆ ซ่อนๆ ในห้องน้ำไม่ได้ส่งผลดีแค่กับเราเองที่เลี่ยงไม่ได้อยากร้องไห้ในบางครั้ง แต่ยังช่วยเพื่อนร่วมงานที่ก็อาจอยู่ในสถานการณ์ปริ่มๆ น้ำตาใกล้จะแตกในช่วงเวลาแบบนั้น เราเองก็สามารถเป็นผู้ ‘อนุญาต’ ให้น้ำตาไหลออกมาได้เช่นกัน โดยเฉพาะกับคนที่อยู่ในบทบาทผู้นำที่หากใส่ความรู้สึกร่วมเข้าไป “ผม/ดิฉันเข้าใจ งานนี้มันหนักจริงๆ บางทีก็ร้องไห้กับมันเหมือนกัน” หรือแชร์กลับไปว่ามีงานไหนที่ทำให้คุณเคยเสียน้ำตาบ้าง ผ่านมาได้อย่างไร เพื่อเปลี่ยนนิยามใหม่ให้การร้องไห้ในที่ทำงานเป็นสัญญาณว่าเราอยู่ในพื้นที่ความไว้ใจ ไม่ใช่สัญญาณวิกฤต ไม่ใช่สัญลักษณ์ของความอ่อนแอ หรือไม่เป็นมืออาชีพในที่ทำงาน

     ในโลกการทำงานเปลี่ยนไป ทำงานได้ยืดหยุ่นไม่ต้องตอกบัตรเข้าออกงาน ไม่มีสถานที่ทำงานตายตัว การจัดการอารมณ์ในที่ทำงานก็ควรได้รับการทำความเข้าใจใหม่ดูบ้าง ให้การจัดการอารมณ์ไม่ได้หมายถึงการเก็บอั้นอารมณ์อีกต่อไป หากคือการยอมรับอารมณ์ตามความรู้สึกที่แท้จริง อ่อนโยนกับความรู้สึกตนเองเพียงพอ จนอ่อนโยนกับความรู้สึกของผู้อื่น และสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่หลอมรวมทุกคนทุกความรู้สึกไว้ร่วมกัน ไม่ปฏิเสธ ไม่แบ่งแยก ไม่กีดกัน หากโอบอุ้ม ยอมทุกความรู้สึกระหว่างกันในที่ทำงาน

 


อ้างอิง:

1www.dog.org/wp-content/uploads/2009/11/PM-Weinen.pdf

2Lutz, Tom. Crying: A Natural and Cultural History of Tears. New York: W.W.Norton & Company, 2001. Print.

3Hewlett, Sylvia Ann. Executive Presence: The Missing Link Between Merit and Success. New York: Harper Business, 2014. Print.