ประชาธิปไตย คำใหญ่ๆ ที่ใช้กันจนชิน ได้ยินกันทุกวัน คำที่หลายคนมุ่งมั่นฟันฝ่าให้ได้มา
คำว่า ‘demo’ รากศัพท์ภาษากรีกโบราณที่แปลตรงตัวได้ว่า ‘ประชาชน’ และ ‘kratos’ อันหมายถึง ‘อำนาจการปกครอง’ ประกอบกันเป็นความหมายที่เราเข้าใจกันมานานว่าคือการปกครองที่อำนาจสูงสุด (ควร) เป็นของประชาชน
‘ประชาชน’ ‘อำนาจ’ ‘เสียงข้างมาก’ คำห้วนๆ ที่ทำให้เราเผลอตีกรอบจำกัดความประชาธิปไตยแคบไป ผลักไสให้ประชาธิปไตยค่อยๆ ห่างไกลจากตัว มัวแต่คิดว่าประชาธิปไตยนั้นเป็นเพียงเรื่องของระบอบการปกครอง
‘ประชาธิปไตยเชิงลึก’ (Deep Democracy) หลักการสำคัญของวิถีการจัดการความขัดแย้งรูปแบบกระบวนการ (process work) ที่ในบทความที่แล้วได้กล่าวถึงบทบาท ประชาธิปไตยในการฟังเสียงในใจตนเอง ที่เจาะลึกไปถึงแก่นความหมายของประชาธิปไตยว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่านั้น กับใจความสำคัญในกระบวนการรับฟังเสียงที่หลากหลาย ฟังจนสลายเส้นแบ่งความต่างของเสียง เปลี่ยนความขัดแย้งให้กลายเป็นความเข้าใจ – หากมองจากมุมนี้ ไม่ว่าในบริบทไหน ในระดับความสัมพันธ์ใด ประชาธิปไตยล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิสัมพันธ์
‘เสียง’ ที่ถูกลดทอนให้กลายเป็นเพียงหนึ่งหน่วยนับคะแนนในรูปแบบการเลือกตั้ง วิธีการให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่เราเคยชิน แท้จริงนั้นแต่ละเสียงกำลังเล่น ‘บทบาท’ (role) ที่มีความรู้สึกนึกคิด มีความต้องการที่ไม่ได้ยึดติดกับบุคคล หากเปลี่ยนไปตามบริบทหรือสถานการณ์
การนับคะแนนช่วยให้เห็น ‘เสียงข้างมาก’ หากการฟังนั้นช่วยให้เราลงได้ลึกถึงความรู้สึก ความต้องการของเสียงนั้น สัญลักษณ์กากบาทในช่องลงคะแนน ความขัดแย้งระหว่างบทบาทที่พอกพูนเผยตัวออกมาเป็นความรุนแรงนั้นเป็นเพียง ‘ความจริงระดับที่มองเห็น’ (Consensus Reality) หากประชาธิปไตยเชิงลึกชวนให้เราเพ่งมองความจริงระดับที่ลึกลงไปทั้งในชั้นของ ‘สภาวะฝัน’ (Dreaming) ที่สะท้อนผ่านพฤติกรรมต่างๆ เช่น เงียบใส่ไม่พูดจา ปฏิเสธที่จะออกเสียง หรือเสียงคนรุ่นใหม่ที่ตื่นเต้นตื่นตัวกับการเลือกตั้งซึ่งเป็นครั้งแรกของใครหลายคน ฯลฯ การมองลงไปให้ลึกถึงความจริงระดับ ‘แก่น’ ของพฤติกรรมที่แสดงออกมาในความจริงสองระดับแรกนั้น จะช่วยทำให้เข้าใจว่าแท้จริงเสียงนั้นต้องการอะไร
ฟังจนเข้าใจเสียงที่เงียบ เสียงที่โหวตโน ว่านั่นไม่ใช่ความเมินเฉย หากคือการประชดประชันจากการอดทนอดกลั้นเป็นเสียงส่วนน้อย เปล่งเสียงดังเท่าไรก็ไม่เคยได้รับการตอบสนองมานาน – ไม่ต่างกันเลยกับเสียงความเงียบอื่นในความสัมพันธ์ ที่เงียบไปไม่ใช่เพราะไม่มีอะไรจะเอ่ย แต่เป็นเพราะเสียงข้างในที่มีมันเอ่อล้น ถูกเก็บไว้นาน ไร้การรับฟัง จนต้องใช้ความเงียบแทนเสียงข้างในแสดงความรู้สึกออกมา
แล้วการมองเห็นความจริงแต่ละระดับช่วยอะไร? เกี่ยวอะไรกับประชาธิปไตย และการจัดการความขัดแย้ง?
ประชาธิปไตยเชิงลึกไม่ได้เพียงนิยามประชาธิปไตยว่าใครเป็นเจ้าของ และอำนาจเป็นของใคร หากชวนให้เห็นคุณค่าของความหลากหลายของเสียง การเห็นดังกล่าวช่วยทำให้ความขัดแย้งกลายเป็นสิ่งมีค่าในการช่วยขยายความต้องการของเสียงให้ชัดขึ้นในวันที่เราไม่ค่อยได้ยินกันในวัน (ที่เหมือนจะ) สงบสุขทั่วไป ในวันที่เรามักได้ยินแค่ ‘เสียงส่วนใหญ่’ และเสียงส่วนน้อยนั้นมักเบาเกินไปจนไม่ถูกรับฟัง หากเสียงที่มีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตนเอง เมื่อถูกปฏิเสธ กดทับซ้ำๆ ก็ย่อมถมกันเป็นความขัดแย้งที่พูนขึ้นจนปิดไว้ไม่ได้ ทลายปลายยอดของภูเขาน้ำแข็ง ปรากฏออกมาเป็นความเกลียดชัง ความรุนแรง
แต่หากเรามองให้ลึกทะลุปลายยอดภูเขาน้ำแข็งของความขัดแย้งที่ปะทุออกมา ฟังไปให้ลึกจนได้ยินความต้องการ จนได้ยินข้อความบางอย่างที่เสียงต้องการสื่อออกมา เสียงที่ความดังต่างกันไป อยู่ในปากของคนต่างคน หากความต้องการภายในนั้นแทบไม่ต่างกัน เมื่อฟังกันจนถึงแก่นแท้ความต้องการเท่านั้น เสียงขัดแย้งที่ไม่น่าพึงปรารถนา แม้กระทั่งเสียงก่นด่าก็ยังมีความเป็นห่วงซุกซ่อนไว้
ท้ายสุดแล้วจะเสียงที่เงียบ ประชดประชัน ตะโกนแข่งขัน ล้วนต้องการความยอมรับ ความสงบสุขในชีวิต และเมื่อเราเห็นความต้องการที่เหมือนกันเช่นนั้น เสียงของฉันแท้จริงนั้นก็คือเสียงของเธอ เสียงของเธอย่อมพูดแทนเสียงของฉัน เสียงของเราคือเสียงของกันและกัน ที่เรามักไม่ได้ยินในวันที่มัวแต่มองเห็นปลายยอดภูเขาน้ำแข็งของความขัดแย้งที่คมทิ่มแทงแต่แสนเปราะบาง
เมื่อใส่ใจ เปิดใจเพียงพอที่จะมองให้ทะลุความจริงระดับที่มองเห็น ไปจนถึงความจริงระดับแก่นสาร ที่ความต้องการของเสียงค่อยๆ ดังชัดขึ้นมา เราย่อมเห็นแง่งามของความขัดแย้ง เห็นความหมายที่แท้จริงของประชาธิปไตย ตราบใดที่โรงละครแห่งนี้ยังถูกเล่นโดยตัวละครที่เป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะในบริบทต่างกันแค่ไหน จะในบ้าน ความสัมพันธ์ ที่ทำงาน หรือเวทีนานาชาติ ความต้องการขั้นพื้นฐานของเสียงนั้นก็ยังคงเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง