ประชาธิปไตยเชิงลึก

ประชาธิปไตยเชิงลึก ฝึกฟังเสียงข้างใน ฝึกสร้างประชาธิปไตยในใจเราเอง

หนังสือ Mind of Mahatama Gandhi1 หัวข้อ Essence of Democracy ได้บันทึกคำกล่าวหนึ่งของคานธีเอาไว้ว่า “แก่นแท้ของประชาธิปไตยไม่ใช่วิธีการที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงหรือล้มเลิกรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่มันต้องใช้การเปลี่ยนแปลงหัวใจของผู้คน”

     การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ต้องเริ่มจากข้างใน คำพูดที่ใครต่อใครว่าไว้ หากการเปลี่ยนแปลงที่รอมานานยังไร้สัญญาณว่าจะเกิดขึ้นจริงเสียที ก็ทำให้เริ่มเคลือบแคลงใจสงสัยว่าหรือประชาธิปไตยจะเป็นแค่อุดมการณ์เคลือบน้ำตาล

     ‘ประชาธิปไตย’ คำใหญ่ๆ ที่ทำให้เราต่างอดทนเฝ้ารอคอยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง คิดฝันถึงวันที่สังคมเปลี่ยนไป เมื่อประชาธิปไตยเกิดขึ้นจริง ใดใดในชีวิตก็คงจะดีตาม

     ประชาธิปไตย กลายเป็นสัญลักษณ์ที่คนปรารถนาเกินกว่านิยามของมัน กลายเป็นเป้าหมาย เป็นความหวังในการสร้างสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม ให้เกิดขึ้นในสังคมผ่านมติการเลือกตั้งหา ‘เสียงข้างมาก’ หากการมุ่งมองแต่เป้าหมาย รูปแบบของวิธีการเช่นนั้นดูจะทำให้แก่นแท้ของประชาธิปไตยค่อยๆ คลาดเคลื่อนไป และขาดกระบวนการรับฟัง ‘เสียง’ ที่ไม่ว่าจะอยู่ข้างไหน จะน้อยหรือมาก ทุกเสียงนั้นก็มีสำนึกเป็นของตนเอง มีความสำคัญ และต้องการพื้นที่รับฟังไม่ต่างกัน

 

     ‘ประชาธิปไตยเชิงลึก’ (Deep Democracy) หัวใจสำคัญของการจัดการความขัดแย้งรูปแบบกระบวนการกลุ่ม (Process Work) ที่พัฒนาขึ้นโดย อาร์โนลด์ มินเดลล์ (Arnold Mindell) ที่ผสมผสานหลายศาสตร์ตั้งแต่จิตวิทยา สังคมวิทยา หรือวิทยาศาสตร์อย่างควอนตัมฟิสิกส์ เพื่อใช้ในการจัดการความขัดแย้งในหลายระดับ ตั้งแต่สงครามระหว่างประเทศ ชนชาติ ชุมชนต่างๆ ในองค์กร หรือแม้แต่ความขัดแย้งในตัวตนที่เราแต่ละคนล้วนมี

     หัวใจของ ‘ประชาธิปไตยเชิงลึก’ นั้นเชื่อว่าทุกเสียงมีพลวัต มีพลังงาน มีสำนึกคิดเป็นของตนเอง ไม่ว่าจะเสียงของชนกลุ่มน้อย เสียงของประชาชน หรือเสียงของอารมณ์ต่างๆ เสียงเล็กเสียงน้อยที่ไม่ได้รับการรับฟัง ไม่ได้รับการคลี่คลายเมื่อรวมตัวสะสมกันก็ปะทุ ควบแน่นเป็นความขัดแย้งที่ปรากฏให้เห็น

 

     ประสาทวิทยา (Neuroscience) บอกว่าคนเรามีความคิดเกิดขึ้นในหัวเกือบหนึ่งแสนเรื่องต่อวัน2 เรียกได้ว่ามีความคิดแล่นผ่านไปในหัวเราทุกวินาที ความคิดหรือเสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนหลายครั้งเราฟังไม่ทันว่าเสียงนั้นเกิดขึ้นจากอะไร ต้องการจะสื่อสารอะไรกับเรา เสียงที่เหมือนจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว ที่แท้ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ถูกสะสมไว้ กลายเป็นมวลอารมณ์ในแต่ละวัน มวลอารมณ์ที่ถูกกระทบแต่ละวันกลายเป็นตัวตนเรา เป็นชีวิตของเราในที่สุด

     เคยไหม ที่มีสองเสียงเหมือนตีกันอยู่ในใจ เวลาตั้งใจจะทำอะไร หรือเวลาตกหลุมรักใคร แล้วมักจะมีเสียงที่เหมือนจะคอยฉุดตัวเองอยู่เสมอ ‘ทำไม่ได้หรอก’ ‘เดี๋ยวก็เลิก’ เสียงอะไรเทือกๆ นั้นที่ช่างไม่น่ารับฟัง แล้วสิ่งที่เราทำก็คือ ปัดเสียงนั้นตกไป ไล่เสียงนั้นให้กลับไปเบื้องลึกที่สุดของหัวใจ ทั้งที่เราก็รู้ดีว่าเสียงนั้นไม่เคยหายไปไหน สักพักเดี๋ยวก็ดังขึ้นมาใหม่

     เสียงในใจที่ขัดแย้งนั้นไม่ต่างกับเสียงอื่นๆ ที่ถูกปิดปากในสังคมที่โหยหาประชาธิปไตย รูปแบบที่ทำให้เผลอไผลคิดไปว่า ‘เสียงข้างมาก’ นั้นสำคัญกว่าเสียงข้างน้อย และเสียงที่ไม่น่าฟังเท่าไหร่ ก็ไม่ควรจะต้องไปฟัง ความขัดแย้งกลายเป็นเสียงน่ารำคาญ กลายเป็นเสียงที่ควรเงียบๆ ไปซะ กลายเป็นแสวงหากันแต่เสียงเคลือบน้ำตาล อุดมการณ์หอมหวานที่ไม่มีอยู่จริง

 

     กระบวนการพูดคุย (dialogue) จึงไม่ได้สำคัญในการเปิดพื้นที่ฟังเสียงหลากหลายเพื่อจัดการความขัดแย้งระดับกลุ่มเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีการที่เราต่างสามารถใช้กับการฟังเสียงในใจของตนเอง

     แทนที่จะปิดกั้น ข่มเสียงที่อาจฟังไม่รื่นรมย์เท่าไรไว้ไม่ให้ดัง ลองเปิดใจฟังเสียงนั้นให้ชัด รับรู้ถึงความรู้สึกว่าเสียงนั้นมีที่มาที่ไปจากไหน ต้องการอะไร เสียงที่คิดว่า ‘ทำไม่ได้’ ‘เดี๋ยวก็เลิก’ นั้น มีความกลัวจากประสบการณ์ความล้มเหลวจากอดีตหรือเปล่า เขาดังขึ้นมาเพื่อปกป้องเราไม่ให้ผิดหวังใช่หรือไม่ ฟังอย่างใส่ใจ ไม่ตัดสิน ไม่แน่อาจได้ยินความต้องการที่แท้จริงของเสียงนั้น เขาอาจดังขึ้นมาเพื่อต้องการความมุ่งมั่นว่าครั้งนี้เราจะจริงจัง เราจะไม่ทำให้ (ตัวเอง) ต้องผิดหวังอีก

     เมื่อฟังให้ลึก ฟังให้ชัดถึงความต้องการของเสียงนั้นแล้ว เสียงนั้นก็ดูจะค่อยๆ คลี่คลาย ไม่ดังขึ้นมาใหม่ให้ใจวุ่นวาย คำว่า ‘ทำไม่ได้’ ก็ค่อยๆ เงียบสงบลงในใจ เพราะเสียงใหม่ที่เกิดขึ้น ‘ต้องทำให้ได้’ นั้นขึ้นมาแทน คำสัญญาที่สื่อสารกลับไปในพื้นที่ของการเปิดใจในใจเรานั่นเองที่ดูจะเปลี่ยนเสียงโหดร้ายให้กลายเป็นเสียงแห่งความปรารถนาดี

 

     การเคารพและรับฟังเสียงที่หลากหลาย จึงดูจะเป็นหนทางที่แท้จริงที่ทำให้ความขัดแย้งคลี่คลาย เสียงหลากหลายที่เมื่อรับฟังอย่างเปิดใจ ไม่ตัดสิน เสียงต่างๆ ที่มีสำนึกเป็นของตัวเองดูจะไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าการรับรู้ถึงความรู้สึกของเสียงนั้น รับฟังกันจนเสียงนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของเสียงอื่นๆ เป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจทำ หรือไม่ทำอะไร ความต้องการของเสียงที่ดูไม่ต่างกันเลยไม่ว่าจะในระดับบุคคลหรือสังคม

     และแก่นแท้ของประชาธิปไตยคงเป็นอย่างที่คานธีว่าไว้ เมื่อเรายอมรับความหลากหลายของเสียงต่างๆ ในตัวเราเองได้แล้ว เมื่อนั้นเราจึงพร้อมที่จะรับฟังเสียงความเห็นที่ต่างในสังคมต่อไป

     และเมื่อนั้นประชาธิปไตยคงไม่เป็นเพียงเป้าหมาย ไม่เป็นเพียงวิธีการหามติเสียงข้างมาก หากเป็นกระบวนการรับฟัง ให้ทุกเสียงได้มีพื้นที่ในการแสดงออกว่าคิดเห็นอย่างไร ต้องการอะไร แล้วเราจะอยู่ร่วมกันกับเสียงอื่นๆ ได้อย่างไร ให้ ‘ประชาธิปไตยเชิงลึก’ นำมาซึ่งสันติสุขที่แท้จริงในสภาวะการอยู่ร่วมกันได้ของเสียงต่างๆ หาใช่ความเงียบของการที่เสียงที่ถูกปิดปากแล้วบอกว่านั่นคือความสงบที่เราต้องยอมจำนน

 


1หนังสือ Mind of Mahatama Gandhi สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.mkgandhi.org/ebks/mindofmahatmagandhi.pdf

2The 70,000 Thoughts Per Day Myth?