Future Fest

นัยยะของดนตรี ศิลปะ วัฒนธรรม ในการปลดแอกจากพันธนาการของโซ่ตรวนความคิด

“พวกเธอต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อน… แล้วจึงเรียนศิลปะ”

คำพูดของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี บนเสื้อยืดที่ใช้ประดับในงาน Future Fest เทศกาลดนตรี ศิลปะ วัฒนธรรม ของผู้มีความคิดก้าวหน้าสร้างสรรค์ ที่หากดูผ่านตาจากเวทีคอนเสิร์ต นิทรรศการศิลปะ แบนเนอร์สีสดของกลุ่มกิจกรรมต่างๆ และผู้คนที่สวมใส่เสื้อยืดเดินไปมา ยากที่จะบอกได้ว่านี่คืองานที่จัดโดยพรรคการเมือง

Future Fest 

   

     มองเผินๆ อาจเห็นว่าเป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อดึงฐานเสียงคนรุ่นใหม่ แต่เอาเข้าจริงแล้ว นอกจากการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ ‘creative, craft, care’ (ความคิดสร้างสรรค์ งานฝีมือ และความใส่ใจ) ที่เป็นสามกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ ที่หุ่นยนต์กลไกใดก็แทนสามความสามารถนี้ของมนุษย์ไม่ได้ ความเป็นดนตรี ศิลปะ วัฒนธรรม ยังให้ความหมายลึกกว่านั้น ตามเนื้อหาที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการด้านกฎหมาย และผู้ร่วมก่อตั้งพรรค ได้บอกเล่าถึงความสำคัญของงานศิลปะในความหมายของความเป็นมนุษย์โดยแท้

 

     แล้วความหมายของความเป็นมนุษย์โดยแท้นั่นคืออะไร?

     คำถามสำคัญ ที่เราหลงลืมที่จะถาม—พอๆ กันกับคำถามสำคัญอื่นๆ ไม่ว่าจะเพราะมันตอบยากจนเลิกถาม หรือเพราะการถามถูกทำให้เป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องไม่จำเป็น จนทำให้ศักยภาพในการตั้งคำถามของเราลดเลือน จนแทบจะเลิกถามกันไปเอง

     มิเชล ฟูโกต์ นักปรัชญาคนสำคัญของโลกชาวฝรั่งเศส กล่าวไว้ว่า การห้ามความคิดเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐ ซึ่งมักถูกทำผ่านสองเครื่องมือ คือหนึ่ง ผ่านกฎหมาย และสอง ผ่านคุณค่า อุดมการณ์ ในขณะที่เครื่องมือชนิดแรกเป็นอำนาจรัฐที่เห็นอยู่ตำตา เครื่องมือที่สองกลับทำงานได้อย่างแยบยลกว่า ราวกับมือที่มองไม่เห็นที่เอื้อมมาปิดปากเราไว้ ไม่ให้สื่อสารออกมา ปิดไปปิดมาบ่อยเข้า มันก็เริ่มแนบเนียนทำงานในระดับจิตใต้สำนึกมากขึ้น จนการคิดตั้งคำถามยากขึ้นเรื่อยๆ จนเลิกคิด เลิกพูดไปเสียเอง แม้ในบางครั้งที่ไม่มีเครื่องมือกฎหมายมาควบคุม แต่จิตใต้สำนึกที่ถูกควบคุมกดทับไว้มานาน ก็ดูจะพาลทำให้คนเราควบคุมตัวเอง ไปโดยไม่รู้ตัว…

     ฌอง ฌาค รุสโซ อีกหนึ่งนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส บอกว่า มนุษย์นั้นต่างจากสัตว์ประเภทอื่นๆ ด้วยคุณสมบัติสำคัญสองประการ หนึ่งคือความปรารถนา ที่จะพัฒนาตนเองไปสู่ขีดสุดความสามารถ และสองคือเจตจำนงอิสระ ในขณะที่สัตว์อื่นๆนั้นเพียงทำตามสัญชาตญาณ มันคือเจตจำนงเสรีนี่เองที่ทำให้มนุษย์สามารถตัดสินใจ และก่อให้เกิดการก้าวข้ามใหม่ๆ ที่ไกลกว่าเพียงเกิดมาเพื่ออยู่รอดไปวันๆ

 

Future Fest

 

     มันคือวันที่นางโรซา พาร์กส์ หญิงผิวสีในสหรัฐฯ ปฏิเสธต่อคนขาวว่าเธอจะ ‘ไม่’ สละที่ให้คนขาวนั่ง อย่างที่คนผิวสีจำยอมต่อสังคมมายาวนาน ที่ทำให้ผู้คนเริ่มตั้งคำถามกับการเหยียดเชื้อชาติ มันคือวันที่นักวิทยาศาสตร์กล้ายืนยันกับศาสนจักรว่า โลก ‘ไม่’ แบน ที่นำไปสู่การค้นพบความจริงแท้ใหม่อีกมหาศาล…

     ในความเผลอเรอที่ถูกความเคยชินจากการโดนครอบงำ มันอาศัยชั่วขณะแห่งความรู้ตัว ในการสะบัดตัวหนีจากมือที่มองไม่เห็นที่ปิดปากเราไว้ และตะโกนกลับไปว่า ‘ไม่’ นี่ไม่ใช่ระบบที่เราต้องการอีกต่อไป ค่อยๆ ขยับขัดขืน ให้เสียงตะโกนแผดดังลั่นสลายมั่นหมอก ปลดแอก ปลุกเสียงอื่นๆ ให้ตื่นจากหลับใหลกลับไปสู่เจตจำนงอิสระ สัญชาตญาณความเป็นมนุษย์ในใจที่ถูกทำให้เงียบ เก็บตัวจนเกือบจะลืมใช้มาแสนนาน

 

Future Fest

 

     มันอาจคือแสงจากหลอดไฟนีออนสีชมพูที่เขียนไว้ว่า ‘young rebels’ มันอาจเป็นแบนเนอร์สีสดใส เต็มไปด้วยถ้อยคำสื่อสารถึงคุณค่าของความหลากหลาย ความเป็นปัจจุบันของรุ่นใหม่ไม่ใช่แค่ในความเป็นอนาคต มันคือมวลความหวังอะไรบางอย่างของงานวันนั้นที่อธิบายไม่ได้ จนกระทั่งหันไปเจอถ้อยคำสกรีนบนเสื้อยืด จากนักคิด นักปฏิวัติของโลกที่เรียงรายตรงทางเข้างาน โดยเฉพาะข้อความหนึ่งจาก ‘วาสลาฟ ฮาเวล’ ประธานาธิบดีคนแรกของเชโกสโลวาเกีย และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่กล่าวไว้ว่า

     “ความหวังไม่ใช่สิ่งเดียวกับการมองโลกในแง่ดี มันไม่ใช่ความเชื่อมั่นว่าสิ่งทั้งหลายจะจบลงอย่างดีในท้ายที่สุด แต่มันเป็นความเชื่อมั่นว่าบางสิ่งบางอย่างนั้นถูกต้อง และสมควรต่อการลงมือทำ ไม่ว่าผลลัพธ์ของมันจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม”