AFTER 7 PM

LIFE BEGINS AFTER 7 PM | คุณทำอะไรหลังหนึ่งทุ่ม?

“คุณทำอะไรหลังหนึ่งทุ่ม?”

 

คำถามของ ‘โอ๊ต’ – ชยะพงส์ นะวิโรจน์ ผู้ก่อตั้ง Bangkok Swing บนเวที TEDxBangkok เมื่อปี 2016 ดังขึ้นมาอีกครั้ง ในวันที่หนึ่งทุ่มยังนั่งอยู่ที่เดิม จ้องหน้าจอ ตั้งหน้าตั้งตาแก้งานให้เสร็จ ทั้งที่รู้ว่าเสร็จชิ้นนี้ ก็ยังมีชิ้นใหม่ที่จ่อคิวรออยู่ ไม่รู้จะทำไปถึงไหน ไม่รู้ว่าสิ่งที่ ‘ต้องทำ’ กินพื้นที่เวลาชีวิตจนไม่เหลือเวลาให้สิ่งที่ ‘อยากทำ’ ไปตั้งแต่เมื่อไร

     คุณทำอะไรหลังหนึ่งทุ่ม?

     โอ๊ตและใครอีกหลายคนมารวมตัวกันบนชั้นสองของคูหาแคบๆ แห่งหนึ่งกลางกรุงเทพ บ้างอยู่ในเดรสวินเทจ บ้างใส่กางเกงสแล็ค เสื้อเชิ้ต กระโปรงทรงเอ ความหลากหลายที่ไม่ใช่แค่การแต่งกาย แต่ยังรวมถึง ‘หมวก’ แต่ละใบที่เขาสวมใส่ในเวลาทำงานที่ต่างกัน แต่บนชั้นสองของคูหาแคบๆ นั้น แต่ละคนดูจะพร้อมใจถอด ‘หมวก’ อาชีพการงาน และกระโจนเข้าสู่ฟลอร์เต้นรำ คำนับคนแปลกหน้า ขอจับมือกระโดดโลดเต้นไปในจังหวะเดียวกัน

     ไม่ใช่แค่ฟลอร์เต้นรำแห่งนี้หรอก ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่เราจะเห็นคนหลากหลาย สลายอาชีพการงานที่ถูกแปะป้าย และกระโจนเข้าสู่พื้นที่ว่างกับคนแปลกหน้าที่มีบางอย่างคล้ายกัน

     บ้างจับกลุ่มรวมกันในร้านบอร์ดเกม บ้างเล่นกีฬา บ้างรวมตัวกันทำงานอาสา จะเป็นกิจกรรมอะไรก็ตาม มันคือช่วงเวลาหนึ่งทุ่มหลังเลิกงาน ที่พวกเขาจะได้กลับมาเป็นตัวเอง

 

     เช้าแล้วยังอยู่บนที่นอน…

     ทุ่มครึ่งแล้วยังเหนื่อยอ่อนอยู่ที่ทำงาน

     เท้าเริ่มเคาะไปกับจังหวะดนตรีหลังฟังทอล์กของโอ๊ต1จบ ความสนใจเริ่มหยุดไม่ได้จนต้องเปิดทอล์กอื่นฟังต่อไปเรื่อยๆ ความบังเอิญหรืออะไรก็ตามแต่ที่นอกจากโอ๊ต Bangkok Swing (ที่งานอดิเรกของเขาได้กลายมาเป็นนามสกุลห้อยท้าย) ก็ยังมี ‘เน็ตติ้ง’ – จารุวรรณ สุพลไร่ หญิงสาวชาวอุบลที่ออกเดินทางทำสารคดีลุ่มแม่น้ำโขง, สมชัย กวางทองพานิชย์ อาเจ๊กขายเชือกที่สำเพ็ง ที่บันทึกประวัติศาสตร์ชุมชน และ ‘โต๊ด’ – นักรบ มูลมานัส ศิลปินคอลลาจที่มีความสามารถในการเปลี่ยนนิยามความเป็นไทยให้โมเดิร์นของเขากลายมาเป็นปกหนังสือหลายเล่ม ออกสื่อก็หลายครั้ง ความน่าสนใจตรงที่งานของพวกเขาเหล่านี้ ที่ตอนนี้เป็นที่จดจำและได้รับการกล่าวถึง ล้วนมีที่มาที่ไปจากงานอดิเรกที่พวกเขาทำหลังเลิกงานทั้งนั้น

 

     โอ๊ตเป็นผู้ประกอบการในเวลากลางวัน ก่อนจะสลัดรองเท้าหนังมาใส่รองเท้าผ้าใบกระโดดโลดเต้นในตอนกลางคืนก่อนโต๊ดจะมาเป็นศิลปินโมเดิร์นไทยแนวหน้า ก็เรียกตัวเองว่าเป็นเด็กอักษรศาสตร์ ทักษะศิลปะเป็นศูนย์ อาศัยเพียงไฟจินตนาการ และไฟในห้องนอนตอนกลางคืนที่เขาค่อยๆ บรรจงสร้างสรรค์ผลงาน เปลี่ยนเรื่องความเป็นไทยที่อยากเล่า ให้กลายเป็นงานศิลปะที่ไม่ใช้ทักษะแบบใคร แต่เป็นศิลปะในแบบของตน ที่ผ่านการฝึกฝนหลังเลิกงาน

 

     “What do you do?” —คุณทำอะไร?

     คำทักทายธรรมดาสามัญเวลาได้เจอกัน ความเคยชินเมื่อถูกถาม ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ใครต่อใครจะตอบกลับไปด้วยคำตอบดื่นดาษ บอกชื่ออาชีพการงานเป็นคำนิยามว่าเราทำอะไร ว่าเราเป็นใครกลับไปเช่นกัน 55% ของชาวอเมริกัน2 ยอมรับว่าพวกเขานิยามตัวเองจากงานที่ทำ น่าแปลกที่ตัวเลขจำนวนเท่ากันบอกว่าพวกเขาไม่รู้สึกพึงพอใจกับคำตอบที่ตอบออกไป

     ความไม่พึงพอใจในคำตอบของชาวอเมริกันที่สะท้อนแนวคิด ‘self-complexity’3 ว่าธรรมชาติของเราแต่ละคนนั้นเต็มไปด้วยความหลากหลาย ไม่มีตัวตนใดที่ถูกแช่แข็ง และใครที่มักยึดติดตัวเองกับบทบาทใดบทบาทหนึ่งก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวลได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เช่น ใครที่นิยามตัวเองว่างานคือชีวิต หากเกิดความผิดพลาดจากงานเล็กน้อย ก็อาจจะสั่นคลอนได้ง่ายๆ

     แต่ในรัฐไร้สวัสดิการ ไม่ทำงานก็ไม่ได้ แล้วจะทำเช่นไร ในโลกที่เลือกอะไรไม่ได้ อย่างน้อยงานอดิเรก สิ่งที่เรา ‘เลือก’ จะทำในงานทั้งหลายทั้งปวงที่ ‘ต้อง’ ทำอาจคือคำตอบ อาจคือสิ่งหล่อเลี้ยงให้ยังมีชีวิตต่อไป

 

     การศึกษา ‘Real-Time Associations Between Engaging in Leisure and Daily Health and Well-Being’4 ของสถาบันวิจัยในสหรัฐอเมริกาชี้ให้เห็นบทบาทของงานอดิเรกที่ส่งผลเชิงบวกต่อสุขภาพจิต งานอดิเรกที่งานงานวิจัยได้กำหนดกรอบความหมายไว้ว่า นอกจากจะเป็นกิจกรรมที่ทำในเวลาว่างแล้ว อีกนัยสำคัญคือเป็นกิจกรรมที่ผู้กระทำ ‘เลือก’ ด้วยตนเอง

     แล้วคนเรา ‘เลือก’ งานอดิเรกจากอะไร มีงานวิจัยจิตวิทยาอีกหลายชิ้นที่พยายามศึกษาการ ‘เลือก’ ของเรานี้ บ้างบอกว่าเป็นการ ‘ชดเชย’ ‘รักษา’ ‘ปกป้อง’ ‘ปลดปล่อย’ ตัวตนที่เราไม่อาจเผยได้ในชีวิต ประจำวัน เช่น ชอบกีฬาศิลปะป้องกันตัว ชอบร้องเพลง ชอบเต้นรำ เพราะงานที่ทำไม่สามารถเปิดเผยความรู้สึก ความต้องการที่แท้จริงได้อย่างอิสระ, ชอบเล่นบอร์ดเกม เพราะบทบาทการงานไม่เอื้อให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ฯลฯ

     งานอดิเรกที่ทำให้เรากลับมาได้เห็นตัวตนอีกด้าน ที่อาจถูกปิดซ่อนเร้นไว้ ใน ‘หมวก’ หน้าที่การงานหลายใบที่เราสวมใส่

 

เลิกงานแล้ว ถอดหมวกใบนั้นไป

ถอดสูทผูกไท ถอดรองเท้าส้นสูงที่สวมใส่

เปลี่ยนเป็นรองเท้าผ้าใบ

กระโจนเข้าใส่ฟลอร์เต้นรำ

ยื่นมือออกไปทักทายคนแปลกหน้า

แล้วอย่าเลยนะ อย่าถามส่งๆ ไปว่า “คุณทำอะไร”

แต่ลองดู ลองเปิดบทสนทนา

ทำความรู้จักกันใหม่

ด้วยคำถามที่ว่า

“คุณทำอะไรตอนหนึ่งทุ่มตรง?”

 


อ้างอิง:

     1www.tedxbangkok.net/video/create-community-chayapong-naviroj-bangkok-swing

     2Riffkin, Rebecca. (August 22, 2014). In U.S., 55% of Workers Get Sense of Identity from Their Job.” Gallup. Retrieved July 25, 2019, from https://news.gallup.com/poll/175400/workers-sense-identity-job.aspx

     3https://scholars.duke.edu/display/pub784600

     4Zawadzki, MJ, Smyth, JM, & Costigan, HJ. (2015). Real-Time Associations Between Engaging in Leisure and Daily Health and Well-Being. Annals of Behavioral Medicine, 49(4), 605-615. http://dx.doi.org/10.1007/s12160-015-9694-3 Retrieved from https://escholarship.org/uc/item/2qf44682