การเรียนรู็

ศึกษา หรือเรียนรู้? อะไรคือสิ่งที่จะตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในศตวรรษนี้?

‘เรียนรู้’ (learn) ‘ศึกษา’ (educate) สองคำที่เรามักใช้สลับไปกันมา

หากในพจนานุกรม ได้นิยาม learn ไว้ว่าคือการได้มาซึ่งความรู้หรือทักษะ ในขณะที่ educate นั้นคือการจัดหาเนื้อหาด้วยระเบียบแบบแผนที่ถูกกำหนดไว้

นิยามของทั้งสองคำนี้ได้นำไปสู่ความแตกต่างอย่างชัดเจน ระหว่าง ผู้เรียน (learner) นั้นเป็นผู้กระทำหลักในกระบวนการได้มาซึ่งความรู้นั้น และอีกคำหนึ่งคือ นักเรียน (student) เป็นผู้ได้รับข้อมูลที่ถูกจัดหามาให้

แล้วอะไรกันที่จะตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในศตวรรษนี้? ศึกษา …หรือเรียนรู้?

     สัญชาตญาณการเรียนรู้นั้น เป็นหนึ่งในความสามารถพื้นฐานของมนุษย์ ก่อนเราจะถูกส่งเข้าโรงเรียนตามอายุที่ถูกกำหนดไว้ เราต่างเป็นผู้เรียนกันมาก่อน จากความอยากรู้อยากเห็น ผ่านการเล่น การลองผิดลองถูก การเล่นกับการเรียนในวัยเด็กดูจะเป็นไปคู่กันโดยธรรมชาติ

     จนกระทั่งเราเริ่มเข้าโรงเรียน เวลาเล่นได้ถูกแยกออกจากเวลาเรียน จนเวลาเล่นถูกมองว่าเป็นการ ‘ไม่ตั้งใจเรียน’ การเล่นไม่ได้เพียงถูกลดค่าในความเป็นเครื่องมือการเรียนรู้เท่านั้น หากหลายครั้ง ยังถูกตัดสินว่าเป็นศัตรูของการเรียนรู้ และการปลูกฝังแบบนี้นี่เอง ที่ทำให้สำนึกของเราเริ่มจะเปลี่ยนไป การเรียนตามธรรมชาติค่อยๆ ถูกลดทอนไป เมื่อความรู้ถูกเตรียมและจัดหามาให้ ไม่ใช่ได้มาด้วยความสนใจของเราเองอีกต่อไป

 

     ก่อนจะพูดถึงทักษะแห่งอนาคต อาจจะดีมากหากเรามองย้อนอดีตกัน ว่าเราเริ่มสับสนการศึกษากับการเรียนรู้ได้อย่างไร 

     หนังสือ Medieval Children เล่าว่าในการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคเกษตรกรรม เด็กๆ ถูกเปลี่ยนจากผู้เล่นตามธรรมชาติเป็นผู้ใช้แรงงาน การศึกษาในยุคนั้นจึงเป็นการส่งต่อทักษะที่จำเป็นเพื่อให้กลายเป็นแรงงาน การศึกษาค่อยๆ ถูกผูกโยงในจิตสำนึก ว่ามันเกี่ยวข้องกับการทำงานหนัก และเป็นสิ่งที่พรากการเล่น ความสนุก จากพวกเขาไป…

     หลังจากนั้น แนวคิดเรื่องการศึกษาเป็นสิทธิสากลของมนุษย์ทุกคนจึงเริ่มเกิดขึ้นพร้อมกับการเติบโตของนิกายโปรเตสแตนต์ ด้วยความเชื่อที่ว่าพระคัมภีร์นั้นบรรจุความจริงแท้ และการไถ่ถอนของมนุษย์นั้นจะเกิดขึ้นได้จากการทำความเข้าใจความจริงแท้นั้น การศึกษาจึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ และทุกคนควรเข้าถึงการศึกษาเพื่อเข้าถึงความจริงนั้นได้อย่างเท่าเทียมกัน

     ความคิดนี้ค่อยๆ แพร่หลายในยุโรป มีผู้สนับสนุนความคิดนี้มากมาย หากแต่ละฝ่ายที่สนับสนุนแนวความคิดนี้ ก็ดูจะมีเจตนาที่แตกต่างว่านักเรียนควร ‘ได้รับ’ การศึกษาเรื่องอะไร และเพื่ออะไร

     เมื่อก้าวเข้ามาสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่รัฐเริ่มเข้ามาเป็นผู้เล่นหลักในการ ‘จัดหา’ การศึกษาแทนศาสนามากขึ้น ด้วยเจตนาที่ต่างกันไป ผู้เรียนถูกเปลี่ยนสถานะเป็นทุนมนุษย์ (human capital) การศึกษาถูกมองเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการผลิตแรงงานเพื่อป้อนเข้าสู่สายพานอุตสาหกรรม และสร้างประชาชนที่เชื่อฟังต่อรัฐ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของบริบท เป้าหมาย และผู้เล่น การศึกษากลับยังคงรูปแบบเดิมในการจัดหาเนื้อหาด้วยระเบียบแบบแผนที่ถูกกำหนดไว้

      ในยุคข้อมูลข่าวสารที่ข้อมูลมหาศาล มากกว่าที่มนุษย์เคยมีการบันทึกข้อมูลมา การเปลี่ยนแปลงแต่ละยุคเปลี่ยนจากพันปี เป็นร้อยปี และเหลือเพียงแค่สิบปี เป็นเรื่องน่าขันเกินไปหากจะให้มีการเตรียมเนื้อหาข้อมูล เพื่อจัดหาให้นักเรียน ด้วยเป้าหมายที่ถูกวางแผนไว้ในอดีตจากคนที่เติบโตมากับอดีต และหวังว่านั่นจะเตรียมพร้อมให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้

 

      แล้วการศึกษาแบบไหนล่ะที่จะเป็นไปเพื่ออนาคตได้จริง?

     ก่อนจะหาคำตอบ เราอาจต้องเปลี่ยนคำถามตั้งแต่แรก จาก ‘การศึกษา’ เป็น ‘การเรียนรู้’ แบบไหนกัน และบางทีอาจไม่ใช่การเรียนเพื่ออนาคต แต่เป็นการเรียนเพื่อปัจจุบัน เพราะการคาดการณ์ต่ออนาคตนั้นก็หลอกล่อผู้เรียนได้ว่าความจริงชุดนั้นถาวร และกักขังความเป็นไปได้ของความจริงอื่นๆ มากไปในกระแสการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วแบบนี้

     การเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) เป็นแนวคิดที่เริ่มได้รับการพูดถึงกันมากขึ้น ว่านี่อาจเป็นกุญแจรับมือความเปลี่ยนแปลง สลายกำแพงการเรียนรู้ ให้ไม่ต้องถูกจำกัดอยู่กับสาขาวิชา อายุผู้เรียน สถานที่ ฯลฯ อาจฟังดูเป็นแนวคิดใหม่ ที่แต่ละประเทศตีความแตกต่างกันไป หากโดยพื้นฐานแล้ว การเรียนรู้ตลอดชีวิตคือการดึงสัญชาตญาณการเรียนรู้ของมนุษย์กลับมา ผ่านความสนใจของผู้เรียน ให้ความอยากรู้อยากเห็นเป็นตัวกระตุ้นการเรียนรู้ โดยไม่ต้องแยกส่วนว่าอายุเท่าไรถึงจะเรียนได้ เรียนที่ไหนถึงจะดี เรียนด้านนี้จะไปทำงานด้านอะไร หรืออยู่ภายใต้กรอบขีดเส้นใดๆ ก็ตาม

     การก้าวไปในอนาคตอาจจะคือการหวนกลับมาสู่จุดเริ่มต้นใหม่ ในจุดเริ่มต้นของความเป็นมนุษย์ ให้การเรียนรู้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นธรรมชาติที่เกิดจากความอยากรู้อยากเห็น ผ่านการเล่น ผ่านการลอง เหมือนที่เราต่างมีสัญชาตญาณนี้ติดตัวกันมาโดยตลอด จนการเรียนรู้กลายเป็นเรื่องสนุก ไร้ขอบเขต และเป็นไปตามเจตจำนงอิสระของแต่ละผู้เรียน

     การเรียนรู้ตลอดชีวิต แนวคิดที่กล่าวถึงการรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคต แท้จริงอาจเป็นเพียงการกลับไปสู่สัญชาตญาณความเป็นมนุษย์ดั้งเดิมในอดีตที่เราล้วนมีโดยตลอดมา ก่อนการศึกษาจะมาพรากสิ่งนั้นไป

 


อ้างอิง

Merriam-Webster Dictionary

– Orme, Nicholas (2001). Medieval Children. Connecticut. Yale University Press. Print.