‘เปลี่ยนหลงเป็นรู้’ คือเสวนาส่วนหนึ่งของงานบูชาคุณ หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ 15-18 สิงหาคม 2561 ที่จัดขึ้น ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จตุจักร กรุงเทพฯ
ช่วงที่ 1: ‘เสวนา หลงว่ารู้ หรือรู้ว่าหลง’ โดย อ.ประมวล เพ็งจันทร์, นิคม พุทธา, ธเนศร์ วรากุลนุเคราะห์ ดำเนินรายการโดย ‘อ้อม’ – สุนิสา สุขบุญสังข์
ช่วงที่ 2: ‘ช่วงสนทนาธรรม เปลี่ยนโลกที่หลง’ โดย พระไพศาล วิสาโล และ ‘นิ้วกลม’ – สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ บรรยากาศดำเนินไปในจังหวะสบายๆ มีความสงบที่เอื้อให้บทสนทนานำไปสู่การขบคิดอย่างลึกซึ้ง
ทำจิต ก่อนทำกิจ
ประโยคที่คล้ายระฆังสติก้องกังวาน ปลุกให้ตื่นจากยุคสมัยที่เต็มไปด้วยเสียงเรียกร้องให้ผู้คนลุกขึ้นมาทำกิจ แต่จิตแทบไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เรื่องทำจิตก่อนทำกิจนี้เป็นเรื่องสำคัญ ความขัดแย้งหลายครั้งที่เกิดขึ้นก็เพราะ ‘รูปแบบ’ การทำกิจที่ต่างกันไป ทั้งที่จิตเริ่มต้นในความปรารถนา คุณค่าที่ให้นั้นคล้ายกัน เมื่อต่างคนต่างยึดกับกิจ จนลืมจิต ความขัดแย้งก็พร้อมเข้ามาแทรก ‘หลงดี’ จนกลายเป็นแบ่งแยก
พระไพศาลยกตัวอย่างถึง วลาดิมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin) ผู้นำการปฏิวัติบอลเชวิก (Bolshevik Revolution) และผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย ผู้ฝักใฝ่ในอุดมการณ์ ผู้เชื่อมั่นในความชอบธรรมของตน จนกลายเป็นการ ‘หลงดี’ แบ่งคนเป็นขาวกับดำ ‘หลงผิด’ ว่าโลกนั้นแบ่งแยก จนลงท้ายด้วยการสร้างความโหดร้าย นำไปสู่การล่มสลาย
‘ทำจิต กับทำกิจ’ คือสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป หากทำจิตอย่างเดียว ความเปลี่ยนแปลง เจตนาก็จะไม่เกิด แต่หากทำกิจอย่างเดียว ไม่วางจิต กิจที่ทำอาจจะผิดโดยหลงว่ารู้ หลงว่าดี ฉันถูก เธอผิด ฉันคิดดี เธอนี่ช่างไม่คิดอะไรเสียบ้าง
‘ตั้งจิต’ ขั้นตอนสำคัญโดยเฉพาะผู้ที่มุ่งหวังการเปลี่ยนแปลง หลายครั้งเจตนาที่เรามีมันมัวแต่สนับสนุนการกระทำของเรา และมันง่ายที่จะโกรธ กร่นว่าผู้คนที่ทำงานในรูปแบบแตกต่าง แต่เมื่อไรก็ตามที่ความโกรธ ความดูแคลนเกิดขึ้นในใจ เมื่อนั้นจิตก็เริ่มหลงผิด ที่คิดว่าดี ที่แท้นั้นก็หยาบ
ไม่มีประโยชน์ ถ้าจะพ้นทุกข์อยู่คนเดียว
ทำอย่างไรเราจะพ้นทุกข์กันเป็นกลุ่มเป็นหมู่คณะ?
พี่อ้วน นักอนุรักษ์ธรรมชาติ ออกตัวว่าหากให้มาพูดเรื่องธรรมะคงจะไม่รับมาพูด เพราะความสนใจในธรรมะของพี่อ้วนนั้นเป็นในฐานะเครื่องมือของการทำงาน เมื่อกฎหมายพึ่งไม่ได้ วิชาการไม่มีใครฟัง เลยลองหันมาใช้ธรรมะเป็นเลนส์สายตาในการทำงาน เผื่อจะผ่อนหนักให้เป็นเบาขึ้นบ้าง และก็เป็นไปอย่างที่อาจารย์ประมวลว่าไว้ว่า…
ทันทีที่เราเปลี่ยนแปลงความหมายในใจ เราจะเปลี่ยนท่าทีที่เรามีต่อโลก… เกิดความรู้สึกตัวว่าเราเป็นสายธารหนึ่งเดียวกัน เหมือนลำธารที่เชื่อมไหลลงไปสู่แม่น้ำใหญ่ เหมือนไส้เดือนที่ถูกมดลากไปกินตามห่วงโซ่อาหาร… ไม่มีชีวิตใดมั่นหมายที่จะเป็นปฏิปักษ์กัน เราต่างเกิดมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน
ความเป็นศัตรูของกันและกัน เป็นเพียงการให้ความหมายที่เกิดขึ้นโดยใจของเรา หากความโกรธ ความเกลียดนั้นเกิดขึ้นในใจ หากเราเริ่มด่าว่า ดูถูกดูแคลน เมื่อนั้นใจเรากำลังหลงผิด คิดว่าชีวิตเกิดมาเป็นศัตรูกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะกับผู้ที่ป่าวประกาศว่า ฝักใฝ่ในธรรม จนอาจยึดติดกับความหมายในใจที่ชอบไปกำกับว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว จนกลายเป็นความหลงดี ทั้งที่ในใจเรากำลังหลงทางสร้างความแบ่งแยก
โลกไม่เปลี่ยนไป โลกก็เป็นไปเช่นนั้น แต่การให้ความหมายกำกับในใจที่เปลี่ยนไป ย่อมส่งผลต่อท่าทีที่เปลี่ยนตาม ทั้งท่าทีที่เปลี่ยนต่อเสียงบ่นของพ่อแม่ เสียงคัดค้านของเพื่อนร่วมงาน การเห็นต่างของคนในสังคม ล้วนเป็นหนทาง เป็นโอกาสให้เข้าใจในสัจธรรม เป็นเสียงเรียกให้ดึงจิตมากำกับใจ ว่าเรากำลังไหล ‘หลงผิด’ เริ่มคิดโกรธ ไม่พอใจกับเสียงนั้นๆ อยู่หรือไม่
ไม่มีอำนาจใด นอกจากเราหยิบยื่นอำนาจนั้นให้เขา
พระไพศาลยกตัวอย่างถึงการไม่ยินยอมต่ออำนาจที่อังกฤษ (คิดว่า) มีต่ออินเดีย อังกฤษอาจมองว่าตนสามารถใช้อำนาจในความเป็นมหาอำนาจของตนในสมัยนั้นกับอินเดียได้ แต่หากอินเดียไม่เห็นชอบ ไม่ยินยอม อำนาจนั้นก็เป็นเพียงมายาลวง ที่อังกฤษบังคับใช้ต่ออินเดียไม่ได้ อยากจับใครเข้าคุกก็จับไป จับเข้าไปหลายคน สุดท้ายนั้นคุกกลับกลายเป็นสถานปฏิบัติธรรม
พระไพศาลเล่าต่อด้วยเรื่องของ ‘โจน จันได’ สมัยมาทำงานในกรุงเทพเป็นพนักงานรักษาความสะอาด แล้วเจอหัวหน้าแม่บ้านดุด่าว่ากล่าวอยู่ทุกวัน หากโจนกลับยิ้มรับ ยกมือไหว้วันแล้ววันเล่า จนหัวหน้าแม่บ้านสงสัยว่าถูกด่าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทำไมยังยิ้มได้ โจนจึงตอบว่า
“หัวหน้าด่า หัวหน้าก็สบายใจที่ได้ด่า ผมเองก็ได้รู้สึกตัว ได้กลับมาสำรวจตัวเอง”
… โลกไม่เปลี่ยนไป แต่การให้ความหมายกำกับในใจที่เปลี่ยนไป ย่อมส่งผลต่อท่าทีที่เปลี่ยนตาม…
เรื่องราวของอินเดีย เรื่องราวของโจน ทำให้ต้องหันมาตีความนิยาม ‘อำนาจ’ ใหม่ๆ ไม่ใช่สิ่งที่ใครเป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์ หากเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้หากเป็นการยอมรับร่วมกัน …การกระทำนั้นเป็นทางเลือกของเขา การยอมรับนั้นเป็นทางเลือกของเรา หากเรามีทางเลือกที่จะไปร่วมหรือไม่ไปงานมงคลได้ เราก็มีทางเลือกที่จะตอบรับคำเชิญความคิดอกุศล หรือแค่วางมันลง ไม่หลงไปกับมันได้เช่นกัน
เราไม่ได้อภัยเพื่อเขา หรือใคร เราอภัยเพื่อใจเราเอง
เรื่องราวของเหยื่อผู้รอดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จากค่ายกักกันเอาชวิตซ์ (Auschwitz) ในโปแลนด์ ผู้ให้อภัยอดีตแพทย์นาซี ด้วยความคิดที่ว่า การให้อภัยเป็นอำนาจสุดท้ายที่เธอมี และมันจะปลดปล่อยเธอให้เป็นอิสระได้ ความโกรธเกลียดของผู้ถูกกระทำ และความร้อนรนแผดเผาใจของผู้ถูกกระทำเองถูกสลายคลายลงเมื่อทั้งสองฝ่ายได้เผชิญหน้า ทำจิตอธิษฐาน เอื้อนเอ่ยปิยวาจาถ้อยคำว่าอภัย
หรือแม้แต่เรื่องราว ‘วันสันติภาพ พิธีกรรมขอขมาเหยื่อและเยียวยาความผิดพลาด’ ณ บ้านกาญจนาภิเษก ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนชาย วันที่ทั้งเยาวชนผู้ก้าวพลาด และผู้ถูกกระทำได้มาเผชิญหน้าผ่านพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ในการ ‘ให้อภัย’ กันและกัน การให้อภัยที่คนนอกอาจตั้งคำถามสงสัยถึง ‘ความยุติธรรม’ ของครอบครัวผู้ถูกกระทำ หากเอาเข้าจริงแล้ว ทั้งเรื่องราวการในค่ายกักกัน และในวันสันติภาพ พิธีกรรมขอขมา ล้วนเป็นการให้อภัยเพื่อเยียวยา เพื่อปลดปล่อยใจของผู้ถูกกระทำให้เป็นอิสระเอง
ว่ากันว่า ความเจ็บปวดนั้นจะได้รับการเยียวยาก็ต้องเมื่อมันถูกพูดออกมาอย่างเสรี เราต้องแบความเจ็บปวดออกมา ไม่ใช่เก็บมันไว้ เราไม่ได้ให้อภัยเพื่อผู้กระทำ แต่เราอภัยเพื่อเยียวยา รักษาหัวใจเราเองให้ใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างหลุดพ้นจากความทุกข์ที่แบกไว้ด้วยการเผยมันออกมา หลายครั้งความรู้สึกเจ็บอาจจะยังค้าง แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่เราจะไม่เริ่มให้อภัย เราต้องใช้การให้อภัยเป็นการบำบัด เป็น ‘ยาสามัญประจำใจ’ ให้ได้วางลงซึ่งอดีต ได้ตื่นจากคืนที่หลับใหล และได้ ‘เปลี่ยนหลงเป็นรู้’
ภาพประกอบ: Krongporn Thongongarj