mid-life crisis

อากาศหม่นกลางปี กับวิกฤตวัยกลางคน

รู้ตัวอีกที เวลาก็ล่วงเลยกลางปี ครึ่งทางกลางหน้าฝน อากาศมืดๆ หม่นๆ ชวนให้ใจชักหมองๆ ต่างไปจากต้นปีที่เต็มไปด้วยการเฉลิมฉลอง ครั้นจะเฝ้ารอวันหยุดเพื่อปรนเปรอตนเองจากการทำงานมานานตลอดปีก็ยังอีกยาวไกลกว่าจะสิ้นปี – อาการครึ่งๆ กลางๆ งานต้องทำ ชีวิตต้องใช้ เป้าหมายต้องบรรลุของกลางปี ที่คลับคล้ายคลับคลากับชีวิตในวัยกลางคน

     Mid-life Crisis วิกฤตชีวิตวัยกลางคนที่ใครต่อใครต่างขู่เอาไว้ว่าน่ากลัวนักหนา ฝันอีกมากมายที่ต้องทำ ชีวิตอีกเกินครึ่งทางที่ต้องบากบั่น วัยสามสิบที่ไม่ใช่เด็กเพิ่งจบใหม่ ไม่สามารถแก้ตัวโบ้ยว่าเป็นมือใหม่ทำไม่เป็นได้อีกต่อไป แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่รุ่นใหญ่ในสนาม ยังไม่มีผลงานพิสูจน์ม้า กาลเวลายังพิสูจน์เราไม่มากพอ – วัยกลางคน ที่ไม่เป็นอะไรสักอย่าง ครึ่งๆ กลางๆ อยู่อย่างนั้น

     Kieran Setiya ผู้เขียนหนังสือ Midlife: A Philosophical Guide1 ออกตัวไว้ว่าเขาเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาไม่ได้เพื่อช่วยใครหรอก แต่เพื่อช่วยตัวเขาเองในวัยสามสิบห้า ความรู้สึกถาโถมจู่โจม อยู่ท่ามกลางระหว่างความตื่นเต้น ความสดใส ความเยาว์วัยในอดีต และเจือปนด้วยความกลัว ความไม่แน่นอนต่ออนาคตไปพร้อมๆ กัน เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคำตอบในหนังสือเล่มนี้จะเป็นอย่างไร ในวันที่เริ่มเขียน ในวันที่ชีวิตเป็นเพียงเส้นไทม์ไลน์เรียงร้อยต่อเนื่องของเหตุการณ์สุขทุกข์ผสมปนเปในสามสิบปีที่ผ่านมา และการเกษียณ ความตายที่รอจ่อหน้าอยู่สถานีปลายทางในอีกสามสิบปีถัดไป – ความก้ำกึ่งในวัยกลางคนทำให้เขาสงสัยว่าจะมีชีวิตดิ้นรนไปเพื่ออะไร

     ความสงสัยต่อความหมายชีวิตในวัยสามสิบ ทำให้ Setiya สืบค้นหาความหมายของวัยนี้ผ่านประวัติศาสตร์ยุคต่างๆ ว่ามนุษยชาติเผชิญสิ่งนี้เหมือนกันหรือไม่ จนค้นพบความสับสนของวัยกลางคนตั้งแต่อียิปต์โบราณ, งานสัตววิทยาศาสตร์ (Zoology) ที่บ่งชี้ว่าลิง (ape) มีท่าทีเซื่องซึม ขี้นอยด์ที่สุดในช่วงกลางอายุขัยของมัน มาจนถึงงานจิตวิทยาที่มีการเริ่มต้นใช้คำว่า Mid-life Crisis เป็นครั้งแรกโดย Elliott Jaques ในบทความ Death and the Mid-life Crisis2 ที่เขาได้รำพึงรำพันเอาไว้ว่า

     “Up till now, life has seemed an endless upward slope, with nothing but the distant horizon in view.” —จนถึงกาลนี้ ชีวิตดูจะเป็นทางลาดลงที่ไม่มีจุดจบ ที่ปลายทางไม่มีอะไรมากไปกว่าเส้นขอบฟ้าอันห่างไกล

     และก็อาจเป็นอย่างที่ เรอเน่ เดการ์ต (René Descartes) ได้กล่าววาทะอมตะไว้ว่า “I think, therefore I am” เมื่อคำว่า วิกฤตวัยกลางคนถูกบัญญัติขึ้น สมองจึงรับรู้ว่ามีสิ่งนี้อยู่ เป็นเหมือนคำขู่ล่วงหน้าว่าระวังนะ ระวังให้ดี ชีวิตกำลังจะเจอวิกฤตวัยกลางคน

     ผลของการมีอยู่ของคำทำให้ใครต่อใครหันมาสนใจวิถีวัยกลางคน จนคำนี้เริ่มปรากฏบ่อยขึ้นทั้งในงานวรรณกรรม งานวิชาการ การสำรวจหลายที่แสดงให้เห็นแพตเทิร์นชีวิตที่มีกราฟขึ้นลงตามทฤษฎีตัวยู (U Theory) เริ่มต้นจากวัยเยาว์ที่ความตื่นตัวต่อประสบการณ์ใหม่ๆ นั้นพลุ่งพล่าน พร้อมๆ กันกับพัฒนาการทางกายภาพที่ไต่มาสู่จุดสูงสุดในวัยเจริญพันธุ์ (ปลายแรกของตัวยู) หลังจากนั้นมาชีวิตก็จะค่อยๆ ลดระดับลง ทั้งร่างกายที่เริ่มอ่อนแอ ไม่แข็งแรงเหมือนแต่ก่อน เลนส์สายตาเริ่มหมอง มองชีวิตไม่สดใหม่เท่าเดิม หากเมื่อผ่านจุดช่วงวัยกลางคนนี้ไป (ตรงกลางตัวยู) งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าความพึงพอใจต่อชีวิตจะค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น (ปลายที่สองของตัวยู) ความพึงพอใจต่อชีวิตที่อาจไม่ได้ลิ้มรสความหวานหากไม่ผ่านรสชาติความฝาดขมในวันที่ชีวิตต้องเจอต่อสู้ อดทน ดิ้นรน ในวัยกลางคนไปให้ได้

 

     หากวัยกลางคนนั้นต้องดิ้นรนสับสน มืดหม่นเหมือนอากาศในกลางปีจริงๆ หรือเป็นเพียงผี ‘เรื่องเล่าใหญ่’ (grand narrative) ที่ใครต่อใครกรอกหูใส่มา ในเมื่อกลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ต้องไปให้ถึง เราจึงอยากชวนมาทบทวนกันหน่อยว่าแท้จริงแล้ว วัยกลางคนอาจไม่ต้องเป็นวิกฤต ตรงกันข้าม นี่อาจเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่งดงามที่สุดในชีวิต – ไม่สิ, ต้องบอกว่า เป็นอีกหนึ่งในช่วงเวลาที่งดงามที่สุดของชีวิต เพราะทุกจังหวะของชีวิตต่างงดงามในวาระที่แตกต่างกัน

     ก่อนที่เราจะถูกบัญญัติคำว่า Mid-life Crisis ของคุณฌาค (Elliott Jaques) ครอบงำด้วยคำว่า วิกฤต (crisis) ว่าเป็นสิ่งที่คู่กันวัยกลางคน (mid-life) บัลซัค (Honoré de Balzac) นักเขียนชาวฝรั่งเศสอีกเช่นกัน ดูจะเห็นต่างในงานสุดคลาสสิก สาวสามสิบ3 (La Femme de trente ans) ของเขาที่เขียนเอาไว้เกือบร้อยปี ก่อนที่เราจะเชื่อตามฌาคเหมารวมว่าวัยสามสิบนั้นเป็นวิกฤต

     โดยบัลซัคได้เขียนไว้ว่า: “วัยสามสิบเป็นวัยที่ผู้หญิงสามารถกำหนดชะตาชีวิตของตนทำให้ชีวิตเปี่ยมความหมายและมอบความสุขของตน วัยนี้ เป็นช่วงเวลาที่ผู้หญิงเปรียบเหมือนดอกไม้บานเต็มที่ ยังมีโอกาสจะเผยเสน่ห์แห่งความงาม ความคิด ประสบการณ์ และอารมณ์อ่อนไหว ใบหน้าที่แท้จริงของผู้หญิงจะปรากฏก็ต่อเมื่ออายุสามสิบ …”

     “…ด้วยวัยที่มากขึ้นทุกสิ่งในเรือนกายได้เผยโฉม อารมณ์รักฝังรอยไว้บนใบหน้า เธอเคยเป็นทั้งคู่รัก และชู้รัก ความปีติยินดีและความเจ็บปวดร้าวแทรกลงบนผิวหน้า เปลี่ยนโฉมของเธอ เพิ่มริ้วรอยเล็กๆ นับพัน ซึ่งล้วนมีเรื่องราวเล่าได้ ดวงหน้าของอิสตรีจึงน่าชื่นชมเป็นที่สุด เพราะเธอเคยผ่านความน่าสะพรึงกลัว งดงาม เพราะเธอเคยรู้รสความหม่นหมอง และวิเศษสุด ด้วยว่าเธอได้พานพบความสงบ”

     ข้อเขียนของบัลซัคตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 ที่สอดคล้องกับงานวิจัยยุคใหม่เรื่อง Dorian Gray Effect4 ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของวัยและบุคลิกภาพ ว่าคนที่ยิ่งเป็นธรรมชาติในท่วงท่าการแสดงออก ตัวตนภายนอกที่สอดคล้องกับตัวตนภายในมักจะแก่ตัวไปเป็นคนที่ดูดี สวนทางกับคนที่เกิดมาแล้วหน้าตาดีโดยกำเนิด

     ทั้งข้อเขียนของบัลซัคและงานวิจัยด้าน Dorian Gray Effect ที่สวนทางต่อความเชื่อที่เราต่างฝังจำต่อคำว่าวิกฤตวัยกลางคน ให้เรายอมรับการเปลี่ยนแปลง การเติบโตไปตามวัย ใบหน้าที่แม้จะอิดโรยไปบ้างหากเป็นใบหน้าที่แท้จริงของเราในวัยสามสิบ และใบหน้าที่เราคู่ควรในวัยสี่สิบ (By forty, everyone has the face they deserve5)

     ใช่ เราฝืนกายภาพและการร่วงหล่นตามการเวลาไม่ได้ แต่หากจะมีอะไรที่ทำได้ในกระบวนการของการเติบโต นั่นอาจเป็นการบ่มเพาะคุณค่าของการปฏิบัติตน ความงามในใจ เพื่อให้ในท้ายที่สุด ในวันที่ความความชรามาเยือน เราอาจไม่ต้องงดงามที่สุด มีชีวิตที่ดีที่สุดตามนิยามใคร หากมีใบหน้า มีชีวิตที่โลกภายนอกสะท้อนโลกภายในตัวเราเอง

 


อ้างอิง:

     1Setiya, Kieran. Midlife: A Philosophical Guide. New Jersey: Princeton University Press, 2017. Print.

     2Jaques, E. 1965. Death and the mid-life crisis. International Journal of Psychoanalysis 46: 502—14.

     3หนังสือ สาวสามสิบ แปลจากหนังสือ La Femme de trente ans เขียนโดย Honoré de Balzac (1842) แปลโดย สารภี แกสตัน (2001) สำนักพิมพ์ผีเสื้อ

     4Zebrowitz, L. A., Collins, M. A., & Dutta, R. (1998). The Relationship between Appearance and Personality Across the Life Span. Personality and Social Psychology Bulletin, 24(7), 736–749. https://doi.org/10.1177/0146167298247006

     5คำกล่าวของ Gorge Orwell ในหนังสือ Essays in Love ของ Alain De Botton