“เขาว่าฝนมันทำให้คนเหงา หรือเพราะฟ้าที่มองช่างว่างเปล่า ความอ้างว้างมันเกิดจากลมหนาว หรือดาวที่มองดูอ่อนแรง…”
เพลงหน้าฝนที่เปิดวนไปมา เนื้อหาไม่คิดถึงรอคอยแฟนเก่าให้กลับมา ก็เหงาร้องหาความรักใหม่ที่ยังมาไม่ถึง
ปรากฏการณ์ฝนมันทำให้คนเหงา ดูจะไม่ใช่เรื่องส่วนตัวเกิดที่ขึ้นกับเราไม่กี่คน หากเป็นปรากฏการณ์สากล เมื่อแอพฯ จับคู่เจ้าใหญ่อย่างทินเดอร์ ออกมาให้สถิติเอาไว้ใช้เป็นทริกว่า ‘สไวพ์’ เมื่อไหร่ดี ถึงจะมีความน่าจะเป็นสูงสุดในการ ‘แมตช์’ ใครสักคน
เดากันได้ไหมว่าช่วงเวลาไหนคนจะมะรุมมะตุ้มรุมเล่นทินเดอร์กันเยอะสุด?
แน่นอน
มันไม่ใช่ช่วงหน้าร้อนที่ทุกคนออกไปข้างนอก ไม่ใช่คืนวันศุกร์ที่ทุกคนมีนัด สังสรรค์ ออกไปพักผ่อน แต่มันเป็นช่วงเวลาที่ชีวิตวนไปมา เลิกงานแล้วมุ่งตรงกลับบ้านต่างหากที่เราอยากมองหาอะไรมาทำให้จิตใจได้พอเต้น เลือดลมได้สูบฉีด
ตามสถิติปี 20181 ทินเดอร์พบว่าผู้คน ‘แอ็กทีฟ’ ล็อกอินเข้ามาใช้งานสูงสุดในวันจันทร์ ช่วงเวลาหลังเลิกงาน เพิ่งถึงบ้าน ขอ ‘สไวพ์’ สักคนสองคน (ซึ่งในความเป็นจริงไถไปไถมาปาไปครึ่งชั่วโมง – เวลาเฉลี่ยที่คนเล่นทินเดอร์ในแต่ละครั้ง ตามสถิติบอกไว้!) และทาด๊าา เดือนที่คนเล่นทินเดอร์กันมากที่สุดคือเดือนสิงหาคม ช่วงเวลากลางปี ไม่มีแพลนไปเที่ยวที่ไหน ทำงาน กลับบ้าน ว่างๆ มือก็สไวพ์ไป
เอมี เวบบ์ ผู้เขียนหนังสือรางวัลสามเล่มติดกัน หนึ่งในนั้นคือ ‘Data, A Love Story: How I Gamed Online Dating to Meet My Match’ และเท็ดทอล์ก ‘How I Hacked Online Dating’2 มาเฉลยคำตอบต่อคำถามในชีวิตของเธอเอง หลังจากผิดหวังในความรักมาหลายครั้ง จนตั้งคำถามที่เราอาจเคยถามกันในวันเหงาๆ ว่า รักแท้อยู่ไหน และเราจะเจอมันได้อย่างไร
เอมีบอกกับเราในคำนำหนังสือว่า
ฉันเพิ่งพบว่าเราตามหาคู่ของเราอย่างผิดๆ มาตลอด ไม่ว่าจะในโลกออฟไลน์หรือออนไลน์ เราหลงเชื่อในเรื่องของพรหมลิขิต โชคชะตา ความบังเอิญ …หรือแม้กระทั่งปล่อยให้อัลกอริทึมเป็นคนกำหนดสิ่งที่จะปรากฏต่อเรามากเกินไป เราไม่ปล่อยให้ตัวเองได้เป็นคนกำหนดว่าเราต้องการจะเจอคนแบบไหน และเราจะทำอย่างไรเมื่อพบกันแล้ว
ถึงแม้ว่าการดาวน์โหลดแอพฯ สร้างโปรไฟล์ขึ้นมาอาจดูเป็นความพยายามก้าวแรก แต่หลังจากนั้นแล้วเราดูจะปล่อยตัวปล่อยใจให้อัลกอริทึมเป็นตัวจัดการ คำนวณระยะโลเคชันใกล้ไกล อายุที่เลือกไว้ แล้ว ‘หวัง’ ว่าเจ้าแอพพลิเคชันอะไรพวกนี้จะประมวลผลส่งใครมารักฉันได้สักที
จากการทดลองเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ ปฏิบัติการ ‘สร้าง’ (ไม่ใช่ ‘หา’) คู่ชีวิตของเธอ เอมีค้นพบความคล้ายกันในเรื่องความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นออฟไลน์หรือออนไลน์ก็ตาม ว่าถ้าหากพรหมลิขิตคือตัวช่วยให้คนเราได้พบกัน พอๆ กันกับที่แอพพลิเคชันช่วยแมตช์เรากับใครสักคน แต่ทั้งพรหมลิขิตและแอพพลิเคชันก็ช่วยเราได้เท่านั้น หากกฎของการทำสิ่งไหนได้สิ่งนั้นก็ยังซื่อตรงไม่แปรผันตามแพลตฟอร์ม เมื่อใส่ใจแค่ไหนก็ได้ใจกลับมาเท่านั้น เมื่อข้อมูลที่เรากรอกส่งๆ ไป ก็ได้เพียงแค่เมสเสจพูดคุยส่งๆ กลับมา
จากการทดลอง เอมีพบว่า ยิ่งเราชัดเจนกับสิ่งที่ต้องการ และประกาศจุดยืนออกไปมากเท่าไหร่ แม้จะถูก ‘แมตช์’ น้อยลง แต่นั่นคือการกรองคนที่ไม่ใช่ ในทางตรงกันข้าม คนที่ถูกกรองผ่านเข้ามา คือคนที่มีความเป็นไปได้มากยิ่งกว่าเคย – และมันจะไม่เป็นอย่างนั้นเลย ถ้าเราละเลยขั้นตอนแรกในการบอกออกไปให้ชัดเจนว่า ฉันมองหาอะไรจากความสัมพันธ์
ในทอล์กและหนังสือของเธอนั้น เอมีให้คำแนะนำไว้ว่า จะใช้ดาต้าที่ดีมาเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเริ่มต้นหาความสัมพันธ์ครั้งต่อไปนี้อย่างไร เอมีให้คำแนะนำง่ายๆ ว่า จะออฟไลน์หรือออนไลน์ ก้าวแรกอยู่ที่การสร้างโปรไฟล์ที่จริง – จริงแท้ และจริงใจ
ใช้คำเรียบง่าย เลี่ยงคำสวยหรู อย่าขยำข้อมูลอะไรก็ได้ลงไป เลือกข้อมูลที่บอกว่าคุณเป็นคนเช่นไร ทำอะไรในเวลาว่าง มีอารมณ์ขันบ้างก็ได้ ระลึกว่านี่ไม่ใช่เว็บไซต์สมัครงาน ไม่มีใครต้องการรู้ว่าคุณทำงานมาแล้วกี่ปี ได้เกียรตินิยมตอนปริญญาตรีหรือไม่ในสามบรรทัดแรก…
ใส่อะไรไปก็ได้อย่างนั้น
ใส่ข้อมูลหลอกก็ได้คนหลอกๆ
ไม่จริงจังตั้งใจกับข้อมูลที่กรอกไป
ก็ได้ความไม่จริงจัง ไม่ตั้งใจกลับมา
และเมื่อใส่ดาต้าที่มาจากตัวเราเองแล้ว ที่เหลือจะใช้ดาต้าเป็นตัวช่วยบ้าง อย่างการรู้ว่าจะล็อกอินช่วงเวลาไหน เดือนอะไร ตามสถิติที่เจ้าของแอพพลิเคชันได้ช่วยรวบรวมเก็บข้อมูลไว้ ก็ไม่เสียหายอะไร
ก่อนที่เดือนสิงหาคมจะหมดไป
ก่อนที่ฝนจะซา
ลมหนาวจะเข้ามาแทน
แล้วยิ่งเหงาไปกว่าเคย
ที่มา: