เทศกาลภูเขาศักดิ์สิทธิ์

เมื่อการท่องไปไกลเพื่อใกล้ (ภู) เขา คือการกลับมาใกล้ใจเราเอง

เมื่อการเดินทางคือการแสวงหา เมื่อการท่องไปไกลเพื่อใกล้ (ภู) เขา คือการกลับมาใกล้ใจเราเอง

     Sacred Mountain Festival1 เทศกาลภูเขาศักดิ์สิทธิ์ การรวมตัวกันของจิตวิญญาณผู้คน ชุมชน และธรรมชาติ เขาทั้งหลายที่เดินทางมาบนหุบเขาใต้ดอยหลวงเชียงดาว เพื่อพบกับเขาอีกหลายๆ คนที่ต่างอยู่บนเส้นทางแสวงหาคุณค่า ความหมายของการมีชีวิต

     เทศกาลที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก หากกิจกรรมในงานไม่ใหม่ตาม หลายกิจกรรมเป็นการกลับไปสู่พิธีกรรมโบราณของวัฒนธรรมต่างๆ ที่ต่างกันไปในรูปแบบ แต่ล้วนช่วยนำพาเราและเขาทั้งหลายกลับมาเชื่อมโยงกายภายนอกกับใจภายในให้เป็นหนึ่งเดียว เช่น เขาวงกต (labyrinth) ที่ปรากฏในหลายวัฒนธรรม การเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่าน ด้วยการเดินอย่างใคร่ครวญเข้าไปในวงที่ถูกจัดเรียงด้วยหินก้อนเล็กใหญ่, อธิษฐานถึงสิ่งที่ตั้งใจ หรืออยากปล่อยวาง, แล้วก้าวออกมา หรือจะเป็นกิจกรรมเขียนกวีไฮกุ (Haiku) ที่เป้าหมายไม่ใช่การเขียนงานชิ้นเอก หากคือการฝึกการรับรู้ชั่วขณะปัจจุบัน แล้วสื่อสารออกมาอย่างเรียบง่าย ฉับพลัน ไร้การตัดสินใดๆ ให้พื้นที่กับทุกเสียงที่ดังขึ้นในใจผ่านกระดาษว่างเปล่าและปลายปากกา

     Earth-based Psychology2 จิตวิทยาแขนงหนึ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย อาร์โนลด์ มินเดลล์ (Arnold Mindell) ผ่านการประยุกต์จิตวิทยาสายคาร์ล จุง (Carl G. Jung) และฟิสิกส์ประยุกต์ที่ใช้พลังงานจากกายภาพของโลก (earth landscape) ในการเยียวยาสภาวะจิตใจ และเป็นตัวนำพาผู้คนไปสู่การตระหนักรู้ภายใน ด้วยแนวคิดพื้นฐานว่าทุกๆ สรรพสิ่งล้วนมาจากแหล่งพลังงานเดียวกัน และเราต่างมีพลังงานของโลกอยู่ในตัว

     การที่เรารู้สึกผ่อนคลาย เวลาได้มาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ไม่ใช่เป็นเพียงเพราะว่าสภาพแวดล้อมเช่นนั้นแตกต่างจากตึกสูง หรือพื้นคอนกรีตที่เราใช้ชีวิตอยู่ในทุกวัน จนทำให้เราโรแมนติไซส์ (romanticize) พอใจกับมันยามได้เห็น หากเป็นเพราะ เราสูญเสียพลังงานบางอย่างที่เป็นส่วนหนึ่งของเราไป และการกลับมาอยู่ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติเช่นนั้นจึงเป็นการดึงพลังงานที่สูญเสียไปกลับคืนมา

 

      การเดินทางหลายร้อยกิโลเมตรมานั่งข้าง (ภู) เขา และริมสายน้ำ จึงไม่ใช่เพียงการเดินทางพักผ่อน หลีกหนีจากความจริง แต่หากคือการเดินทางย้อนกลับสู่สภาวะในใจตัวเองที่จริงแท้ที่สุด

     การเดินริมสายน้ำจนเห็นความเชื่อมต่อของตาน้ำเล็กๆ บนยอดเขา ที่ไหลรวมกับธารน้ำเล็กๆ ที่ไหลมาจากจุดอื่น รวมกันกลายเป็นแหล่งน้ำที่เราพึ่งพาอาศัยอยู่ทุกวัน การได้รู้ว่าสายน้ำมาจากไหน ไม่ใช่เพียงความรู้ดาษดื่นทั่วไป หากคือการรับรู้ว่า ตัวเรานั้นมาจากไหน

     เท้าที่ยืนแช่รู้สึกถึงน้ำเย็นที่ไหลผ่านกาย ระยะห่างระหว่างตัวเราและสายน้ำจากยอดดอยที่ช่างดูไกลออกไปเมื่อแรกพบ หายไปสนิทเป็นสิ่งเดียวกัน เมื่อรับรู้ถึงน้ำนอกกายที่ไหลวนอยู่ในกายเป็นส่วนประกอบของชีวิตเราทั้งหลาย สายน้ำที่เหมือนมีแรงดึงดูดให้เราและเขาทั้งหลายมักเดินย่างกายมาพักพิงริมสายน้ำ – แรงดึงดูดของสภาวะที่เหมือนกันที่ทำให้ ‘รับรู้’ ไม่ใช่แค่ ‘รู้’ ว่าสายน้ำกับเรานั้นคือสิ่งเดียวกัน

 

     หากในวันที่ไม่สามารถมานั่งฟังเสียงสายน้ำไหล รู้สึกถึงความสัมพันธ์โยงใยของเขา เรา และธรรมชาติได้ มินเดลล์ได้แนะนำวิธีฟื้นฟูตัวเองรูปแบบ Earth-based Psychology” ในการรับพลังงานธรรมชาติง่ายๆ ท่ามกลางความวุ่นวายของชีวิต ด้วยการหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ แล้วถามตนเองว่า

     “สถานที่ไหนบนโลกนี้ ที่ฉันอยากไปอยู่มากที่สุดในตอนนี้?”

     ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่คำตอบ จะเป็น ภูเขา ทะเล ป่า หรือแม่น้ำ หากจิตวิทยาแขนงนี้ชวนให้เพ่งลึกลงไปถึงความรู้สึกในใจว่าอะไรเกี่ยวกับสถานที่นั้นที่ให้เราโหยหาในชั่วขณะนั้น

     มันคือความหนักแน่นของภูเขา ในวันที่เรารู้สึกสั่นคลอน, มันคือความรื่นรมย์ เคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งของคลื่นริมชายหาดที่ทำให้เราโหยหาในวันไร้ชีวิตชีวา หรือมันคือความไหลวนเอื่อยที่หล่อเลี้ยงชีวิตต่างๆ อย่างเกื้อกูลกัน ที่ทำให้เรารับรู้ถึงความจริงขั้นพื้นฐานของชีวิตว่าสรรพสิ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกัน ในวันที่เราไม่รู้สึกถึงความสัมพันธ์ เชื่อมต่อกับสิ่งใด

     การเดินทางไกลหลายร้อยกิโลเมตรของเขาทั้งหลาย เพื่อแสวงหาคุณค่าและความหมายของชีวิตบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ สุดท้ายจึงไม่ได้ไปไหนไกลนอกจากกลับสู่ใจตนเอง ที่ทำให้รับรู้ได้ว่าความหมายของชีวิตไม่ใช่การค้นหา หากคือการรับรู้ถึงสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และการอยู่ร่วมกันของต้นไม้ ป่า เขา และเราในสถานที่ที่ทำให้เกิดสภาวะการเกื้อกูล ไม่เบียดเบียนด้วยความรับรู้ว่าเราต่างเป็นส่วนหนึ่งของการและกันนั้น เป็นชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์และมีค่าต่อชีวิตอื่นเพียงใด

 


หมายเหตุ
1ติดตามงานปีต่อไปได้ที่ Facebook: Sacred Mountain Festival
2หนังสือ Earth-based Psychology: Path Awareness from the Teachings of Don Juan, Richard Feynman, and Lao Tse เขียนโดย Arnold Mindell (2007)