“ผู้ใหญ่เอาแต่ถามว่าโตขึ้นเด็กๆ อย่างเราอยากเป็นอะไร แต่ไม่มีใครเคยถามว่าแล้วตอนนี้ล่ะ เด็กๆ อย่างเราอยากเป็นอะไร…”
คำถามจาก ‘อ๊ะอาย’ – กรณิศ เล้าสุบินประเสริฐ ที่ใครหลายคนคุ้นหน้าจากบทบาทนักแสดง วันนี้เปลี่ยนจากยืนหน้ากล้องมายืนอยู่บนพรมวงกลมสีแดง สัญลักษณ์คุ้นเคยของเวที TED ในงาน [email protected] ที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่สี่ หากความพิเศษของปีนี้อยู่ที่การขยายเวทีเผยแพร่ความคิดจากสปีกเกอร์รุ่น (ผู้) ใหญ่ ไปสู่สปีกเกอร์รุ่นเด็ก ที่เสียงเล็กๆ จะมาสะท้อนเรื่องราวที่ใหญ่ไกลกว่าตัว
ความพิเศษของปีนี้ยังไม่ใช่แค่งานเบื้องหน้า หากยังรวมถึงงานเบื้องหลังทุกกระบวนการ กับทีมงานอาสาสมัครในปีนี้ที่เป็นนักเรียนนักศึกษาจากหลายสถาบัน เพื่อให้เวทีนี้ไม่ได้เป็นแค่การส่งต่อไอเดีย หากรวมถึงการส่งต่อวิธีคิด แนวทางการทำงานที่อาสาสมัคร TEDxBangkok รุ่นที่ผ่านมาได้เรียนรู้จากเวทีนี้ ให้กับอาสาสมัครรุ่นใหม่ และเพื่อให้ [email protected] ปีแรกนั้นเป็นงาน ‘for youths by youths’ อย่างแท้จริง
สปีกเกอร์ปีนี้ มีทั้งมาจากทั่วประเทศ และจากนักเรียนใน TED Club พื้นที่ปล่อยของในโรงเรียน โมเดลใหม่ที่ถอดวิธีการเฟ้นหาไอเดียจากเวที TEDxBangkok ให้เข้าไปอยู่ในโรงเรียน ให้การส่งต่อไอเดียไม่จำกัดอยู่แค่เวทีปีละครั้ง หากเกิดขึ้นเป็นประจำในโรงเรียน ให้ไอเดียได้ถูกเผยแพร่ ให้เสียงของเด็กได้รับการได้ยินโดยไม่ต้องรอเวทีใดๆ
นอกจากความหลากหลายของช่องทางการสมัครแล้ว สปีกเกอร์ทั้ง 10 คนต่างสะท้อนถึงความเชื่อเรื่องความหลากหลายที่สร้างสรรค์ (diversity creates) เอกลักษณ์ของเวที TED
ตั้งแต่สปีกเกอร์ที่อายุเด็กสุดอย่าง ‘ภู’ – ภูริภัทร พูลสุข นักมวยวัยเด็กที่มาเล่าเรื่องราวอีกด้านของประเด็นนักมวยเด็ก ที่ไม่ได้มาจากการถูกบังคับ หากเป็นการตามเสียงในใจที่ร้องว่า ‘อยากเป็นนักมวย’ และความหมายของการพยายามในการตามความฝัน
สปีกเกอร์ที่มาจากหลายสถาบันการศึกษา ทั้งสายสามัญ อาชีวะ หรือ homeschool อย่าง ‘แดนไท’ – แดนไท สุขกำเนิด ที่มาชวนเล่นบอร์ดเกมที่เขาออกแบบเองกลางเวที ให้ผู้ฟังได้เกิดประสบการณ์ตรงกับตัวเองว่าการเรียนรู้รูปแบบใหม่นั้นไม่ถูกจำกัดอยู่ในห้องเรียน ตำรา ครูผู้สอนแต่อย่างใด และบอร์ดเกมนั้นเป็นเครื่องมือกระตุ้นการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่เสริมสร้างความเท่าเทียม ขยายพื้นที่ลองผิดลองถูกในห้องเรียน พัฒนาทักษะการตัดสินใจได้อย่างไร
หรือแม้กระทั่งรูปแบบการเล่าเรื่องที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่ทอล์ก หากรวมถึงการแร็ปที่ ‘บุ๊ค’ – ธนายุทธ ณ อยุธยา ใช้เล่าให้สังคมฟังอีกด้านหนึ่งของความจริงในชุมชนคลองเตยที่เขาเติบโตมา ผ่านการเล่าเรื่องหนักๆ ให้เข้าถึงใจผู้ฟังได้ง่ายๆ ด้วยจังหวะ สำนวนภาษา ให้เสียงเพลงส่งต่อเรื่องราว แก้ภาพจำที่ผู้คนแปะป้ายต่อกันเพียงเพราะความไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เข้าใจ
หรือจะเป็นความสนใจที่ออกจะแหวกแนวสำหรับเด็กรุ่นใหม่อย่างตลกคาเฟ่ ที่อยู่กับสังคมไทยมานานที่ ‘กัส’ – อัคพงษ์ ป้อมชัยภูมิ ชื่นชอบจนถึงขั้นถอดสมการ ‘ความจริง + สิ่งที่ไม่คาดคิด = เสียงหัวเราะ’ ออกมาได้ ให้เสียงหัวเราะสลายอุณหภูมิความตึงเครียด สลายกำแพงให้คนพร้อมเปิดรับฟัง และพูดคุยกันอย่างเปิดใจมากกว่าเคย เมื่อบรรยากาศผ่อนคลาย
ธีม ‘สนามเด็กเล่า’ ในปีนี้ ยังสะท้อนถึงความสำคัญของ ‘วิชาเล่าเรื่อง’ ที่ ‘นิว’ – สุรีรัตน์ พรศิริรัตน์ นำเสนอให้เป็นวิชาชีวิตที่ผู้คนเชื่อในเสียงของตัวเอง กล้าเปล่งเสียงออกมา เวลาพบเจอเรื่องปกติที่ใครๆ ก็ทำกัน ให้การเล่าเรื่อง และคลื่นเสียงที่เปล่งออกมานั้นไปสะกิดความชินชาให้ตื่นตัว ให้เรื่องปกติที่ผิดๆ กลายเป็นเรื่องไม่ปกติ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงต่อไป เพราะการวินิจฉัยถึงอาการของความผิดปกตินั้น เป็นขั้นแรกของการแก้ไขตามที่ ‘ทีม’ – ปณิธิ วณสิริกุล ได้เล่าถึงหลายรูปแบบของตรรกะวิบัติ ที่พบเจอบ่อยในสังคมโดยที่เราไม่รู้ตัว เพื่อให้คนเราได้ตรวจสอบความคิดตนเอง มีเหตุผลที่หนักแน่นมากขึ้นก่อนจะด่วนสรุป ฟาดฟันความเห็นสาดใส่กัน
งานปีนี้ยังขุดเรื่องราวใต้พรมให้ขึ้นมาบนพรมวงกลมสีแดง ทั้งเรื่องราวของ ‘ผักบุ้ง’ – สุขุมาลย์ ศรีราพัฒน์ น้องเล็กวัย 13 ปีที่มาเล่าถึงโรคซึมเศร้าในเด็ก และนำเสนอวิธีการหา ‘หีบสมบัติ’ ของแต่ละคนเพื่อรับมือกับความเศร้าในชีวิต อย่างที่ผักบุ้งได้ใช้หีบสมบัติที่บรรจุถาดสีและพู่กันระบายทับผืนผ้าใบสีดำ จนเปลี่ยนเป็นรูปวาดสีสันสดใส เป็นภาพใหม่ของชีวิตที่เธอวาดมันขึ้นมาด้วยตัวเอง หรือแม้กระทั่งเรื่องราวจากเยาวชนชาย บ้านกาญจนาภิเษก ที่มาเล่าถึงจุดเปลี่ยนของชีวิตในวันที่ก้าวพลาด ไม่ได้เพื่อขอความเห็นใจ หรือการให้อภัย แต่หากให้เรื่องราวบอกเล่าความจริงอีกด้านที่ใครไม่เคยได้ยิน และตัดสินชีวิตของพวกเขาไปตลอดกาล
ให้สปอตไลต์ที่ส่องไปยังพรมวงกลมสีแดงนั้นหันไปให้เห็นความจริงอีกด้าน ให้ลำโพงกระจายเสียงในใจที่ไม่เคยมีพื้นที่ไหนยอมรับฟัง จนกระทั่งมีใครบางคน มีที่ที่ไหนสักแห่งที่พร้อมหมุนสปอตไลทต์ฉายไปอีกด้าน พร้อมกระจายเสียงของพวกเขาออกไป จนแสงสว่างในตัวพวกเขาที่ซ่อนอยู่ในใจเสมอมา ค่อยๆ ได้ฉายแสงออกมาในวันที่สังคมเปิดใจรับฟัง
นอกจากเรื่องราวบนเวทีแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นหลังเวที และตลอดกระบวนการเตรียมงานกว่า 3 เดือนก็น่าประทับใจไม่ต่างกัน กับความพยายามของทีมงานอาสาสมัครและสปีกเกอร์เองอย่าง ‘ก้อง’ – ณัฐภัทร และ ‘ไก๊’ – โภคิน ตุลาประพฤทธิ์ สองพี่น้องผู้สร้าง Kogu Studio กับทอล์กที่พูดถึงการประยุกต์สิ่งที่ชอบกับความรับผิดชอบ ประยุกต์วิทยาศาสตร์เข้ากับศิลปะ ประยุกต์จุดแข็งของพี่น้องสองคน จนกลายมาเป็นผลงานที่พิสูจน์ความตั้งใจ และทำให้ผู้ใหญ่หมดคำถามไปเองว่าพวกเขาทำอะไรทั้งวันหน้าจอคอมพิวเตอร์นั่น
นอกจากไอเดียที่สื่อสารได้กับทั้งพ่อแม่ และคนรุ่นเดียวกันแล้ว ก้อง-ไก๊ ยังอาสาทำ computer graphic ให้สปีกเกอร์ในงาน ไม่ว่าจะเป็นภาพฝูงนกนางนวลเคลื่อนไหวอยู่บนเมฆสีชมพูที่สื่อถึงความฝันของอ๊ะอาย หรือเปลวไฟลุกโชนที่สะท้อนไฟในใจ ความโกรธที่กลายเป็นพลังในเรื่องราวเพลงแร็ปของบุ๊ค
ความตั้งใจ ทุ่มเท ของสปีกเกอร์ทั้งสิบคนในงาน ยิ่งตอกย้ำเด็กอีกหลายล้านคนในประเทศนี้ว่า พวกเขารอพื้นที่ที่จะได้ปล่อยของ และเมื่อพวกเขาได้รับโอกาสนั้นแล้ว พวกเขาจะทุ่มสุดตัวกับโอกาสนั้น และให้เรื่องราวของพวกเขาสั่นสะเทือนความฝันของคนวัยเดียวกันอีกหลายคนและผู้ใหญ่อีกมากมาย จนต้องเปลี่ยนความสงสัยว่าเด็กสมัยนี้มีของหรือไม่ เป็นเราได้สร้างพื้นที่ปล่อยของให้พลังงานสร้างสรรค์มากมายที่พวกเขามี เพียงพอแล้วหรือยัง
*หมายเหตุ – ข้อมูลเพิ่มเติม TED Club พื้นที่ปล่อยของในโรงเรียน: A Mini Guidebook to Setting Up TED Club in Schools สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://issuu.com/tedclubxbangkok/docs/ted-club-mini-guidebook