อาศรมสี่

อาศรมสี่ในศตวรรษที่ 21: เพราะชีวิตยืนนาน การเรียนรู้ และศรัทธาจึงสำคัญ

“โหดร้าย บัดซบ แสนสั้น”

นิยามชีวิตที่โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) นักปรัชญาการเมืองตะวันตกที่เชื่อว่าธรรมชาติมนุษย์นั้นโหดร้าย เห็นแก่ตัว มนุษย์จึงจำเป็นต้องมีการทำสัญญาประชาคมเพื่อควบคุมการอยู่ร่วมกัน

     ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ได้หยิบยกคำกล่าวของฮอบส์ขึ้นมาอีกครั้งในการเปิดบทสนทนา ‘ช่วงของชีวิต: อาศรมสี่ในศตวรรษที่ 21 ร่วมกับอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ โดยได้ตั้งคำถามว่า ชีวิตของมนุษยชาตินั้นอาจโหดร้าย บัดซบ แสนสั้น ในศตวรรษที่ 17 ที่ฮอบส์กล่าวข้อความนี้มา แต่ในศตวรรษที่ 21 นี้ที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการแพทย์ทำให้อายุขัยมนุษย์ถูกคาดการณ์ว่าจะยาวขึ้นเป็นร้อยปี วลีของฮอบส์อาจต้องเปลี่ยนเป็น “โหดร้าย บัดซบ ยาวนาน”

      คำถามคือแล้วเราจะอยู่อย่างไรในช่วงศตวรรษที่ 21 นี้ ในยุคที่เป็นครั้งแรกที่ช่วงของชีวิตนั้นเปลี่ยนไปจากศตวรรษที่ผ่านมา หากเราอายุ 100 ปี วัย 30 ปี จะไม่ใช่ ‘วัยกลางคน อีกต่อไป อายุเกษียณ 60 ปีที่ถูกกำหนดไว้ ก็จะเหลือเวลาอีกเกือบครึ่งกว่าอายุขัยเราจะสิ้นสุดลง

 

     ในวันที่กวาดตาไปทางไหนก็เต็มไปด้วยหนังสือ ข้อมูลมหาศาลที่พูดถึงการหาทางรอดท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง คำถามที่เต็มไปด้วยความกลัว ทำอย่างไรเราจะมีเงินเก็บเพียงพอในวัยเกษียณ ทำอย่างไรหากงานเราจะถูกแทนที่ด้วย AI ฯลฯ ในวันที่ใครต่อใครหาคำตอบทางโลกภายนอก ภิญโญตั้งคำถามกับอาจารย์ประมวลถึงทางรอดในโลกภายใน เราจะใช้ชีวิตอย่างไรในวันที่ร่างกายชรา ลูกหลานเติบโต โลกแห่งการงานไม่ได้ต้องการเราอีกต่อไป หากชีวิตยังต้องดำเนินต่อไปอีกยี่สิบ สามสิบ สี่สิบปี เราจะใช้ชีวิตอย่างไร หากชีวิตนั้นอาจ “โหดร้าย บัดซบ ยาวนาน” อย่างที่ฮอบส์เคยว่าไว้นี้

     อาจารย์ประมวลกล่าวว่า คำตอบที่เราแสวงหานั้นไม่อาจได้มาโดยการใช้ความคิดเพียงอย่างเดียว หากยังต้องใช้ความรู้สึกในการเข้าถึงคำตอบ อาจารย์ประมวลเล่าถึงตอนหนึ่งในพระเวสสันดร ในวันที่เทพบุตรเทพธิดามาเชิญชวนให้ไปเกิดเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระเวสสันดรตัดสินใจโดยใช้เวลาหลายปัจจัย โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้พระเวสสันดรตอบรับคำเชิญนั้นคือปัจจัยด้านเวลาที่อายุขัยมนุษย์นั้นไม่มากไม่น้อยเกินไปในเวลา 100 ปี ความยาวชีวิตที่ไม่มากเกินไปจนไม่ตระหนักรู้ถึงความเป็นอนิจจัง ทุกขัง ของชีวิต และไม่สั้นเกินไปจนไม่สามารถเข้าถึงพระธรรมได้ ร้อยปีนี่แหละที่เป็นจังหวะเวลาเหมาะสมที่สุดในการมีชีวิตอยู่

     อายุขัยที่ยาวนานถึงร้อยปี โจทย์ใหม่ที่มนุษย์กลับมาใคร่ครวญกันในศตวรรษที่ 21 หากปรัชญาพราหมณ์ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้แล้วเนิ่นนาน ในการแบ่งชีวิตมนุษย์ออกเป็นสี่ช่วง ตามที่รู้จักกันในนาม อาศรมสี่ ที่แต่ละอาศรมกล่าวถึงแก่นสำคัญของช่วงชีวิตที่ต่างกันไปดังนี้

 

อาศรมที่หนึ่ง – พรหมจรรย์

     ช่วงเวลาแห่งการศึกษาหาความรู้ ฝึกฝนความชำนาญทางโลก ‘พรหมจรรย์’ ที่ไม่ได้มีความหมายอย่างที่คนทั่วไปว่ากัน หากหมายถึงการประพฤติอย่างพรหม คือบริสุทธิ์ ผุดผ่อง ยังไม่มีสิ่งใดมาทำให้มัวหมอง เป็นช่วงเวลาที่ชีวิตพร้อมซึมซับความรู้ ประสบการณ์ พร้อมบ่มเพาะเติมโตไปในทิศทางที่ถูกหล่อเลี้ยงในช่วงนี้

 

อาศรมที่สอง – คฤหัสถ์

     ช่วงเวลาแห่งการครองเรือน สร้างฐานะ อาชีพการงาน ความรับผิดชอบที่เปลี่ยนไป มีบทบาทหน้าที่เป็นเงาติดตัวตามมา มีชีวิตอื่นที่ต้องดูแลนอกเหนือไปจากชีวิตของตนเอง

 

อาศรมที่สาม – วานปรัสถ์

     ช่วงเวลาแห่งการปล่อยวาง ละทิ้งชานเรือน ออกไปอุทิศความรู้และประสบการณ์ที่สะสมไปทำงานให้แก่สังคม อาจารย์ประมวลเองก็ได้ออก ‘เดินสู่อิสรภาพ’ ในวันที่อยู่ในอาศรมนี้ โดยการใช้การเดินเพื่อสลัดความยึดติดจากสภาวะที่เป็นอยู่

 

อาศรมที่สี่ – สันยาสี

     ช่วงเวลาแห่งการละทิ้ง หลุดพ้นโดยสมบูรณ์

 

     คำถามต่อไปในวงสนทนา ช่วงของชีวิตฯ บ่ายอาทิตย์วันนั้นดำเนินต่อไปว่า หากชีวิตนั้นยืนยาวถึง 100 ปี เราจะใช้ชีวิตกันอย่างไรในอาศรมที่ 3 และ 4 ที่อาจ “โหดร้าย บัดซบ ยาวนาน” หากไม่มีการเตรียมตัว และบทเรียนจากคัมภีร์โบราณอาจไม่มีคำตอบให้การเปลี่ยนแปลงในศตวรรษนี้ได้อีกต่อไป

     อาจารย์ประมวลขยายความการใช้ความรู้สึกนึกคิดในการหาคำตอบและความหมายของการใช้ชีวิต ผ่านเรื่องเล่าเมื่อครั้งเดินจาริกบนเขาไกรลาส ณ ประเทศอินเดีย ในวันสุดท้ายของการเดินภาวนา ทั้งอาจารย์และผู้ร่วมคณะเองได้เหนื่อยล้าจากการเดินเขามาทั้งวัน ในจังหวะที่จะนั่งพักกันนั้นก็มีหญิงคนหนึ่งโพกผ้าไว้ไม่เห็นหน้าเดินสวนทางมา เมื่อหญิงคนนั้นเปิดผ้าออกจึงพบว่าเธอเป็นหญิงชรา ใบหน้าเปื้อนยิ้มของหญิงชรานั้นทำให้อาจารย์ประมวลนึกถึงพระฑากิณี เทพผู้ช่วยปกป้องช่วยเหลือผู้ออกภาวนาให้บรรลุผล ตามความเชื่อของฮินดูนั้น พระฑากิณีจะปรากฏตัวในร่างของหญิงชรา

     คนไทยในทริปให้ล่ามช่วยถามหญิงชราว่าเหนื่อยไหมที่เดินมาไกลขนาดนี้ ยังไม่ทันจะแปลจบดี หญิงชราก็หันมามองและยิ้มให้อาจารย์ประมวลอีกครั้งพร้อมกับเสียงคำแปลที่เบาแต่ดังกังวานในความทรงจำของอาจารย์ว่า “มีความสุขมากๆ ที่ได้ทำ” คำกล่าวเรียบง่ายสั้นๆ ของหญิงชราที่เป็นดั่งคาถา คล้ายดั่งพรของชีวิต ว่าเส้นทางจะยาวไกลแค่ไหน จะสูงกี่ร้อยกี่พันไมล์ จะยาวกี่สิบกี่ร้อยปีก็ไม่สำคัญ หากเราสามารถตั้งจิตให้อยู่ในความหมายที่ว่า มีความสุขมากๆ ที่ได้ทำ ดั่งเช่นหญิงชราที่ออกเดินทางจาริกบนเขาไกรลาสนั้น นั่นแหละความหมายของชีวิตจึงจะเปลี่ยนจากคำสาปเป็นดั่งพระพร

 

“ไม่ได้อยากมีชีวิตอยู่จนกลัวตาย แต่ไม่เหนื่อยหน่ายกับการใช้ชีวิต”

     อาจารย์ประมวลยกข้อความในคัมภีร์โบราณของอินเดียที่เป็นดั่งข้อความตรวจสอบการเปลี่ยนผ่านจากผู้ครองเรือนในอาศรมที่สาม ไปเป็น สันยาสี ผู้หลุดพ้นในอาศรมที่สี่ หากตั้งความรู้สึกได้ว่าไม่ได้อยากมีชีวิตอยู่จนกลัวตาย แต่ไม่เหนื่อยเหนื่อยหน่ายกับการใช้ชีวิต นั่นแหละคือสภาวะของผู้หลุดพ้นบ่วงความกลัวของชีวิต ที่ไม่จำเป็นต้องรอจนถึงช่วงชีวิตบั้นปลาย ไม่ต้องรอให้อายุขัยล่วงไปจนถึงอาศรมสี่ถึงจะอยู่ในความรู้สึกนั้นได้

 

“จะมีชีวิตร้อยปีหรือไม่ถึงร้อยปีไม่เป็นประเด็น”

     อาจารย์ประมวลกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงจะเร็วหรือช้า ล้วนเป็นเรื่องธรรมดาที่เราต่างต้องพบเจอ หัวใจสำคัญคือการเรียนรู้ตลอดเวลา การเห็นความท้าทาย ความยากลำบากเป็นโอกาสในการได้ทำความเข้าใจถึงความหมายของชีวิต การเรียนรู้ที่เป็นคำตอบเดียวกันทั้งการแสวงหาหนทางอยู่รอดทางโลก และหาความหมายคำตอบให้โลกภายใน ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปเพียงใด ในจังหวะเร็วช้าแค่ไหน

     ไม่มีใครปฏิเสธว่าการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญในการปรับตัวท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง แต่อาจารย์ประมวลได้ทิ้งท้ายในประเด็นนี้เพิ่มไว้ว่า เราพูดถึงการเรียนรู้ตลอดเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่ค่อยคุยกันคือเรื่องของ ‘ศรัทธา’ ที่ในไตรปิฎกได้มีคำกล่าวไว้ว่า ‘ตถาคตโพธิสัทธา’ ในความหมายถึง ความรู้สึกเชื่อมั่น ศรัทธาว่าตัวเรานั้นมีศักยภาพที่จะรู้แจ้ง เบิกบาน ได้โดยตนเอง ศรัทธาว่าเรากำลังอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ อยู่ในจังหวะที่เหมาะที่ควร ไม่มีอะไรเร็วไป ช้าไป ทุกอย่างดำเนินไปอย่างเหมาะสมแล้วในจังหวะของมันเอง

 


หมายเหตุ: ถอดความจากบทสนทนา ช่วงของชีวิต: อาศรมสี่ในศตวรรษที่ 21 จัดโดย openbooks ณ หรรษา Community Open Space for Art & Spirituality จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 7 กรกฎาคม 2562