The Dreamers

‘The Dreamers’ หนุ่มสาวเอย เจ้าหลงใหลกับเสรีนิยมดื่นดาษ แต่เจ้าจะไร้อำนาจในการกำหนดชีวิตถาวร

“แค่เพียงเพราะคุณไม่ยุ่งกับการเมือง ไม่ได้แปลว่าการเมืองจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับคุณ”1

The Dreamers (2003) หนังร้อนแรงในตำนานของผู้กำกับ แบร์นาโด แบร์โตลุชชี (Bernado Bertolucci) ที่หยิบช่วงหนึ่งในห้วงประวัติศาสตร์ ช่วงเวลาแห่งการปฏิวัติของนักศึกษาในปารีสปี 1968 ที่มีฉากหลังซ้อนเป็นสงครามเวียดนาม—เบ้าหลอมอุดมการณ์ให้หนุ่มสาวทั่วโลกออกมามีส่วนร่วมทางการเมือง ไฟวัยเยาว์ที่หล่อหลอมพวกเขาเข้ากันไว้ และความเบื่อหน่ายต่อการใช้กำลังอำนาจในนามสันติภาพ มันเหนื่อยหน่ายเกินไป ไฟแห่งความคิดที่เมื่อติดแล้วพร้อมจะขยายวงเพลิงจากนักศึกษาไปจนถึงกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ไฟที่จุดวงกว้างจนค่อยๆ สั่นสะเทือนอำนาจผูกขาดให้สั่นคลอน

(คำเตือน: บทความมีการพูดถึงเนื้อหาในภาพยนตร์)

     แต่เปล่าหรอก ธีโอ (Theo) อิซาเบลล์ (Isabelle) และแมทธิว (Matthew) ไม่ได้ถูกหล่อหลอมเข้ากันด้วยเปลวไฟอุดมการณ์อะไรเทือกนั้น หากมันคือความไร้เดียงสาของวัยเยาว์ต่างหาก การเติบโตในประสบการณ์ทางเพศและการสูญเสียความบริสุทธิ์ให้กับมัน ความงอกงามของมิตรภาพและการพังทลายของความสัมพันธ์ ความหวังในวัยหนุ่มสาว และความหดหู่ ไร้อำนาจทำอะไรไม่ได้กับความหวังที่มี

     แมทธิว หนุ่มชาวอเมริกันที่มาเรียนแลกเปลี่ยนในปารีสเพื่อเลี่ยงการเข้าร่วมในสงครามเวียดนาม เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในซีเนมาเธค (Cinematheque) โรงหนังมืดคับแคบ แต่เรื่องราวน่าตื่นตาตื่นใจในจอโลกภาพยนตร์กลับสว่างไสวพาพวกเขาออกห่างไปจากความวุ่นวายของชีวิตและสังคม

     “The screen was really a screen. It screened us … from the world.”

     ในวันที่ซีเนมาเธคถูกสั่งให้ปิดลง คอหนังออกมาประท้วงด้วยความไม่พอใจ แมทธิวได้พูดคุยกับสองพี่น้อง ธีโอและอิซาเบลล์ ลูกครึ่งฝรั่งเศส-อังกฤษเป็นครั้งแรก แมทธิว หลงใหลความก๋ากั่นคาดเดาไม่ได้ของอิซาเบลล์ที่ยืนคาบบุหรี่ล่ามโซ่ตนเองไว้กับกำแพง ในขณะที่อิซาเบลล์เองก็ชอบความไร้เดียงสา สะอาดสะอ้านผิดวิสัยของคนรักหนังที่เธอเคยชิน

     “You’re awfully clean for someone who goes to the cinema so much.”

     หลังจากเจ้าหน้าที่เข้ามาสลายการชุมนุม พวกเขาทั้งสามเดินคุยกันต่อริมแม่น้ำแซน บทสนทนาไหลเรื่อยเอื่อยไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดตั้งแต่ความรัก ศิลปะ การเมือง หรือแม้กระทั่งทำไมฝรั่งเศสถึงไม่เคยมีวงร็อกดีๆ เสียที

     “we talked and talked and talked about politics, about movies, and about why the French could never come close to producing a good rock band.”

 

     ตั้งแต่นั้นมาโลกภาพยนตร์และบทสนทนาก็หล่อหลอมพวกเขาทั้งสามเข้าไว้ด้วยกัน บทสนทนาที่เย้ายวนชวนโมโหอยากกระโจนเข้าไปร่วมวงตั้งแต่ชาร์ลี แชปลิน หรือบัสเตอร์ คีตัน ใครกันที่เป็นนักแสดงตลกชั้นนำมากกว่า ไปยันบทสนทนาเดือดดาลที่แม้จะนั่งคุยกันในอ่างก็ไม่ช่วยคลายความร้อนได้อย่างการเข้าร่วมสงครามเวียดนาม แมทธิวที่พยายามอธิบายว่ามันเลี่ยงไม่ได้ ถ้าไม่เข้าร่วมสงครามก็จะถูกจับเข้าคุก ธีโอส่ายหัว สายตาเกลียดชังว่าให้เข้าคุกเสียยังจะดีกว่าต้องเข้าร่วมสงคราม แมทธิวได้แต่ส่ายหน้าว่าธีโอไม่เข้าใจ นายนี่ไม่เข้าใจเสียเลย…

     “ขอโทษนะที่ต้องพูด แต่มันย้อนแย้งมากเลย เพราะถ้านายบอกว่านายเชื่ออย่างนั้นจริงๆ ละก็ นายคงต้องออกไปแล้ว ออกไปที่ถนนนั่น แต่นายก็ไม่ไป นายอยู่ข้างในนี้กับฉัน ดื่มไวน์แพงๆ คุยกันเรื่องหนัง เถียงกันเรื่องลัทธิเหมา ทำไมล่ะ บอกฉันสิว่าทำไม ตอบตัวเองสิว่าทำไม เพราะฉันไม่คิดว่านายเชื่อมันจริงๆ นายซื้อโคมไฟ (รูปเหมา เจ๋อตุง) นั่นติดโปสเตอร์ทั่วห้อง แต่ฉันไม่คิด…”2

     บทสนทนาและบทในโลกภาพยนตร์หลอมพวกเขาเข้าไว้ด้วยกันอย่างประหลาด ผ่านเกมพิสดารที่พวกเขามักเล่น เช่น วิ่งข้ามพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ใน 9.45 นาทีเพื่อทำลายสถิติหนังเรื่อง Bande à part (1964) แมทธิวที่บ้าบิ่นเล่นตามแม้จะสงสัยคัดค้านอยู่บ้าง ทำให้ธีโอและอิซาเบลล์ยอมรับแมทธิวคนต่างชาติชาวอเมริกันอย่างเขาเป็นพวกเดียวกัน (“We accept you, One of us! One of us!”3)

     แต่แมทธิวไม่รู้เลยว่าความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างพวกเขาจะลามปามไปไกลได้ถึงการที่อิซาเบลล์ลงโทษธีโอเมื่อเขาทายชื่อหนังที่เธอร่ายรำเป็นคำใบ้ให้ไม่ได้ บทลงโทษที่เธอสั่งให้เขาช่วยตัวเองต่อหน้ารูปภาพนักแสดงคนโปรด “ราวกับไม่มีใครจับจ้องอยู่” (“I want you to do it the way you did it… when you thought no one was watching.”)… บทลงโทษซาดิสม์ที่แมทธิวคิดไม่ถึงว่าสักวันหนึ่งเขาจะเป็นผู้แพ้เกมทายชื่อนั้น และบทลงโทษจะย้อนกลับมากลายเป็นธีโอที่บอกให้เขาร่วมรักกับอิซาเบลล์ต่อหน้าเขา—ราวกับไม่มีใครจับจ้อง

     จากความอับอายกลายเป็นการสู่สม แมทธิวหนุ่มอเมริกันไร้เดียงสานั้นแอบชอบอิซาเบลล์สาวฝรั่งเศสผู้เปี่ยมเสน่ห์ด้วยความซับซ้อนแต่แรกเจอ คำท้าของธีโอจึงกลายมาเป็นตัวช่วยให้แมทธิวสำเร็จทั้งความปรารถนาและความใคร่ หากนาทีที่เขาเสร็จสมนั้นเอง เสียงปืนก็ดังลั่นกะทันหันจากข้างนอก แต่ไม่รู้ว่าเพราะเสียงปืนหรือคราบเลือดจากช่องคลอดของอิซาเบลล์ที่ทำให้เขาแตกตื่นยิ่งกว่าเมื่อพบว่านี่คือการร่วมรักครั้งแรกของเธอ… ความแตกตื่นทั้งเสียงปืน และคราบเลือดที่ไม่สามารถหยุดยั้งทั้งคู่ได้ พวกเขายังคงสำเร็จความใคร่กันต่อไป แม้มีคราบเลือดของอิซาเบลล์ที่เลอะติดมือ และคราบเลือดของผู้คนที่สาดกระเซ็นแปดเปื้อนถนน

     ความคลั่งไคล้ในโลกแต่งจรรโลงโลกของภาพยนตร์หลอมพวกเขาให้ใกล้ชิดกัน พอๆ กับที่ผลักไสเขาออกจากโลกภายนอก วันทั้งวันหมดไปกับการเล่นเกมทายชื่อหนังและบทลงโทษพิสดาร (ที่ธีโอบอกว่ามันไม่ใช่การฝึนใจให้ทำ แต่มันคือการเป็นหนึ่งเดียวกันจนถึงขั้นอ่านใจกันได้มากกว่าจึงท้าทายให้ทำอะไรพรรค์นั้น)

 

     ถามว่าพวกเขาใช้ชีวิตเลื่อนลอยในความฝันแบบนั้นกันได้อย่างไร?

     พ่อแม่ ตัวแทนของคนรุ่นเก่านั้นมีบทบาทสำคัญทำให้พวกเขายังใช้ชีวิตต่อไปได้ แม้จะมีความเห็นต่างกันอย่างไร แม้ธีโอจะสบประมาทที่พ่อเขาเอาแต่เขียนกวีปลอบใจตนเองว่าถ้อยคำของเขาได้ทำหน้าที่เยียวยาสังคมแล้วไปวันๆ (“A petition is a poem, a poem is a petition”) หากไม่ยอมแม้กระทั่งร่วมเซ็นลงนามยุติสงคราม หากในวันที่พวกเขาสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่เหลืออะไรกินในอพาร์ตเมนต์หรูหราจนต้องคว้าเศษกล้วยข้างทางมาแบ่งกันกิน พวกเขาก็ต้องวางทิฐิลง ยกหูโทรศัพท์ติดต่อหาพ่อแม่ให้ช่วยส่งเงินให้ สุดท้ายความรักในเสรี (นิยม) ของเขา ก็ยังต้องพึ่งทุน (นิยม) ให้ใช้ชีวิตต่อไปได้

     แต่ไม่ได้ ไม่ได้เลย พวกเขาจะให้พ่อแม่รู้สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างพวกเขาไม่ได้ อิซาเบลล์ถึงขั้นยอมตายเสียดีกว่าหากพวกเขารู้ และวันหนึ่งที่เธอตื่นขึ้นมาพบเช็คใบสุดท้ายจากพ่อแม่ในร่างเปลือยเปล่าขนาบข้างด้วยพี่ชายและเพื่อนคนรักของเธอ เธอก็ตัดสินใจจะทำอย่างนั้นจริงๆ ลากสายยางจากห้องครัวมาเตรียมพร้อมรมควันตัวเอง จบชีวิตสิ้นไปให้รู้แล้วรู้รอด

     แต่แล้วเธออาจทำช้าไป ขี้ขลาดเกินไป หรือกระจกที่กั้นโลกภายในที่พวกเขานักฝันทั้งสามขังตัวอยู่มานานนั้นบางเกินไป เสียงโหวกเหวกโวยวายจากท้องถนนดังลั่นเข้ามา พร้อมๆ กับแรงกระแทกที่ทำให้กระจกแตก ปลุกพวกเขาให้ตื่นจากรังรักที่ซุกซ่อนไว้มานาน

     กระจกแตกแล้ว ไม่เหลือพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะแล้ว ไม่มีทางเลือกแล้วนอกจากออกไปร่วมขบวน เสียงร้องโหยหวนของขบวนประท้วงที่ใช้เวลาไม่เท่าไหร่ ธีโอและอิซาเบลล์ก็ร้องขับขานตาม ทิ้งไว้แต่เพียงแมทธิวที่ได้แต่ไหลไปตามขบวนนั้น มือคว้าร้องขอไม่ให้ธีโอโยนระเบิดไปยังเจ้าหน้าที่…

     เราต้องหยุดยั้งความรุนแรงด้วยความรักสิ ด้วยสันติภาพสิ…

     สายตาของธีโอว่างเปล่า ราวกับว่าในหัวของเขา ตัวตนของเขา จิตวิญญาณของเขาถูกพรากไปแล้วกับเสียงร้องกลางถนน แมทธิวหันไปร้องขออิซาเบลล์ ผู้หญิงที่เคยบอกว่ารักเขานักหนาให้หนีตามเขามา แต่แม้อุดมการณ์ ความสวยงามของเรื่องแต่งจากภาพยนตร์จะเชื่อมสองพี่น้องธีโอ อิซาเบลล์ และแมทธิว สหายใหม่ชาวอเมริกันไว้แค่ไหน สุดท้ายสายใยแห่งความฝัน เรื่องแต่งจรรโลงโลกก็เบาหวิว เลื่อนลอย ไม่หนักแน่นเท่าสายใยความสัมพันธ์สองพี่น้องพ่ออังกฤษ แม่ฝรั่งเศสอย่างธีโอและอิซาเบลล์ได้อยู่ดี

     สุดท้ายแมทธิวสหายอเมริกันก็ได้แต่เดินสวนทางมวลชนชาวฝรั่งเศส พรากจากเพื่อนเขาออกไป จากไปราวกับไม่เคยรู้จักกัน ต่างกันไปก็แค่เพียงวันนี้เขารู้ว่าไม่ว่าเขาจะนั่งชิดติดจอฉากภาพยนตร์แค่ไหน เขาก็ไม่อาจหนีฉากการเมืองที่กำลังดำเนินไปในโลกแห่งความจริงได้อีกแล้ว

     เสียงผู้คนตะโกนร้อง เสียงปืนลั่นดังก้อง ราวกับจะปลุกให้เขาตื่นจากความฝันในวัยเยาว์ที่เสพสม หลงใหลมัวเมาไปกับศิลปะ กามารมณ์ และบทสนทนา เพียงเพื่อจะตื่นขึ้นมาในวันหนึ่งแล้วพบว่าเขาไร้หนทางกำหนดใดๆ ในชีวิตตนเอง

 


อ้างอิง:

  • 1 แปลจาก quote “Just because you do not take an interest in politics doesn’t mean politics won’t take an interest in you.”
  • 2 ผู้เขียนแปลจาก “I’m sorry to say it, but for me there is a distinct contradiction. Because if you really believed what you were saying you’d be out there. Out there, on the street. […] But you’re not out there. You’re inside with me, drinking expensive wine talking about film, talking about Maoism. Why? Tell me why. Ask yourself why. Because I don’t think you really believe it. I think you buy the lamp, and you put up the posters, but I don’t think…”
  • 3 จากหนังเรื่อง Freaks (1932)