การเดินทาง

ทำไมเรามักรู้สึกตกหลุมรักใครสักคนระหว่างการเดินทาง?

เราตกหลุมรักระหว่างการเดินทาง หรือการเดินทางทำให้เราตกหลุมรัก?

รู้สึกเหมือนกันไหม? ว่าการเดินทางนั้นไม่ได้เริ่มขึ้นนาทีที่เราไปถึงสถานที่นั้น หากเริ่มตั้งแต่นาทีที่เราเลือกปักหมุดเป้าหมายปลายทาง เริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ ผู้คน วัฒนธรรมของสถานที่นั้น เลือกชุดจัดกระเป๋าให้เข้ากับอากาศ ฤดูกาล จนกระทั่งยามออกจากบ้านไปสนามบิน เครื่องยังไม่ทันจะออกดี แต่ความรู้สึกมันติดปีก โบยบินราวกับว่าการเดินทางนั้นได้เริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่นาทีที่ปักหมุด ตัดสินใจว่าจะออกเดินทาง

     รู้สึกเหมือนกันไหม? ว่าเรามักจะอยู่ในสภาวะที่เป็นตัวเองที่สุดเวลาเดินทาง ราวกับการออกจากบ้านนั้นคือการ ‘กลับบ้าน’ ในใจตัวเองอย่างแท้จริง กับโมงยามที่ความต้องการภายในความอิสระ ความตื่นเต้น ความสงบถูกตอบสนองด้วยสิ่งแวดล้อมภายนอก ในยามที่เป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องเป็นอะไรเลย เมื่อถูกหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งกับสถานที่ใหม่ๆ ที่ไม่มีใครรู้จัก ไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่าเพียงแค่ ‘เป็น’ (being) ในชั่วโมงยามแห่งการเดินทางนั้น

 

     ว่ากันว่า สภาวะที่ภายนอกหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งกับภายใน คือสภาวะที่ทำให้คนคนหนึ่งอยู่ในระดับจิตสำนึกที่ลึกไปกว่าสภาวะปกติ อยู่ในสภาวะที่เท้าไม่ติดพื้น ตัวลอยๆ สุข เศร้า เหงา ตื่นเต้น ห้วงอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นชัดกว่าปกติ และในสภาวะไร้การควบคุม ปล่อยให้ตัวเองหลงไปตามแรงเหวี่ยงใดๆ ของโลกนั่นแหละ ที่คนเรามักจะ… ตกหลุมรัก

     องค์ประกอบหลายอย่างเกี่ยวกับการเดินทางดูท่าจะทำให้คนเราอยู่ในสภาวะร่วงหล่น เผลอไผล ได้อย่างง่ายดาย ทั้งความตื่นเต้นต่อสถานที่ใหม่ ในสภาวะที่ไร้ความเครียด ผ่อนคลาย คล้ายกลับไปสู่ความเป็นเด็กที่เห็นและสัมผัสสิ่งต่างๆ รอบตัวเป็นครั้งแรกอีกครั้ง ทั้งการปรับตัวตามสัญชาตญาณ การไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ทำให้ต้องตื่นตัว ปล่อย ‘ความเครียดเชิงบวก’ (positive stress) ที่ทำให้ร่างกายหลั่งอะดรีนาลีนออกมา และตามกลไกของวิทยาศาสตร์ เมื่อใครบางคนอยู่ในจุดพีกของระดับอะดรีนาลีน มวลพลังงานสารเคมีแห่งความสุข ความตื่นตัว ก็ดูจะดึงดูดคนรอบข้างให้เข้าหาคนๆ นั้นมากขึ้นตามกำลัง

     และนอกจากสารเคมีพลังงานที่หลั่งจากด้านในแล้ว ก็ยังเป็นพลังงานของสถานที่ภายนอก ที่ดูจะทำให้บรรยากาศรอบตัวชวนต้องมนต์ น่าหลงใหลไปเสียหมด รวมถึงใครบางคนที่ชีวิตจับให้มาอยู่ข้างๆ กันในเวลาเดียวกัน ใครบางคนที่กำลังอยู่ในมนต์สะกดของสถานที่นั้นไม่ต่างกัน นักเดินทางอีกคนที่พร้อมจะเสี่ยงออกนอกเส้นทาง ด้วยความโหยหาประสบการณ์บางอย่างที่ความดื่นดาษของชีวิตประจำวันไม่สามารถมอบให้ได้ และเมื่อคนแปลกหน้าทั้งสองมองหาสิ่งเดียวกัน มันก็ไม่ใช่เรื่องยากที่พวกเขาจะตอบตกลง เมื่อใครบางคนเอ่ยปากชวนให้ออกนอกเส้นทาง

     แต่ช้าก่อนถามตัวเองกันให้ดี, นักเดินทาง ว่านั่นคือเขา หรือตัวตนของเราเองที่เรากำลัง ‘ตกหลุมรัก’ ความรู้สึกผูกพันแวบวาบนั่นคือความผูกพันกับเขา หรือมันคือความเชื่อมโยงระหว่างตัวเรากับบรรยากาศรอบตัว? มันคือความน่าสนใจของคนแปลกหน้าที่เราเพิ่งพบเจอ หรือมันคือความตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ๆ ทุกสิ่งล้วนตื่นตาตื่นใจไปทั้งนั้น? มันคือเขาที่เราพึงพอใจ หรือมันคือความอิสระที่ค้นพบ ความกล้าของตัวเองที่หายไปจากชีวิตประจำวัน จนเราเริ่มพึงพอใจกับตัวเราเอง จนพลอยยินดีกับทุกสิ่งรอบตัวตามไปด้วย?… ถามตัวเองกันให้ดีนักเดินทาง ว่านี่คือความรู้สึกที่มีต่อคนคนนั้น หรือมันเป็นเพียงความรู้สึกดีที่เรามีต่อตนเองในขณะออกเดินทาง

 

     ในความโรแมนติกของ ‘ความบังเอิญ’ แห่งการพบพาน ผลสำรวจ และงานวิจัยหลายแห่งแสดงให้เห็นว่า มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่คนเรามักตกหลุมรักระหว่างการเดินทาง โพลล่าสุดจาก HSBC* บอกไว้ว่า 1 ในนักเดินทางทุกๆ 50 คนนั้น พบรักระหว่างอยู่บนไฟลต์กับคนแปลกหน้าที่นั่งข้างๆ กัน

     อย่างไรก็ตาม แม้สถิติ วิทยาศาสตร์ความสัมพันธ์ และจิตวิทยาอาจทำให้ความโรแมนติกในชีวิตนั้นหดหายไป แต่ในวันที่มันเกิดขึ้นจริงแล้ว การได้พบใครสักคนหนึ่งในหนึ่งแสนกว่าไฟลต์ที่ผู้คนบินข้ามโลกกันไปมาทุกวัน มีบทสนทนาที่ทำให้เกิดความรู้สึกเชื่อมโยงบางอย่างระหว่างกัน… แรงดึงดูดอะไรบางอย่างที่อธิบายไม่ได้นั้น ในการดึงคนแปลกหน้าจากอีกฟากโลกให้มาพบกันในชั่วขณะหนึ่ง และ (อาจจะ) พบกันตลอดไปนั้น จะมองยังไงก็ยังเป็นความมหัศจรรย์อันแสนโรแมนติกของชีวิตอยู่ดี

 


* “1 in 50 people ffiinds love on an airplane, study claims” (CNN Travel, 2018)