งานกับตัวตน

งานแห่งตัวตน หรือตัวตนที่เป็นผล (ผลิต) ของงาน

“ผมค้นพบว่า มนุษย์มีความต้องการพื้นฐานอยู่สองประการด้วยกัน สิ่งแรกคือมีความสุขกับชีวิต และสองคือการมีชีวิตที่เปี่ยมความหมาย”

จอห์น อิซโซ (John Izzo) กล่าวสรุปข้อค้นพบของเขาจากการสัมภาษณ์ผู้คนมากกว่า 200 คนที่ถูกคัดเลือกจากรายชื่อพันกว่ารายชื่อ ให้มีความหลากหลายเพศ วัย ศาสนา อายุ อาชีพ ไปจนถึงชาติพันธุ์ จนพบเจอความลับของชีวิตที่กลายเป็นหนังสือเล่มอมตะ ความลับ 5 ข้อที่คุณต้องค้นให้พบก่อนตาย (The Five Secrets You Must Discover Before You Die)

     ในความหลากหลายของผู้คนที่สัมภาษณ์ อิซโซค้นพบความคล้ายกันในความลับของชีวิตที่ซ่อนอยู่ในการงานแต่ละวัน ศาสตราจารย์คนหนึ่งเล่าให้ฟังถึงความต่างที่เขาเห็นอยู่ทุกวันระหว่างนักศึกษาที่ตามความฝันและความสนใจของพวกเขาเอง กับนักศึกษาที่เรียนไปวันๆ สิ่งที่ศาสตราจารย์ท่านนี้สังเกตจากนักศึกษาไม่ต่างอะไรจากหญิงชราที่บอกกับหลานของเธอถึงกุญแจสู่ความลับของชีวิตว่ามันซ่อนอยู่ในดวงตา ที่พวกเขา (และเราทั้งหลาย) ต้องมองเข้าไปให้ลึก มองไปจนค้นพบว่าใครกันที่อยู่ในนั้น และความฝันของคนที่อยู่ในแววตานั้นคืออะไร

     อิซโซอธิบายเพิ่มเติมถึงความลับข้อนี้ที่ซ่อนไว้ในปรัชญาภาษาศาสตร์ ในพระคัมภีร์ใบเบิ้ลที่คำว่า “บาป” (sin) นั้นมีรากมาจากภาษากรีกโบราณ ความหมายตามตัวอักษรของคำนี้แปลตรงตัวได้ว่า “พลาดเป้า” (to miss the mark) คล้ายกับการยิงธนูไม่เข้าเป้า มีนัยยะว่าการพลาดไปสู่เป้าหมายที่ชีวิตต้องไปให้ถึงนั้นเป็นบาปอย่างหนึ่ง อิซโซยกตัวอย่าง Henry Wadsworth กวีผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคโรแมนติก ได้เขียนไว้ในงานของเขาที่ชื่อ โหมโรง (The Prerude) ว่าเขาต้องเป็นกวี “มิฉะนั้นจะบาปหนัก” ที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการเล็งเป้าหมายให้พบงานแห่งชีวิตของแต่ละคน ไม่ใช่เป็นเพียงเพื่อให้ได้มีชีวิตที่มีความหมาย หากยังเป็นคล้ายพันธกิจของชีวิตที่มนุษย์จะต้องทำในยามมีชีวิต

 

     หากมองในแง่นี้แล้ว การงานดูจะมีบทบาทสำคัญมากกว่าเป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพ หากผูกกำหนดไปถึงอัตลักษณ์ ความเป็นตัวตน (identity) ระดับของความพึงพอใจในชีวิต และที่ทางของเราในโลกนี้ ในหนังญี่ปุ่น Tokyo Sonata ผู้เป็นพ่อตัวละครเอกที่เลือกไม่บอกใคร ในวันที่เขาตกงาน ยังคงแต่งกายในชุดทำงานออกจากบ้านเป็นปกติ เพื่อไม่ให้คนในครอบครัวรู้ หรือแม้กระทั่งซีรีส์เกาหลีล่าสุด Romance is a Bonus Book ที่นางเอกยิ้มดีใจเมื่อได้รับนามบัตรครั้งแรกในชีวิตหลังจากเป็นแม่บ้านมายาวนาน – ฉากเรื่องที่อาจดูเหมือนเป็นละครสะท้อนความเป็นครอบครัว หากสะท้อนสังคมไปในขณะเดียวกัน ฉากละครหลายเรื่องที่ชวนตั้งคำถามไปถึงความเป็นตัวตนว่า พวกเราเป็นใคร? ถ้าไม่ใช่งานที่ทำ…

     บทบาทของงานในการกำหนดตัวตน กำหนดที่ทางของเราในโลกนี้ดูไม่เพียงกำหนดความหมายของการมีชีวิตอยู่ในระยะยาว หากยังส่งผลถึงความพึงพอใจในการตื่นมาทำงานในแต่ละวัน มีงานวิจัย1 ที่ยืนยันว่าพนักงานคนหนึ่งจะพอใจในงานแค่ไหนไม่ใช่แค่ว่าเขาได้ทำอะไร แต่ยังรวมถึงความรู้สึกต่อตนที่เขาได้รับบทเล่นในงานนั้น ซึ่งแม้วาทกรรมยุคใหม่จะบอกว่าแพชชันคือสิ่งที่ทำให้คนทำงานได้นาน ทำงานได้ดี หากงานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่า เจ้าความรู้สึกดีต่อตัวตนที่ได้เป็น บทบาทที่ได้เล่นในงานนั้นก็ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานไม่น้อย (ถ้าไม่มาก) ไปกว่ากัน เพราะหากมีอะไรที่มนุษย์เราหวงแหน ปกป้องราวกับเป็นของล้ำค่า ก็คงหนีไม่พ้นอัตตาตัวตนที่ช่วยยืนยันการมีอยู่ของเราบนโลกนี้ และการทำงานให้ได้ดีก็อาจเป็นหนึ่งในหนทางปกป้องโหลแก้วอัตลักษณ์ตำแหน่งในงานนั้น

     ในทางตรงกันข้าม หากงานที่พวกเขาทำไม่ได้ทำให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ มันก็ง่ายเหลือเกินที่จะทำงานทิ้งๆ ขว้างๆ ปล่อยมันไป เพราะมันเป็นเพียงสิ่งที่เขาทำ หากไม่ใช่สิ่งที่ “เป็น”

 

     มีคำกล่าวที่บอกว่าตัวตนของเราประกอบไปด้วยคนสามคน: คนที่เราคิดว่าเราเป็น, คนที่ผู้อื่นคิดว่าเราเป็น, และคนที่เราเป็นจริงๆ ซึ่งมันง่ายมากที่งานนั้นจะมีบทบาทหล่อหลอมคนทั้งสามคนในตัวเราขึ้นมา ผ่านคำแนะนำตัวที่เราบอกผู้อื่น ผ่านนามบัตรที่ระบุตำแหน่ง ผ่านภาพจำที่ใครต่อใครมีต่องานนั้น …เสียงภายนอกที่ดังจนหลายครั้งอาจกลับเสียงว่าตัวเองจริงๆ คือใคร แยกไม่ออกว่าเรารักงานนั้นเพราะสิ่งที่เราได้ทำ หรือตัวตนที่มันติดป้ายให้เรามา

     แม้พระคัมภีร์จะบอกว่าการ ‘เล็งธนูให้ตรงเป้า’ คือพันธกิจของชีวิต และหนึ่งในความลับห้าข้อของหนังสือชื่อดังจะบอกว่า การทำงานที่สอดคล้องกับความเป็นตัวตนนั้นทำให้ชีวิตมีความหมาย หากบางทีอาจมีความลับข้อที่หกที่อิซโซไม่ได้บอกไว้ว่า “เป้า” นั้นไม่ได้มีเป้าเดียว พอๆ กันกับที่เราต่างไม่ได้มีเพียงตัวตนเดียว

     ชีวิตที่มีความหมาย (และเบาสบาย) อาจไม่ใช่การแบกยึดถือไว้กับตัวตนที่งานหรือใดๆ ประกอบสร้างให้เราเป็น หากคือการปลดปล่อยสละตัวตนที่ถูกแปะป้าย ซึ่งอาจเริ่มได้จากการถามคำถามตัวเองในคำถามที่ไม่ค่อยมีใครถามกันว่า เราเป็นอะไร นอกจากงานที่ทำ?

 


1Bryan, M. and Nandi, A. (2018). Working Hours, Work Identity and Subjective Wellbeing, University of Shefffiield. Retrieved on April 14, 2019 from www.shefffiield.ac.uk/economics/research/serps/articles/2018002