Attachment Theory

Love Actually | เบื้องลึกของความสัมพันธ์ รากฐานสำคัญที่นำไปสู่ความรักที่ดี

ทุกครั้งเมื่อเราพูดถึงความรักไม่ว่าจะในแง่มุมใด เรื่องของ ‘ความสัมพันธ์’ ก็มักจะถูกพูดถึงด้วยเสมอ จนเราเผลอจับความรักเข้าคู่กับความสัมพันธ์แล้วมองมันเป็นเรื่องเดียวกันอยู่บ่อยครั้ง นั่นเป็นเพราะความสัมพันธ์เป็นรากฐานของความรัก ดังนั้น ความรักและความสัมพันธ์จึงมีความข้องเกี่ยวต่อกันเสมอ ความคิดคุ้นชินนี้ทำให้เราลืมไปว่าในความเป็นจริงแล้ว ความรักก็คือความรัก และความสัมพันธ์ก็คือความสัมพันธ์

     ตลอดช่วงชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงลมหายใจสุดท้าย นอกจากความต้องการทางร่างกาย หรือความต้องการในปัจจัยสี่ซึ่งทำให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้แล้ว มนุษย์ยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความต้องการทางจิตใจด้วย เช่น ความรัก ความอบอุ่น ความรู้ ความสำเร็จ หรือความกระหายในสิ่งอื่นใดเพื่อหวังสร้างและเสริมประสบการณ์ให้กับชีวิต ซึ่งความต้องการนี้เองที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อย่างชัดเจน

     โดยธรรมชาติมนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคมเพื่อการพึ่งพาอาศัย แรกเกิดเราล้วนต้องพึ่งพิงการเลี้ยงดูแลจากผู้อื่น และเมื่อเติบโตขึ้น พัฒนาการด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ตามช่วงวัยและทักษะชีวิต จะส่งผลให้เราสามารถปรับตัวเพื่อรู้จักพึ่งพาอาศัยผู้อื่นอย่างมีเหตุมีผลเหมาะสมกับวุฒิภาวะมากขึ้น รวมทั้งเรียนรู้วิถีทางที่จะทำให้เราสามารถอยู่รอดได้ด้วยตนเอง และภายใต้สภาวะทั้งหมดนี้ ส่งผลให้มนุษย์มีการปฏิสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง จนในท้ายที่สุดเกิดเป็นสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ทั้งในทางที่ดีและไม่ดี

ความสัมพันธ์จึงเป็นกลไกเหนี่ยวนำไม่ให้มนุษย์รู้สึกโดดเดี่ยว ขณะเดียวกันก็สนับสนุนให้เกิดความผูกพันบางอย่างขึ้น โดยเฉพาะความรัก

     ในวัยที่เราเริ่มรู้จักและมีประสบการณ์เรื่องความรัก สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นได้ชัด คือบุคลิกภาพและรูปแบบความสัมพันธ์เป็นตัวแปรสำคัญของผลลัพธ์ในเรื่องความรัก
 
     ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
 
     เพื่อหาคำตอบของคำถามนี้ เราต้องย้อนเวลากลับไป ณ จุดเริ่มต้น ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

     สภาพสังคมและความเป็นอยู่ในช่วงเวลาของการเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ถือว่าเลวร้ายและท้าทายความเป็นมนุษย์มากที่สุดช่วงเวลาหนึ่ง ประเทศอังกฤษเสียหายระดับวิกฤตจากการถูกประเทศเยอรมนีบุกทิ้งระเบิดตามเมืองใหญ่เป็นจำนวนมาก เพื่อความปลอดภัยของชีวิต ประชากรส่วนมากที่ได้รับผลกระทบจึงต้องจำยอมพลัดพรากจากลูก โดยส่งให้ไปอยู่ในย่านชนบทแทน แม้ตนเองจะต้องทำงานอยู่ในเขตเมืองต่อไปด้วยเหตุผลเรื่องความเป็นอยู่ของครอบครัว

     ขณะเดียวกัน จอห์น โบวล์บี (John Bowlby) จิตแพทย์ชาวอังกฤษ ได้ตั้งข้อสังเกตและศึกษาเกี่ยวกับปฏิกิริยาของเด็กเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะร้องไห้และเหนี่ยวรั้งพ่อแม่ไม่ให้ถูกแยกจากไป ซึ่งเป็นความพยายามโดยสัญชาตญาณ เมื่อเด็กรับรู้ได้ว่ามีพ่อแม่อยู่ใกล้ๆ จะร้องเรียกหา และเมื่อได้รับการเอาใจใส่ เด็กจะรู้สึกปลอดภัย มั่นใจในตัวเอง รู้สึกว่าตนเป็นที่รัก ในทางตรงกันข้าม หากไม่ได้รับการเอาใจใส่ เด็กจะเกิดความวิตกกังวล รู้สึกสิ้นหวัง และซึมเศร้าได้ นอกจากนี้โบวล์บียังได้ศึกษาพฤติกรรมเด็กจำนวนหนึ่งที่ประกอบอาชญากรรม พบว่าทุกคนมีประวัติการพลัดพรากจากแม่ในช่วงวัยเด็กทั้งสิ้น

     จนในปี ค.ศ. 1950 โบวล์บีได้นำเสนอทฤษฎีความผูกพันทางจิตใจ (Attachment Theory) และได้กลายมาเป็นพื้นฐานความคิดที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด โดยให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างแม่หรือผู้เลี้ยงดูกับเด็ก ซึ่งจะส่งผลไปถึงพฤติกรรมและความสัมพันธ์เชิงลึกในวัยผู้ใหญ่

 

     ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน แฮร์รี ฮาร์โลว์ (Harry Harlow) นักจิตวิทยาชาวอเมริกา ได้ศึกษาเรื่องความผูกพันและความใกล้ชิด โดยทำการทดลองกับลูกลิงแรกเกิด ฮาร์โลว์แยกลูกลิงจากแม่ลิงหลังเกิดไม่เกิน 12 ชั่วโมง มาขังไว้ในกรง ภายในมีแม่ลิงจำลอง 2 ตัว ตัวหนึ่งทำด้วยไม้พร้อมคลุมผ้าขนหนู ส่วนอีกตัวหนึ่งทำด้วยขดลวดแข็ง แม่ลิงจำลองทั้งสองมีขวดนมผูกไว้สำหรับให้ดูดเหมือนกัน และมีไฟฟ้าให้ความอบอุ่นด้วยระดับอุณหภูมิที่เท่ากัน

     จากการสังเกตพฤติกรรมของลูกลิงระหว่างทำการทดลอง พบว่าลูกลิงส่วนใหญ่เลือกกอดและดูดนมจากแม่ลิงที่ทำจากไม้และคลุมด้วยผ้าขนหนูมากกว่า รวมทั้งในระหว่างที่แยกลูกลิงออกจากแม่ มันจะส่งเสียงร้องดังผิดปกติ และพยายามตามหาแม่ เมื่อหาไม่เจอ มันจะเริ่มเก็บตัว แม้ว่าในเวลาต่อมามันจะได้พบกับแม่อีกครั้ง แต่ลูกลิงยังคงมีพฤติกรรมแปลกแยกเช่นนี้อยู่ และเมื่อกลับเข้าสู่ฝูงลิง มันจะกลายเป็นลิงที่มีปัญหา เพราะไม่สามารถเล่นกับลิงตัวอื่นได้ ยิ่งไปกว่านั้นมันจะเริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าว ในท้ายที่สุดเมื่อลูกลิงกลุ่มนี้โตขึ้นและกลายเป็นแม่ลิง มันจะเป็นแม่ลิงที่ไม่สนใจลูกเลย

     จึงสรุปได้ว่า ความผูกพันระหว่างลูกลิงกับแม่ลิงมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของลูกลิงในอนาคต แม้ว่าผลการทดลองนี้จะสนับสนุนทฤษฎีความผูกพันทางจิตใจของโบวล์บี แต่ยังไม่สามารถจำแนกหรือระบุลงรายละเอียดรูปแบบความสัมพันธ์ได้

 

     จนกระทั่ง แมรี ไอนส์เวิร์ต (Mary Ainsworth) นักจิตวิทยาพัฒนาการชาวอเมริกัน ได้เริ่มทำการศึกษากับเด็กจริงๆ โดยมุ่งสนใจพฤติกรรมเด็กที่พลัดพรากจากแม่ โดยนำเด็กอายุ 12 เดือนและแม่เข้าไปในห้องทดลอง จากนั้นปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพัง ระหว่างนั้นมีคนแปลกหน้าเข้ามาเป็นระยะ แล้วแม่จึงกลับเข้าห้องเช่นเดิม จากการทดลองพบว่า เด็กๆ มีพฤติกรรมที่แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม โดยผลการทดลองนี้ได้จำแนกรูปแบบความสัมพันธ์ของมนุษย์อย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรก ได้แก่

     เด็กร้องไห้เมื่อแม่จากไป หยุดร้องเมื่อแม่กลับเข้ามา และเล่นกับแม่ได้ปกติ เป็นความสัมพันธ์แบบมั่นคง (secure)

     เด็กร้องไห้เมื่อแม่จากไป และไม่หยุดร้องแม้แม่จะกลับเข้ามาหาแล้วก็ตาม เป็นความสัมพันธ์แบบวิตกกังวล (anxious)

     และ เด็กไม่ร้องไห้เมื่อแม่จากไป ไม่ให้ความสนใจใดๆ เมื่อแม่กลับเข้ามา เป็นความสัมพันธ์แบบหลีกหนี (avoidant)
 
     เมื่อสังเกตพฤติกรรมแต่ละแบบของเด็ก จะพบอีกว่า เมื่อเชื่อมโยงกับความรักแล้ว มนุษย์ต่างมีปฏิกิริยาเช่นเดียวกับเด็กๆ ซึ่งแปรเปลี่ยนไปตามความสัมพันธ์ อันเป็นผลจากความผูกพันระหว่างแม่กับลูก คนที่ได้รับการดูแลโดยผู้เลี้ยงดูที่มีความมั่นคงทางจิตใจ จะมีความเชื่อมั่นในรัก ใส่ใจความรู้สึกของกันและกัน มีความรักที่มั่นคงยั่งยืน มีความสุข ส่วนคนที่ได้รับการดูแลโดยผู้เลี้ยงดูที่มีความมั่นคงทางจิตใจไม่คงที่ จะเรียกร้องความสนใจ ต้องการความรัก กลัวและกังวลว่าจะถูกทิ้ง จนทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดในความสัมพันธ์ และสุดท้ายคนที่ไม่ค่อยได้รับการดูแล หรือถูกเลี้ยงดูด้วยความห่างเหิน จะไม่รู้สึกผูกพันกับใครเลย มักสร้างกำแพงไม่ให้ใครเข้ามาใกล้ชิดได้ ชอบอยู่กับตัวเองมากกว่าการมีความสัมพันธ์กับคนอื่น

 

     เพราะเหตุนี้จึงทำให้เราตระหนักได้ว่า แม้ความสัมพันธ์จะเป็นรากฐานของความรัก แต่ไม่ใช่ทุกความสัมพันธ์ที่จะสามารถนำทางเราไปสู่ความรัก (ที่ดี) ได้ เพราะระหว่างทาง เราพบความจริงที่ว่าตัวตนของเราถูกสร้างให้มีความสัมพันธ์ในรูปแบบที่เราเป็น ดังนั้น การรู้จักตัวเอง (และคนพิเศษที่เราสนใจ) ก็น่าจะเป็นหนทางที่ดีสำหรับการเริ่มต้นเรียนรู้และดูแลหัวใจของกันและกัน