คงไม่มีใครในโลกนี้ที่ชอบการรอ ยิ่งเป็นเรื่องความรักความสัมพันธ์ การรอดูจะเป็นเรื่องทรมานใจเป็นไหนๆ บางทีการรออาจทรมานยิ่งกว่าการยุติความสัมพันธ์เสียอีก เพราะมันกินระยะเวลานานและไม่ชัดเจน ทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดและหน่วงอยู่ในใจ ไม่รู้เรื่องที่รอจะเกิดขึ้นจริงไหมและจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ซึ่งแต่ละคนก็มีเรื่องให้รอแตกต่างกัน
บางคนอดทนรอที่จะเจอคนที่ใช่เดินเข้ามาในชีวิต บางคนรอคนรักที่อยู่ห่างไกลกันจะได้กลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง (โดยไม่ถูกพลัดพรากระหว่างทางเสียก่อน) บางคนรอคนรักที่กำลังพยายามสร้างเนื้อสร้างตัวเพื่ออนาคตร่วมกัน หรือบางคนรอใครสักคนตอบรับรัก
แน่นอนว่าไม่มีอะไรที่ฟังดูดีเลย ดังนั้น การรอจึงเรียกได้ว่าเป็น ของขม ที่พ่วงติดมากับความรักความสัมพันธ์ทว่าการรอไม่ใช่สิ่งแย่หรอกนะ มันแย่ก็คือช่วงที่ต้องรอ แต่เหนือกว่านั้น การรอคอยมีข้อดีอยู่มาก อาจเรียกได้ว่า ความสามารถในการอดทนรอเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่มนุษย์ควรมีเลยด้วยซ้ำ
อย่างหลักฐานหนึ่งที่ชัดเจนมากว่า การรอนั้นมีประโยชน์คือ การทดลองมาร์ชเมลโลว์ (The Marshmallow test) เมื่อกว่า 50 ปีก่อน ที่นักวิจัยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด นำเด็กมาทดลองด้วยการให้รอกินมาร์ชเมลโลว์ โดยมีกติกาว่า เด็กสามารถกินมาร์ชเมลโลว์ตรงหน้าพวกเขาได้เลยถ้าต้องการ แต่ถ้ารออีกสักสิบกว่านาทีโดยที่ยังไม่กิน เด็กจะได้มาร์ชเมลโลว์เพิ่มอีกหนึ่งชิ้น หลังจากนั้นหลายปีต่อมา นักวิจัยก็ติดตามดูเด็กๆ ที่มาทดลอง และพบว่าเด็กกลุ่มที่อดทนรอได้นั้นมีผลสอบที่ดีกว่าเด็กกลุ่มที่ไม่รอ พูดอีกอย่างคือ เด็กที่มีความสามารถในการยับยั้งชั่งใจตัวเองประสบความสำเร็จมากกว่าเด็กที่ไม่มีความยับยั้งชั่งใจ
ในทำนองเดียวกัน หากเรานำเรื่องการทดลองมาร์ชเมลโลว์มาพูดในมุมของความรักความสัมพันธ์ จะเห็นได้ว่าคนในโลกนี้มีอยู่ 2 ประเภท คือ คนที่ยอมรอ กับ คนที่ไม่ยอมรอ เช่น บางคนเลือกแต่งงานกับคนที่ในใจลึกๆ ก็รู้ว่ายังไม่ใช่คนนี้ แต่ที่แต่งเพราะไม่อยากรอแล้ว บางคนเลือกจะไม่รอคนไกล เพราะอดทนไม่ไหวที่ต้องทนเหงาคนเดียว บางคนเลือกเร่งรัดขอคำตอบจากคนที่ชอบ ทั้งๆ ที่อีกฝ่ายต้องการเวลา สุดท้ายพอผิดจังหวะ อีกฝ่ายก็ปฏิเสธ บางคนอดทนไม่ไหวที่จะรอให้แฟนสร้างเนื้อสร้างตัว เลยเลือกคนที่พร้อมกว่า ทั้งที่ใจลึกๆ รักคนเก่ามากกว่า พอยกมาเล่าแบบนี้อาจมีคนเถียงเราได้ว่า แต่บางกรณีก็ไม่ควรรอจริงๆ เช่น แฟนเป็นคนไม่เอาไหน ไม่ยอมทำมาหากิน ขืนอดทนรอคนแบบนี้ก็เหมือนเสียเวลากันไปเปล่าๆ แล้วจะเข้าใจเรื่องนี้อย่างไรดี?
งั้นต้องมาถามกันก่อนว่าการรอที่ว่านี้เป็นการรอสิ่งที่เป็นแบบ ‘NO’ (ไม่) หรือ ‘NOT YET’ (ยังไม่มาถึง) ซึ่งสองอย่างนี้แตกต่างกันมาก หากจำกันได้เรื่องการทดลองมาร์ชเมลโลว์ สิ่งที่เด็กทุกคนรู้เหมือนกันหมดคือ ถ้าพวกเขารอ พวกเขาจะได้กินมาร์ชเมลโลว์อีกชิ้นหนึ่ง ดังนั้น มาร์ชเมลโลว์ชิ้นที่สองคือสิ่งที่เป็นแบบ NOT YET ว่าเด็กจะได้กินแน่ๆ แต่แค่ต้องรอก่อน
เหมือนกันกับเรื่องความสัมพันธ์ มันเป็นวิจารณญาณของแต่ละคนที่ต้องมองให้ออกว่ามันเป็นแบบ NO หรือ NOT YET เช่น ถ้าแฟนเป็นคนขยันทำงาน แต่ตอนนี้ปัจจัยอะไรต่างๆ ยังไม่เอื้ออำนวยให้เขาประสบความสำเร็จ แต่ดูทรงแล้วคิดว่าเขาน่าจะไปได้ไกล การรอคนแบบนี้ก็เรียกว่าน่าคุ้มค่า เพราะเป็นการรอสิ่งที่เป็นแบบ NOT YET หรืออีกกรณีหนึ่ง เช่น กำลังคุยกับคนคนหนึ่งอยู่ คนคนนี้เป็นคนที่รู้สึกว่าใช่มากๆ แต่เขาขอเวลาศึกษากันนานหน่อย แบบนี้ก็ฟังดูน่ารอ เพราะถ้าวันหนึ่งได้คบกันก็จะได้คบกับคนที่ใช่
แต่สำหรับบางกรณีว่าสิ่งที่รอนั้นยากเกินกว่าจะคาดคะเนหรือพยากรณ์ เช่น รอคนที่ใช่เดินเข้ามาในชีวิต ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นจริงไหม ในกรณีแบบนี้ก็ต้องกลับไปที่จุดตั้งต้นของแต่ละคนว่า คุณมีความหวังกับเรื่องนี้มากหรือน้อยแค่ไหน? ถ้าคุณไม่มีความหวังว่าจะได้เจอคนที่ใช่ นั่นหมายความว่าคุณกำลังมองว่าคนที่ใช่เป็นแบบ NO ไม่ใช่ NOT YET แต่ในทางกลับกัน ถ้าคุณมองว่าคนที่ใช่เป็นแบบ NOT YET คุณก็จะกล้ารอ เพราะมีหวังว่าคุณจะได้เจอคนคนนั้นในที่สุด
ฉะนั้น ถ้าพูดอีกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการรออะไรก็ตาม อย่างแรกเลยคือ ต้องรู้ว่าสิ่งที่รอเป็นแบบ NO หรือ NOT YET เพราะมันจะช่วยให้คุณพิจารณาได้ว่า สมควรรอ หรือ ไม่สมควรรอ นอกจากนี้มันยังทำให้คุณมีแรงใจมากขึ้นที่จะรอ เพราะรู้ชัดว่าปลายทางจะได้อะไร แม้จะเป็นแค่ความหวังก็ตาม แต่อย่างน้อยก็รู้ว่าถ้าเกิดขึ้นจริงก็จะฟินสุดๆ
ถัดมาเรื่องสุดท้ายคือ ในการทดลองมาร์ชเมลโลว์ มีการค้นพบว่า เด็กๆ ที่อดทนรอได้นั้นไม่ได้นั่งรออยู่เฉยๆ แต่พวกเขาหาวิธีให้ตัวเองสามารถอดทนรอได้ เช่น คิดเกมขึ้นมาในหัวระหว่างนั่งรอ พูดอีกอย่างคือ พวกเขาไม่ใช่แค่รู้จักรอ แต่ยังรู้วิธีทำให้ตัวเองไม่เบื่อหรือถอดใจที่จะรอ
เช่นกันกับเรื่องความรักความสัมพันธ์ หากคุณอยากรอคอยให้ได้สำเร็จ คุณต้องรู้จักทำแบบเด็กๆ คือรู้จักที่จะหาวิธีช่วยให้ตัวเองไม่เบื่อหน่ายหรือล้มเลิกที่จะรอไปเสียก่อน เช่น วิธีหนึ่งที่ตัวเราใช้บ่อยๆ คือ เราจะย้ายความสนใจที่อะไรอย่างอื่นแทน เพื่อให้เราลืมเรื่องที่รอ เพราะไอ้ความทรมานจากการรอ ถ้าพูดกันจริงๆ มันเกิดจากการที่มัวแต่คอยว่าเมื่อไหร่มันจะมา ก็เลยเซ็ง หงุดหงิด อึดอัด ในทางกลับกัน ถ้าไม่ได้ใส่ใจกับมันมาก ใจเราก็จะไม่ทรมาน ดูง่ายๆ เวลาที่งานยุ่ง เราแทบจะลืมเรื่องที่รอไปหมดเลย เพราะใจคิดอยู่อย่างเดียวว่า ขอให้งานเสร็จและผ่านไปได้อย่างราบรื่นก่อน
ดังนั้น หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังเหนื่อยหรือท้อแท้กับการรอใครสักคน ไม่ว่าจะเป็นคนที่ยังมาไม่ถึง คนที่อยู่ไกลกัน หรือคนรักที่ยังไม่พร้อม ขอให้คุณคิดถึงความสุขที่จะตามมาในตอนท้าย หรือที่เรียกว่า Delayed Gratification ซึ่งเชื่อเถอะว่า มันหอมหวานกว่าแน่นอน เพราะสิ่งที่คุณจะได้มันคือความฝันอันสูงสุดของการมีความรักความสัมพันธ์ที่ใครๆ ก็อยากจะมี อย่างการได้ใช้ชีวิตอยู่กับใครสักคนที่ใช่ เป็นคนที่เรารักและเขาก็รักเราอย่างเต็มหัวใจ คุณอาจจะมีแฟนหรือแต่งงานช้ากว่าชาวบ้าน แต่คุณก็ไม่ได้เสียเวลาหรือเสียใจกับคนผิดคน
และนี่คือรางวัลที่คุณจะได้จากการอดทนรอ ซึ่งเอาจริงๆ พระเจ้าไม่ให้คุณเสียเวลารออะไรที่ว่างเปล่าหรอก อย่างน้อยไม่ว่าจะได้หรือไม่ได้สิ่งที่รอ แต่ที่ได้แน่ๆ คือคุณจะได้ความสามารถในการอดทนรอ ซึ่งมันคือสิ่งที่ช่วยให้ชีวิตคุณเบาและเย็นลงไปได้เยอะ คุณว่าจริงไหม?