จีบออนไลน์

Love Actually | ตกผลึกความรักยุคมิลเลนเนียล ผ่านงานวิจัยปรากฏการณ์การจีบออนไลน์

คุณเคยสังเกตหรือรู้สึกไหมว่าสื่อสังคมออนไลน์ทำให้เราหวั่นไหวเรื่องความรักมากขึ้น แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

ด้วยเทคโนโลยีสื่อสารยุคใหม่อย่างโซเชียลมีเดีย ไม่ได้ส่งผลแค่การสื่อสาร การเสพสื่อ หรือการทำธุรกิจเท่านั้น แต่เรื่องใกล้ตัวเราอย่างความรักและการจีบ ต่างก็มีความเกี่ยวข้องด้วยอย่างมีนัยสำคัญ

จึงน่าสนใจไม่น้อยว่า โซเชียลมีเดียทำให้การจีบเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร? แพลตฟอร์มออนไลน์ที่คนไว้จีบกันมีอะไรบ้าง? และใช้ยังไง? สื่อออนไลน์ช่วยให้คนจีบกันง่ายขึ้นหรือเปล่า? และที่สำคัญ มันแตกต่างกับการจีบกันในสมัยก่อนอย่างไร? ซึ่งคำตอบของคำถามต่างๆ เหล่านี้ เราจะมาอธิบายให้คุณได้เข้าใจ โดยอ้างอิงจากวิทยานิพนธ์และงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

จีบออนไลน์

Mediums in Love Process

     ผลจากการสัมภาษณ์คู่รักที่จีบกันผ่านสื่อออนไลน์ พบว่าต่างไม่เคยรู้จักกันมาก่อนหรืออยู่กันคนละวงเพื่อน คนละวงสังคมคนรู้จัก และมาเจอกันผ่านแพลตฟอร์มสาธารณะที่เปิดให้ทุกคนเข้ามาดูหรือพูดคุยกันได้ เช่น อินสตาแกรม บีทอล์ก เฟซบุ๊กแฟนเพจ ทินเดอร์

     ต่อมาเมื่อต่างคนต่างสกรีนกันเบื้องต้นแล้วว่าอีกฝ่ายมีตัวตนจริง ก็จะเกิดการย้ายมาใช้แพลตฟอร์มที่เป็นวงใน เช่น มีการแอดเฟซบุ๊ก หรือแลกไลน์ ซึ่งตรงนี้จะเหมือนกับคู่รัก ที่เดิมเป็นคนรู้จักกันมาก่อนซึ่งใช้ไลน์หรือเฟซบุ๊กปฏิสัมพันธ์กันอยู่แล้ว แต่ที่น่าสนใจคือ สุดท้ายคู่รักที่ไม่รู้จักกันมาก่อนจะย้ายมาแชตกันในไลน์หรือเฟซบุ๊ก แม้ว่าก่อนหน้านี้จะรู้จักกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์สาธารณะอื่นๆ เพราะว่าไลน์และเฟซบุ๊กเมสเซนเจอร์เป็นแชตที่ให้ความรู้สึกหรือเซนส์ของการเป็น ‘คนรู้จักกัน’ มากกว่า

     ดังนั้น พอถึงจุดที่คนทั้งสองเป็นคนรู้จักกันแล้ว ก็พร้อมจะพัฒนาความสัมพันธ์กันต่อในแพลตฟอร์มที่เป็นวงในและเป็นส่วนตัวมากขึ้น เมื่อชอบกันมากพอ คนสองคนก็จะย้ายมาใช้สื่อที่ส่วนตัวขึ้นไปอีก อย่างการคุยโทรศัพท์ การวิดีโอคอล และการนัดเจอกัน ซึ่งถือว่าส่วนตัวมาก เพราะเป็นการสื่อสารที่ต่างฝ่ายต่างเต็มใจที่จะสละเวลามาปฏิสัมพันธ์ ไม่เหมือนกับการแชตหรือกดไลก์ในเฟซบุ๊กที่จะเข้ามาดูตอนไหนก็ได้

     ถ้าให้สรุปก็คือ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียแต่ละอย่างถูกใช้ในขั้นตอนจีบที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะของตัวแพลตฟอร์มว่าเป็นแบบสาธารณะหรือแบบวงใน รวมทั้งวิธีการใช้แพลตฟอร์มนั้น เช่น ทวิตเตอร์เป็นที่ที่ทำให้คนมาเจอกัน แต่ไม่ใช่ที่ที่ใช้จีบกัน ส่วนไทม์ไลน์บนเฟซบุ๊กเป็นที่ที่ไว้ศึกษาว่าอีกฝ่ายเป็นคนแบบไหนหรือชอบอะไร ไว้ดูความเคลื่อนไหวแต่ละวันของอีกฝ่าย รวมทั้งไว้แสดงออกว่าชอบ ส่วนไลน์เป็นที่ที่ไว้คุยจีบและศึกษากันแบบสองต่อสอง

     สุดท้ายแล้วเมื่อระดับความสนิทสนมเพิ่มมากขึ้น จะเกิดการย้ายมาใช้สื่อที่ส่วนตัวมากขึ้น เช่น รู้จักจากทวิตเตอร์ แอดและติดตามดูกันในเฟซบุ๊ก คุยกันในไลน์ และออกมาเจอกัน
 
จีบออนไลน์

Social Media and Saving Face 

     เมื่อพูดถึงการจีบ ก็ต้องพูดถึงอีกเรื่องคือการอกหัก ความวิตกกังวลต่อความสัมพันธ์ ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องรักษาฟอร์มในระหว่างกระบวนการจีบ เพราะคนเราต่างกลัวหน้าแตกกันทั้งนั้น ดังนั้น ไม่ว่ายุคไหนคนส่วนใหญ่จะพยายามหาวิธีจีบอีกฝ่ายแบบที่ยังรักษาฟอร์มตัวเองได้ด้วย

     สมัยก่อนไม่ได้มีลูกเล่นมากนัก คนยุคก่อนจึงต้องใจกล้าหน้ามั่นพอสมควร หากอยากรู้จักอีกฝ่ายก็ต้องเข้าไปชวนคุย หรือเข้าไปขอเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งการเข้าหาแบบนี้ เป็นใครก็รู้ได้ทันทีว่าสนใจ แต่ในยุคโซเชียลมีเดีย ทำให้มีลูกเล่นที่มอบคุณูปการใหญ่หลวงให้หนุ่มสาว เพราะในงานวิจัย ‘The role of facebook in romantic relationship development: An exploration of Knapp’s relational stage model’ (ปี 2013) โดย Jesse Fox และคณะ พบว่า การ Add Friend ช่วยให้ฝ่ายเข้าไปจีบมีฟอร์มดีกว่าการขอเบอร์โทรศัพท์

     เนื่องจากเฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มที่มีความเป็น ‘กลาง’ คือไว้ใช้เล่นกับคนรู้จัก เพื่อนฝูง ไม่ส่วนตัวถึงขนาดเบอร์โทรศัพท์ ฉะนั้น พอส่งคำขอ Add Friend ไป จึงสามารถสร้างความคลุมเครือได้ คืออาจมองว่าสนใจก็ได้ แต่ก็ไม่ชัดขนาดที่จะฟันธงว่าชอบแน่ๆ

     ในทางกลับกัน หากฝ่ายที่ถูกขอ Add Friend สนใจอีกฝ่ายเหมือนกัน แต่ไม่อยากให้ดูชัดว่า ‘ดีใจจังเลยค่ะ ที่คุณ Add มา’ ก็สามารถลีลาเล่นตัว ทำเป็นไม่เห็น (ทั้งที่จริง ดีใจดี๊ด๊า กรี๊ดจิกหมอนไปหลายใบแล้ว) ทิ้งเวลารอสักครึ่งวันหรือรอนานเป็นวันค่อยกดรับ ก็ทำให้ดูว่าไม่มีใจหรือรู้สึกเฉยๆ ได้เหมือนกัน

     จะว่าไปแล้ว สื่อโซเชียลมีเดียทำให้เกิดปรากฏการณ์การจีบและการเล่นตัวในแบบใหม่ๆ เยอะมาก ยังไม่นับรวมเรื่องการส่งสติ๊กเกอร์ที่มีรูปหัวใจ ซึ่งถ้าอยู่ในช่วงที่ไม่แน่ใจว่าอีกฝ่ายและเราคิดตรงกันหรือเปล่า สติ๊กเกอร์ที่หัวใจสามารถทำหน้าที่บอกใบ้ว่าชอบกลายๆ ได้ แต่ก็ยังคลุมเครือพอที่จะช่วยรักษาฟอร์มได้เหมือนกัน

 

จีบออนไลน์

Speed of Thought

     ยุคนี้เป็นยุคของการจีบกันผ่านแชต ซึ่งธรรมชาติของการคุยผ่านแชตจะแตกต่างจากการคุยกันแบบตัวต่อตัวหรือคุยโทรศัพท์ ตรงที่จะพิมพ์เมื่อไหร่ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องว่างพร้อมกันถึงจะคุยกันได้ พูดอีกอย่างคือ ไม่ใช่สื่อที่ต้องการความเดี๋ยวนั้น เช่น ถึงจะนั่งประชุมแต่ก็สามารถส่งข้อความหวานๆ ไปให้สาวได้ เมื่อไม่มีเงื่อนไขของเวลา จึงทำให้คนสองคนรู้จักกันมากขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว

     แตกต่างจากยุคก่อน ที่กว่าคนจะชอบกันได้ ต้องส่งจดหมายไปหลายฉบับ ต้องนับวันคอยว่าเมื่อไหร่อีกฝ่ายจะส่งจดหมายตอบกลับมา หรือถ้ายุคโทรศัพท์จีบกัน ก็ต้องรอจนค่ำๆ ถึงได้ยกหูหากัน แถมค่าโทรศัพท์ก็แพง คุยนานไม่ได้ ขณะที่ยุคนี้พิมพ์ๆ ไปก็รู้จักกันแล้ว แถมค่าอินเทอร์เน็ตยังเป็นแบบเหมา หรือใช้ไว-ไฟได้ ตัดข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่ายออกไปได้อีก นอกจากนี้ ลูกเล่นต่างๆ เช่น ส่งลิงก์ ส่งรูป ก็ช่วยสร้างบทสนทนาที่ทำให้รู้จักตัวตนอีกฝ่ายได้เร็วขึ้น

 

จีบออนไลน์

To Read, or Not To Read

     ใครคิดว่าการจีบกันบนออนไลน์ มีเรื่องดีไปหมด จริงๆ มันก็มีเรื่องปวดกบาลใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น อาการมโนไปเอง หรือปัญหานอยด์รับประทาน เมื่อส่งไลน์ไปแต่อีกฝ่ายอ่านช้า หรือไม่ยอมอ่าน

     เนื่องจากการจีบผ่านสื่อออนไลน์โดยมากจะเป็นแบบไม่เห็นหน้ากัน ถ้าแชตจีบกันก็เน้นไปที่ตัวหนังสือ (Text) ซึ่งเป็นสื่อที่ไม่รุ่มรวย (Lack of Media Richness) คือไม่มีน้ำเสียง ไม่มีท่าทางหรืออากัปกิริยาอะไรให้เห็นหรือได้ยิน ข้อดีคือช่วยให้คนที่พูดไม่เก่งแต่พิมพ์เก่ง สามารถจีบคนที่ชอบได้ง่ายขึ้น แต่ข้อเสียคือ ทำให้เราไม่รู้แน่ชัดว่า สิ่งที่อีกฝ่ายคิดคืออย่างไรกันแน่ ต่างจากการคุยแบบตัวต่อตัวที่สามารถดูสีหน้าดูอาการ ฟังน้ำเสียงได้โดยตรง อีกอย่าง การพิมพ์เปิดโอกาสให้ปรับแต่งข้อความให้ดูดีก่อนส่งได้ เลยทำให้เกิดความเข้าใจผิด ไม่มั่นใจ หรือการมโนได้ง่ายกว่า

     นอกจากนี้ เมื่อแชตเป็นสื่อที่ไม่ต้องการความเดี๋ยวนั้น กล่าวคือ จะพิมพ์จะอ่านเมื่อไหร่ก็ได้ ทำให้การสื่อสารสามารถทิ้งเวลาได้ ถ้าเป็นคู่ที่ต่างฝ่ายต่างตอบแชตกันเร็วก็ถือว่าดีไป แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ฝ่ายหนึ่งตอบช้า หรือทิ้งเวลานานกว่าจะมาตอบ อาจจะส่งผลให้ฝ่ายที่รอเกิดอาการประสาทกินได้ ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่โลกออนไลน์ทำให้คนทะเลาะหรือน้อยใจกัน

     ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเรื่องปวดหัวที่ทำให้คนที่เริ่มคบกันใหม่ๆ ทะเลาะกันได้ คือ ฝ่ายหนึ่งน้อยใจที่อีกฝ่ายไม่ยอมลงรูปคู่ หรือเปิดเผยในเฟซบุ๊ก ในงานวิจัย ‘Reading romance: the impact Facebook rituals can have on a romantic relationship’ (ปี 2010) โดย Greg Bowe B.A. Mod พบว่า คู่รัก โดยเฉพาะผู้หญิง มีความคาดหวังว่าคนรักควรแสดงความรัก ความรู้สึกออกมาทางโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก เพราะมองว่าเป็นการแสดงความจริงใจที่จะยอมรับว่าคบหากัน อารมณ์ประมาณว่าไม่ได้คบกันแบบหลบๆ ซ่อนๆ ดังนั้น แม้ว่าสื่อโซเชียลมีเดียจะทำให้คนชอบกันเร็ว แต่ก็ทำให้คนปวดหัวและทะเลาะกันง่ายเหมือนกัน
 

จีบออนไลน์

Love me Tinder

     มาถึงประเด็นสุดท้ายที่เราว่าหลายคนน่าจะสนใจคือ ทินเดอร์ จริงๆ ต้องบอกตามตรงว่าทินเดอร์มาฮิตหลังจากที่เราทำวิจัยเสร็จไปแล้ว ดังนั้น สิ่งที่จะวิเคราะห์ต่อไปนี้ คือการที่เราเอากรอบที่ใช้วิเคราะห์เกี่ยวกับประเด็นการลดความแน่ใจ (Uncertainty) ในตัวอีกฝ่าย ซึ่งเกิดในสเต็ปการจีบมาใช้วิเคราะห์ทินเดอร์

     จากเรื่องสเต็ปการจีบ (โมเดลของ Knapp) จะมีอยู่ 2 ขั้นตอน ที่คนจะมีความไม่แน่ใจในตัวอีกฝ่ายเกิดขึ้น คือ ขั้นทำความรู้จัก โดยคนจะกังวลว่าอีกฝ่ายไว้ใจได้ไหม นี่คือตัวตนจริงหรือปลอม และขั้นกระชับความสัมพันธ์ สิ่งที่คนกังวลคือไม่แน่ใจว่าอีกฝ่ายชอบตัวเองไหม

     สำหรับขั้นทำความรู้จักที่คนกังวลว่าอีกฝ่ายเป็นตัวตนจริงหรือปลอม ตัวแอพฯ ทินเดอร์ได้แก้ปัญหาความกังวลนี้ด้วยการเชื่อมโยงกับโปรไฟล์ในเฟซบุ๊ก หมายถึงบัญชีชื่อของเราในทินเดอร์จะเชื่อมโยงกับเฟซบุ๊ก ถามว่าดีอย่างไร? ดีตรงที่ว่าช่วยให้ผู้ใช้ทินเดอร์สามารถเข้าไปส่องเฟซบุ๊กก่อนได้ ก็สบายใจไปเปลาะหนึ่งว่าคนที่ตัวเองกำลังเลือกปัดทิ้งหรือปัดเลือก (Swipe) เป็นคนที่มีตัวตนจริงๆ

     ถัดมาคือขั้นกระชับความสัมพันธ์หรือใกล้จะเป็นแฟน ปกติถ้าจีบแบบไม่ได้ใช้แอพฯ หาคู่ ก็จะเกิดภาวะที่ไม่แน่ใจว่าอีกฝ่ายชอบหรือสนใจตัวเราหรือเปล่า ต้องคอยดูกันไปเรื่อยๆ ว่าจะมีหลุดหวานหรือหยอดเราบ้างหรือไม่ ซึ่งเอาเข้าจริง ถ้าไม่ชัดขนาดสารภาพว่าชอบ ก็ถือว่าฟันธงยากอยู่ดี แต่สำหรับทินเดอร์ ตัดปัญหากังวลใจนี้ไปเลย เพราะจะคุยกันได้ก็ต่อเมื่อปัดเลือกกันและกันทั้งคู่ ดังนั้น สองฝ่ายจึงรู้แก่ใจอยู่แล้วว่าอีกฝ่ายสนใจ สามารถที่จะสานต่อหรือพัฒนาความสัมพันธ์เพื่อคบหากันได้เลย

     ดังนั้น ทินเดอร์ช่วยลดทอนปัญหาความไม่แน่ใจ (Uncertainty) ตามโมเดลสเต็ปการจีบด้วยการเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กที่สามารถอ้างอิงเรื่องความน่าไว้วางใจของตัวตนออนไลน์ได้ และเรื่องการต้องมาลุ้นว่าฝ่ายหนึ่งชอบหรือไม่ชอบ ก็ตัดทอนด้วยการบังคับไปเลยว่าต้องเลือกกันและกันทั้งคู่ ช่วยลดระยะเวลาที่ต้องมาลุ้นว่าอีกฝ่ายชอบเราไหมไปได้เยอะกว่าการจีบแบบแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น เพราะแอพฯ ถูกออกแบบมาเพื่อใช้หาคู่ด้วยอยู่แล้ว
 

จีบออนไลน์

What I’ve Learned

     ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวเกี่ยวกับการจีบกันบนสื่อออนไลน์ และประเด็นสำคัญแบบคร่าวๆ ที่เรานำมาแบ่งปันให้ทราบ สุดท้าย ในฐานะคนเขียนบทความ จึงอยากทิ้งท้ายไว้ว่า

     เราเองไม่ใช่แค่คนวิจัยเรื่องความรัก แต่เรายังเป็น ‘คนรัก’ ไม่ต่างจากคุณผู้อ่าน เราพบรักจากสื่อออนไลน์เหมือนกัน เราดีใจและขอบคุณสื่อออนไลน์มากๆ เพราะถ้าไม่มีมัน เราก็คงไม่มีรักครั้งนี้แน่ๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การจีบกันบนสื่อออนไลน์ทำให้การจีบหรือการตกหลุมรักกันเกิดขึ้นเร็วมากกว่าแต่ก่อน ฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่เราพยายามบอกตัวเองเสมอคือ ต้องหัดลดสปีดลงบ้าง เพราะอะไรที่เร่งมากก็ทำให้พลาดและประมาทได้ อย่างคนรักเรา ถึงแม้จะรู้จักและเห็นกันหมดในออนไลน์ แต่ก็ยังต้องใช้เวลาดูกันไปเรื่อยๆ เพื่อให้เราและเขาได้แน่ใจและตกผลึกความรักผ่านวันเวลา

     อีกเรื่องคือการตกหลุมรักกันในสื่อออนไลน์มันเกิดได้ง่ายและสะดวก คนรักง่าย หน่ายเร็ว ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายสำหรับคนยุคนี้เช่นกันที่จะประคองความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจากเทคโนโลยี

     และสุดท้าย สิ่งสำคัญที่เราคอยบอกตัวเองเสมอคือ ทั้งในตอนนี้หรือในอนาคต จะมีเทคโนโลยีหรือสื่ออะไรก็ตาม ตราบใดที่มันเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ ก็อย่าลืมใส่ ‘ความรัก’ เข้าไปทุกครั้ง เพราะมันคือสิ่งที่เบสิกที่สุดทุกยุคทุกสมัย

 


อ้างอิง: วิทยานิพนธ์ปริญญาโท สีตลา ชาญวิเศษ. (2557). บทบาทเครือข่ายสังคมออนไลน์ในการพัฒนาความสัมพันธ์แบบโรแมนติก. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.