เพิกเฉย

Love Actually | ‘การเพิกเฉย’ สิ่งเดียวที่ทำลายหัวใจได้มากกว่าการไม่ได้รับความรัก

ถ้าผมถามคุณว่า ‘อะไรคือความรู้สึกตรงข้ามของความรัก’ หลายคนน่าจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ความรู้สึกไม่รัก’ หรือไม่ก็ ‘ความรู้สึกเกลียด’ เพราะเมื่อเรามีใจมอบความรักให้ใครสักคนแล้ว ขั้วตรงข้ามของความรู้สึกที่ว่าจึงน่าจะเป็นคำตอบสุดท้ายของคำถามนี้… ซึ่งจริงๆ แล้วมันอาจจะมีอะไรมากกว่านั้นก็ได้

     เหตุที่ผมบอกเช่นนี้ ก็เพราะอยากให้ลองย้อนกลับไปมองที่จุดเริ่มต้นของความรัก เราจะพบว่า ทุกครั้งที่มีความรัก ช่วงเวลาที่เรารวบรวมความกล้าทั้งหมดที่มีเพื่อสารภาพรักใครสักคน นั่นเป็นวินาทีที่บีบคั้นหัวใจที่สุดก็ว่าได้ เขาชอบเราเหมือนกันไหม? เขาจะรับรักเราไหม? เขาจะยอมคบเราหรือเปล่า? คำถามเหล่านี้พลันเกิดขึ้นพร้อมๆ กันในความคิดอย่างควบคุมไม่ได้

     และแน่นอนว่าตัวเราเองย่อมคาดหวังผลลัพธ์ที่ปรารถนามากที่สุด นั่นคือการได้รับสัญญาณตอบรับบางอย่างจากคนที่เราสนใจ โดยเปิดโอกาสให้เราได้ทำความรู้จัก พร้อมสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น แม้ว่าในท้ายที่สุดแล้วปลายทางของความรักครั้งนี้อาจจะต้องยุติลงไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น บางคู่จบลงด้วยความเข้าใจและยังคงเป็นเพื่อนกันที่ดีต่อได้ บางคู่เลือกที่จะจบลงด้วยการเลิกแล้วต่อกันและกลายเป็นคนแปลกหน้าของกันและกัน หรือบางคู่กลับจบลงด้วยความรู้สึกเกลียดในระดับที่หน้ายังไม่อยากมอง

     ผมมองว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ คือความน่าจะเป็นของความรัก ทุกคนที่มีความรักล้วนมีโอกาสประสบได้เหมือนกันหมด

 

     สำหรับกรณีที่เลวร้ายที่สุด อย่างความรู้สึกเกลียดที่แปรเปลี่ยนมาจากความรัก แม้ว่าจะสร้างความเจ็บปวดให้เรามากขนาดไหน แต่สุดท้ายมันคือรสชาติของชีวิต เป็นประสบการณ์ เป็นการเรียนรู้ เป็นบทเรียนของคนคนหนึ่งก็เท่านั้น คล้ายกับการแข่งขันกีฬา เรามีโอกาสทั้งแพ้หรือชนะอย่างละเท่าๆ กัน ผลลัพธ์ของการแข่งขันจะเป็นข้อสรุปที่สะท้อนจากการกระทำของเราเอง ถ้าแพ้เราย่อมต้องทบทวน ปรับปรุง และพัฒนาตัวเองเพื่อเตรียมตัวสำหรับการแข่งขันครั้งต่อไป ความรักก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราพยายามอย่างเต็มที่ เต็มความสามารถแล้วแพ้ เราจะไม่เสียใจเลยสักนิด

     ถึงตรงนี้ดูเหมือนว่าแท้จริงแล้ว ‘ความรู้สึกไม่รัก’ และ ‘ความรู้สึกเกลียด’ ไม่ใช่ความโหดร้ายที่คอยสร้างความเจ็บปวดให้กับการมีความรักใดๆ

     เมื่อเป็นเช่นนี้ ลองคิดต่อไปอีกว่าในยุคสมัยที่ทุกอย่างรวดเร็วไปหมด ทั้งเทคโนโลยี สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่เกิดขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก แต่ในขณะเดียวกันเราก็ถูกสิ่งต่างๆ เหล่านี้เข้าแทรกแซงและแทรกซึมจนสามารถเปลี่ยนแปลงเราได้อย่างแนบเนียนให้เป็นอีกคนอย่างที่เราเองก็ไม่ทันได้สังเกตหรือตระหนักถึงด้วยซ้ำ

 

     จะมีอะไรที่สร้างความเจ็บปวดอย่างโหดร้ายให้กับคนที่มีความรักในปัจจุบันได้มากกว่าความรู้สึกไม่รักและความรู้สึกเกลียดอีกไหม? 

     ผมถามคำถามเดียวกันนี้ในกลุ่มเพื่อนขณะที่พวกเราพูดคุยกันถึงมุมมองความรักและความสัมพันธ์ เพื่อนทุกคนต่างคนต่างใช้ความคิดค้นหาคำตอบอย่างจริงจัง จากนั้นเราต่างแสดงความคิดเห็นอย่างเอาเป็นเอาตายบนพื้นฐานความรู้ทางจิตวิทยาและประสบการณ์ความรักของแต่ละคน จนได้ข้อสรุปของคำตอบที่น่าสนใจทีเดียว

 

     ทุกวันนี้ ชีวิตดิจิตอลของเราส่วนหนึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีผ่านสังคมออนไลน์ เราเลือกใช้เป็นเครื่องมือหนึ่ง เพื่อหวังให้ช่วยสร้างและพัฒนาความรักและความสัมพันธ์หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ คือ เราจีบกันบนสังคมออนไลน์ (นี่ยังไม่นับแอพพลิเคชันหาคู่โดยตรงนะ) แอดเฟรนด์ กดฟอลโลว์ กดไลก์ ส่งสติกเกอร์ และแชต

     ทุกกระบวนการเกิดขึ้นเพียงปลายนิ้วสัมผัส เราเริ่มต้นทุกขั้นตอนได้อย่างทันใจตามที่เราต้องการ ความรวดเร็วของโลกดิจิตอลทำให้เราปล่อยส่วนหนึ่งของชีวิตไหลไปกับกระแสอันเชี่ยวกรากนี้ จนเกิดเป็นการรับรู้ว่าเวลาในชีวิตของเรามีไม่มาก แสนจะสั้นด้วยซ้ำ นั่นยิ่งทำให้เรารู้สึกถึงคุณค่าของสิ่งที่มีอย่างจำกัด

     ทันทีที่เราแอดเฟรนด์ ส่งสติกเกอร์ หรือแชตไปหา ก็เหมือนกับการที่เราเริ่มส่งสัญญาณให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าผมสนใจคุณนะ แล้วคุณสนใจผมไหม?

     ในโลกออนไลน์ เราหวังท่าทีตอบกลับบางอย่างที่รวดเร็วทันใจ มากที่สุดคือตอบรับ น้อยที่สุดคือการปฏิเสธ แต่สิ่งที่สร้างความเจ็บปวดและเป็นถือเป็นวิธีการที่เลือดเย็นที่สุดคือ ‘การอ่านแล้วไม่ตอบ’

 

     ตัวตนของเราสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยการรับรู้ถึงการมีอยู่ผ่านตัวเราเองและสายตาผู้อื่น การที่ข้อความของเราไม่ได้รับความสนใจใดๆ (ไม่ใช่เพียงแค่ในเรื่องความรัก แต่หมายรวมถึงในทุกๆ เรื่องของชีวิต) เท่ากับเรา ‘ถูกเพิกเฉย’ (หรือถ้าในระดับที่รุนแรงที่สุดคือไม่ถูกอ่านด้วยซ้ำ ซึ่งอาจหมายถึงการถูกบล็อก)

     การถูกเพิกเฉย (Ignoring) เช่นนี้ สะท้อนว่าในสายตาของเขาเราเป็นอากาศธาตุ ไร้ซึ่งตัวตนและความสำคัญใดๆ ในชีวิตของเขา เรารู้ว่าเวลานั้นมีไม่มาก แต่การทุ่มเทเวลาให้ใครสักคนที่ไม่ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของเรา นับเป็นการกระทำที่โหดร้ายในขณะเดียวกันก็สร้างความเจ็บปวดด้วย เพราะสำหรับความรัก การตอบรับแม้เพียงน้อยนิดสามารถระบุความชัดเจนและทิศทางของสถานะความสัมพันธ์ได้ ทำให้เรารู้ตัวว่าควรทำอย่างไรต่อไป ขณะที่การเพิกเฉยกลับสร้างความคลุมเครือให้กับความรักมากยิ่งขึ้น (แม้ว่าในบางกรณีอาจถือเป็นความชัดเจนเท่ากับคำว่าไม่สนใจก็ตาม)

 

     ทำไมการถูกเพิกเฉยถึงเป็นสิ่งที่โหดร้าย?

     เพราะการถูกกระทำนี้สามารถสร้างบาดแผลในใจได้อย่างเจ็บปวดแสนสาหัสและสร้างความน่ากลัวบางอย่างในจิตใจได้ กรณีศึกษาที่น่าสนใจอย่างมาก คือการสังหารหมู่ในโรงเรียน นักเรียนที่ถูกรังแก (bullying) มีสถานะเป็นเป้านิ่งของหัวโจกหรืออันธพาล (bully) ทางเลือกหนึ่งที่เหยื่อหวังเป็นหนทางยุติความอยุติธรรมนี้คือ การที่มีผู้เห็นเหตุการณ์รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ หรือแสดงท่าทีเห็นใจ แต่ผิดถนัด สภาวะคุกคามชีวิตนี้กลายเป็นความปกติในสายตาของผู้อื่น ความเพิกเฉยที่เขาได้รับสร้างความเจ็บปวดทั้งความรู้สึก ความคิด หยั่งรากอันแหลมคมทิ่มลึกไปถึงตัวตน จนตัดสินใจสังหารหมู่ในที่สุด

 

     ความรักก็เช่นเดียวกัน การเพิกเฉยคือการปฏิบัติที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ได้อย่างเลือดเย็น ที่อาจสร้างผลลัพธ์ที่น่ากลัวเกินกว่าเราจะจินตนาการได้ ไม่ว่าจะมีความรู้สึกอย่างไร รัก ไม่รัก สนใจ ไม่สนใจ ขอเพียงให้บอกออกไป อย่างน้อยที่สุดเราก็ช่วยทำให้ทุกอย่างชัดเจนมากขึ้น และถ้ามันจะสร้างความเจ็บปวด ก็ไม่ถือว่าโหดร้ายเกินรับได้

 

     แล้วคำตอบของคุณล่ะ เหมือนกับผมหรือเปล่า?