รสชาติความรัก

Love Actually | หวานฉ่ำ หรือขมฝาด รสชาติความรักเป็นแบบไหนกันแน่

เคยสังเกตกันไหมครับว่า เมื่อตัวเราหรือใครก็ตามกำลังมีความรัก คำคุ้นหูที่มักจะได้ยินบ่อยที่สุดจากการถูกเพื่อนและคนรอบข้างแซว (รวมทั้งตัวเราเองยังใช้แซวคนอื่นด้วย) ก็คือ ‘หวาน’ หรือ ‘sweet’ น่าแปลก ทั้งๆ ที่ความรักไม่ใช่อาหารที่ทำให้ท้องอิ่ม แต่ทำไมจึงถูกยกขึ้นเปรียบเทียบกับรสหวานอยู่เสมอ หรือว่าความรักและความหวานจะไม่ใช่เพียงคำเปรียบเปรยเท่านั้น

     ในวรรณคดีเรื่อง ‘พระอภัยมณี’ ของสุนทรภู่ และบทประพันธ์เรื่อง ‘นิราศทวาราวดี’ ของหลวงจักรปาณี (มหาฤกษ์) ต่างก็ปรากฏวรรคทองที่กล่าวถึงมุมมองต่อความรักในประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ คือ

 

“เขาย่อมเปรียบเทียบความว่ายามรัก

แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน

ครั้นจืดจางห่างเหินไปเนิ่นนาน

แต่น้ำตาลก็ว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล”

(พระอภัยมณี, สุนทรภู่)

 

“เมื่อยามรักน้ำผักก็ว่าหวาน

ครั้นเนิ่นนานน้ำอ้อนก็กร่อยขม

เหมือนคำพาลหวานนักมักเป็นลม

แต่เขาชมกันว่าดีนี่กระไร”

(นิราศทวาราวดี, หลวงจักรปาณี (มหาฤกษ์))

 

     การพยายามหาคำตอบจากคำถามที่ว่า ‘อะไรทำให้กวีทั้งสองคิดเปรียบความรักเป็นความหวาน’ ดูเหมือนจะไร้ผล เพราะไม่มีหลักฐานใดสามารถพิสูจน์ความจริงเรื่องนี้ได้ชัดเจน บางทีอาจเป็นเพียงจินตนาการของกวีเท่านั้น แต่อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เรารู้ว่า สำหรับมนุษย์ ‘ความรักมีรส’ และมีมานานแล้วด้วย

     แม้ว่าเวลาจะผันผ่านและล่วงเลย แต่รสของความรักไม่เคยจืดจางหรือเปลี่ยนแปลงจวบจนปัจจุบัน (และจะเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต) ความหวานยังคงเป็นตัวแทนของความรักทั้งในวัฒนธรรมฝั่งประเทศตะวันออกและตะวันตก โดยแสดงออกผ่านการใช้ภาษาเป็นหลัก ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ คือคำว่า sweetheart และ honey ซึ่งเป็นคำเรียกคนรักในภาษาอังกฤษ

 

     กลับมาสู่คำถามสำคัญที่ว่า ‘รสชาติของความรักนั้นหวานฉ่ำจริงหรือไม่?’

      ในปี 2013 มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) ได้ออกแบบการทดลองเกี่ยวกับอารมณ์ ความรู้สึก และการรับรสชาติของมนุษย์ เพื่อหาคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่า ตกลงแล้วความรักมีผลต่อการรับรู้รสชาติได้จริงหรือไม่จริงกันแน่

     ในขั้นแรกนักวิจัยเริ่มต้นด้วยการสำรวจความคิดเห็นทั่วไปกับนักศึกษาที่เข้าร่วมการทดลอง โดยให้จับคู่อารมณ์ ได้แก่ ความรัก (love), ความริษยา (jealousy), ความลุ่มหลง (passion), ความเศร้า (sadness) และการทรยศ (betrayal) กับรสชาติ ได้แก่ หวาน (sweet), เปรี้ยว (sour), ขม (bitter), เค็ม (salty) และเผ็ด (spicy) จากนั้นนักวิจัยจึงเริ่มถามคำถามว่า แต่ละอารมณ์มีรสชาติแบบไหน? ผลการทดสอบที่ได้คือ นักศึกษาเกือบทั้งหมดเปรียบความรักเป็นรสหวาน และเปรียบความริษยาเป็นรสเปรี้ยวและขม

     ขั้นตอนต่อมานักวิจัยเริ่มการทดลองใหม่ โดยแบ่งนักศึกษาทั้งหมดออกเป็น 3 กลุ่ม และให้แต่และกลุ่มเขียนความเรียงในหัวข้อที่กำหนดไว้ กลุ่มแรกให้เขียนถึงความรู้สึกและประสบการณ์ความรักโรแมนติก กลุ่มที่สองให้เขียนถึงความรู้สึกและประสบการณ์ความรักริษยาหรือหึงหวง ส่วนกลุ่มที่สามซึ่งเป็นกลุ่มสุดท้ายให้เขียนถึงสถานที่สำคัญของประเทศสิงคโปร์ เมื่อทุกคนเขียนความเรียงเสร็จจะได้รับลูกอม ซึ่งมี 2 แบบ คือ หวานเปรี้ยว กับ หวานขม จากนั้นให้ประเมินรสชาติของลูกอม ผลการทดสอบที่ได้ สร้างความประหลาดใจกับนักวิจัย เพราะนักศึกษากลุ่มที่ได้หัวข้อความรักโรแมนติกให้คะแนนรสหวานมากกว่ากลุ่มอื่นตามที่คาดไว้ แต่นักศึกษากลุ่มที่ได้หัวข้อความรักริษยาหรือหึงหวงกลับไม่ได้ให้คะแนนรสเปรี้ยวและขมมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ซึ่งให้ผลลัพธ์ไม่ตรงกับการทดลองครั้งแรก

     ขั้นตอนสุดท้าย นักศึกษาทุกคนถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มเพื่อเขียนความเรียงเหมือนเดิม โดยมีหัวข้อใหม่ที่นักวิจัยกำหนดให้คือ กลุ่มแรกเขียนเรื่องที่ทำให้มีความสุข กลุ่มที่สองเขียนเรื่องความริษยาหรือหึงหวง และกลุ่มที่สามเขียนเรื่องความรัก เมื่อเขียนเสร็จ นักศึกษาทุกคนจะได้รับเครื่องดื่มชนิดใหม่ เพื่อลองดื่มและประเมินรสชาติ ผลปรากฏว่า นักศึกษากลุ่มที่เขียนเรื่องความรักให้คะแนนเครื่องดื่มนี้ว่ามีรสหวานมากกว่าอีกสองกลุ่มที่เหลือ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเครื่องดื่มชนิดใหม่นี้เป็นเพียงน้ำกลั่นบริสุทธิ์เท่านั้น ซึ่งไร้รสชาติใดๆ

     จากผลการทดลองทั้งหมด ทำให้นักวิจัยสามารถสรุปได้ว่า ‘ความรักมีผลต่อการรับรู้รสชาติของเราจริง’ โดยเฉพาะรสหวาน ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองโดยตรง แม้ว่าน้ำกลั่นจะไม่มีรสชาติ แต่ความรู้สึกหวานที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการแปลผลรสชาติของสมอง โดยอ้างอิงกับอารมณ์ที่ถูกกระตุ้นให้เกิดขึ้นจากสิ่งรอบตัวที่เรารับรู้ ซึ่งในที่นี้ก็คือ ‘ความรัก’ นั่นเอง ไม่ได้เกิดจากการตอบสนองของต่อมรับรสบนลิ้นเหมือนตอนที่เรากินอาหารแต่อย่างใด

     หมายความว่าเมื่อใดก็ตามที่เรามีความรัก รู้สึก หรือนึกถึงความรักที่ดี (แบบที่ไม่ได้เสแสร้งแกล้งทำ) สมองส่วน Anterior Cingulate Cortex (ACC) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์และความรู้สึกจะทำงานทันที และเชื่อมต่อการแปลผลกับความรู้สึกถึงรสหวาน เพราะรสหวานคือรสที่ลิ้นรับสัมผัสได้ไวที่สุด รวมถึงเป็นรสแรกที่มนุษย์ได้รับผ่านน้ำนมของแม่จนเกิดเป็นการเรียนรู้ถึงความรักครั้งแรกอีกด้วย ความรักจึงเกี่ยวข้องกับรสหวานมาตั้งแต่แรกเริ่มที่เราเกิด

 

     นอกจากนี้ในปี 2015 ยังมีอีกหนึ่งการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) ที่สนับสนุนประเด็นนี้เช่นเดียวกัน โดยค้นพบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับฝ่ายที่แพ้ ผู้ชายที่มีความสุขเนื่องจากทีมฮอกกี้ที่เขาเชียร์ได้รับชัยชนะจะให้คะแนนรสชาติซอร์เบต์มะนาว ว่ามีรสหวานมากกว่า

     สรุปได้ว่าความสุขและรสหวานมีสัมพันธ์กันจริง ซึ่งความรักก็คือความสุขรูปแบบหนึ่ง ความรักสร้างความสุข และความสุขก็ทำให้ชีวิตเราหวานสดชื่น

     ถึงตรงนี้ เราน่าจะได้คำตอบกันแล้วนะครับว่า ‘รสชาติของความรักคือรสหวาน’ เป็นความสัมพันธ์ลับๆ ระหว่างความรักและรสหวานอย่างที่ใครหลายๆ คนว่าไว้ และถึงแม้ว่าความรักจะไม่ใช่อาหารที่ทำให้ท้องอิ่ม แต่ความรักก็เหมือนกับสารอาหารสำคัญที่คอยเติมเต็มชีวิตของทุกคนให้สมบูรณ์ เป็นความรู้สึกที่ทำให้ชีวิตมีเป้าหมายและคุณค่าทั้งต่อตัวเองและคนที่เรารัก

     ความรักถึงเป็นหนึ่งในเหตุผลทรงพลังที่ทำให้เราเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างให้เพื่อใครสักคน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้อาจจะไม่เคยทำเลยด้วยซ้ำ

     ความรักเปลี่ยนตัวเรา และตัวเราเองก็เปลี่ยนแปลงเพราะความรักเช่นกัน รสหวานจึงเป็นของขวัญจากร่างกายสุดพิเศษเพียงสิ่งเดียวที่เราจะได้รับก็ต่อเมื่อมีความรักที่มาจากหัวใจของตัวเอง