รักๆ เลิกๆ ควรกลับไปคืนดีกับคนรักเก่าดีไหม?

คงไม่มีอะไรจะคาราคาซังและสับสนได้เท่ากับช่วงที่แฟนเก่ามาขอคืนดีหลังจากเลิกกันไปได้สักพัก เหตุผลที่มันยุ่งเหยิงไปหมดก็เพราะความคุ้นชินที่มีร่วมกันมายังไม่ทันจางหายดี พออีกฝ่ายมาง้อเลยทำให้หลายคนลังเลใจว่าจะเอาไงดี?

     สถานการณ์นี้จะมีคนอยู่ 2 แบบ แบบแรกคือ เดินหน้า ฉันไม่เอาแกแล้ว กับแบบที่สองคือ ก็ได้ ลองกลับไปคุยดู สำหรับกลุ่มแรกไม่ใช่ปัญหา เพราะใจแข็งพอที่จะไม่กลับไป แต่กลุ่มที่น่าห่วงคือกลุ่มที่สอง ซึ่งกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะมีความสัมพันธ์แบบ “รักๆ เลิกๆ” (On and Off)

     อย่างผลงานศึกษาวิจัยในปี 2013 โดย Sarah Halpern Meekin พบว่า หนุ่มสาวกว่า 57% ยังคงไปๆ มาๆ และมีเพศสัมพันธ์กับแฟนเก่าอยู่ ซึ่งความสัมพันธ์แบบนี้ทำให้ ‘คู่ (ไม่ได้) รัก’ ตกอยู่ในภาวะสับสนและไม่มั่นคง กล่าวคือ ในทางเทคนิคแล้วพวกเขาเลิกกัน แต่พวกเขายังมีความผูกพันทางอารมณ์ ซึ่งจะยิ่งต่อความรู้เจ็บปวดให้หนักเข้าไปอีก และทำให้ถอนตัวได้ยากกว่าเดิม

     ยกตัวอย่างเพื่อนเราคนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์แบบรักๆ เลิกๆ มาเกือบ 6 ปี ตลอดระยะเวลาที่เพื่อนเราคบกับแฟนจะมีปัญหาหนักใจกันทีละเป็นเดือนๆ ตกปีละ 2-3 ครั้ง เรียกว่าปีๆ หนึ่งมีช่วงสงบสุขอยู่ไม่กี่เดือน นอกนั้นมีแต่เรื่องกลุ้มใจ ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากแฟนของเพื่อนเราคนนี้ชอบแอบไปคบซ้อน พอจับได้ที ก็จะมาขอโทษและง้อขอคืนดีที ด้านเพื่อนเราก็ใจอ่อนยอมกลับไปทุกครั้ง พักหลังหนักหน่อยคือ นอกจากจะไม่ปิดบังเรื่องกิ๊กแล้ว ยังบอกเพื่อนเราตรงๆ ว่าคุยกับอีกคนอยู่ ซึ่งเพื่อนเราก็ยอมด้วยนะ!

     ตัวเราในฐานะที่เป็นเพื่อน บอกตามตรงว่าเคยกลุ้มใจแทนมากๆ แต่ตอนนี้เลิกกลุ้มใจไปแล้ว เพราะสุดท้ายทำอะไรไม่ได้ ยังไงเพื่อนก็กลับไปคืนดีกับแฟนเหมือนเดิม ไม่ว่าปัญหาจะหนักหนาแค่ไหนก็ยังทำเหมือนเดิม และดูไม่มีอะไรจะหยุดเพื่อนเราได้เลย

     แต่สิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้จากเรื่องของเพื่อนคนนี้คือ นับจากที่กลับไปคืนดีครั้งที่สอง จากนั้นครั้งที่สาม ครั้งที่สี่ และครั้งถัดๆ ไป ก็หมดความหมายไปเลย เพราะการเลิกกันไม่ใช่เรื่องศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไปแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ เมื่อพลังคำพูดว่า ‘เลิกกัน’ อ่อนความศักดิ์สิทธิ์ลง ก็ยิ่งทำให้อีกฝ่ายนอกจากจะไม่ปรับปรุงตัวแล้ว ซ้ำยังทำให้ได้ใจเหิมเกริมสร้างปัญหาหนักยิ่งกว่าเก่า ผลคือเพื่อนเราก็เจ็บหนักมากขึ้นเรื่อยๆ จนด้านชา ชีวิตไม่พบความสงบสุข เพราะไม่มีทางรู้เลยว่าวันดีคืนดี แฟนจะสร้างเรื่องอะไรอีก และรอบหน้าจะหนักกว่าเดิมไหม

     เชื่อว่าคงมีหลายคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์เหมือนเพื่อนเราคนนี้ คือมีความสัมพันธ์แบบรักๆ เลิกๆ โดยเห็นว่า นับวันความสัมพันธ์ช่างห่างไกลจากคำว่า ‘ความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ’ (Healthy Relationship) เหมือนกับอยู่กันไปอย่างนั้น แต่อีกด้านหนึ่ง แม้จะไม่พอใจกับความสัมพันธ์ตัวเอง แต่ก็ไม่มีความกล้าหาญเพียงพอที่จะหยุดและก้าวเดินออกมา

 

คำถามคือ อะไรคือสิ่งที่ทำให้หลายคนตกอยู่ในภาวะนี้? จริงๆ มีอยู่ 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ

     1. พลังในการควบคุมตัวเอง (Self Control) ที่ยังไม่ดีพอ

     2. ความรักและนับถือตนเองที่ยังไม่มากพอ และ

     3. ขาดความหวังในวันข้างหน้า

 

     อย่างในงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า คนที่เลิกกับแฟนแล้วพยายามไม่ไปยุ่งเรื่องแฟนเก่า เช่น เลิกส่องเฟซบุ๊กแฟนเก่า แม้พวกเขาจะเจ็บปวดมากในช่วงแรก เพราะต้องฝืนใจและฝืนความสงสัยของตัวเองให้ได้ แต่กลายเป็นว่าคนกลุ่มนี้สตรองในการตัดใจได้ดีกว่าคนที่ยังยุ่งกับแฟนเก่า ที่สำคัญ คนที่บังคับตัวเองได้ยังมีพัฒนาการทางความคิดและบุคลิกภาพดีกว่าอีกด้วย (Personal Growth)

     พูดง่ายๆ คือคนที่ตัดใจจากแฟนเก่าได้มีพลังในการควบคุมหรือบังคับตัวเองได้ดีกว่า ฉะนั้น เมื่อพูดว่า ‘ไม่’ แล้ว ก็พยายามรักษาคำพูดว่า ‘ไม่’ ไปได้เสมอ

     ถัดมาคือ การยอมให้ตัวเองกลับไปอยู่ในความสัมพันธ์ที่แย่นั้น (Toxic Relationship) ในแง่หนึ่งสะท้อนว่า คนคนนั้นยังรักตัวเองไม่มากพอที่จะยอมตัดสิ่งไม่ดีออกไปจากชีวิต และเปิดรับสิ่งดีๆ ให้กับตัวเอง ซึ่งจากการที่เราพูดคุยกับคนที่เป็นแบบนี้ส่วนใหญ่ พบว่าที่พวกเขาไม่กล้าเอาตัวเองออกมาเป็นเพราะความกลัว เช่น กลัวไม่มีใครรัก กลัวว่าถ้าเลิกกับคนนี้แล้วจะเลี้ยงตัวเองไม่ได้ หรือกลัวจะไม่ได้เจอคนที่ดีกว่านี้อีกแล้ว แต่จริงๆ คนเหล่านี้อาจประเมินศักยภาพตัวเองต่ำเกินไป

     อันที่จริงคนที่ประสบความสำเร็จหรือคนที่แข็งแกร่งไม่ใช่คนที่ไม่กลัวอะไร พวกเขาล้วนแต่มีความกลัวทั้งนั้น เพียงแต่คิดต่างตรงที่ว่า พวกเขาเชื่อมั่นในตัวเองมากพอว่า ถ้าวันหนึ่งฉันเจอเรื่องเจ็บปวดหรือสถานการณ์ที่เลวร้ายขึ้นมา ฉันในวันนั้นจะต้องเอาตัวรอดได้แน่ๆ และนี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมพวกเขาถึงกล้าเดินหน้าทั้งที่ก็กลัว พวกเขาไม่ใช่ยอดมนุษย์ แต่แค่มีทัศนคติที่เชื่อมั่นในตัวเองมากพอต่างหาก

     นอกจากนี้ ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นได้ว่า คนที่สตรองมีความคิดแบบ ‘ไปตายเอาด่านหน้า’ กล่าวคือ แม้ทางข้างหน้าอาจเลวร้ายหรือหนักกว่า แต่ก็เป็นไปได้ว่าอาจมีอะไรดีๆ ใหม่ๆ รออยู่ การเดินไปข้างหน้าย่อมดีกว่าการอยู่กังแต่วันวาน เพราะพวกเขาได้เห็นแล้วว่า การอยู่อย่างนั้นไม่มีอะไรดีขึ้นมา

     ดังนั้น สุดท้ายมันอยู่ที่เราจะเลือกอะไร? แต่อย่าลืมว่า ชีวิตที่มีให้จดจำมีแค่ครั้งนี้ครั้งเดียว และตัวเราคือคนที่ขีดเขียนมัน

 


อ่านรายงานการวิจัยฉบับเต็มได้ที่:

1. Relationship Churning in Emerging Adulthood: On/Off Relationships and Sex with an Ex (2013) โดย Sarah Halpern Meekin – www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3924753/

2. Facebook Surveillance of Former Romantic Partners: Associations with PostBreakup Recovery and Personal Growth (2012) โดย Tara C. Marshall – www.liebertpub.com/doi/full/10.1089/cyber.2012.0125