สมรสนิยม

Love Actually | ความรัก ความสัมพันธ์ และการสมรสนิยม

ช่วงสองสามปีแรกในการทำงานในแวดวงนิตยสารของฉัน งานหนึ่งที่ได้ทำคือการสัมภาษณ์คู่รักคนดังเพื่อนำมาเขียนลงในนิตยสาร ความอ่อนด้อยประสบการณ์ของวัยนั้นทำให้ฉันตั้งคำถามวนเวียนอยู่ไม่กี่อย่าง หนึ่งในคำถามภาคบังคับของฉันคือ “ทำไมคุณถึงรักคนคนนี้”

     ฉันได้รับคำตอบกลมๆ กลางๆ จากหลายคู่ เช่นว่า “เพราะเขาเป็นคนดี” “เพราะเธอเป็นคนรักครอบครัว” “เพราะเขาดูแลเอาใจใส่ดี” “เพราะเธอเป็นคนขยันทำงาน”

     เคยคิดเล่นๆ ว่าถ้าเรารักใครคนหนึ่งเพราะเขาเป็นคนดี แล้วทำไมเราไม่รักคนดีคนอื่นด้วยเล่า ทำไมเราไม่ได้อยากคบหากับอีกคนที่ก็รักครอบครัวเช่นกัน หรือคนอื่นที่เข้ามาดูแลเอาใจใส่เราแทบตาย แต่ก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกรัก ส่วนคนที่ขยันทำงานก็มีอยู่เต็มโลก แล้วทำไมต้องมารักคนที่ขยันทำงานคนนี้

 

     นานมากแล้ว ช่วงหนึ่งที่ฉันโสดสนิท เพื่อนเคยพยายามแนะนำใครคนหนึ่งให้ การันตีว่าเขาเป็นคนดี ทำงานเก่ง เป็นที่รักของเพื่อนฝูง เพื่อนบรรยายคุณสมบัติและค่อยเล่าเรื่องของเขาให้ฉันฟัง และก็คงทำเช่นเดียวกันกับทางนั้น เราเห็นหน้าเห็นตากันผ่านภาพถ่าย กระทั่งค่ำคืนที่เราได้นั่งตรงข้ามกันแบบตัวเป็นๆ

     ในแสงสีส้มของร้านอาหาร โต๊ะตั้งห่างกันพอสร้างความเป็นส่วนตัว เพลงเพราะในระดับความดังกำลังดี ระหว่างเราไม่มีใครมาคอยเป็นคนกลางให้อีกต่อไป แค่เราเท่านั้นที่เริ่มทำความรู้จักอีกฝ่าย

     เราคุยกันอย่างสุภาพ ทำความรู้จักด้วยการชวนคุยถึงสิ่งที่ตนสนใจและถามไถ่ถึงความสนใจของอีกคน แต่ในบทสนทนาร่วมสองชั่วโมงนั้น เราไม่มี ‘รสนิยม’ ในเรื่องใดที่ตรงกันเลย ซึ่งก็ไม่ใช่ความผิดของใครทั้งนั้น ก็แค่คนหนึ่งไม่ได้ชอบในสิ่งที่อีกคนชอบ เราไม่ได้ฟังเพลงเดียวกัน ไม่ได้อ่านหนังสือเล่มเดียวกัน ไม่ได้ดูหนังเรื่องเดียวกัน ฉันใช้ชีวิตในแบบที่เขาไม่มีทางนึกถึง ส่วนเขาก็ฝันถึงชีวิตที่ฉันไม่อาจเข้าใจได้ การเจอกันครั้งแรกของเราจึงค่อนข้างกร่อยและกลายเป็นทางตัน

 

     ใน เดี่ยว 12 ซึ่งเป็นเดี่ยวไมโครโฟนครั้งล่าสุดของ ‘พี่โน้ส’ – อุดม แต้พานิช มีประเด็นหนึ่งที่ฉันออกจะชอบเอามากๆ พี่โน้สพูดถึงการแต่งงาน หัวใจของการแต่งงาน และการ ‘สมรสนิยม’

     “ก่อนจะแต่งงานกัน ต้องสมรสนิยมกันก่อน จึงจะมีงานสมรสกันได้ ถึงจะอยู่กันยืด”

     ฉันเห็นด้วย ในความสัมพันธ์ การมีรสนิยมที่พ้องต้องกันสำคัญไม่แพ้เรื่องไหน

     หากแยกเป็นคำ ‘สม’ หมายถึง เสมอกัน และ ‘รส’ ก็คือความชอบใจ ความพึงพอใจ

     จริงอยู่ เป็นไปไม่ได้ที่ใครจะชอบเหมือนใครได้ทั้งหมด ความสวย ความงาม รสเปรี้ยว รสหวาน คือรสนิยมเฉพาะบุคคลทั้งนั้น แต่ในความสัมพันธ์ เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโลกของสองคนย่อมมีส่วนที่เหลื่อมทับกันอยู่ ในพื้นที่ทับซ้อนนี้เองที่เราได้ถ่ายเทตัวตนสู่กัน นำเสนอความพึงพอใจแก่กัน เป็นที่ทางที่เราจะหยิบยื่นรสนิยมของเราให้อีกฝ่ายรับรู้
เราแลกเปลี่ยนกันในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อยู่ตลอดเวลา เพลง หนัง หนังสือ อาหาร สถานที่ ความรื่นรมย์อันพึงมีในชีวิต

     อย่ามองข้ามความชอบในเรื่องเล็กน้อยเหล่านี้ ฉันเชื่อว่านั่นก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถบ่งบอกได้ว่าไลฟ์สไตล์ของเราจะไปกันได้หรือไม่ เรานั่งดูหนังเรื่องเดียวกันเกือบสองชั่วโมงได้หรือเปล่า เราฟังเพลงที่ใครอีกคนเปิดฟังในรถซ้ำๆ ได้ไหม เราใช้เวลาไปกับเรื่องเดียวกันหรือต่างเรื่อง วงกลมรสนิยมของเราเหลื่อมซ้อนกันมากน้อยเพียงใด

     สองคนคบหากัน ไม่จำเป็นต้องชอบเหมือนกันทุกอย่าง ก็จริง เราควรได้จัดสรรพื้นที่รสนิยมบางอย่างไว้เป็นความส่วนตัวบ้าง นั่นก็ใช่ แต่หากวงกลมสองวงนั้นโดดเดี่ยวจากกันอย่างสิ้นเชิงแล้ว จะเกิดการใช้เวลาร่วมกันเพื่อเรียนรู้กันได้อย่างไร เราแตกต่างกันได้ ไม่จำเป็นต้องพึงใจในสิ่งเดียวกันทั้งหมด แต่จะไม่ให้มีความชอบพอที่ตรงกันเลยก็ดูท่าจะคบหากันลำบาก

 

     อีกเรื่องที่ฉันมองว่าคนรักกันจำเป็นต้องมีเสมอกันอย่างยิ่ง คือ ‘ทัศนคติในการใช้ชีวิตคู่’ โดยเฉพาะคู่ที่ตั้งใจร่วมลงหลักปักฐาน

     พิธีแต่งงาน การเงินภายในบ้าน การมีลูก ความสัมพันธ์ระหว่างสามีและภรรยา ความรับผิดชอบในฐานะพ่อและแม่ ความเชื่อ ความศรัทธา การให้คุณค่า ล้วนเป็นความสำคัญของชีวิตคู่ แต่ทั้งหมดนี้ฉันมองว่ามีค่าเป็นกลาง

     การแต่งงานจะไม่สำคัญเลยกับคู่ที่มองตรงกันว่าไม่จำเป็นต้องผ่านพิธีก็ใช้ชีวิตด้วยกันได้ การมีลูกและการได้เป็นพ่อแม่คนจะเป็นความงดงามที่สุดของชีวิต หากสิ่งนี้คือความใฝ่ฝันของสองคนที่ตรงกัน การเงินจะไม่ใช่ปัญหา หากตกลงกันได้ว่านี่คือเงินเธอ เงินฉัน และเงินเรา หรือจะจัดการแบบไหนก็เอาที่ทั้งคู่เห็นเหมาะควร

     ขณะเดียวกัน เรื่องเหล่านี้ก็สร้างปัญหาใหญ่โตได้ หากไม่ได้คิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันเสียแล้ว

 

     สำหรับฉัน ความเสมอกันใน ‘รสนิยม’ และ ‘ทัศนคติ’ จึงจำเป็นในการใช้ชีวิตร่วม

     แน่นอนว่าเมื่อเรารักใครสักคนและเลือกใช้ชีวิตกับคนนี้แล้ว นั่นหมายถึงเรามองเห็นส่วนดีของเขามากกว่าส่วนเสีย และสามารถยอมรับส่วนไม่ดีนั้นได้ แต่การเป็นคนดี ขยันขันแข็ง รักครอบครัว ให้เกียรติอีกฝ่าย เป็นคุณสมบัติที่มนุษย์สมควรมีอยู่แล้วมิใช่หรือ และอาจไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดทั้งมวลที่ทำให้เราเลือกกันและกัน

     ความเป็นปัจเจกของเราต่างหาก ความเสมอกันในรสนิยมและทัศนคติต่างหาก ที่นับเป็นอีกส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้คนสองคนลงล็อกพอดีได้ ทำให้เราอยู่ด้วยกันได้ ให้เรารู้สึกพึงพอใจกับการใช้ชีวิตร่วมกับคนดีคนนี้ ขณะที่โลกยังเต็มไปด้วยคนดีที่เราไม่ได้เลือกและไม่ได้รัก