หลายคนคงเคยหลงดีใจเวลามีคนเข้ามาจีบ ว่าคนคนนั้นต้องคิดจริงจังกับเราแน่ๆ ทว่ามันไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป ไม่งั้นสังคมเราคงไม่บัญญัติศัพท์คำว่า ‘แอ๊ว’ ขึ้นมาเพื่อใช้เรียกการจีบเลเวลเบาๆ หรอก ดังนั้น หากมีคนเข้ามาจีบคุณ อย่างน้อยที่สุด ก็ควรดูให้ถี่ถ้วนว่าแท้จริงแล้วอีกฝ่ายจีบเพราะหวังอะไรกันแน่?
เพราะในงานวิจัย ‘WHY DO WE FLIRT? : Flirting Motivations and Sex Differences in Working and Social Contexts’ นอกจากจะพบว่าคนเราจีบกันเพราะอยากคบหาแล้ว ยังพบแรงจูงใจอื่นๆ อีก รวมกันได้ถึง 6 ข้อ คือ
01 จีบเพื่อคบหา (Relational Motivation)
ข้อนี้คือเหตุผลพื้นฐานมาตรฐานสากลโลก คือจีบก็ต้องหวังคบสิจ๊ะ ซึ่งข้อนี้ไม่แปลกอะไร แต่ข้อถัดไปจากนี้สิที่บ่งบอกว่า จีบไม่ได้แปลว่าอยากคบหาจริงจังเสมอไป
02 จีบเพราะอยากมีอะไรด้วย (Sexual Motivation)
อันนี้ตรงตามตัวเลย คือจีบเพราะอยากมีเซ็กซ์ด้วย ซึ่งในกรณีที่สองฝ่ายรู้กันตั้งแต่แรกแล้วว่าต่างต้องการอะไร เกมรักเกมนี้ก็ไม่มีใครต้องเจ็บปวด เพราะเจตนาในการเข้าหานั้นตรงกัน แต่มันจะกลายเป็นปัญหาทันที ถ้าฝ่ายหนึ่งจีบเพราะหวังเซ็กซ์ แต่อีกฝ่ายกลับคิดจริงจัง ผลคือฝ่ายที่ไม่รู้ทันเกม หรือรู้เขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก ก็ต้องมาเจ็บปวดภายหลังที่หลงรักคนที่มองตัวเองเป็นเพียงสิ่งสนองอารมณ์
03 จีบขำๆ (Fun Motivation)
คุณเชื่อไหมว่า การจีบนั้นเป็นกิจกรรมคลายเครียดอย่างหนึ่งได้เหมือนกัน กล่าวคือ คนบางคนสนุกกับการได้ ‘แอ๊ว’ คนไปเรื่อยๆ อารมณ์หยอดวันละนิดจิตแจ่มใส ซึ่งถามว่าคิดจริงจังไหม คำตอบคือไม่ และคนส่วนใหญ่ก็มักดูลักษณะการจีบแบบนี้ออก เช่น รุ่นพี่ที่ทำงานที่ชอบมาแอ๊ว มาแซว เอาขนมมาฝาก พูดจาหยอกล้อ ไร้อาการเขินอายใดๆ ทั้งสิ้น แต่ดูขำเอาฮามากกว่า
04 จีบเพื่อเช็กเรตติ้ง (Esteem Motivation)
คนบางคนมีความสุขกับการเป็นที่ต้องการของคนอื่น เลยใช้วิธีหว่านเสน่ห์คนอื่นเพื่อทำให้ตัวเองมีค่าหรือเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเอง ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงประเภทที่ในสายตาหนุ่มๆ เธอเป็นคนน่ารัก เฟรนด์ลี คุยเล่นตลกด้วยได้ มีความแอ๊วเบาๆ ซึ่งผู้ชายหลายคนจะชื่นชมเธอแบบออกนอกหน้า แต่ในสายตาผู้หญิงคนอื่นๆ เธอก็แค่ชะนีนางหนึ่งที่ชอบถูกรุมล้อมด้วยผู้ชาย เชื่อว่าคุณหลายคนคงพอนึกภาพออกเนอะ
05 จีบเพื่อใช้เป็นเครื่องมือ (Instrumental Motivation)
บางครั้งคนเราจีบอีกฝ่ายเพราะหวังใช้อีกฝ่ายเป็นเครื่องมือเพื่อให้เราได้ในสิ่งที่ต้องการ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดๆ เช่น อ่อยหัวหน้าเพื่อหวังให้หัวหน้าช่วยเหลือด้านหน้าที่การงาน แต่จริงๆ ถ้าคิดต่อ แรงจูงใจเพื่อใช้เป็นเครื่องมืออาจหมายถึงกรณีอื่นๆ ได้อีกเหมือนกัน เช่น คบอีกฝ่ายเพราะหวังปิดบังความรักที่มีต่ออีกคนหรือใช้ปิดบังเพศสภาพของตัวเอง หรือคบอีกฝ่ายเพราะหวังเงินหรือเกาะความรวยก็ถือว่าเข้าข่ายนี้เหมือนกัน
06 จีบเพื่อลอง (Exploring Motivation)
มาถึงแรงจูงใจข้อสุดท้าย ข้อนี้จะตรงกับคำว่า ‘อ่อย’ ในภาษาไทยมากที่สุด คือจีบเพื่อดูเชิงว่าอีกฝ่ายชอบเราไหม ยกตัวอย่างเพื่อนเราสนใจพี่ผู้ชายคนหนึ่งที่ออฟฟิศ และยังไงไม่รู้ เพื่อนเรารู้สึกว่าพี่คนนี้น่าจะแอบชอบอยู่เหมือนกัน และยังไปรู้มาอีกด้วยว่า พี่คนนี้ชอบดูเฟซบุ๊กกับไอจีเพื่อนเราบ่อยๆ เพื่อนเราก็เลยใช้วิธีอ่อยอ้อมๆ ด้วยการโพสต์ไอจีกับเฟซบุ๊กให้มีเนื้อหาใกล้เคียงหรือเชื่อมโยงกับของพี่คนนี้ ซึ่งถ้าดูเผินๆ ก็เหมือนบังเอิญใจตรงกัน แต่จริงๆ เป็นความตั้งใจให้มันบังเอิญเอง และทำให้บังเอิญบ่อยเวอร์เกินเพื่อให้พี่ผู้ชายคนนี้สงสัย และเอาไปคิดเข้าข้างตัวเองได้ว่า เพื่อนเรามีใจให้อยู่ แต่พอเราถามเพื่อนว่า ชอบถึงขั้นอยากคบเลยไหม? เพื่อนบอกก็ไม่ถึงขั้นนั้น คืออยู่ในระดับที่สนใจผู้ชายคนนี้ และอยากรู้จักมากขึ้น พูดง่ายๆ คืออยู่ในเลเวลที่เบากว่าจีบ อยากแสดงความสนใจ แต่ยังไม่ถึงขั้นว่าจะคิดจริงจังดีหรือเปล่า
ทั้งหมดนี้ก็คือ 6 แรงจูงใจในการจีบที่งานวิจัยดังกล่าวพบ ซึ่งน่าจะทำให้พอเห็นภาพมากขึ้นว่า การจีบไม่ได้แปลว่าจริงจังเสมอไป เพราะยังมีเลเวลที่เบากว่าจีบอีก แถมเหตุผลเบื้องหลังก็ไม่ใช่เพราะรักหรือปรารถนาดีด้วย
อย่างไรก็ตาม กระทั่งการจีบเพื่อคบหา (ข้อแรก) ก็ไม่ได้แปลว่ารักเสมอไป เพราะอย่าลืมว่ามันก็มีเหมือนกัน คนที่ตกลงอยู่ในความสัมพันธ์ทั้งที่ไม่ได้รักอีกฝ่าย เช่น บางคนอยากมีแฟนไว้แก้เหงา เพราะอยู่คนเดียวไม่ได้ ซึ่งถามว่า คิดจะทุ่มเทหรือเสียสละอย่างแท้จริงเพื่อแฟนไหม? ก็ไม่ หรือบางคนมีแฟน เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่ในเช็กลิสต์ชีวิต ไม่ต่างจากการมีรถ มีบ้าน มีลูก เช่น พออายุเท่านี้ก็ต้องมีแฟน แต่งงาน แต่ไม่ได้มองว่าสามีหรือภรรยาตัวเองคือคนรัก
ดังนั้น อย่าเผลอเข้าใจผิด เพราะ ‘ความรัก’ (Love) เป็นคนละอย่างกับ ‘ความสัมพันธ์’ (Relationship) บางความสัมพันธ์ อาจไม่มีรัก และบางความรัก อาจไม่มีความสัมพันธ์
สุดท้ายขอให้คุณโชคดี
อ้างอิง:
Henningsen, D. D., Braz, M., & Davies, E. (2008). Why Do We Flirt? Flirting Motivations and Sex Differences in Working and Social Contexts. Journal of Business Communication, 45, 483 – 502.