เผลอไม่นาน เดือนสิงหาคมนี้ก็ครบรอบหนึ่งปีการจากไปของราชินีเพลงโซลอย่าง อารีธา แฟรงคลิน (Aretha Franklin) แล้ว ชื่อของเธอได้รับการยกย่องมาตั้งแต่ช่วงปลายยุค 60s และอยู่ยั้งยืนยงมาจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตในวัย 76 ปี ถึงแม้หนึ่งราชินีโซลจะดับแสงไป แต่เสียงร้องและจิตวิญญาณความเป็นศิลปินของเธอจะยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนอีกมากมายบนโลกใบนี้ตลอดกาล
ย้อนกลับไปในช่วงวัยเด็ก อารีธาเริ่มต้นด้วยการเป็นนักร้องเพลงกอสเปล (Gospel) ในโบสถ์ New Bethel Baptist Church ที่ดีทรอยต์ (Detroit) รัฐมิชิแกน (Michigan) ซึ่งพ่อของเธอ ซี.แอล. แฟรงคลิน (C.L. Franklin) เป็นศาสนาจารย์อยู่ที่นั่น ก่อนที่ในวัย 18 ปี เธอจะเริ่มต่อยอดสู่การร้องเพลงคฤหัสถ์ (Secular music) ซึ่งเป็นเพลงขับร้องเพื่อความรื่นเริงที่ได้รับความนิยมและแพร่หลายมากในประเทศต่าง ๆ ทางยุโรปตะวันตก และได้เซ็นสัญญากับโคลัมเบีย เรคคอร์ด (Columbia Records)
ถึงแม้ในช่วงต้นของการเป็นศิลปิน ชื่อเสียงของอารีธาจะไม่ได้เปรี้ยงปร้างมากนัก แต่ในที่สุดเธอก็เริ่มได้รับการแซ่ซ้อง และประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์หลังจากย้ายมาเซ็นสัญญากับแอตแลนติก เรคคอร์ด (Atlantic Records) ในปี 1966 พร้อมกับเพลงฮิตอย่าง Respect, Chain of Fools, Think, (You Make Me Feel Like) A Natural Woman, I Never Loved a Man (The Way I Love You), I Say a Little Prayer และได้รับการยกย่องว่าเป็นราชินีเพลงโซลในที่สุด
หลังจากนั้น อารีธาได้รับเกียรติมากมายตลอดอาชีพของเธอ โดยเฉพาะในปี 2010 ที่นิตยสาร Rolling Stone จัดให้เธออยู่ในอันดับที่ 1 ของ 100 Greatest Singers of All Time หรือ 100 นักร้องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล และในปี 2019 เธอได้รับรางวัลพูลิตเซอร์สำหรับการมีส่วนร่วมในด้านดนตรีและวัฒนธรรมอเมริกันมานานกว่า 50 ปี
หลังจากอารีธาเสียชีวิตในปี 2018 บทเพลงที่ถูกแชร์ออกไปอย่างกว้างขวางที่สุดคือ (You Make Me Feel Like) A Natural Woman เพลงฮิตจากปี 1967 ที่เป็นเหมือนเพลงประจำตัวของเธอ และเป็นบทเพลงแห่งความทรงจำอันทรงพลังที่เขย่าอารมณ์ของผู้ฟังที่สุดเพลงหนึ่งตลอดกาล โดยเฉพาะการแสดงสดเพลงนี้ในงานมอบรางวัล Kennedy Center Honors ในปี 2015 ที่ถึงกับทำให้ บารัก โอบามา ต้องเสียน้ำตา รวมไปถึงการแสตนดิ้งโอเวชันของผู้ชมทั่วทั้ง Kennedy Center Opera House หลังจบเพลง
(You Make Me Feel Like) A Natural Woman เป็นเพลงสร้างชื่อของ อารีธา แฟรงคลิน ที่เขียนโดยศิลปินคู่รักนักแต่งเพลงในเวลานั้นอย่าง แคโรล คิง (Carole King) และ เจอร์รี กอฟฟิน (Gerry Gofffiin) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากเจ้าของค่ายเพลงแอตแลนติก เรคคอร์ด และโปรดิวเซอร์เพลงอย่าง เจอร์รี เว็กซ์เลอร์ (Jerry Wexler)
วันหนึ่งที่อากาศสดใส ขณะที่ แคโรล คิง และ เจอร์รี กอฟฟิน กำลังเดินไปบนถนนบรอดเวย์ เจอร์รี เว็กซ์เลอร์ ที่เคยเป็นนักศึกษาด้านดนตรีและวัฒนธรรมแอฟริกัน-อเมริกัน ผู้หมกมุ่นครุ่นคิดถึงแนวคิดของ ‘Natural Man’ ปรัชญาทางรัฐศาสตร์ ขับรถลีมูซีนเข้ามาเทียบด้านข้าง ก่อนที่จะลดกระจกลงแล้วทักแคโรลกับเจอร์รีออกไปว่า ‘ผมกำลังมองหาเพลงฮิตที่จะทำให้อารีธาได้รับความนิยมมากๆ พวกคุณลองเขียนเพลงที่ชื่อว่า ‘Natural Woman’ ดูเป็นไง?’ ในคืนนั้น แคโรลและเจอร์รีรีบลงมือเขียนเพลงนี้ทันทีหลังจากพาลูกๆ เข้านอนเรียบร้อยแล้ว เมื่อแต่งเสร็จ พวกเขานำเพลงนี้ไปให้อารีธาบันทึกเสียงและกล่าวพร้อมกันว่า ‘พวกเรามีเพลงฮิตแล้ว’
ถึงแม้ว่าแรกเริ่มเดิมทีเพลงนี้จะถูกแต่งขึ้นจากการล้อเลียนแนวคิด Natural Man หากแต่ความหมายของเพลงที่แคโรลกับเจอร์รีเขียน และการร้องของอารีธาทำให้ความรู้สึกของเพลงนี้ทรงพลัง เป็นธรรมชาติ และเชื่อมโยงกับผู้ฟังโดยเฉพาะหญิงสาวมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นเพลงที่มีเนื้อหาถึงผู้หญิงที่รับรู้ได้ถึงความชื่นชมยินดีของคนรักที่มีต่อตัวเธอ ซึ่งสิ่งนั้นเองคือความพิเศษที่เธอสมควรได้รับในฐานะคนรักและคนธรรมดาคนหนึ่ง
Looking out on the morning rain
I used to feel so uninspired
And when I knew I had to face another day
Lord, it made me feel so tired
Before the day I met you life was so unkind
But you’re the key to my peace of mind
“ลองมองออกไปในยามเช้าที่ฝนพรำ ฉันเคยรู้สึกขาดไร้ซึ่งแรงบันดาลใจ เมื่อฉันรู้ว่ายังต้องเผชิญกับทุกวันที่ผันผ่านต่อไป พระเจ้า, มันช่างทำให้ฉันรู้สึกหมดแรง ก่อนที่ฉันได้พบคุณ ชีวิตช่างไร้ความปรานี แต่คุณคือกุญแจสู่สันติสุขภายในใจฉัน”
จินตนาการถึงชีวิตที่แห้งเหี่ยวและปราศจากน้ำเลี้ยงทางจิตวิญญาณ นั่นช่างเป็นชีวิตที่ว่างเปล่าและเดียวดายสุดๆ เนื้อเพลงท่อนแรกพยายามสร้างความรู้สึกที่มืดมนและเศร้าหมองในระหว่างที่หญิงสาวคนหนึ่งต้องตื่นขึ้นมาทุกเช้าเพื่อเผชิญกับความรู้สึกและชีวิตที่แสนเหนื่อยล้าทุกวัน แน่นอนว่าความคิดเช่นนั้นจะค่อยๆ ก่อร่างความรู้สึกไร้คุณค่าให้เกิดขึ้นในใจได้ทีละน้อย
แต่สิ่งที่จะเข้ามาช่วยเติมพลังให้กับชีวิตที่แสนหม่นหมอง คือความรักที่เป็นกุญแจสำคัญในการไขประตูที่ปิดตายให้ได้ออกมาพบกับแสงสว่างที่สาดส่อง เป็นความหวังและทำให้สามารถมองเห็นคุณค่าในตัวเองได้อีกครั้ง
’Cause you make me feel
You make me feel
You make me feel like a natural woman (woman)
“เพราะคุณทำให้ฉันรู้สึก… คุณทำให้ฉันรู้สึกราวกับเป็นหญิงสาวสุดแสนธรรมดาที่มีคุณค่า”
เนื้อเพลงท่อนฮุกนี้ถูกยกย่องว่าเรียบง่ายและซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง เพราะการที่มีใครสักคนทำให้เรารู้สึกได้ถึงการเป็นคนธรรมดาสุดแสนสามัญที่มีคุณค่ายิ่งใหญ่ อันไม่ได้หมายถึงคุณที่สมบูรณ์หรือเพอร์เฟ็กต์ แต่หมายถึงคุณ ‘ที่เป็นคุณ’ จริงๆ คือคุณที่สูงต่ำดำขาว มีชอบมีชัง มีข้อบกพร่อง มีร่องรอยของการใช้ชีวิต
มีคนเคยกล่าวไว้ว่า ผู้หญิงไม่ได้อยากเป็นเจ้าหญิง และไม่ได้อยากได้เจ้าชายเป็นของตัวเอง พวกเธอแค่ต้องการผู้ชายธรรมดาคนหนึ่งที่สามารถรักและดูแลเธอได้ และมองเห็นคุณค่าในตัวเธอเหมือนเธอเป็นเจ้าหญิงของเขาเท่านั้นเอง
When my soul was in the lost-and-found
You came along to claim it
I didn’t know just what was wrong with me
Till your kiss helped me name it
Now I’m no longer doubtful of what I’m living for
And if I make you happy I don’t need to do more
“เมื่อจิตวิญญาณของฉันสูญหายและได้ค้นพบ คุณก้าวเข้ามาเพื่อยืนยันสิ่งนั้น ฉันไม่เคยรู้เลยว่ามีสิ่งใดเกิดขึ้นกับฉัน จนกระทั่งจุมพิตของคุณช่วยตั้งชื่อให้กับมัน ตอนนี้ฉันคลายความสงสัยแล้วว่าฉันมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร แค่ทำให้คุณมีความสุขได้ก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพิ่มเติมอีก”
บางครั้งชีวิตก็เป็นเรื่องยากเกินกว่าที่เราจะสามารถมองเห็นคุณค่าด้วยตัวเราเอง เราจึงต้องการใครสักคนที่เป็นเสมือนกระจกซึ่งสามารถสะท้อนเข้าไปภายในจิตใจและช่วยดึงเอาคุณค่าที่เราอาจไม่เคยมองเห็นออกมาได้ ไม่ต่างอะไรกับชีวิตของผู้ขับร้องอย่าง อารีธา แฟรงคลิน ที่นอกจากการเป็นศิลปิน ตลอดชีวิตของเธอยังได้รับการยอมรับว่าเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิพลเมืองโดยเฉพาะประเด็นคนผิวสีซึ่งเป็นดั่งภาพสะท้อนของตัวเธอเอง
“เสียงร้องที่ทรงพลังและวิธีที่อารีธาร้องออกมาให้ความหมายที่สุดแสนลึกซึ้งกับเนื้อเพลง มันช่วยเสริมสร้างพลังในการรักตนเองให้กับฉัน” โทยิน โอโวเซจ (Toyin Owoseje) นักเขียนข่าวบันเทิงผิวสีเคยพูดถึงเพลง (You Make Me Feel Like) A Natural Woman ไว้ครั้งหนึ่ง “ในฐานะหญิงผิวสี เพลงนี้ยังคงสะท้อนความเป็นตัวฉันจวบจนวันนี้”
“สังคมยังคงวางสถานะพวกเราไว้ที่ชั้นล่างสุดของลำดับชั้น และพยายามยัดเยียดคำถามให้กับ ‘สิ่งที่เราเป็น’ เสมอ แต่ความเชื่อมั่นในเสียงร้องของอารีธาเป็นเครื่องเตือนใจว่าพวกเรามีความแข็งแกร่งและอยู่เหนือการปฏิบัติเยี่ยงนั้นได้เสมอ” เธอกล่าวสรุป
Oh, baby, what you’ve done to me?
You make me feel so good inside
And I just wanna be close to you, you make me feel so alive
“ที่รัก, สิ่งที่คุณทำกับฉัน ช่างทำให้ฉันสุขใจเพียงไร ฉันเพียงแค่อยากอยู่ใกล้คุณ เพราะมันทำให้ฉันรู้สึกเต็มเปี่ยมไปด้วยความมีชีวิตที่แท้จริง”
ในวันที่หลงทาง เราต้องการใครสักคนที่เป็นดั่งแสงสว่าง เป็นเครื่องยืนยันว่าตัวเรานั้นมีคุณค่าในการดำรงชีวิตอยู่ ดังนั้น คงเป็นเรื่องธรรมดาที่เรามักอยากอยู่ใกล้คนคนนั้น หากเขาทำให้เรารู้สึกปลอดภัยที่จะเป็นตัวของตัวเอง เพราะนอกจากจะทำให้สบายใจแล้ว เขายังสามารถช่วยบรรจุความคิด ความหวัง และความรักที่เติมเต็มในจิตใจในวันที่อ่อนล้าได้เสมอ
กว่า 50 ปีที่เพลงนี้ยังคงกังวานในใจผู้ฟังเสมอ นั่นอาจเพราะมันถูกเปล่งออกมาจากจิตวิญญาณของ อารีธา แฟรงคลิน ผู้เป็นเสมือนตัวแทนของศิลปิน และมีอิทธิพล มีบทบาททางสังคม ทั้งการเคลื่อนไหวร่วมกับภาคประชาชน ในเรื่องสิทธิคนผิวสี สิทธิสตรี กลุ่ม LGBTQ และชนพื้นเมืองอเมริกัน ราวกับเธอเป็นดั่งแสงสว่างในสังคมที่การเหยียดยังคงดำรงอยู่ท่ามกลางความแตกต่างทางเพศที่หลากหลาย
เพราะในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าเราจะเป็นใครมาจากไหน ต่างล้วนมีสิ่งที่ต้องการเหมือนๆ กัน นั่นคือการได้รับยอมรับ การถูกปฏิบัติอย่างให้เกียรติ มองเห็นคุณค่า และเคารพใน ‘ธรรมชาติ’ ของความเป็นเรา โดยไม่ถูกแบ่งแยกให้เป็นสิ่งแปลกปลอมหรือแตกต่าง สิ่งสำคัญคือการพยายามเปิดใจเรียนรู้ซึ่งกันและกันโดยปราศจากอคติ
ว่าไปแล้วก็นึกถึงประโยคสำคัญหนึ่งในวรรณกรรมอันโด่งดังอย่าง เจ้าชายน้อย ที่กล่าวไว้ว่า
‘นี่คือความลับของฉัน มันแสนธรรมดา เราจะมองเห็นแจ่มชัดด้วยหัวใจเท่านั้น สิ่งสำคัญนั้นไม่อาจเห็นได้ด้วยดวงตา’
Recommended Tracks
01 Track: Respect Album: I Never Loved a Man the Way I Love You Release: 1967
02 Track: I Say a Little Prayer Album: Aretha Now Release: 1968
03 Track: Ain’t No Way Album: So Damn Happy Release: 2003