ความมั่นคง

จะทำอย่างไรดี เมื่อความมั่นคงของคนรุ่นใหม่กลายเป็นคำที่แสนเปราะบาง

ตั้งแต่ชีวิตเข้าหลักไมล์ในวัย 30 ผมสังเกตว่าเพื่อนๆ น้องๆ ที่อยู่ในวัยใกล้เคียงรอบข้างเริ่มโหยหาความมั่นคงในชีวิตกันมากขึ้น ไม่นานมานี้ มีน้องที่บริษัทคนหนึ่งมาปรึกษาผมถึงหมุดหมายของชีวิต และการกำหนดเส้นชัยแห่งความมั่นคงว่า ชีวิตควรจะแตะเส้นชัยในช่วงไหน และหมุดหมายแห่งความมั่นคงในชีวิตควรมีอะไรบ้างนอกเหนือจากเรื่องเงิน การแต่งงาน และหน้าที่การงาน

     เหตุผลที่น้องคนนี้ตั้งคำถาม เพราะเขาสังเกตว่าทำไมชีวิตของเขานั้นไม่เคลื่อนไปข้างหน้าเสียที ผมจึงถามกลับไปว่าอะไรทำให้คิดเช่นนั้น เขาบอกว่าในวัย 30 สำหรับเขานั้นมันน่าจะมีอะไรที่พร้อมมากกว่านี้ เช่น เงินเก็บ รายได้ประจำ เป็นต้น จากนั้นเขาก็เล่าว่าเพิ่งเสียเงินจากการลงทุนไปหลายหมื่นบาท ทำให้ยิ่งเครียดและกังวลต่อสถานการณ์ชีวิต

     ผมจึงบอกเขาไปว่า อย่ามองทุกอย่างเป็นผลลัพธ์ที่จะมอบความสำเร็จให้เราเพียงอย่างเดียว ถ้ามันพังก็พยายามมองให้มันเป็นบทเรียนไปอีกแบบแล้วกลับมาคิดทบทวนเยอะๆ พูดไปก็กลัวน้องไม่เข้าใจ ผมจึงเล่าเรื่องของตัวเองไปว่า ผมเพิ่งเสียเงินหลักแสนไปเปล่าๆ กับการทำธุรกิจร้านอาหาร ถามว่าเสียดายไหม มันก็เสียดาย แต่ผลลัพธ์สุดท้ายผมไม่สามารถเรียกเงินจำนวนนั้นกลับมาได้ ได้แต่ความล้มเหลวและความผิดหวังกลับมา

     ซึ่งประสบการณ์เหล่านั้นก็สอนผมว่า ถ้าคุณคิดแค่จะเอาเงินมาพักเล่นๆ นี่ไม่ใช่สนามการพักเงิน เพราะคุณต้องมีเวลาเข้ามาดู มาศึกษา และตรวจสอบอะไรอีกมากมาย ความล้มเหลวหลักแสนนี้จึงเป็นบทเรียนที่แพงกว่าค่าเทอมตอนเรียนปริญญาเสียอีก

     จากนั้นก็บอกไปว่า ไม่เป็นไร อายุแค่นี้ยังมีเวลา อย่ากดดันตัวเอง ชีวิตมันก็แบบนี้ มีเรื่องแย่วันนี้ พรุ่งนี้มันก็ยังไม่ดีเลยหรอก แต่เชื่อว่ามันจะดีขึ้นในวันข้างหน้าต่อการนำประสบการณ์จากอดีตมาช่วยมีส่วนตัดสินใจในก้าวต่อไป พูดปลอบใจไม่พอ ผมยังกล่าวเสริมอีกด้วยว่า ตำแหน่งหน้าที่การงานตอนนี้ก็ถือว่าดี ไม่ได้เลวร้าย อย่าเพิ่งมองจุดที่มีตำหนิอย่างเดียว เหมือนหมึกหยดลงเสื้อแล้วมองไม่เห็นส่วนที่ยังสะอาดใดๆ เลย เรื่องการมองชีวิตจึงต้องอาศัยการออกแบบอยู่พอสมควร

 

     พูดแล้วก็นึกถึงประโยคหนึ่งจากหนังสือ Designing of Your Life เขียนโดย Bill Burnett กับ Dave Evans ซึ่งทั้งคู่เป็นอาจารย์อยู่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เขียนไว้ว่า

 

     เคล็ดลับที่จะช่วยให้คุณประหยัดเวลาได้หลายเดือน หลายปี หรือกระทั่งหลายสิบปี คือคุณต้องรู้จักยอมรับความจริง คนเราชอบต่อต้านความเป็นจริง และทำทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะความเป็นจริง ทุกครั้งที่เราพยายามต่อสู้หรือตั้งแง่กับความเป็นจริง ความเป็นจริงนั้นจะเป็นฝ่ายชนะเสมอ เราไม่สามารถชิงไหวชิงพริบ หลอกล่อ หรือเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้ ไม่ว่าตอนนี้หรือตอนไหนก็ตาม…

 

     ผมบอกน้องไปว่า ผมเองก็ไม่ได้เริ่มต้นอะไรเร็ว ทั้งเรื่องแผนการและหมุดหมายของชีวิต แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือถ้ารู้ว่าเราต้องการอะไรก็อย่ามัวรีรอ แต่ให้รีบลงมือเพื่อจะได้รู้ว่าสิ่งที่คิดกับสนามที่ลงไปทำ ใช่แบบที่เราคิดอยากให้เป็นหรือเปล่า ผมสารภาพไปว่า ผมมีต้นทุนที่พังมากมายในอดีตก่อนที่จะได้กำไรกลับมาบ้างในปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องทรัพย์สินเงินทองเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นเวลา ความสัมพันธ์กับภรรยา ครอบครัว และหน้าที่การงาน รวมถึงการลงทุนเล็กๆ น้อยๆ ทุกอย่างเคยผิดพลาด ล้มเหลว จนเกิดการเรียนรู้เพื่อวันข้างหน้าทั้งนั้น

     ยกเว้นเสียแต่เกมชีวิตนี้เป็นเกมที่เราไม่อยากเล่น การคิดจะยอมแพ้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ถ้าเกมแห่งความมั่นคงด้านนี้ไม่ใช่ด้านที่เราอยากจะไป เช่น การทำงานหนักเพื่อหวังว่าสักวันหนึ่งจะเป็นเศรษฐีระดับประเทศ แต่ต้องแลกกับเวลาที่ไม่ได้อยู่กับแฟน ครอบครัว และความเสี่ยงต่อสุขภาพในบางส่วน

     อันนี้อาจเป็นนิยามความมั่นคงของคนอื่น แต่สำหรับผมมันไม่ใช่ การไล่ล่าความมั่นคงที่บางครั้งมันก็พ่วงขายเป็นแพ็กเกจกับความสำเร็จ จึงกลายเป็นสิ่งที่เราล้วนอยากได้ แต่เอาเข้าจริงก็ไม่อยากเสียบางอย่างไป กลายเป็นว่าเราเกิดความรู้สึกที่เปราะบางคู่ขนานกันไปในจิตใจ จนทำให้ไม่สามารถโฟกัสอะไรได้ดีสักอย่าง

     ภาวะการให้ความสำคัญถึงความมั่นคงและความสำเร็จลักษณะนี้คือค่านิยมที่หมุนเร็วของยุคสมัย ที่ไม่ว่าใครก็อยากสำเร็จเร็ว รวยเร็ว มั่งคั่งเร็ว เป็นที่ยอมรับเร็ว จนมีการกล่าวกันว่าเกิดกันต่างเพียงแค่ 5 ปี ก็รู้สึกเหมือนเกิดมาคนละยุคแล้ว ในหนังสือ CHINA 5.0 เขียนและเรียบเรียงโดย อาจารย์ อาร์ม ตั้งนิรันดร ได้อ้างอิงถึงมุมมองของเว่ยเจ๋อ นักธุรกิจชื่อดังของจีน และอดีตเคยเป็นผู้บริหารบริษัทชื่อก้องอย่างอาลีบาบา ที่มองคนจีนแต่ละยุคไว้อย่างน่าสนใจ และก็สะท้อนกลับมายังชีวิตของเราได้เช่นกัน

     เว่ยเจ๋อนิยามไว้ว่า คนที่เกิดในยุค 85s คือคนที่หัดออมเงิน เพราะผ่านความลำบากของยุคสมัย คนยุค 90s คือยุคที่กล้าใช้เงินเพราะเริ่มเจริญรุ่งเรือง และคนยุค 95s คือคนที่กล้ากู้เงินมาใช้ เพราะเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนการขยายตัวของการบริโภคแล้ว

     เว่ยเจ๋อเล่าอีกว่า สมัยก่อนที่เขาสัมภาษณ์คนที่เข้ามาสมัครงาน เขามักชอบใจคนที่มีประสบการณ์ในชีวิตที่ยากลำบากมาก่อน เพราะคนพวกนี้จะมีความอดทนและมีพลังในการต่อสู้เยอะเป็นพิเศษ ในขณะที่กลุ่มคนยุค 95s นั้น เขาแทบไม่ได้ยินเรื่องราวการฝ่าฟันความยากลำบากมาก่อนเลย แต่ประเด็นที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ เว่ยเจ๋อกลับเจอความทุกข์ของคนยุค 95s จำนวนมาก อยากรู้ใช่ไหมเพราะอะไร

     เว่ยเจ๋อเล่าว่า คนรุ่นนี้เกิดมาพร้อมกับความรู้สึกมั่นคงทางการเงิน จึงมีความกล้าในการกู้ยืมมาใช้ด้วย ทว่าอีกมุมหนึ่งก็ไม่เคยเผชิญความยากลำบากในชีวิตมาก่อน จึงทำให้ชีวิตมีความเปราะบางกว่าคนยุคก่อนๆ ได้ง่าย ทั้งในแง่ของทัศนคติ ความอดทน อันส่งผลถึงองค์รวมของชีวิต

     แต่จากมุมมองของเว่ยเจ๋อก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตที่แข็งแรงและมั่นคงจำเป็นต้องลำบากมาก่อนนะครับ ในอีกมุมหนึ่งที่น่าคิดต่อก็คือ ความมั่นคงและความสำเร็จจากบุคคลสำคัญที่โด่งดัง ผมก็ไม่เคยได้ยินว่ามีใครคนไหนที่ไม่เคยเผชิญต่อความยากลำบากในการสร้างตัวเลย

 

     ความมั่นคงของชีวิตจึงอาจไม่ได้เริ่มหาคำตอบว่าจะมีเงินสักกี่สิบกี่ร้อยล้านถึงจะมั่นคง แต่มันควรเป็นการตั้งคำถามและนิยามก่อนว่า ชีวิตในวันข้างหน้าเราต้องการอะไร อยู่แบบไหน ใช้ชีวิตอย่างไร จึงจะเป็นที่น่าพึงพอใจอย่างที่ใจเราอยากให้เป็นโดยที่ไม่ต้องไปเทียบหรือมองมาตรฐานจากคนรอบข้างมากนัก

     เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น เรากำลังเอาโครงสร้างชีวิตของคนอื่นมาออกแบบ ซึ่งไม่สมมาตรและสมส่วนต่อการใช้งานในอนาคตของเราจริงๆ จนวันหนึ่งที่เราต้องเริ่มใช้มัน เราจึงอาจเพิ่งรู้ตัวในวันที่สายไปแล้วว่า

     โครงสร้างของชีวิตที่ไม่ใช่เรานั้น มันช่างอึดอัดและเปราะบางเหลือเกิน