เกริก มีมุ่งกิจ

บทเรียนเงินล้านของ ดร. เกริก มีมุ่งกิจ ที่มาเตือนชีวิตแก่คนรุ่นใหม่

ผมเคยอ่านข่าวการเสียชีวิตของเศรษฐีคนหนึ่ง สาเหตุเพราะความเครียดซึ่งเกิดจากการลงทุนจนติดลบเป็นมูลค่ากว่าหลายสิบล้านบาท ภาพประกอบข่าวที่ออกมาคือบ้านหลังใหญ่ และรถมียี่ห้อดังจำนวนมากจอดเรียงราย ทว่าปกคลุมไปด้วยบรรยากาศอันโศกเศร้า

     ข่าวนี้ก่อให้เกิดคำถามในใจผมมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสุขในการใช้ชีวิตที่ต้องอาศัยเงินเป็นตัวขับเคลื่อน เราต้องมีมากแค่ไหนกัน จึงจะมีความสุขในระดับที่เราพอใจ เมื่อนั่งคิดทบทวนผมพบว่าความไม่รู้ว่าพอแค่ไหนนี่แหละอันตรายที่สุด

     ดร. เกริก มีมุ่งกิจ คือบุคคลที่ผมนึกถึงต่อคำถามดังกล่าว ต้นทุนชีวิตของ ดร. เกริก คือการเป็นลูกเกษตกร ที่พ่อแม่มีความใฝ่ฝันอยากให้ลูกชายเรียนสูงๆ เพื่อเติบโตไปเป็นเจ้าคนนายคน และไม่อยากให้ลูกชายกลับมาเป็นเกษตรกรแบบพวกเขาอีก

     กระทั่งความฝันเหล่านั้นกลายเป็นจริง ดร. เกริก จบปริญญาเอก สาขาวนศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและป่าไม้โดยตรง สาเหตุที่เลือกเรียนนั้น เพราะเขายังคงมีความผูกพันและชื่นชอบวิถีเกษตรที่เขาเติบโตในวัยเด็ก

 

     หลังจากนั้น ดร. เกริก หาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นอาจารย์สอนหนังสือตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ขณะนั้นเขาสนใจที่ดินแปลงหนึ่ง จึงตัดสินใจซื้อเก็บไว้ จากนั้นมีนักลงทุนมาขอซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวต่อจากเขา ซึ่งสามารถทำกำไรได้หลายเท่าตัว เขาจึงมีความคิดที่จะสร้างความร่ำรวยจากการซื้อ-ขาย ที่ดินเพื่อเก็งกำไร และแผนที่เขาวางไว้ก็สำเร็จตามคาด ดร. เกริก ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี สามารถทำกำไรจากการซื้อ-ขายที่ดินเป็นเงินกว่า 80 ล้านบาท จากนั้นจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงในชีวิตก็มาถึง

     วันหนึ่ง ดร. เกริก ชวนเพื่อนอีก 2 คน มาลงทุนในที่ดินผืนหนึ่งซึ่งมีมูลค่ากว่า 1,400 ล้านบาท จากการลงพื้นที่ตรวจสอบที่ดินและพื้นที่ทำเล ทำให้พวกเขาเชื่อมั่นว่าจะต้องมีนักลงทุนสนใจที่ดินผืนนี้อย่างแน่นอน

     พวกเขาจึงตัดสินใจทุ่มหมดหน้าตัก เพื่อวางเงินดาวน์รวมมูลค่ากว่า 240 ล้านบาท สิ่งที่เขาคาดไว้เป็นจริง มีนักลงทุนมากมายเดินทางมาดูที่ดินผืนนี้ พร้อมทั้งแสดงความชื่นชมและความชื่นชอบเป็นอย่างมาก แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีนักลงทุนคนใดมาซื้อที่ดินผืนนี้เลย สุดท้ายพวกเขาเป็นหนี้ก้อนใหญ่

     ผลลัพธ์จากการเป็นหนี้ส่งผลให้เพื่อนทั้งสองคนของ ดร. เกริก เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย และเป็นโรคร้ายแรงเพราะเกิดจากความเครียด ส่วน ดร. เกริก ประคับประคองสติและหาทางปลดหนี้ด้วยการกลับไปเป็นอาจารย์ตามสถาบันการศึกษาอีกครั้ง

     แน่นอนว่าการเป็นหนี้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ภายในครอบครัว แต่โชคดีที่ภรรยาของเขาเข้าอกเข้าใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

     เมื่อหนี้สินเริ่มเบาบางลง ดร. เกริก ค้นพบว่าความมั่งคั่งที่เขาเคยนิยามเอาไว้ ไม่ใช่สิ่งที่ชีวิตต้องการเลย ความมั่งคั่งไม่ใช่ความร่ำรวย แต่คือแก่นของการมีความสุขในชีวิต ไม่ใช่แก่นของการมีเงินและทรัพย์สินมากมายในชีวิต แต่กลับไม่มีความสุข เขาตัดสินใจเลิกสอนหนังสือแล้วหันไปประกอบอาชีพเกษตรแบบที่เขาชื่นชอบ

     สิ่งแรกที่เขาตั้งคำถามคือ ทำไมผู้คนชอบมองว่าการทำเกษตรเท่ากับความยากจน ด้วยความรู้และประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่งผลให้เขามีทั้งความคิดสร้างสรรค์และกลยุทธ์ในการทำงานอย่างแยบยล อาทิ การวางแผนระยะสั้น กลาง และยาว ในการดำรงชีพแบบเกษตรกรสมัยใหม่ เขาสามารถสร้างมูลค่าจากกิ่งไม้ที่ถูกตัดทิ้งจากชาวสวนคนอื่นๆ มาทำเป็นถ่าน และน้ำส้มควันไม้ เพื่อจัดจำหน่ายจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ไม้และพืชเศรษฐกิจอีกมากมายที่เขาได้ออกแบบและวางแผนในการสร้างรายได้ให้เกิดความยั่งยืนทั้งทางอารมณ์ จิตใจ และรายได้

 

     เรื่องราวของ ดร. เกริก ทำให้ผมนึกถึงแง่คิดของ อดัม คู นักธุรกิจชาวสิงคโปร์ ที่เคยได้รับคำถามว่า “จะมีประโยชน์อะไรถ้าหาเงินได้มากมายแล้วไม่หาความสุขจากมัน”

     อดัมเผยคำตอบของเขาว่า “เขาไม่เคยพบความสุขที่แท้จริงเลยจากการซื้อสินค้าแบรนด์เนม ถึงแม้ว่าการซื้อบางสิ่งหรือการมีเงินมากมายจะทำให้เรามีความสุข แต่มันก็เกิดขึ้นได้ไม่นาน เพราะความสุขจากวัตถุนิยมไม่มีวันคงทน มันเพียงให้ความสุขแบบเยียวยาเท่านั้น”

     คำถามต่อมาคือ แล้วความสุขควรเป็นอย่างไร อดัม คู ตอบว่า “ความสุขของเขาคือการได้เห็นลูกหัวเราะและเรียนรู้อย่างรวดเร็ว เห็นอีเมลจากบุคคลอื่นๆ เขียนมาขอบคุณต่อการพูดของเขาที่สร้างแรงบันดาลใจให้ชีวิตของพวกเขาเดินต่อไป” อดัมอธิบายว่าความรู้สึกดีๆ แบบนี้อยู่กับเขานานและมากกว่าความสุขที่ได้รับจากวัตถุนิยม

     สุดท้าย อดัม คู เน้นประเด็นต่อความสุขว่าควรเกิดจากการทำงานที่สำคัญของชีวิต ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม ส่วนเงินนั้นเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้นที่จะเข้ามาเติมความสุขระยะสั้นให้แก่เรา หากถามต่ออีกว่ามีเงินมากมายไม่ดีหรอกหรือ มุมมองของผมย่อมเป็นเรื่องที่ดี แต่การอยู่กับความคิด ความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นตามจำนวนเงินที่เราหิวโหยมากเกินไปโดยหาสาเหตุไม่ได้นั้นก็อาจเป็นหลุมพรางที่สามารถพรากความสุขในชีวิตของเราไปโดยไม่รู้ตัว