Margin of Safety

Margin of Safety การลดระยะความเสี่ยงที่นำไปใช้กับเรื่องเงินก็ได้ เรื่องชีวิตก็ดี

ทุกครั้งที่ผมขับรถออกไปพักผ่อนที่ต่างจังหวัด ระหว่างขับรถไปบนทางด่วนหลายๆ เส้นทาง มักมีสัญลักษณ์เตือนให้คนขับเว้นช่วงระยะห่างระหว่างคันข้างหน้าเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุกรณีคันหน้าเบรกกะทันหันอยู่เสมอ แน่นอนว่าถึงแม้จะมีสัญลักษณ์ที่ปรากฏเด่นชัดเตือนขนาดนั้น แต่ก็ยังมีคนเพลี่ยงพล้ำจนประสบอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง เมื่อเกิดอุบัติเหตุ เราจึงเสียต้นทุนอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเงิน เวลา และสภาพจิตใจ นี่คือเหตุผลว่าทำไมระยะห่างถึงสำคัญ

     ถ้าเรานำประเด็นระยะห่างจากการขับรถบนถนนมาประยุกต์ใช้กับเงินในกระเป๋าของเราก็จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงได้เช่นกัน และหลักที่จะเขียนต่อไปนี้เชื่อว่าทุกคนสามารถทำได้ถ้ามีความมุ่งมั่นและมีวินัยเพียงพอ

     สมมติว่าเราเป็นมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งที่มีรายได้ 30,000 บาทต่อเดือน โดยตลอดทั้งเดือนใช้กินอยู่ได้อย่างไม่ขัดสน เรียกได้ว่าเงินเดือนจำนวนเท่านี้ครอบคลุมต่อการใช้ชีวิตได้อย่างสบาย แต่ความสบายที่ว่าอาจจะมีความเสี่ยงได้เหมือนการขับรถไปเรื่อยๆ ภายใต้ความเร็วเท่าเดิม โดยไม่หัดประเมินความเสี่ยงจากรถคันข้างหน้าที่มีโอกาสจะเหยียบเบรกกะทันหันได้ทุกเมื่อ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ชีวิตจะเผชิญกับความเสี่ยงโดยทันที นั่นคือการถูกเลิกจ้างกะทันหัน!

     ฉะนั้น เราจึงต้องลดระยะของความเสี่ยงนี้ด้วยการเก็บเงินก้อนเพื่อใช้ในยามฉุกเฉินขึ้นมานั่นเอง

     ถามว่าเงินก้อนนี้ต้องเก็บเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่ คิดแบบไม่ซับซ้อนคือ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายที่ครอบคลุมต่อเดือนหรือคิดเป็น 180,000 บาท นั่นเอง แต่ถ้าอยากจะใช้ชีวิตแบบอุ่นใจไปเลยก็แนะนำให้เก็บเผื่อไปสัก 1 ปี ซึ่งเราจะมีเงินถึง 360,000 บาท

     นั่นหมายความว่ากรณีเราตกงานกะทันหัน อย่างน้อยภายใน 6 เดือนถึง 1 ปี เรายังมีคุณภาพชีวิตเหมือนเดิมควบคู่ไปกับการหางานที่ใหม่นั่นเองครับ

 

     ส่วนการทยอยออมนั้นก็แล้วแต่ว่าเราจะค่อยๆ ออม 10% หรือ 20% ต่อเดือน ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพคล่องของแต่ละคน แต่ถ้าใครมีความสามารถพิเศษอื่นๆ ก็สามารถเพิ่มพูนเงินออมได้จากการสร้างรายได้เสริม นั่นจะยิ่งทำให้เราไปถึงเป้าหมายได้เร็วเช่นกัน

     นี่คือการลดระยะความเสี่ยงที่ผมอยากฝากถึงกัน ซึ่งหากถามว่ามันมีชื่อเรียกแบบเท่ๆ ไหม ตอบได้เลยครับว่ามี ซึ่งในโลกของการเงินและการลงทุนเขานิยมเรียกว่า ‘Margin of Safety’ ครับ ใครที่อยู่ในแวดวงการเงินและการลงทุนมักจะรู้จักเป็นอย่างดี

     เซธ คลาร์แมน ได้ให้ความหมายนี้ได้อย่างกระจ่างในหนังสือ Margin of Safety ไว้ว่า

     ‘เป็นส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยที่สร้างขึ้นเมื่อเราซื้อหลักทรัพย์ที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมากๆ เพื่อช่วยรองรับความผิดพลาดที่อาจเกิดจากมนุษย์ ความโชคร้าย หรือความผันผวนอย่างรุนแรงในสถานการณ์ที่ซับซ้อน คาดเดาได้ยาก และเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว’

     นี่คือหลักคิดที่นักลงทุนหลายคนพกติดตัวเพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนให้มากที่สุด และแน่นอนว่าหลักคิดนี้สามารถขยายไปสู่การประยุกต์ใช้ในทุกๆ ด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการขับรถทางไกล หรือการสะสมเงินในยามฉุกเฉินของมนุษย์เงินเดือน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นโดยที่เราไม่บอบช้ำมากนัก

     นี่คือผลลัพธ์ที่ผมอยากให้ทุกคนได้จากหลักคิดของ Margin of Safety นั่นเองครับ