กล่อง

‘กล่อง’ ความคิดจากฮอกไกโด บรรจุภัณฑ์มือสองที่ประหยัดต้นทุนแถมยังได้กำไร

‘การเดินทางคือการลงทุนอย่างหนึ่ง’

นี่คือประโยคปลอบใจตัวเองทุกครั้งที่จ่ายเงินซื้อตั๋วเดินทางไปต่างประเทศ

     และประเทศญี่ปุ่นคือหนึ่งในประเทศที่ผมชื่นชอบ เชื่อว่าหลายคนที่อ่านอยู่คงชอบเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางด้านผู้คน วัฒนธรรม อาหาร แหล่งท่องเที่ยว หรืออุตสาหกรรมบันเทิง ต้องยอมรับว่าญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีความละเอียดในความคิดเป็นอย่างมาก

     ลูกพี่ลูกน้องของผมที่ประกอบอาชีพเป็นพนักงานต้อนรับบนสายการบินเล่าให้ฟังว่า เขาเคยลืมของสำคัญไว้บนรถไฟขบวนหนึ่งที่ญี่ปุ่น หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในประเทศอื่น คาดว่าโอกาสที่จะได้คืนคงเป็นศูนย์ แต่ไม่ใช่สำหรับประเทศญี่ปุ่น

     นอกเหนือจากจะหมดความกังวลเรื่องของหายแล้ว อาหารการกินก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ผมใฝ่ฝันทุกครั้งที่ไป และเมื่อกินอาหารญี่ปุ่นทีไร เสียงพากย์รายการในอดีตอย่าง ทีวีแชมเปี้ยน ก็ดังอยู่ในจินตนาการทุกครั้ง จึงไม่แปลกใจว่าทำไมญี่ปุ่นถึงอยู่ใกล้ชิดกับชีวิตของเรามานานจนส่งผลต่อการลงทุนในการเดินทางเพื่อไปเยี่ยมเยียน

     หากให้เขียนถึงความประทับใจสักเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางในประเทศญี่ปุ่น ผมมักจะนึกถึงเรื่อง ‘กล่อง’ เป็นเรื่องแรกเลยครับ หลายคนอาจสงสัยว่าเรื่องกล่องนี้มีดีกว่าแหล่งท่องเที่ยวหรือร้านอาหารอย่างไร จริงๆ อยากบอกว่าไม่ได้ดีกว่า เพียงแต่เป็นความประทับใจส่วนตัวที่อยากเอามาแชร์ เพราะผมเชื่อว่ามันส่งผลต่อการประยุกต์ในการจัดสรรทรัพยากรในชีวิตได้เหมือนกันครับ

 

     ตอนนั้นผมเดินทางไปฮอกไกโดในฤดูหนาว ภูเขาโดยรอบจึงเป็นสีขาวสะอาดตา ผมเดินตามผู้นำทัวร์คนหนึ่งไปในร้านขายของ เห็นนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินเข้าคิวเพื่อชำระสินค้า บางคนซื้อน้อยก็ใส่ถุง บางคนซื้อมากเพื่อนำกลับประเทศก็ต้องใส่กล่อง ซึ่งภายในร้านค้าจะมีจุดบรรจุภัณฑ์เพื่อให้ลูกค้าบริการห่อและแพ็กสินค้าลงกล่องด้วยตัวเอง

     ผมจึงเดินสำรวจ และพบว่ามีลูกค้าหลายคนกำลังมุ่งมั่นในการบรรจุสินค้าที่ซื้อมาลงไปในกล่อง บ้างก็บอกว่าเอาไปฝากพ่อแม่พี่น้องและเพื่อนพ้องที่ทำงาน จุดบริการตรงนั้นมีอุปกรณ์หลักๆ คือกล่องลังสีน้ำตาล ตามด้วยเทปกาว กรรไกร เชือก ปากกา กระดาษ และสก็อตเทป

     บางคนบรรจุอย่างมืออาชีพอันเป็นการบ่งบอกว่าทำมาแล้วหลายครั้ง บางคนก็เห็นได้ชัดว่าเป็นมือใหม่ด้านการบรรจุของ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นที่น่าสังเกตสำหรับผมคือกล่องแต่ละใบไม่ใช่กล่องใบใหม่เหมือนที่แม่ค้าออนไลน์ใช้นำส่งไปรษณีย์ทั่วไป ผมจึงย่างก้าวเข้าไปสอบถามกับผู้นำทัวร์ที่คาดว่าน่าจะไขข้อสงสัยของผมได้

 

     “มันคือกลยุทธ์การกำจัดขยะของประเทศญี่ปุ่นค่ะ”

     มิกิ ทัวร์สาวผู้น่ารักให้คำตอบ พอผมรู้ว่าเป็นเรื่องที่ถูกวางแผนมาแล้ว ความอยากรู้อยากฟังก็ทำให้ผมถามคำถามกับเจ้ากล่องเหล่านี้ตามไปอีกมากมาย

     มิกิเล่าให้ฟังว่าการกำจัดขยะแต่ละประเภทมีค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ ยกเว้นขยะประเภทที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ แต่เรื่องกล่องเธอไม่แน่ใจว่าต้นความคิดมาจากไหน เพียงแต่หลังจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่คนอยากมาเที่ยวมากขึ้นแล้ว สินค้าจำพวกอาหารและของที่ระลึกก็ได้รับความนิยมที่จะถูกนำกลับไปยังประเทศของนักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน และที่สำคัญพวกเขาจำเป็นต้องใช้กล่องบรรจุเพื่อโหลดขึ้นเครื่อง กล่องมือสองที่ยังมีสภาพที่ใช้ได้จึงไม่จำเป็นต้องถูกกำจัดและยังประหยัดงบประมาณไปได้ด้วยการนำมาใช้ต่อกับนักท่องเที่ยวนี่แหละ นั่นหมายความว่า นักท่องเที่ยวนำเงินเข้าประเทศไม่พอ ยังช่วยนำกล่องมือสองกลับประเทศของพวกเขาไปด้วย

     นี่เป็นเรื่องราวเล็กๆ แต่แฝงไปด้วยกลยุทธ์การกำจัดที่ประหยัดงบไปได้เยอะมากๆ เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ผมประทับใจเอามากๆ ในการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น หากจะบอกว่าค่าตั๋วเครื่องบินในครั้งนี้คือการไปสัมผัสบรรยากาศทั้งวัฒนธรรม อาหารการกิน และเรื่องกล่องความคิดนี้ ก็นับว่าเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่าในการลงทุนมากๆ ครับ

     หากผู้อ่านท่านใดมีเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Money Life Balance ก็สามารถเขียนแชร์มาที่อีเมล [email protected] ของผมได้นะครับ ขอบคุณที่ติดตามอ่านครับ