จากบทภาพยนตร์ โหมโรง ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ถูกดัดแปลงและนำเสนอในรูปแบบละครเวทีครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยมีบริษัทโต๊ะกลมโทรทัศน์เป็นผู้สร้างสรรค์ ผ่านมาเพียง ๓ ปี โหมโรง เดอะ มิวสิคัล กลับมาเปิดการแสดงบนเวทีอีกครั้ง อะไรที่ทำให้ โหมโรง กลายเป็นที่โจษจันจนต้องเปิดการแสดงเป็นครั้งที่สาม และคำตอบที่ชวนสงสัยนี้ก็ถูกคลายฉงนลงในค่ำคืนการแสดงรอบปฐมทัศน์
ไฟในโรงละครค่อยๆ หรี่ลงจนมืด เสียงระนาดบรรเลงขึ้นเพื่อโหมโรง ไม่นานนักม่านบนเวทีเปิดพร้อมกับแสงไฟเผยให้เห็นฉากแรกของการแสดง
“อารยะแห่งสยาม เพื่อความรุ่งเรืองของชาติไทย ต้องเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย เพื่อเกียรติภูมิของไทย คือโลกใหม่ศิวิไลซ์ เปลี่ยนให้หมด ถึงเวลาแล้วต้องเปลี่ยน เปลี่ยนให้หมด”
โหมโรง เดอะ มิวสิคัล นำเสนอเล่าเรื่องราวชีวประวัติของ หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ใน ๒ ยุคสมัย คือ ยุคนายศร ยุครุ่งเรืองของคนตรีไทย ในช่วงเวลานั้น ศร (แสดงโดย ‘อาร์ม’ – กรกันต์ สุทธิโกเศศ) คือนักระนาดหนุ่มในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ เติบโตมาในครอบครัวนักดนตรีไทย ทำให้มีความรักในเสียงดนตรี และมีพรสวรรค์ด้านนี้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก จนเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ความเก่งกล้าสามารถทำให้นายศรได้รับคำกล่าวขานว่า ระนาดหนุ่มแห่งอัมพวา เกิดเป็นความคึกคะนองคิดว่าตนเองเป็นที่หนึ่ง จนกระทั่งนายศรได้พบกับความจริงที่ทำลายความเชื่อมั่นในตนจนเกือบเสียสิ้นเมื่อเขาได้พบกับขุนอิน (แสดงโดย ‘เบิ่ง’ – ทวีศักดิ์ อัครวงษ์)
ยุคต่อมา คือ ยุคท่านครู (แสดงโดย ‘พ่ออี๊ด’ – สุประวัติ ปัทมสูต ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง) ผู้สอนและถ่ายทอดดนตรีไทยให้ลูกศิษย์ รวมถึงสร้างสรรค์เพลงไทยมากมายให้กับแผ่นดินสยาม และเป็นยุคแห่งความท้าทายของดนตรีไทย เมื่อประเทศต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ท่ามกลางสงครามและความสั่นคลอนในความมั่นคงของชาติ เป็นเหตุให้ท่านผู้นำออกกฎเกณฑ์และนโยบายควบคุมการเล่นดนตรีไทยอย่างเคร่งครัด จนสร้างความเดือดร้อนให้กับนักดนตรีไทยในยุคนั้นเป็นอย่างมาก ถึงขั้นต้องแยกย้ายไปทำอาชีพอื่น ความสิ้นหวังนี้ทำให้บางคนเลือกจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย
เรื่องราวของ โหมโรง เดอะ มิวสิคัล ดำเนินเรื่องสลับไปมาระหว่างสองยุค เพื่อแสดงให้เห็นพัฒนาการของตัวละครในแง่มุมต่างๆ ทั้งความคิด ความรู้สึก และความสามารถ กลายเป็นเส้นเรื่องที่เข้มข้น ครบรส ครบอารมณ์ โดยเฉพาะความรักระหว่างนายศรและแม่โชติ (แสดงโดย ‘แนน’ – สาธิดา พรหมพิริยะ และ ‘แม่เม้า’ – สุดา ชื่นบาน) และมุกตลกที่ถ่ายทอดโดย ทิว เพื่อนสนิทนายศร (แสดงโดย ‘นาย’ – มงคล สะอาดบุญญพัฒน์) ซึ่งคอยสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมทั้งโรงละครได้อย่างพร้อมเพรียง นับเป็นความฉลาดของทีมผู้สร้างที่เลือกใช้และสอดแทรกความตลกให้อยู่ในแต่ละฉากได้อย่างลงตัว ช่วยเพิ่มอรรถรสในการชมละครได้เป็นอย่างดี
สองสิ่งที่สำคัญที่สุดที่สัมผัสได้จาก โหมโรง เดอะ มิวสิคัล ซึ่งไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือการเดี่ยวและประชันระนาดสดบทเวที และประเด็นการตีตราว่าดนตรีไทย ‘คร่ำครึ’
เสียงระนาดเอกก้องกังวานใสทั่วทุกอณูของโรงละคร ลั่นดังลึกเข้าไปในหัวใจของผู้ชม ทุกสายตาต่างจับจ้องไปบนเวที เหมือนว่าลมหายใจถูกกลั้นไว้ชั่วครู เพียงเพื่อห้ามไม่ให้รบกวนความไพเราะของเสียงระนาด การตีระนาดบนเวทีจึงไม่ใช่แค่การแสดง แต่เป็นการเดี่ยวและการประชันสดที่สร้างความตื่นตาตื่นใจตลอดเวลา โดยเฉพาะการตีระนาดของ อาร์ม กรกันต์ ที่ผ่านการมุ่งมั่นฝึกซ้อมมาอย่างหนักถึง ๘ เดือน เสมือนระนาดเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ที่เขาควบคุมให้บรรเลงเป็นเพลงตามที่ใจนึก
“ข้าก็ไม่รู้อะไรดลใจอย่างนั้น ให้สิ่งที่ฝันในใจมีแต่แค่เพียงเรื่องนี้ ดูเหมือนชีวิตและหัวใจอยากบรรเลง ดีด สี ปรารถนาใดไม่มี แค่ได้เล่นดนตรี ได้ยินเสียงดนตรี ข้าก็พอใจ” นับเป็นผลลัพธ์ที่สร้างความอัศจรรย์ใจให้กับทุกคนที่ได้ชม
สำหรับประเด็นการตีตราว่าดนตรีไทย ‘คร่ำครึ’ นั้นเป็นผลพวงจากความพยายามอย่างยิ่งยวดในเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงให้ประเทศก้าวทันนานาอารยะ โดยเฉพาะวัฒนธรรมตะวันตก เกิดเป็นการลุกขึ้นต่อสู้และตอบโต้ทั้งทางกายและทางจิตวิญญาณของกลุ่มคนที่เชื่อและยึดมั่นใน ‘ราก’
“
สาระเลื่อนลอยมากกว่า บัญญัติขึ้นมาอย่างไม่เข้าใจ จะควบคุมเราได้เพียงร่างกาย แต่จิตวิญญาณข้างในเรายังคงเสรี
”
ฉากที่พาความรู้สึกของผู้ชมให้ด่ำดึงลงในห้วงแห่งความเศร้าอย่างร้ายกาจ คือฉากที่พันโทวีระ (แสดงโดย ‘โย่ง’ – อนุสรณ์ มณีเทศ) บุกเข้าตรวจค้นบ้านท่านครู และวิพากษ์ถึงประเด็นดนตรีไทย ก่อนท่านครูจะพูดตอบโต้ความขืนขึงและหยิ่งทะนงของพันโทวีระ คล้ายกับว่าเตือนสติให้เข้าใจถึงรากเหง้าที่อาจมองข้ามไปว่า
“ไม้ใหญ่ยืนทะนง ยันผองภัยคุกคาม หยัดตรงด้วยรากงาม หยั่งลึกลงพื้นดิน ระเบิดพังได้แต่เนื้อไม้ แต่ใจคนทำลายได้ทุกสิ่ง ไร้ราก ไร้แผ่นดิน เราจะอยู่อย่างไร?”
เหมือนกับคำกล่าวในภาพยนตร์ โหมโรง ที่ว่า “ไม้ใหญ่จะยืนทะนง ต้านแรงช้างสารอยู่ได้ ก็ด้วยรากที่หยั่งลึกและแข็งแรง ถ้าไม่ดูแลรักษากันไว้ให้ดี เราจะอยู่รอดกันได้แบบไหน”
เมื่อท่านครูพูดจบลง ก็ได้เดินไปที่ระนาดเอกก่อนเดียวเพลง ‘แสนคำนึง’ แม้ไร้ซึ้งคำพูด แต่กลับถ่ายทอดความรู้สึกโศกเศร้าที่อยู่ภายในของท่านครูออกมา แต่ละโน้ตดนตรีที่ระนาดบรรเลงกระทบเข้าไปในใจผู้ชมอีกครั้ง จนปลดเปลืองน้ำตาให้ไหลออกมาในที่สุด นี่คือพลังของเพลง พลังของดนตรีที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าจะมีพลังหรืออำนาจใดเสมอ
ถ้าเสียงระนาดเอกจากภาพยนตร์ โหมโรง เคยสร้างความประทับใจและภาคภูมิใจในรากเหง้าของความเป็นไทยฉันใด โหมโรง เดอะ มิวสิคัล ๒๕๖๑ ก็ยังคงทำหน้าที่ฉันนั้นได้อย่างสมบูรณ์แบบเช่นเดียวกัน และความสัตย์จริงข้อหนึ่งของ โหมโรง ก็คือการถ่ายทอดแนวคิดอนุรักษ์นิยมผ่านเครื่องดนตรีไทยอย่างระนาดเอก ที่เคยถูกมองว่าโบราณ ล้าสมัย และคร่ำครึ มาสร้างเป็นพลังและกระแสสังคมให้เกิดการตระหนึกถึงคุณค่าของศิลปะและวัฒนธรรมไทย ซึ่งสามารถเป็นแรงบันดาลใจสำคัญและสร้างปรากฏการณ์ให้คนไทยสนใจดนตรีไทยอีกครั้ง
ตลอดการแสดงนอกเนื่องจากเรื่องราวที่เข้มข้น และการแสดงที่สมบทบาทของนักแสดง ยังมีบทเพลงอันไพเราะ ดนตรี รวมถึง ฉาก แสง สี ที่ทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบคอยสนับสนุนกันและกันจนทำให้ โหมโรง เดอะ มิวสิคัล กลายเป็นละครเวทีแห่งปี ๒๕๖๑ ที่จะทำให้ผู้ชมทุกคนอิ่มเอมใจ และซาบซึ้งไปกับ ‘รากเหง้า’ ของเราทุกคน
“เสียงไกลไกล เสียงนั้นเสียงหนึ่งที่นำฉันมา เป็นเสียงจากฟากฟ้า หรือจากใบหญ้าที่ยังไม่เคยเลือนหาย เสียงกังวาน หวานแว่วดังแผ่วละมุนละไม เป็นเสียงจากแผ่นไม้หรือจากน้ำใส ช่างไพเราะเกินจะเอ่ย เป็นเสียงจากที่ใดหรือจากข้างในช่างไพเราะเกินจะเอ่ย”
ม่านปิดลงพร้อมกับเสียงปรบมือที่ดังกังวาลพอๆ กับเสียงระนาดที่เคยดังก่อนหน้านี้ ผู้ชมต่างเดินออกจากโรงละครด้วยรอยยิ้มบนใบหน้าที่ยังไม่คลายจางหาย
จวบจนถึงตอนนี้ ‘เสียงนั้น’ ยังคงดังอยู่ข้างในใจ และจะคงอยู่เช่นนี้ตลอดไป
FYI
โหมโรง เดอะ มิวสิคัล ๒๕๖๑ เปิดการแสดงถึงวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๑ ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น ๗ สยามสแควร์ วัน
รายละเอียดเพิ่มเติม www.facebook.com และ www.thaiticketmajor.com