หนังสือแต่ละเล่มทำหน้าที่ต่างกัน บางเล่มเป็นโรงมหรสพ บางเล่มเป็นช่างเทคนิคของความรู้ บางเล่มเป็นอาหารย่อยง่าย ขณะที่บางเล่มเป็นเหมือนคู่สนทนาระหว่างการเดินทางไกล
Life Lessons หรื่อชื่อในภาษาไทย ชีวิตสอนอะไรเราบ้าง ของ อลิซาเบธ คืบเลอร์-รอสส์ และ เดวิด เคสเลอร์ คงอยู่ในประเภทหลังสุด ด้วยพื้นฐานประสบการณ์ของผู้เขียนทั้งสองท่านที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ที่อยู่ในภาวะยากลำบากก่อนเสียชีวิต และญาติมิตรของผู้สูญเสีย ทำให้เรื่องเล่าที่ตกผลึกและเรียบเรียงออกมาเป็นบทเรียน 14 เรื่อง นำพาเราไปทบทวน ใคร่ครวญ ตั้งคำถามกับคุณค่าและความหมายที่แท้จริงของการมีชีวิตอยู่
ชีวิตคืออะไร? เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร? เราควรมีชีวิตอยู่อย่างไร? คำถามสำคัญที่ผู้คนจำนวนมากทั้งจากอดีตจนถึงปัจจุบันต่างก็พยายามหาคำตอบ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีคำตอบสูตรสำเร็จตายตัว อลิซาเบธ และเดวิด ก็ไม่ได้พยายามตอบคำถาม 3 ข้อนี้ด้วยคำตอบเดียว แต่พวกเขาใช้เรื่องเล่าจากประสบการณ์ของผู้คนจำนวนมากปะติดปะต่อจนเห็นรูปแบบร่วมกันบางประการ นั่นคือ การตระหนักรู้ในตน การเห็นคุณค่าทั้งในชีวิตตนและผู้อื่น และการเกื้อกูลต่อกันอย่างมีเมตตา
สำหรับผู้ที่ผ่านการสูญเสีย และผู้ที่เผชิญหน้าอยู่ใกล้ชิดกับความตายอย่างที่สุด ชีวิตได้มอบโอกาสสำคัญให้พวกเขาได้ฉุกคิด และตื่นรู้ ณ ห้วงเวลาที่มืดมิดที่สุดและสิ้นหวังที่สุด สัญชาตญาณเอาตัวรอดของมนุษย์ทำให้กลับมามีสติอยู่กับปัจจุบัน ไม่มีเรื่องราวที่ผ่านเลยไป และเปล่าประโยชน์ที่จะพูดถึงภาพฝันอันเลือนรางเบื้องหน้า สภาวะดังกล่าวเปิดเปลือยให้เราเห็นเนื้อแท้ของชีวิต คุณค่าของสิ่งที่เรามองข้ามทั้งเวลาและความสัมพันธ์ ความรักและเมตตาอย่างจริงใจทั้งที่ได้รับมาและได้แบ่งปันแก่ผู้อื่น ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับผู้คนรายล้อม ความหวาดกลัว ความเขลา บาดแผลที่เราได้รับมาและได้สร้างไว้แก่ผู้อื่น ความรู้สึกสำนึกผิดและการให้อภัย
การเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตของผู้คนหลายสิบชีวิตผ่านการบอกเล่าของผู้เขียน ช่วยส่องสะท้อนให้เห็นว่าในห้วงยามที่ชีวิตสับสน ปั่นป่วนไปด้วยอารมณ์ทุกข์สุข หวาดกลัว หดหู่สงสัย ผู้คนจำนวนมากเลือกที่จะปิดการรับรู้แล้วโอบกอดตัวเองไว้แน่นจนละเลยการมองไปรอบตัว และการมองออกไปนอกตัว ขณะที่อีกจำนวนมากเช่นกันที่เลือกจะหลีกหนีความทุกข์ในส่วนลึก กราดเกรี้ยวกล่าวโทษแต่กับผู้คนรายล้อม เตลิดและเพลิดเพลินไปกับสิ่งเร้าอื่น กระโจนไปกับกระแสธารเชี่ยวกรากของชีวิตจนอ่อนล้า แน่นอนว่าทางเลือกทั้งสองแนวทางไม่อาจนำพาเราให้เข้าถึงสุขสงบสันติที่แท้จริงได้
อลิซาเบธ ได้ชี้ประเด็นสำคัญไว้หนึ่งเรื่องตั้งแต่ช่วงต้นของหนังสือ เธอกล่าวไว้ว่า
“
พวกเราทุกคนล้วนมีคานธีและฮิตเลอร์อยู่ในตัวทั้งนั้น คานธี หมายถึง สิ่งที่ดีที่สุดในตัวเรา ความเมตตาสูงสุด ขณะที่ฮิตเลอร์ก็หมายถึง สิ่งเลวร้ายที่สุดในตัวเรา ความคิดแง่ลบและความคับแคบในจิตใจ
”
การเปรียบเปรยเรื่องคานธีและฮิตเลอร์ของอลิซาเบธ มิได้จำกัดอยู่แค่การปฏิบัติตนของเราต่อผู้อื่น แต่ยังหมายรวมถึงวิธีการที่เราดูแลชีวิตภายในของตนเองด้วย
ขณะที่เราจัดการชีวิตภายนอกได้อย่างราบรื่น ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คน ได้รับการยอมรับในวงวิชาชีพ แต่หากฮิตเลอร์ทำงานอยู่ภายใน โบยตีตัวตนภายในให้ฝืนลุกขึ้นจากเตียงนอนและออกจากที่พำนักเพื่อออกไปเล่นละครหลอกผู้คนท่ามกลางชีวิตที่ดูพรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สินเงินทองและชื่อเสียง ทว่าภายในตัวเรากลับแห้งแล้ง กลวงร้าง ว่างเปล่า ฉาบเคลือบชีวิตที่ปราศจากจุดหมายที่แท้จริง ขาดเมตตาธรรมที่แท้จริง จมอยู่กับการแสดงเพื่อป่าวร้องถึงชีวิตที่ดีตามแบบที่สังคมมุ่งหวัง เราจะเข้าถึงความหมายที่แท้จริงด้วยหุ่นเชิดของชีวิตเหล่านั้นได้อย่างไร
และเช่นกัน จะมีประโยชน์อันใด หากเมตตาธรรมในใจเราที่ยึดมั่นไว้ มีไว้เพียงเพื่อดูแลแค่ชีวิตภายในของเราเอง เยียวยาแต่ตนเอง คานธี ได้รับการสรรเสริญในฐานะมหาบุรุษของคนทั้งโลกก็ด้วยการแสดงถึงเมตตาธรรมอันยิ่งใหญ่แก่ผู้คนโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา ชนชั้นและวรรณะ ความรักและการให้อภัยเป็นภาคแสดงของเมตตาธรรม เมื่อมันถูกส่งออกไป ส่งต่อๆ กันไป เฉกเช่นระลอกคลื่นของผิวน้ำ ผลสะเทือนของมันจึงแผ่ออกเป็นวงกว้าง และสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อมุมมอง ความคิด ความเชื่อของผู้คน ตอกย้ำว่าหน้าที่อันแท้จริงของมนุษย์นั้นคือ การเอื้ออาทรและเกื้อกูลกัน
จะมีช่วงเวลาใดเล่าที่เอื้อต่อการให้เราได้หวนคิด ฉุกคิด ตกผลึกทางความคิดได้มากไปกว่าช่วงเวลาของการถอยออกมาจากชีวิตที่คุ้นชิน พิจารณาชีวิตของเราเองผ่านชีวิตของคนอื่น ในฐานะผู้เขียน อลิซาเบธ และเดวิด ไม่ได้พร่ำสอน พวกเขาเพียงแต่เล่าเรื่องราวของผู้คนให้เราฟัง การอ่านหนังสือเล่มนี้จึงเป็นเหมือนการเดินทางภายใน ที่เรามีมิตรถึงสามคนที่ต้องทำความรู้จัก
หนึ่ง มิตรใหม่อย่างอลิซาเบธและเดวิด ที่นำเรื่องราวดีๆ มาแบ่งปันให้เราฟัง
สอง ผู้คนจำนวนมากในเรื่องเล่าของผู้เขียนทั้งสอง ที่ชวนให้เราเชื่อมโยงเรื่องราวของพวกเขาไปหาผู้คนอีกจำนวนมากในชีวิตของเราเองได้อย่างน่าทึ่ง
และ สาม มิตรคนสำคัญที่สุด นั่นคือ ตัวเราเอง
เรื่องเล่าและคำถามผ่านการใคร่ครวญของผู้เขียนทั้งสองคน จึงเป็นราวเสียงเพรียกที่ปลุกให้ตัวตนภายในของเราตื่นขึ้นมาสนทนา ถกเถียง ทบทวน หวนรำลึกถึงการเดินทางยาวไกลภายในของชีวิตเราเอง
มีคำกล่าวว่าชีวิตของผู้คนเหมือนแสงอันเรืองรองอยู่เพียงเวลาอันสั้น แต่ละชีวิตคือแสงส่องสะท้อนสอนบทเรียนชีวิต และแสงหนึ่งที่จะละเลยไม่ได้เลยก็คือแสงสว่างที่ถูกพรางให้พร่าเลือนภายในชีวิตของเราเอง
มองโลกจากภายนอกให้ชัดเพื่อทำความเข้าใจ มองโลกให้ชัดจากภายในเพื่อจัดใจและครองตน
เรื่อง: อรรถพล อนันตวรสกุล