ระหว่างที่เรายืนสังเกตพฤติกรรมผู้คนอยู่บนรถไฟฟ้า ไม่ว่าเราจะหันซ้ายหรือหันขวา ภาพที่เห็นจนชินตาคงคล้ายๆ กับที่หลายๆ คนพบ นั่นคือผู้คนกำลังจ้องหน้าจอโทรศัพท์มือถืออย่างคร่ำเคร่ง และมีความเป็นไปได้น้อยมากถึงมากที่สุดที่เราจะเห็นใครหยิบหนังสือขึ้นมานั่งหรือยืนอ่านฆ่าเวลาเหมือนแต่ก่อน จนอดสงสัยไม่ได้ว่า หากเราลองยื่นหนังสือดีๆ ให้สักเล่มเพื่อแลกกับการที่ให้เขาหยุดเล่นโทรศัพท์สักพัก ก็มีความเป็นไปได้อย่างสูงว่าเขาอาจเลือกปฏิเสธ ยกเว้นว่าโทรศัพท์มือถือเขาแบตเตอรี่หมด ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต
ถ้าอย่างนั้นเป็นเพราะอะไรกันนะ เพราะหนังสือไม่น่าอ่านอีกต่อไปแล้วอย่างนั้นหรือเปล่า ถ้าแบบนั้นก็ไม่ใช่ความผิดของเขา แต่เป็นความผิดของหนังสืองั้นเหรอ หรือจริงๆ เป็นที่ตัวนักเขียน และถ้าอย่างนั้น… หากโลกนี้ไม่มีหนังสือเลยล่ะจะเป็นอย่างไร
To Read or Not to Read, That Is My Question: หากโลกนี้ไม่มีหนังสือ
ผลงานของ จิมมี่ เลี่ยว (幾米) ที่มีชื่อภาษาจีนว่า 不愛讀書不是你的錯 แปลความหมายได้ประมาณว่า ‘ไม่อ่านหนังสือไม่ใช่ความผิดของคุณ’ ซึ่งเขาทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า หนังสือเล่มสุดท้ายที่อ่านจบนั้นคือตอนไหน ซึ่งคิดตามแล้วก็พบว่านานมากๆ แล้วอะไรทำให้เราไม่ได้หยิบหนังสือขึ้นมาอ่านอีก แล้วการที่เราไม่อ่านหนังสือนั้นเป็นเรื่องผิดหรือเปล่า
จุดเริ่มต้นของเรื่องราวนี้มาจากลูกชายร้านขายหนังสือร้านหนึ่ง เขาเห็นพ่อของตัวเองนั่งเศร้าซึมที่ลูกค้าลดลงไปจนจำใจต้องปิดร้านลง เขาจึงชวนเหล่าเพื่อนๆ (อดีต) หนอนหนังสือที่เป็นลูกค้ามาคุยกันว่า “ทุกวันนี้เรายังมีความสุขกับการอ่านหนังสือกันอยู่หรือเปล่า?” พ่อเขายังคงอยากแบ่งปันความความรักและความหลงใหลในหนังสือให้กับทุกคน ผ่านสไลด์คำพูดที่เป็นแรงบันดาลใจจากหนังสือจำนวนมาก ผ่านคำกล่าวอมตะจากนักเขียนดังทุกยุคที่อ่านแล้วถึงกับต้องสะอึก
“หนังสือคือความบันเทิงสมบูรณ์แบบ ไม่มีโฆษณาคั่น ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ ให้ความรื่นรมย์ คุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ ผมสงสัยนักว่าทำไมทุกคนไม่พกหนังสือติดตัวไว้เลย เผื่อสถานการณ์อับจนในชีวิต” —สตีเฟน คิง
สตีเฟน เอดวิน คิง (Stephen Edwin King) นักเขียนนิยายสยองขวัญชาวอเมริกัน ที่มีความถนัดเรื่องเล่าเหนือธรรมชาติ ความพิศวง นิยายวิทยาศาสตร์ และแฟนตาซี หนังสือของเขาขายได้มากกว่า 350 ล้านเล่ม หลายเรื่องได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และหนังสือการ์ตูน คิงเขียนวรรณกรรมมาแล้ว 58 เล่ม โดยเจ็ดเล่มเขียนภายใต้นามปากกา ริชาร์ด บากแมน และหกเล่มเป็นนอนฟิกชัน
ผู้ใหญ่ในวันนี้ก็คือเด็กในวันวาน
แต่มีเหรอที่คนส่วนใหญ่ในยุคนี้จะดื่มด่ำการได้สัมผัสหนังสือแต่ละเล่มที่มีบุคลิกแตกต่างกันไป มีความสุนทรีย์กับการสูดดมกลิ่นกระดาษหรือชื่นชมดอกไม้แห้งที่ใช้คั่นหนังสือ นั่งมองหน้ากระดาษที่พลิกเองไปมาเวลาลมพัด ดูแสงวับวาวของดวงจันทร์ที่ฉายลงหน้ากระดาษอาบมัน ใช้ดินสอหรือปากกาขีดเขียนข้อความบางอย่างลงไปในหน้าหนังสือเพื่อระลึกถึงข้อความที่เพิ่งอ่านเจอ และถ้าในอนาคต โลกนี้ไม่มีหนังสือแล้วจริงๆ เราจะสัมผัสกับเสน่ห์เหล่านี้ได้จากไหน
เรื่องราวของเด็กกับพ่อคนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงพลวัตของสภาพสังคมในปัจจุบัน เทคโนโลยีสุดล้ำอย่างอินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์หรืออีบุ๊ก เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการชีวิตประจำวันของเรา เล่ห์กลของทุนนิยมลวงหลอกเราด้วยข้อดีนานัปการให้ละทิ้งหนังสือสุดคลาสสิกแล้วไปคว้าจับเทคโนโลยีใหม่ๆ
จนกระทั่งเทคโนโลยีสุดล้ำที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนในปัจจุบัน จากที่เคยต้องอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ เพียงอย่างเดียว แต่เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็หันมาซื้ออีบุ๊กทางอินเทอร์เน็ต หรือไม่ก็เสพสื่อฟรีๆ ทางออนไลน์กันแล้ว เอาเข้าจริงๆ เรามีกิจกรรมให้เลือกทำเยอะแยะมากมายกว่าที่จะเอาเวลามาเสียกับการอ่านหนังสือด้วย ทั้งเกมออนไลน์ คลิปเป็นล้านๆ เรื่องในยูทูบ หรือสิ่งของสารพัดอย่างที่ถูกผลิตออกมาจนแทบจะไม่เหลือเวลาให้กับหนังสืออีกแล้ว
แต่จะว่าเด็กสมัยนี้อย่างเดียวก็ไม่ถูก เพราะมีเรื่องแปลกที่เราเจอคือผู้ใหญ่สมัยนี้ก็ไม่ชอบอ่านหนังสือกันแล้ว แต่ก็ยังมีความย้อนแย้งตรงที่อยากให้เด็กๆ อ่านหนังสือกันจนหัวระเบิด ไลฟ์สไตล์ของผู้ใหญ่ยังเปลี่ยนได้ เด็กก็เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เด็กกลับมักถูกคาดหวังจากผู้ใหญ่ให้ทำในกฎเกณฑ์ที่ตัวเองคิดว่าดี แม้ว่านั่นจะเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่เองก็ทำไม่ได้ อยากให้เด็กได้ดี แต่ก็มักจะลืมทำตัวเองให้ดีไปด้วย
อาจจะไม่ใช่เรื่องผิดหรอกที่คนสมัยนี้ โดยเฉพาะเด็กยุคนี้ จะไม่ชอบอ่านหนังสือ เอาเข้าจริงพวกเขาไม่ได้เกลียดการอ่านหนังสือหรืออะไร เพียงแต่ว่าไม่ชอบการถูกสั่งให้อ่านหนังสืออย่างนั้นอย่างนี้ ผู้ใหญ่หลายคนก็อาจจะลืมคิดไปว่าเขาเองอาจเป็นต้นเหตุทำให้การอ่านหนังสือกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อหรือเปล่า ไม่ว่าใครก็ตามไม่ควรที่จะรู้สึกแย่กับการอ่านใช่ไหม คนเราทุกคนควรมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะอ่านหนังสือที่ตัวเองสนใจและชื่นชอบ การที่ยกย่องหรือให้คุณค่ากับคนที่อ่านหนังสือมากจนเกินไปก็น่าอึดอัดเหมือนกัน จริงอยู่ว่าการอ่านเป็นเรื่องดี แต่ก็ใช่ว่าการไม่อ่านหนังสือจะกลายเป็นเรื่องไม่ดีไม่ใช่หรือ ถ้าทั้งผู้ใหญ่และเด็กต่างจูนเข้าหากัน คนอาจจะหันกลับมาชอบอ่านหนังสือกันมากขึ้นก็ได้
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที่ทำให้คุณไม่รักการอ่านหรือเลิกอ่านหนังสือไป เราอยากให้คุณลองกลับมาอ่านหนังสือ เริ่มจากหนังสือเล่มนี้ก็ได้ เป็นหนังสือภาพอ่านง่ายๆ ที่เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่แค่สำหรับเด็กเท่านั้น นี่ไม่ใช่คำขอร้องเว้าวอนให้ทุกคนต้องกลับมาอ่านหนังสือหรอก และนี่ไม่ใช่หนังสือที่จะตัดสินใครด้วย แต่ถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนที่หลงรักการอ่านหนังสืออยู่แล้ว เล่มนี้จะทำให้คุณรู้สึกเหมือนต้องมนตร์
การอ่านหนังสือเป็นเรื่องที่ดี แต่สุดท้ายแล้วถ้าคุณจะไม่กลับมาอ่านหนังสือจริงๆ นั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิดเลย ไม่ว่าใครก็สามารถเรียนรู้โลกได้ในสไตล์ของตัวเอง
แต่เชื่อเถอะ เราอยากให้คุณอ่านหนังสือ (เล่มนี้) จริงๆ
adB JUNIOR The Review
บทความโดย: ปารณ ศรีสุนทร
ภาพประกอบโดย: ธนพงศ์ ธานี และ กรแก้ว บัวสระแก้ว