บีบหัวใจเหลือเกิน…
ความคิดนี้วนเวียนอยู่ในหัวตลอดเวลากว่า 1 ชั่วโมงครึ่งที่เราได้เข้าไปชมภาพยนตร์เรื่อง A Fantastic Woman หนังฟอร์มเล็กจากประเทศชิลี ที่คว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมประจำปีนี้ไปครอง ด้วยการเล่าเรื่องราวของสาวประเภทสองที่ต้องต่อสู้กับความเศร้าโศกหลังจากที่คนรักของเธอเสียชีวิตลง ท่ามกลางการตั้งคำถามของสังคมที่เจ็บแสบ บีบหัวใจ กดดัน แต่กลับมอบพลังที่ยิ่งใหญ่จนแทบกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่
“Your love is like yesterday’s newspaper, which no one wants to read anymore…”
“ความรักของเธอเปรียบเสมือนหนังสือพิมพ์ฉบับเมื่อวาน ที่ไม่มีใครอยากเปิดอ่านอีกแล้ว…”
หนังพาเราไปเจอกับ ‘มาริน่า’ ครั้งแรก ตอนที่เธอกำลังร้องเพลงละตินจังหวะซัลซ่าที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง เธอเป็นนักร้องสาวประเภทสองวัย 30 ต้นๆ ที่มีพรสวรรค์ด้านการร้องเพลงเป็นอย่างมาก ในจังหวะนั้นเอง เธอเหลือบเห็น ‘ออร์แลนโด’ ชายหนุ่มวัย 57 ปี ผู้หย่าร้างกับภรรยา กำลังจ้องมองเธอด้วยแววตาที่ชื่นชมและแฝงไปด้วยความเสน่หา
แม้ว่าในช่วงแรก หนังจะไม่ได้เผยถึงพัฒนาการความสัมพันธ์ของ 2 ตัวละครนี้เท่าไหร่นัก แต่ก็ทำให้เราเชื่ออย่างสนิทใจได้ว่า มาริน่า และ ออร์แลนโด ได้บ่มเพาะความรัก ความเข้าใจ จนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตกันและกันอย่างไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศ หรืออายุ
แต่เหตุการณ์ก็พลิกผันเมื่อจู่ๆ ออร์แลนโดก็เสียชีวิตอย่างกะทันหันด้วยโรคร้าย ทำให้มาริน่าต้องติดต่อกับครอบครัวของเขาเพื่อจัดการพิธีศพ จุดนี้เองที่หนังค่อยๆ พาเราไปเห็นปัญหาในการใช้ชีวิตของมาริน่า ในฐานะสาวประเภทสองที่ไม่ได้รับการยอมรับทางสังคม แต่เธอก็เลือกที่จะต่อสู้ ไม่ได้เพื่อให้ทุกคนมารักเธอ แต่เพื่อสิทธิ์ที่จะได้รับความรักจากผู้ชายที่รักเธอก็เท่านั้น
Daniela Vega
องค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้น่าติดตามและทรงพลังเป็นอย่างมาก คือฝีมือการแสดงของ Daniela Vega ผู้รับบทนำเป็น มาริน่า ซึ่งในชีวิตจริงเธอก็เป็นหญิงสาวข้ามเพศเช่นกัน ทำให้สามารถสื่ออารมณ์ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมจนทำเอาเราขนนลุกไปหลายฉาก
อย่างไรก็ตาม ในตอนเริ่มโปรเจ็กต์หนัง Vega ไม่ได้ถูกแคสต์มารับบทมาริน่าแต่อย่างใด เพราะเธอถูกเชิญมาเป็นแค่เพียงที่ปรึกษาด้านบทภาพยนตร์ให้กับ Sebastian Lelio ผู้กำกับเท่านั้น แต่หลังจากที่ Lelio ได้รับฟังเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตของเธอในฐานะเป็นสาวข้ามเพศแล้ว เขาก็ตัดสินใจขอให้เธอมารับบทเป็นนักแสดงนำในทันที
**บทวิเคราะห์ส่วนนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ
สิ่งที่ A Fantastic Woman ทำให้เราประหลาดใจได้เป็นอย่างมาก คือการที่หนังได้เปิดมุมมอง LGBT ของประเทศชิลีในแบบที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เพราะเราคิดมาเสมอว่าประเทศแถบละตินอเมริกาจะค่อนข้างเปิดกว้างด้านความหลากหลายทางเพศ ทั้งการจัดงาน Pride Parade หรือคาบาเร่โชว์ที่ยิ่งใหญ่ติดอับดับโลก แต่หากมองให้ลึกลงไปถึงระดับจิตใจของคนทั่วไปแล้ว ชาวเพศทางเลือกยังโดนปิดกั้นจากสังคมและถูกมองว่าแปลกแยกอยู่มาก สังเกตได้จากคำพูดและการกระทำที่ดูหมิ่นของครอบครัวออร์แลนโดที่ปฏิบัติต่อมาริน่าราวกับเธอไม่ใช่มนุษย์ โดยเราขอแบ่งประเด็นที่เราสนใจจากหนังออกมาเป็น 5 ข้อด้านล่างนี้
1. “ช่วยเปิดท่อนล่างนั้นด้วย”
ถ้าคนรักเสียชีวิต เป็นใครก็ต้องเศร้า แต่แทนที่มาริน่าจะได้รับการปลอบประโลมเหมือนกับผู้หญิงที่สูญเสียคนรักทั่วไป เธอกลับเจอกับการตั้งคำถามเชิงดูหมิ่นมากมายทั้ง ‘เขาซื้อบริการคุณใช่ไหม’ ‘เธอตัดส่วนนั้นออกไปหรือยัง’ รวมไปถึงนักสืบและหมอที่ขอตรวจร่างกายและถ่ายรูปเธอด้วยการบอกว่า ‘ช่วยเปิดท่อนล่างนั้นด้วย’ ทั้งๆ ที่มันไม่ได้เกี่ยวกับการหาหลักฐานทางการแพทย์ในขณะนั้นเลย แต่ก็ต้องยอมรับว่าหนังเลือกที่จะสื่อสารตรงนี้ออกมาได้อย่างมีชั้นเชิงด้วยการไม่เผยให้คนดูเห็นว่าสุดท้ายแล้วมาริน่าแปลงแล้วหรือยัง เพราะจริงๆ แล้วการจะมีอวัยวะเพศไหนมันไม่ใช่สิ่งที่จะมาวัดคุณค่าอะไรของคนได้เลย
2. ตัวประหลาดที่สังคมยัดเยียด
ในความคิดของเรา มาริน่าเป็นผู้หญิงที่สวยและมีเสน่ห์มาก (ลากเสียงยาว) เธอมักแต่งตัวเป็นสาวเท่ มีสไตล์ ไม่ได้เปิดเผยเรือนร่างหรือแสดงกิริยาไม่เหมาะสม แต่เธอโดนกล่าวหาตลอดว่าเป็นตัวประหลาด น่าขยะแขยง เอาจริงๆ ก็เหมือนเป็นเรื่องที่เก่าและล้าสมัยไปแล้ว ที่ใครจะยังมาบอกว่าเพศที่สามเป็นตัวประหลาด ผิดแปลกจากสังคม แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในหลายมุมโลก
หนังเรื่องนี้ถ่ายทอดข้อความนี้ออกมาได้ชัดเจนที่สุดตอนที่เธอถูกลูกชายและญาติของออร์แลนโดพาขึ้นรถและเอาสก็อตเทปมาพันรอบหน้าจนบูดเบี้ยว เปรียบเสมือนการยัดเยียดให้คนๆ หนึ่งกลายเป็นตัวประหลาด ทั้งๆ ที่เธอก็เป็นเพียงผู้หญิงปกติคนหนึ่งเท่านั้นเอง
3. ความรักไม่ชนะกฎหมาย
น่าเศร้าเหลือเกินที่ต่อให้มาริน่าจะรักออร์แลนโดแค่ไหน สุดท้าย คนที่ได้ทุกอย่างไปกลับเป็น อเล็กซานดรา อดีตคนรัก และภรรยาตามกฎหมายที่ไม่ได้ผูกพันกับออร์แลนโดอีกแล้ว
ฉากปะทะคารมระหว่างมาริน่าและอเลสซานดรายิ่งตอกย้ำความจริงที่ชัดเจนว่า กฎหมายแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก ไม่เช่นนั้น ชาวหลากหลายทางเพศจะไม่ได้รับหลักประกันอะไรในการใช้ชีวิตคู่เลย เพราะในขณะที่อเลสซานดราได้ทั้งบ้าน รถ ข้าวของทุกๆ อย่างของออร์แลนโดไป มาริน่ากลับไม่ได้รับอะไรแม้แต่ ‘เดียบลา’ สุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ดที่เขาตั้งใจยกให้เธอ หรือสิทธิ์ในการไปบอกลาเขาที่งานศพเป็นครั้งสุดท้าย
4. ซ่อนความเศร้าไว้ในเงามืด
ในทุกๆ ฉากที่มาริน่าร้องไห้ เราจะเห็นว่าเธอมักจะแอบไปร้องไห้เงียบๆ ในที่ที่ไม่มีใครเห็น เช่นฉากในโรงพยาบาลที่เธอรีบวิ่งไปปิดประตูร้องไห้ในห้องน้ำ ฉากในรถที่เธอปล่อยให้น้ำตาไหลท่วมแว่นกันแดด หรือฉากในบ้านของออร์แลนโดที่เธอเอาหน้าไปซุกในตู้เสื้อผ้าแล้วปล่อยโฮออกมา ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าเธอเติบโตมาแบบเด็กผู้ชายที่ไม่ควรแสดงความอ่อนแอให้ใครเห็นง่ายๆ หรือเธอแค่พยายามแสดงเป็นผู้หญิงที่แข็งแกร่ง ทั้งที่จริงๆ แล้วภายในใจของเธอนั้นอ่อนไหวเหลือเกิน
5. บางครั้งความรักก็พิสูจน์ไม่ได้ และนั่นก็เป็นความจริงที่แสนเจ็บปวด
สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดที่สุดในการดูหนังเรื่องนี้ คือการที่หนังหลอกล่อให้เรามีความหวังในตอนท้าย ว่ามาริน่าจะสามารถพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นได้ว่า ความรักของเธอและออร์แลนโดเคยเกิดขึ้นจริง ไม่ใช่แค่ความใคร่แบบที่ใครตราหน้า นำไปสู่ฉากที่เธอตัดสินใจเปิดล็อกเกอร์ของออร์แลนโดดูในตอนท้าย เพราะเธอ (และเรา-ในฐานะคนดู) คิดว่าล็อกเกอร์นั้นเปรียบเหมือนความหวังสุดท้ายที่ซ่อนความลับทุกอย่างเอาไว้
แต่ในบทสรุป ล็อกเกอร์นั้นก็เป็นเพียงตู้เก็บของว่างเปล่า ไม่มีจดหมายลา ไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ ที่มาริน่าจะสามารถนำไปบอกคนอื่นๆ ได้ว่าความรักครั้งนี้เป็นเรื่องจริง ใช่ มันน่าเศร้า แต่มันก็คือความจริง เพราะสุดท้ายความรักครั้งนี้ก็คงมีแต่เธอและออร์แลนโดเท่านั้นที่รู้ดีที่สุด