Crazy Rich Asians

The Review | Crazy Rich Asians ความน้ำเน่าที่เราพร้อมจะสูดดม

“แค่เทรลเลอร์ยังน้ำเน่าขนาดนี้”

เราพึมพำกับตัวเอง หลังจากที่ได้ดูเทรลเลอร์ภาพยนตร์เรื่อง Crazy Rich Asians หนังฮอลลีวูดเรื่องแรกในรอบ 25 ปี (ถัดจาก The Joy Luck Club) ที่ใช้นักแสดงหลักเป็นคนเอเชียและมีทีมงานเบื้องหลังเป็นชาวเอเชียเกือบทั้งหมด เพราะแค่เทรลเลอร์ก็พอเดาทางออกเลยว่า เป็นภาพยนตร์รอมคอมสูตรสำเร็จสไตล์ฮอลลีวูด ที่เอาพล็อตแสนซ้ำซากอย่างแม่ผัวลูกสะใภ้มาปัดฝุ่นและเล่าใหม่ให้มีสีสันขึ้น เพียงแค่ครั้งนี้เพิ่มความน่าสนใจด้วยการใส่องค์ประกอบแบบคนเอเชียลงไปให้ดู exotic กว่าเดิม

     แต่สุดท้ายเราก็ทนกระแสมาแรงของ Crazy Rich Asians ไม่ไหว ขอไปพิสูจน์ด้วยตัวเองเลยว่าทำไมหนังเรื่องนี้ถึงได้รับความนิยมล้นหลามในโลกตะวันตกจนสร้างรายได้ถล่ม box offfiice มากขนาดนี้

 

     121 นาที ผ่านไป…

 

     โอเค ร้องไห้ยับ

     ถึงแม้ว่าพล็อตเรื่องจะแสนธรรมดา แต่ด้วยบรรยากาศ บทสนทนาเฉือนอารมณ์แบบผู้ดีเก่า เพลงประกอบสุดอลังการ และเทคนิคการตัดต่อแพรวพราว ก็ทำให้ภาพยนตร์ที่ดูเป็น ‘Hollywood Cliche’ เรื่องนี้สนุกเกินคาด ทั้งตลกจนต้องหัวเราะตัวโยน แถมลึกซึ้งกินใจจนทำให้เราต้องเสียน้ำตาในตอนท้ายเรื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

Crazy Rich Asians

 

     Crazy Rich Asians เป็นภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือเบสต์เซลเลอร์ในชื่อเดียวกัน เขียนโดย Kevin Kwan นักเขียนชาวสิงคโปร์-อเมริกัน ผ่านฝีมือกำกับของ Jon M. Chu ผู้ฝากผลงานมันๆ ไว้อย่าง Step up 2, G.I. Joe: Retalaliation และ Now you see me 2 โดยผู้กำกับตั้งใจจะให้หนังเรื่องนี้เป็นกระแสทั้งในอเมริกาและทั่วเอเชีย เพื่อที่จะ Break Asian Stereotype ในโลกตะวันตก และลบภาพจำว่าคนเอเชียมีแต่เด็กเนิร์ด คนบ้างาน เพราะจริงๆ ก็ยังมีคนเอเชียระดับมหาเศรษฐีที่เรียกได้ว่ารวยแบบ ‘Crazy Rich’ และใช้ชีวิตหรูหราฟูฟ่าจนชนชั้นกลางทั่วไปแทบจะจินตนาการไม่ออก

     หนังเอาเราอยู่ตั้งแต่ต้นเรื่องด้วยการเปิดฉากแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของตระกูล ‘ยัง’ หนึ่งในครอบครัวมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในสิงคโปร์ จากนั้นก็เริ่มเล่าเรื่องชีวิตและความสัมพันธ์ของ ‘เรเชล ชู’ อาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และ ‘นิค ยัง’ ทายาทสุดฮอตที่จะมาสืบทอดธุรกิจของตระกูลยังอย่างไม่ยืดยื้อ

 

Crazy Rich Asians

 

     แต่เรื่องวุ่นๆ ก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อหนุ่มนิค ตัดสินใจพา เรเชล ชู บินไปสิงคโปร์ เพื่อร่วมงานแต่งเพื่อนสนิทของเขา และถือโอกาสพาเธอไปเจอกับครอบครัวยังเป็นครั้งแรก แต่ทันทีที่ราเชล ได้เจอกับ เอลีนอร์ ยัง คุณแม่ไฮโซสุดเฮี้ยบของนิค ก็ทำให้เธอรู้สึกได้เลยว่า เธอกำลังก้าวเท้าเข้าสู่สงครามเย็นในฐานะแม่ผัวลูกสะใภ้อย่างไม่ทันตั้งตัว ไม่ว่าจะด้วยคำพูดเชือดเฉือนและสายตาที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เธอไม่เหมาะสมกับลูกชายสุดเพอร์เฟ็กต์ของตระกูล

     มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะเกิดคำถามว่า แล้วมันน่าสนใจตรงไหน? เพราะอ่านดูแล้วยังไงก็คล้ายกับละครหลังข่าวไม่มีผิดเพี้ยน ใช่! มองเผินๆ มันก็คือละครหลังข่าวนั่นแหละ เพียงแต่ถูกห่อหุ้มด้วยโปรดักชันที่ละเมียดละไม สอดแทรกมุกตลกและคำพูดต่อล้อต่อเถียงแบบชาว Upper Class และที่สำคัญ มันยังหลอกล่อให้เราติดกับเข้าไปในโลกแฟนตาซีแห่งความรุ่มรวยที่ใครๆ ก็ใฝ่ฝัน จนบางทีก็ทำให้เผลอมองข้ามความไม่สมเหตุผลเล็กๆ น้อยๆ ในบทหนังไปได้

 

Crazy Rich Asians

 

*เนื้อหาต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์*

 

ความร่ำรวยเกินจินตนาการ

     สิ่งที่บันเทิงที่สุดในหนังเรื่องนี้ ‘ความรวย’ เป็นความรวยแบบรวยเป็นบ้า รวยจนงงว่ารวยอะไรได้ขนาดนั้น หนังใช้เวลามากมายในการแสดงฉากเสื้อผ้าแบรนด์เนม รั้วหน้าบ้านพระเอก เครื่องบินเจ็ทส่วนตัว เรือยอร์ชส่วนตัว ต่างหูคู่ละล้านดอลลาห์สิงคโปร์ ปาร์ตี้งานแต่งเวอร์วังอลังการ จนเหมือนเราหลุดเข้าไปอยู่ในโลกแฟนตาซีแห่งความรุ่มรวยที่แสนจะบันเทิงเริงรมย์ ซึ่งแน่นอนว่าบางครั้งก็อาจจะพูดได้ว่า เวอร์เกินไปจนไม่สมเหตุสมผล

     ฉากที่เห็นได้ชัดเจนคงจะไม่พ้นตอนที่ นิค ยัง โผล่มาขอ เรเชล ชู แต่งงานบนเครื่องบินชั้น economy ที่เธอกำลังจะบินกลับนิวยอร์ก เพราะถ้าเป็นคนธรรมดาๆ คงไม่มีใครทะเล่อทะล่าผ่านเข้ามาได้ แต่คงจะเป็นเพราะความรวยนั่นแหละ ที่ทำให้ทุกอย่างดูสมูทและสมเหตุสมผลไปเสียหมด ซึ่งมันตอกย้ำมายาคติเก่าๆ เหลือเกินว่า พอรวยแล้วทุกอย่างก็เป็นไปได้

 

Crazy Rich Asians

 

Stereotype ใน Stereotype

     ความย้อนแย้งอย่างหนึ่งของหนังเรื่องนี้ คือเป็นหนังที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อ Break Stereotype ของชาวเอเชียให้ชาวตะวันตกเห็น แต่ในขณะเดียวกัน มันกลับสร้าง Stereotype ซ้อนทับไปอีกระดับอย่างน่ากังวล

     แน่นอนว่าหนังประสบความสำเร็จในการแสดงให้เห็นความหรูหราและสนุกสนานของชาวเอเชีย ซึ่งเป็นความแปลกใหม่ในสายตาชาวอเมริกัน แต่มันกลับไปสร้างภาพจำที่ผิดเพี้ยนให้กับชาวสิงคโปร์ที่เป็นชนชั้นกลางซึ่งไม่ได้มีชีวิตจริงเฉียดเข้าใกล้บริบทในภาพยนตร์แม้แต่น้อย เพราะหลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในสิงคโปร์ ก็ได้มีข้อความในทวิตเตอร์มากมายพูดในเชิงว่า “หนังเรื่องนี้ไม่ใช่ภาพแสดงที่ถูกต้องของประเทศและวัฒนธรรมสิงคโปร์” หรือ “หนังเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับสิงคโปร์เลย… ยังมีสิ่งที่ตกหล่นไปมากมาย”

     คงไม่ต่างอะไรกับภาพยนตร์ฮอลลีวูดหลายเรื่องที่มาถ่ายทำในบ้านเราแล้วแสดงให้เห็นเพียงรถตุ๊กตุ๊ก มวยไทย คนขี่ช้าง ต้มยำกุ้ง และพัทยา…

     ความคิดเชิงเหมารวมแบบนี้ ยังสะท้อนออกมาผ่านตัวละคร เอลีนอร์ ยัง คุณแม่เจ้าบงการที่คิดว่าชาวอเมริกันเป็นพวก Individualism ที่เอาแต่หาความสุขใส่ตัวเอง แตกต่างจากคนจีนแผ่นดินใหญ่ที่เชื่อว่าครอบครัวต้องมาก่อนเสมอ เธอจึงไม่พอใจที่ เรเชล ชู เป็นอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ เพราะเลือกเดินตามแพชชันของตัวเองในสไตล์ American Dream (ซึ่งเป็นการจิกกัดสังคมอเมริกันแบบเจ็บแสบไม่น้อย)

     แม้ว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ แต่ในตอนท้าย หนังกลับไปเน้นประเด็นความรักโรแมนติกและการเสียสละเสียมาก จนไม่ได้มีการคลี่คลายปมเรื่องวัฒนธรรมและการเหมารวมดังกล่าว ซึ่งสำหรับเรานั้นถือว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะจะสามารถเพิ่ม Value ด้านอื่นๆ ให้หนังเรื่องนี้ได้อีกมาก

 

Crazy Rich Asians

 

“The key is playing to win, instead of trying not to lose.”

     ในเกมชีวิต ทุกคนล้วนโฟกัสกับการไม่อยากเป็นคนแพ้ จนไม่ได้คิดว่าทำอย่างไรถึงจะชนะ คำพูดเก๋ๆ ของเรเชล ชู ในตอนต้นเรื่องของหนังขณะที่เธอกำลังสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ หัวข้อ Game Theory จึงกลายเป็นบทสรุปของความรักแบบแฮปปี้เอนดิ้งของเธอและนิคได้เป็นอย่างดี เพราะหากเธอตอบรับคำขอแต่งงานจากนิคตั้งแต่แรกแล้วย้ายไปอยู่นิวยอร์กด้วยกัน ก็จะทำให้เธอไม่ใช่ผู้แพ้ในสงครามความรักครั้งนี้ แต่หากมองอีกมุม เธอและนิคก็เป็นแค่คนขี้ขลาดที่วิ่งหนีปัญหา ไม่ใช่ผู้ชนะแต่อย่างใด

     การเผชิญหน้ากับแม่ของนิคตรงๆ ในตอนท้ายเรื่อง และบทสนทนาแบบผู้หญิงฉลาดๆ (ที่ทำเอาเราขนลุกซู่) จึงช่วยพลิกเกมทำให้เธอกลับกลายมาเป็น the winner แบบสวยๆ และได้รับการยอมรับจากตระกูลยังในที่สุด

 

Crazy Rich Asians