earth

The Review | Earth: One Amazing Day ในวันที่วิญญาณของเราถูกฟอกให้สะอาดขึ้น

ไม่บ่อยที่หนังสารคดีชีวิตสัตว์ป่าจะถูกนำมาขึ้นโรงภาพยนตร์ฉาย เพราะเราจะคุ้นเคยกับการดูสารคดีเหล่านี้ทางช่องเคเบิลทีวีกันมากกว่า และก็มีบางคนที่ส่ายหน้าเมื่อได้ยินว่าเป็นหนังสารคดี เพราะคิดว่าจะต้องน่าเบื่อมากแน่ๆ ซึ่งตอนแรกเราก็แอบคิดนิดๆ กับ Earth: One Amazing Day เรื่องนี้ แต่ใจอีกฝั่งที่มีพลังมากกว่าก็คานความคิดนี้ด้วยเหตุผลว่า ถ้าหนังไม่ดีจริง เขาคงไม่กล้าเอามาขึ้นโรงฉายหรอก เพราะขนาดหนังบล็อกบัสเตอร์ดังๆ หลายเรื่องยังต้องลุ้นกันตัวเกร็งเลยว่าจะทำเงินพอคุ้มทุนฉายหรือเปล่า เมื่อคิดดูแล้วเราก็กำตั๋วหนังสารคดีเรื่องนี้เดินเข้าไปในโรงหนัง

earth

 

     เวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงครึ่งที่ผ่านไป เราไม่รู้สึกง่วงนอน (อาจเพราะเตรียมตัวมาดี) เบื่อ หรืออยากหยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมาเล่นเลย เพราะผู้กำกับ Richard Dale, Peter Webber และ Lixin Fan มีความเก๋าเกมในการเล่าเรื่องมาก เขาสามารถนำฟุตเตจของสัตว์ป่าแต่ละชนิดมาร้อยเรียงให้เป็นเหมือนหนังฟีลกู๊ดเรื่องหนึ่งโดยมีตัวละครเป้นสัตว์ป่าได้อย่างน่าทึ่ง จนเราอดถามเขาอย่างตรงไปไม่ได้ว่าทำได้อย่างไร

earth

 

     “ผมไม่เคยทำหนังเกี่ยวกับชีวิตสัตว์โลกมาก่อน ผมทำหนังเกี่ยวกับชีวิตคน เกี่ยวกับสังคม แต่พอได้มาทำตรงนี้แล้วผมรู้สึกว่าเรื่องนี้มันไม่ได้เกี่ยวกับสัตว์เท่านั้น มันเกี่ยวกับเรา โลกของเรา… บ้านของมนุษย์ทุกคน” Richard Dale บอกถึงวิธีคิดในการทำสารคดีเรื่องนี้

     Earth: One Amazing Day จึงถ่ายทอดชีวิตจริงของสัตว์ที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก เริ่มต้นตั้งแต่ตอนที่แสงแรกของดวงอาทิตย์ส่องไปจนถึงกลางคืนที่มืดมิดของเวลาเที่ยงคืน โดยมีมุกตลกที่กวนตีนมากๆ ของผู้กำกับเป็นผงชูรสให้เราหัวเราะไปกับพฤติกรรมของพวกมันในหนึ่งวัน

 

earth

 

     เราได้เห็นมุมโรแมนติกแบบเด๋อๆ ของตัวสล็อต เหมือนกับหนังโรแมนติกคอเมดี้ของ Richard Curtis

     การต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีที่ดุเดือดของยีราฟหนุ่มกับยีราฟรุ่นใหญ่ (ถึงกับลบภาพยีราฟในวัยเด็กของเราไปเลย) ที่มีบทพากษ์แสนกวนเหมือนหนังของ Edgar Wright

     ชีวิตที่ต้องต่อสู้เพื่อลูกๆ ของเพนกวิน ไม่ต่างกับหนังครอบครัวที่อบอุ่นจากค่ายดิสนีย์

     การเอาตัวรอดของลูกอิกัวน่าทะเลที่เพิ่งลืมตาดูโลกได้แค่ไม่กี่นาที และต้องฝ่าฝูงงูเรซเซอร์ที่ไล่จับมันเป็นอาหาร ลุ้นระทึกและกดดันไม่ต่างกับหนังของ สตีเว่น สปีลเบิร์ก

 

earth

 

     “แปลกที่มนุษย์อย่างเรารู้เรื่องสัตว์น้อยเหลือเกิน จะมีกี่คนที่รู้ว่าวาฬมักจะงีบหลับแบบลำตัวตั้งตรง แล้วจะมีใครไหมที่คิดไปถึงขั้นว่าวาฬกำลังฝันอะไรอยู่ เราแทบไม่เคยพาตัวเราไปอยู่ในจุดที่สัตว์กำลังเผชิญเลย” นี่คือสิ่งที่ Richard Dale กำลังพาเราไปสัมผัส ซึ่งข้อดีของสารคดีเรื่องนี้ที่เราชอบคือ ทางทีมงานจะไม่เอาภาพของการไล่ล่า ตะครุบเหยื่อที่เป็นธรรมชาติ มานำเสนอให้เห็น ซึ่งความรุนแรงแบบนั้นจะไม่มีอยู่ในหนังเรื่องนี้ แต่ก็จะมีเรื่องของการต่อสู้เพื่อแย่งชิงแหล่งอาหารที่ชวนลุ้นอีกมากมาย โดยเฉพาะศึกชิงน้ำหวานของนกฮัมมิ่งเบิร์ดกับเจ้าผึ้งจอมหวง ที่ต้องไปดูเอาเองว่าใครจะอยู่หรือใครจะไป

 

earth

 

     อาจจะมีบางคนบอกว่าหนังเรื่องนี้นำเสนอภาพของชีวิตสัตว์ป่าออกมาได้อย่างสวยงาม และงดงามเกินจริงไปหน่อย จนรู้สึกไม่เชื่อถือ แต่ตัวผู้กำกับเองก็อธิบายไว้อย่างชัดเจนแล้ว่า “โลกที่เราฉายในหนังมันอาจจะดูสวยงามก็จริง แต่ก็ต้องยอมรับเลยว่า ในทุกๆ ที่เราไป มันไม่มีที่ไหน และไม่มีสัตว์สายพันธุ์ใดเลยที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ เราจะเลือกเล่าในมุมหายนะโลกที่มีแต่ความเลวร้ายก็ได้ มันก็เป็นการเล่าเรื่องที่ดีเหมือนกัน แต่เราไม่ทำแบบนั้น เพราะเราอยากให้ผู้คนค่อยๆ หันมามองตัวเอง หันมามองโลกรอบๆ ตัว และเข้าใจว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่โชคดี ที่สามารถหยุดหายนะเหล่านั้นได้”

 

earth

 

     มีอีกเรื่องที่ค้างคาใจเราเหลือเกินถ้าใครที่ได้ดูสารคดีเรื่องนี้เหมือนกัน คือ พวกเขาถ่ายทำกันยังไง ใช้โดรนบินไปถ่ายหรือเปล่า หรือภาพที่เข้าใกล้สัตว์ได้ระดับที่มันเดินเอาจมูกมาชนกล้องขนาดนี้ จริงๆ แล้วใช้เทคนิค CG ของฮอลลีวูดสร้างขึ้นมาใช่ไหม Stephen McDonogh โปรดิวเซอร์ของ Earth: One Amazing Day ถึงกับหัวเราะลั่นเมื่อได้ยินคำถามนี้ และตอบเราถึงวิธีการถ่ายทำให้เราฟัง จนเราทำหน้าแบบเดียวกับแมวป่าเซอร์วัลในหนัง

     “ตอนไปถ่ายฉากแพนด้า เราต้องใส่ชุดแพนด้ากันด้วยล่ะ แล้วก็ต้องป้ายอึแพนด้าด้วยนิดหน่อย จะได้มีกลิ่นเหมือนพวกมัน (หัวเราะ)”

 

earth

 

     Earth: One Amazing Day คือหนังสารคดีที่ทำให้เราเข้าใจคำว่า ‘คุณค่าของชีวิต’ ได้อย่างลึกซึ้งขึ้น เพราะไม่ใช่แค่มนุษย์เท่านั้นที่รักและหวงแหนชีวิตของตัวเอง สัตว์ต่างๆ บนโลกนี้ก็รักในชีวิตของตัวเองด้วยเช่นกัน อย่างน้อยถึงจะไม่ได้ทำอะไรเพื่อโลกเลยในตอนนี้ แต่เราก็รู้สึกว่า วิญญาณที่ถูกกิเลศต่างๆ เกาะอยู่เต็มตัวไปหมดของตัวเองถูกฟอกให้ขาวขึ้น จากการใช้เวลานั่งดูหนังสารคดีเรื่องนี้แค่ชั่วโมงกว่าๆ เท่านั้น

 

 


DID YOU KNOW

กว่าจะเสร็จเป็นหนังสารคดีเรื่องนี้ นี่คือข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ ที่ทีมงานบอกกับเราถึงความพยายามของพวกเขา

– ใช้โดรนบินจำนวน 200 เที่ยว เพื่อถ่ายทำ

– ใช้เวลาในการถ่ายทำ 142 วัน

– ข้อมูลทั้งหมด 60 เทระไบต์ เท่ากับแผ่นดีวีดีมากกว่า 12,300 แผ่น

– เรื่องราวของสัตว์จำนวนใน 38 สายพันธุ์

– ถ่ายทำทั้งหมด 22 ประเทศ

– ใช้เวลาในการถ่ายทำทั้งสิ้น 3 ปี

– จำนวนทีมงานที่โดนสัตว์ทำร้ายคือ 0 คน

– สล็อตบนเกาะ เอสคูโด ใช้เวลาในการถ่ายทำ 8 วัน

– นกฮัมมิงเบิร์ด จากประเทศเอกวาดอร์ ใช้เวลาในการถ่ายทำ 20 วัน

– ไทม์แลปส์ไม้ไผ่ ใช้เวลาในการถ่ายทำ 21 วัน

– หมีแพนด้า ใช้เวลาในการถ่ายทำ 15 วัน

– ใช้เวลา 7 วัน ในการเดินทางไปยังเกาะ Zavodovski เพื่อถ่ายเพนกวิน

– ใช้เวลา 1 เดือนบนทะเลน้ำแข็ง เพื่อถ่ายวาฬนาร์วาล ที่มีอุณหภูมิในน้ำ -1.6 องศาเซลเซียส

– ใช้เวลา 30 วันบนทุ่งหญ้าเพื่อถ่ายศึกของยีราฟ

– แมวป่าเซอร์วัลใ ช้เวลาในการถ่ายทำ 16 วัน

– หนูเก็บเกี่ยว ใช้เวลาในการถ่ายทำ 31 วัน

– เทคโนโลยีที่ใช้ กล้อง Phantom flex 4k และโดรนอ๊อกโตคอปเตอร์