ในบรรดาผีไทยประเภทต่างๆ สำหรับเรา ‘กระสือ’ ถือเป็นผีที่น่ากลัวน้อยที่สุด เพราะมองว่าเป็นภูตผีที่มีแค่ศีรษะ ตับ ม้าม ปอด และลำไส้ลอยไปลอยมา ดูแล้วไม่น่าจะมีความร้ายกาจสักเท่าไร
ในอดีตหนังที่เกี่ยวกับกระสือหลายๆ เรื่อง จึงถูกคุมโทนออกมาในแนวตลกขบขันเสียเป็นส่วนใหญ่ หรือไม่ก็วางให้เป็นลูกคู่กับผีปอปเพื่อเป็นตัวสร้างสีสัน แต่สำหรับ แสงกระสือ ซึ่งถูกนำมาตีความโดย สิทธิศิริ มงคลศิริ ผู้กำกับภาพยนตร์ ที่มีผลงานอย่าง เด็กใหม่ ตอน 2 และ Last Summer ฤดูร้อนนั้น ฉันตาย เขียนบทภาพยนตร์โดย ‘มะเดี่ยว’ – ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล พร้อมกับได้ที่ปรึกษาด้านวิชวลอย่าง วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ก็ทำให้กระสือเวอร์ชันนี้น่าสนใจขึ้นมาทันที
เรื่องราวเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งกรุงเทพฯ ยังถูกเรียกว่าพระนคร และในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลจากตัวพระนครเท่าไรนักก็เกิดเหตุการณ์ประหลาดขึ้นเมื่อ สาย (ณฑิรา พิพิธยากร) หญิงสาวที่ใฝ่ฝันว่าสักวันจะได้เป็นนางพยาบาลคอยช่วยเหลือชาวบ้าน เริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีความผิดปกติบางอย่างในร่างกาย ซึ่งหนังก็บอกกับคนดูตรงๆ ว่าเธอคือกระสือ แต่ก็มีข้อสงสัยบางอย่างว่าในเมื่อสายได้รับการถ่ายทอดเชื้อกระสือมาตั้งแต่เด็กแล้วทำไมถึงมาออกอาการในตอนโตช่วงนี้
สายมีเพื่อนผู้ชายอยู่สองคนนั่นคือ เจิด (สพล อัศวมั่นคง) และ น้อย (โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์) ซึ่งเจิดนั้นหลงรักและหมายมั่นว่าจะได้ครองคู่กับสายมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ส่วนน้อยกลับเป็นคนที่สายมีใจให้ แต่น้อยก็จำเป็นต้องย้ายไปอยู่ในพระนครเพื่อร่ำเรียนเป็นหมอ และมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นทำให้เขาต้องกลับมาที่หมู่บ้านนี้อีกครั้ง พร้อมกับเหล่าผู้ล่ากระสืออีกหนึ่งกลุ่ม
เรื่องราวในช่วงครึ่งแรกเป็นการปูที่มาที่ไปของตัวละครหลัก และบอกเล่าถึงวิถีการใช้ชีวิตของคนในหมู่บ้าน ไปพร้อมๆ กับการปรากฏตัวของกระสือ ซึ่งเนื้อเรื่องในช่วงนี้ค่อนข้างมีความเนิบช้าและเยิ่นเย้อไปสักหน่อย กว่าเรื่องราวจะถูกขมวดให้เข้มข้นและกดดันขึ้นในช่วงครึ่งหลัง
ทีมนักแสดงของ แสงกระสือ นั้น ทำออกมาได้ดีทั้งเรื่องของการแสดงที่ตัวละครหลักแทบจะเป็นนักแสดงหน้าใหม่ โดยเฉพาะฝีมือของ สพล อัศวมั่นคง ที่เราว่าผู้ชายคนนี้น่าจะพัฒนาจนเป็นนักแสดงที่ขายฝีมือได้ในอนาคต ส่วนทางด้านนางเอกนั้นแม้จะยังไม่เข้าที่อยู่บ้าง แต่การแสดงออกด้วยสายตาทำออกมาในระดับที่ถือว่าสอบผ่าน และ โอบ นิธิ ขวัญใจแม่ยกคนนี้ ต้องยอมรับว่าบทของน้อยมีความสำคัญกับเนื้อเรื่องอย่างมาก ทำให้เขาต้องแบกความกดดันของหนังเอาไว้สูงจนในหลายๆ ฉาก ยังทำออกมาได้พอให้ผ่าน
ในงานด้านโปรดักชัน ถือว่าทีมงานมีความตั้งใจกับภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างสูงจนเห็นได้ชัดทั้งการจัดองค์ประกอบภาพที่วางแต่ละซีนได้อย่างสวยงาม การถ่ายภาพที่เต็มไปด้วยความพิถีพิถัน และซีจีที่ทำออกมาได้อย่างไม่รู้สึกขัดตา และบทภาพยนตร์ที่เข้มแข็ง
แม้งานโดยรวมของ แสงกระสือ จะจัดอยู่ในระดับเกรดเอของภาพยนตร์ไทย แต่ก็มาพร้อมกับข้อด้อยบางอย่าง นั่นคือไม่สามารถทำให้เรารู้สึกอินไปกับเรื่องราวของตัวละคร ทั้งประเด็นรักสามเส้า การเมืองในระดับหมู่บ้าน การมาของคนแปลกหน้าพร้อมกับการคลี่คลายปมบางอย่าง ซึ่งทั้งหมดไม่ได้ถูกขยี้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ ทำให้ความเข้มข้นในบางประเด็นที่กำลังเหมือนว่าจะมีความพิเศษนั้นอ่อนแรงลง
งานด้านภาพเองก็กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ลดทอนบรรยากาศของความขลังและความน่าสงสัยลงไป เนื่องจากความสวยงามในการจัดแสง และความสดใสของโทนภาพ ที่กลายเป็นดาบสองคมให้กับบรรยากาศของหนังไปบ้าง (ลองนึกถึงฉากที่ใกล้เคียงกันกับบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจและอะไรก็อาจจะเกิดขึ้นได้ใน เปนชู้กับผี ดู)
แต่สิ่งที่เราชอบใน แสงกระสือ คือการที่หนังกำลังบอกกับคนดูว่า สุดท้ายแม้ว่าเราจะกลายเป็นตัวประหลาดในสายตาของใครก็ตาม แต่ถ้าใช้หัวใจในการมองไปที่คนคนนั้น เราจะไม่รู้สึกรังเกียจหรือหวาดกลัวในสิ่งที่เขาหรือเธอกำลังเป็นอยู่แม้แต่น้อย
เช่นเดียวกับธรรมชาติของกระสือที่เวลาถอดหัวออกจากร่างจะมีการเปล่งแสงประกายออกมา ท่ามกลางความมืดมิดของใจคน แสงของความรักก็ยังคงเปล่งประกายให้เราได้เห็นอยู่เสมอ แม้สุดท้ายเราจะพบกับความจริงที่น่าเศร้าว่ามนุษย์เลือกที่จะกลบฝังแสงสว่างนั้นให้จมหายไปในความมืด เพียงเพราะว่าแสงนั้นเกิดมาจากความผิดปกติที่เราไม่เคยเปิดใจยอมรับมัน