John Wick

John Wick: Chapter 3 Parabellum | อย่าแหย่ทาสหมา (เตือนแล้วนะ)

John Wick ภาคแรกออกฉายในปี ค.ศ. 2014 โดยหน้าหนังก็ไม่ได้สร้างความตื่นเต้นอะไรกับคนดูสักเท่าไหร่ เพราะดูจากตัวอย่างแล้วก็เหมือนกับหนังแอ็กชันระเบิดภูเขาเผากระท่อมทั่วไปที่ได้ดาราขวัญใจคนยากอย่าง คีอานู รีฟส์ มานำแสดง พร้อมกับบทหนังที่ไม่ซับซ้อน เรื่องของนักฆ่ามืออาชีพที่วางมือไปหลายปี และต้องกลับมาจับปืนไล่ล่าอีกครั้งเพราะหมาของตัวเองถูกฆ่าตาย ซึ่งคนที่ฆ่าหมาของเขานั้นก็เป็นลูกชายของมาเฟียใหญ่แห่งนิวยอร์ก

     แต่ด้วยความมันสะใจของคิวบู๊ และการสร้างจักรวาลของ The Continental (สภาอาชญากร) ในหนัง ทำให้ John Wick ถูกพูดถึงแบบปากต่อปาก และกลายเป็นหนังม้ามืดทำรายได้อย่างคุ้มทุนสร้าง และด้วยโครงเรื่องที่แข็งแรงนี้เอง เมื่อรวมเข้ากับการไล่ล่าอย่างดุเดือด ก็เป็นสิ่งที่ปูให้คนดูตื่นเต้นจนอดทนไม่ไหวเมื่อ John Wick: Chapter 2 ออกฉายเมื่อปี ค.ศ. 2017 จนถึงขนาดที่หลายๆ คนต้องตีตั๋วเข้าไปดูตั้งแต่วันแรก

 

John Wick

 

หมาข้าใครอย่าแตะ

     ความสนุกของ John Wick อาจไม่ได้อยู่ที่เนื้อเรื่อง เพราะเอาเข้าจริงเราสามารถเล่าเรื่องย่อของหนังแต่ละภาคได้ภายในบรรทัดเดียว เช่น ฆ่าล้างบางเพราะหมาตัวเดียว เป็นต้น แต่สิ่งที่ทำให้ John Wick กลายเป็นหนังคัลต์ขึ้นหิ้งที่ต้องดูไปแล้วก็คือซีนการไล่ล่าที่สาแก่ใจ การออกแบบโลกที่มีสไตล์ เช่น The Continental ซึ่งเป็นองค์กรอาชญากรรมที่ชี้เป็นชี้ตายใครก็ได้ แม้แต่ตัวนักฆ่าระดับพระกาฬก็ยังต้องให้ความเกรงกลัว เหล่าพนักงาน (เสมียน) ของ The Continental ที่ทำงานในยูนิฟอร์มพนักงานจัดส่งเอกสารที่เรียบร้อยแต่มีรอยสักเต็มตัว เจาะคิ้ว เจาะปากอย่างพังก์ พิมพ์งานผ่านเครื่องพิมพ์ดีด ส่งข้อความด้วยโทรเลข และใช้คอมพิวเตอร์แบบโมโนโครมจอสีเขียวส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือของสมาชิกขององค์กร และคุมโทนหนังด้วยบรรยากาศแบบนีโอนัวร์ (Neo-Noir) จึงทำให้หนังที่มีพล็อตเรื่องแค่บรรทัดเดียวขยายตัวออกเป็นโลกของนักฆ่าได้โดยที่คนดูรู้สึกตื่นเต้นไปด้วย จนอยากลองเข้าไปอยู่ในโลกอาชญากรนี้สักสองสามวัน (แต่ไม่ต้องโดนฆ่าทิ้งนะ)

 

John Wick

 

คิวบู๊แบบเล่นจริงเจ็บจริง

     เอกลักษณ์ของ John Wick คือ หนังที่เต็มไปด้วยความรุนแรง ซึ่งทำออกมาเซอร์วิสคนดูหนังที่ต้องการความสะใจ ถึงลูกถึงคน เรียกว่าขอให้ทิ้งเรื่องทุกอย่างในชีวิตไว้นอกโรงสักสองชั่วโมง แล้วเข้าไปเสพความดุเดือดในหนังกันให้เต็มที่ เพราะทางผู้สร้างเองก็จงใจที่จะให้หนังรับใช้ความรู้สึกเหล่านี้ของคนดูอย่างไม่มีกั๊กอยู่แล้ว เราจึงได้เห็นการต่อสู้ที่จริงจังตลอดเวลา และเสียงซี้ดปากจากคนดูที่ดังเป็นระยะตามระดับความโหดของตัวเอกที่จัดการกับคู่ต่อสู้ของเขา

     ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน ในยุคที่หนังกำลังภายในของฮ่องกงจากบริษัทชอว์บราเดอร์สกำลังเฟื่องฟู คิวบู๊ในหนังนั้นมาจากการออกแบบและฝึกฝนอย่างหนักของเหล่านักแสดง โดยใช้การนับจังหวะ 3 4 เพื่อสร้างซีนต่อสู้ของตัวละครขึ้น ในยุคต่อมาคิวบู๊แบบนี้ถูกมองว่าเชย ล้าสมัย หนังแอ็กชันก็เริ่มหันไปใช้การเร่งความเร็วของภาพ และมุมกล้องเข้าช่วย เพื่อให้ฉากต่อสู้สนุกสนานเร้าใจมากขึ้น ตัวนักแสดงเองก็ไม่ต้องเสี่ยงกับอาการบาดเจ็บจากการผิดคิวอีกต่อไป แล้วยกให้การแสดงแบบเล่นจริง เจ็บจริง เป็นหน้าที่หลักๆ ของเฉินหลงไป

     กระทั่ง องค์บาก และจา พนม ทำให้กระแสฉากต่อสู้แบบถึงลูกถึงคนกลับมาอีกครั้ง หนังหลายๆ เรื่องต่างกลับมาใช้คิวบู๊แบบต่อยจริงเตะจริง และก็ถูกพิสูจน์แล้วว่าคิวบู๊แบบนี้ถึงอกถึงใจคนดูมากกว่า อย่างฉากการต่อสู้ด้วยมือเปล่าของ เจสัน บอร์น ใน The Bourne Supremacy (ซึ่งก็กำกับคิวบู๊โดย Chad Stahelski และ David Leitch ที่เป็นผู้กำกับหนังเรื่อง John Wick นี่แหละ) ทำให้หนังตระกูล เจสัน บอร์น ขึ้นแท่นเป็นหนังสายลับที่มีความจริงจัง และสนุกมากๆ ทันที หรือแม้แต่ในหนังซูเปอร์ฮีโร่อย่าง Captain America: The Winter Soldier ทางสองพี่น้องรุสโซ่ก็เลือกใช้ฉากต่อสู้แบบนี้ด้วยเหมือนกัน จึงทำให้กัปตันอเมริกาภาคนี้เข้มข้น และฉากที่กัปตันสู้กับแก๊งไฮดราในลิฟต์ก็กลายเป็นไฮไลต์ของหนังมาร์เวลไปเลย

 

John Wick

 

John Wick: Chapter 3 – Parabellum

     หลังจบเรื่องราวในภาค 2 ที่ทิ้งเชื้อไว้ว่า จอห์น วิก มีเวลาหนีตายเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่ทาง The Continental จะออกคำสั่งให้นักฆ่าทุกคนตามล่าเขาได้ หมายความว่าตัวเขาเองกำลังจะถูกคนทั้งโลกไล่ล่า ซึ่งนั่นก็ทำให้คนดูตั้งหน้าตั้งตารอบทสรุปของการหนีตายครั้งนี้ว่าจะจบลงแบบไหน

     John Wick: Chapter 3 – Parabellum เปิดเรื่องต่อจากตอนจบของภาค 2 ทันที เมื่อเส้นตายที่ถูกกำหนดไว้กำลังถูกนับถอยหลัง การตามล่า และการหนีตายของนักฆ่าระดับพระกาฬในช่วงต้นเรื่องก็ทำให้เราลุ้นและสนุกไปกับฉากบู๊ที่หนังประเคนมาให้แบบไม่ยั้ง แต่สิ่งที่ลดทอนความสนุกของหนังลง น่าจะอยู่ที่ความซ้ำแบบเดิมๆ ที่เราเคยว้าวมาเมื่อสองภาคก่อน แม้วิธีการสังหารหรือลูกเล่นในการต่อสู้จะถูกออกแบบให้ดีขึ้น แต่ในหลายๆ ครั้งเราก็เห็นจังหวะการนับคิวที่หลุดจนรู้ว่าเป็นจังหวะเตี๊ยมเพื่อสร้างคิวบู๊นี้ขึ้นมา หรือความคลีเช่ที่เห็นแล้วแอบถอนหายใจอย่างฉากที่พระเอกหนีไปในคอกม้า ซึ่งก็เดาได้ทันทีว่าเดี๋ยวต้องมีฉากขี่ม้าตามออกมาแน่ๆ หรือข้อกังขาหลายอย่างในความสมจริงสมจังที่ควรจะเป็น แต่หนังกลับยอมปล่อยผ่าน เช่น ในการไล่ล่า ทำไมพวกนักฆ่าไม่ยิงไปที่ม้าที่พระเอกขี่อยู่ ซึ่งน่าจะทำให้การเก็บจอห์น วิก ง่ายขึ้นอีกหลายเท่า มากกว่าเล็งยิงที่ตัวพระเอกซึ่งยิงอย่างไรก็ยิงไม่โดน

 

John Wick

 

     การลดทอนเรื่องของตราเลือด เหรียญทองคำ หรือไอเทมต่างๆ ที่ช่วยให้พระเอกผ่านด่านในภาคนี้ ทำให้โครงสร้างของหนังอ่อนกำลังลงไปทันที แม้ว่าจะมีตัวละครใหม่เสริมเข้ามา และการเปิดปูมหลังว่าพระเอกเคยเป็นใครมาก่อน แต่นั่นก็เบาบางจนช่วยพยุงหนังไว้ไม่อยู่ จนเราเองก็อยากถามกับทีมสร้างตรงๆ ว่า นี่จะเอา Halle Berry มาฆ่าทิ้งในหนังเรื่องนี้ด้วยเหรอ (กดโกรธ)

     แต่ในความมืดมิดและเริ่มออกทะเล หนังก็ยังมีแสงสว่างของความหวังที่เรืองรองอยู่ นั่นคือตัวละคร Zero ที่นำแสดงโดย Mark Dacascos ซึ่งถ้าใครเคยดู Crying Freeman เวอร์ชันคนแสดง หรือซีรีส์ Hawaii Five-0 ก็น่าจะคุ้นหน้าคุ้นตาผู้ชายตาคมคนนี้อยู่บ้าง นักฆ่าหมายเลขศูนย์กลายเป็นตัวละครที่สร้างสีสันให้กับหนังภาคนี้ได้ไม่น้อย จนเราหวังว่าจะได้เห็นตัวละครนี้ออกมาอีกในภาคต่อๆ ไป (ถ้ามี) และฉากในโรงแรมก็ดีไซน์ออกมาได้สวยงาม โดยเฉพาะห้องกระจกที่ถูกสร้างมาเพื่อให้พระเอกเอาตัวไปทะลุกระจกให้แตกเล่นๆ โดยเฉพาะ (อะไรจะซ้ำขนาดนั้น)

     แม้ John Wick: Chapter 3 – Parabellum จะทำออกมาได้ไม่พีกเท่าสองภาคแรก แต่ในความสนุก และจักรวาลของนักฆ่าเรื่องนี้จะยังคงน่าติดตามอยู่ เราเองก็ได้แต่หวังว่า คีอานู รีฟส์ ยังคงสนุกกับบทของบาบายาก้านี้ และเป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้หนังเรื่องนี้มีภาคต่อๆ ไปตามออกมา แต่ครั้งหน้าช่วยกลับมาทำโครงเรื่องของเหล่าสภาสูง โลกนักฆ่า และฉากต่อสู้ที่สมเหตุสมผลกว่าภาคนี้หน่อยก็แล้วกัน

     ว่าแต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นเพราะ ‘หมา’ ตัวเดียว พาพวกเรามาไกลได้ถึงขนาดนี้เลยเหรอเนี่ย แต่เอาเถอะหนังเรื่องนี้ยังไงก็ต้องดูต่ออยู่ดี เพราะเราเองก็หลงเข้าไปอยู่ในจักรวาลของ The Continental โดยไม่รู้ตัวไปแล้ว