Living The Game

The Review | Living The Game: ชีวิต ศักดิ์ศรี และวิถีบนเฟรมเรต 60 fps

วิดีโอเกมกับเราเหมือนเพื่อนสนิทที่ผูกพันกันมานาน ขอย้อนกลับไปเมื่อสมัยเป็นเด็ก เครื่องเล่นเกมที่ป๊อปที่สุดของเราตอนนั้นคือแฟมิคอมที่ผลิตโดยบริษัท นินเทนโด (ตอนนี้หลายคนเรียกว่าปู่นิน) เราขลุกอยู่หน้าโทรทัศน์ทั้งวันไปกับ Super Mario Bros. คุณลุงช่างประปา มีหนวด หมวกแดง ชอบกระโดดต่อยอิฐให้แตก เพื่อหาเห็ดหรือของเพิ่มพลัง บางทีก็กระโดดต่อยไปอย่างนั้นเพื่อเอามัน โดยมารู้ตอนโตว่าอิฐแต่ละบล็อกที่อยู่ในฉากคือชาวเมืองในอาณาจักรเห็ดที่ถูกสาปให้กลายเป็นก้อนอิฐ โอ้โห ดาร์กแบบนี้มาจากจักรวาล DC หรือเปล่าเนี่ย (ฮา)

     พอโตขึ้นสิ่งที่ท้าทายเรากว่าการตะลุยด่านทั้ง 8 เพื่อไปช่วยเจ้าหญิงจากราชาปีศาจมังกรก็คือการเตรียมเหรียญห้าบาทหลายๆ เหรียญ (อย่างต่ำๆ ก็ต้องสามเหรียญ) เพื่อแวะไปหยอดตู้เกมในห้างสรรพสินค้าก่อนกลับบ้าน ซึ่งถือเป็นการเดิมพันด้วยศักดิ์ศรี ความภูมิใจ และการยอมรับความพ่ายแพ้เมื่อคนที่เราไปยืนโยกจอยอยู่ข้างๆ เป็นเซียนเกมจากโรงเรียนอื่น นั่นคือการต่อสู้ข้างถนนที่เด็กผู้ชายทั้งโลกใฝ่ฝัน และใช้เกม Street Fighter II เป็นเครื่องประลอง ท่ามกลางเด็กรุ่นๆ เดียวกันที่ยืนมุงอยู่ข้างหลัง รอต่อคิว ไม่ก็รอดูเทคนิคของผู้เล่นแต่ละคน หรือแม้กระทั่งยืนเชียร์เฉยๆ ทั้งๆ ที่ไม่ได้รู้จักกัน แน่นอนว่าตอนที่แข่งแล้วชนะ เราก็ภูมิใจ รู้สึกตัวเองลำพอง ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะบางครั้งถ้าชนะในแมตซ์สุดลุ้นระทึกได้ก็จะออกแอ็กชันเดียวกับตัวละคร ริว ยกมือขวาชูกำปั้นดีใจแบบในเกม แต่ถ้าแพ้ก็จะทำตัวลีบๆ เดินออกมา และรอดูว่าจะมีใครโค่นคู่ต่อสู้ข้างๆ เราได้ไหม (การได้อยู่ฝั่งซ้ายของจอย 1 ของตู้เกมคือด้านที่ได้เปรียบของเรา)

 

living the game

 

     ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นช่วงปี 1988 อาจเรียกได้ว่าเป็นยุคที่เรารู้ว่ามีอาชีพเกมเมอร์เกิดขึ้น ซึ่งตอนนั้นนักเล่นเกมที่โด่งดังที่สุดสำหรับเราคือ Takahashi Meijin ผู้ที่ได้ชื่อว่ามีสกิลในการรัวปุ่มได้เร็วที่สุดในโลก เขาสามารถรัวปุ่มติดต่อกันได้ถึง 16 ครั้งใน 1 วินาที!! นั่นทำให้เป็นข้อได้เปรียบเวลาเล่นเกมที่ต้องอาศัยการยิงรัวในเกม shooting ต่างๆ ก่อนที่ทางนินเทนโดจะออกจอยเกมเทอร์โบออกมาให้เราได้ ‘เทพ’ แบบเขาบ้าง และใบหน้าของเขาก็ถูกนำไปใช้เป็นต้นแบบให้กับตัวละครในเกม Adventure Island ที่เป็นตัวคนป่าอวบๆ ขว้างค้อนตะลุยด่านด้วย

     กลับมาที่เรื่องของเกม  Street Fighter II อธิบายสั้นๆ ว่าเป็นเกมต่อสู้แบบตัวต่อตัว ผู้เล่นสามารถเลือกนักสู้ในแบบที่ตัวเองชอบหรือถนัดเพื่อลงต่อสู้ข้างถนนตามโลเกชันที่เป็นสถานที่ต่างๆ ในแต่ละประเทศ และตัวละครแต่ละตัวก็จะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป บางตัวก็สามารถปล่อยลูกพลังออกมา บางตัวก็ยืดแขนขาเพื่อโจมตีระยะไกล หรือตัวละครหญิงอย่างชุนลีก็มีท่าไม้ตายคือการรัวเตะใส่คู่ต่อสู้ที่รุนแรง ถือว่าเป็นเกมต่อสู้ที่โด่งดังมาตั้งแต่ยุค 90 จนถึงปัจจุบัน และกลายเป็นมาตรฐานให้กับเกมต่อสู้แนวนี้อีกนับร้อยเกม

 

Living The Game

 

     Living the Game เปิดเรื่องด้วยการพาเราไปพบกับบรรยากาศของการแข่งขันเกม Street Fighter III: 3rd Strike tournament ที่เป็นแมตซ์ระดับตำนานในงานแข่ง Evolution Championship Series 2004 ระหว่าง ไดโกะ อุเมฮาร่า และ จัสติน หว่อง แชมป์จากอเมริกา

     โดยช็อตหยุดโลกนั้นอยู่ในจังหวะของเกมสุดท้ายที่ไดโกะ ถูกตัวละครชุนลี ของจัสติน หว่อง ซัดจนพลังชีวิตเหลือแค่ 1% ซึ่งแม้จะยกการ์ดป้องกันได้ แต่ถ้าโดนสะกิดเพียงครั้งเดียวก็พ่ายแพ้ ในจังหวะที่จัสติน หว่อง เปิดการเผด็จศึกและชัยชนะของเขาลอยมาอยู่ตรงหน้า (ถ้าใครดูการแข่งขันนั้นก็คงคิดเหมือนกันว่าจัสตินก็คงจะปิดฉากไปอย่างสบายๆ) เขาตัดสินใจจบการแข่งขันนัดสุดท้ายด้วยการใช้ท่าเตะรัวของชุนลี (ซึ่งต้องกดปุ่มเตะรัวๆ) ใส่ตัวละครเคน ของไดโกะ สิ่งที่หลายคนไม่คาดคิดนั่นคือไดโกะขอเดิมพันการแข่งขันครั้งนี้ด้วยการกดท่า Parry ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ที่ถูกใส่เข้ามาในเกมภาคนี้ โดยถ้าเรากดท่าปัดป้องได้ถูกจังหวะเราจะสามารถปัดการโจมตีของศัตรูได้โดยไม่เสียพลัง

     ทุกคนต่างตกตะลึงเมื่อไดโกะสามารถปัดท่ารัวเตะของชุนลีได้อย่างเพอร์เฟ็กต์ และใช้พลังที่รวบรวมไว้ทั้งหมดปล่อยเป็นซูเปอร์คอมโบสวนกลับจนชนะจัสติน หว่อง ได้ในครั้งเดียว (เล่นเอาจัสตินเหวอไปเลย) บางคนบอกว่านี่คือความฟลุก บางคนบอกว่านี่คือความเทพ หรือเป็นพรสวรรค์ที่ฟ้ามอบให้เขาเพื่อขึ้นเป็นแชมป์ในตำนาน แต่ความจริงแล้วนั่นคือวิถีของเกมเมอร์ คือรางวัลของคนที่ทุ่มเท ฝึกฝนอย่างหนักหน่วง

 

Living The Game

 

     และนั่นคือสิ่งที่หนังสารคดี Living the Game กำลังพาเราไปพบกับความจริงเรื่องนี้ เรื่องของเกมเมอร์ทั้ง 5 ที่มีชีวิตขึ้นๆ ลงๆ บางคนก็อยู่บนยอดเขาที่เหน็บหนาว (ไดโกะ อุเมฮาร่า) บางคนก็ฝึกฝนเพื่อขอขึ้นเป็นตำนานคนใหม่ (โมโมจิ) ชีวิตหลังการพ่ายแพ้ (จัสติน หว่อง) นักเล่นเกมที่ต้องต่อสู้กับบรรทัดฐานทางสังคมที่ยังไม่ยอมรับว่าการเล่นเกมคืออาชีพที่น่ายกย่อง (ลุฟฟี่) และพนักงานบริษัทที่มีอาชีพที่สองคือการท้าดวลเพื่อไต่ขึ้นเป็นแชมป์ในการแข่งขันต่างๆ (เกมเมอร์บี) ทั้งหมดนี้คือจังหวะชีวิตที่ไมได้เพอร์เฟ็กต์ทุกครั้งที่ลงแข่งขัน เหมือนกับการจับจังหวะที่ผิดพลาดตอนบังคับเกมที่เราได้เห็นหลายๆ ครั้งในเรื่อง

     ส่วนความสนุกของหนังสารคดีเรื่องนี้คือการพาเราไปดูชีวิตของพวกเขาว่า การเล่มเกมไม่ใช่เรื่องสนุกเสมอไป โมโมจิเองก็ต้องฝึกฝนอย่างหนักหน่วงเพื่อเข้าถึงจังหวะของเฟรมเรต 60 fps (เป็นหน่วยการกะพริบของอัตราการแสดงภาพเคลื่อนไหวในหนึ่งวินาที สำหรับเกมยุคนี้ ซึ่งเฟรมเรต 60 fps จะทำให้ภาพลื่นไหลเป็นธรรมชาติที่สุด) ตัวเขาต้องคอยจับจังหวะการเคลื่อนไหวและการกะพริบของจอเพื่อรัวปุ่มอย่างแม่นยำ พร้อมๆ กับชีวิตที่ต้องคิดตลอดเวลาว่าจะดำรงชีพอย่างไรจากการเล่นเกม หรือตัวไดโกะเองกับการอยู่บนตำแหน่งของตำนาน ที่ต้องสู้กับความจริงว่าเขาเองก็ไม่สามารถแข่งเกมให้ชนะได้ในทุกครั้ง

 

Living The Game

 

     บนเวทีการแข่งขันพวกเขาอาจดูเหมือนเทพเจ้าที่หลายคนยกย่อง บูชา นับถือ แต่เมื่อไหร่ที่สายจอยสติ๊กถูกถอดออก เขาก็คือคนธรรมดา มีความรัก ความเครียด ความกังวล คำถามที่ต้องตอบตัวเองว่าจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าเช่าบ้าน ศึกครั้งต่อไปจะฝ่าฟันไปได้ถึงรอบไหน เหล่าเกมเมอร์หน้าใหม่ที่รอโค่นพวกเขานั้นจะรับมืออย่างไร

     แต่ทั้งๆ ที่รู้ว่าการมีชีวิตอยู่กับเกมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พวกเขาก็เลือกแล้ว เพราะเกมนั้นคือชีวิต และพวกเขาถูกลิขิตมาเพื่อมัน