Three Times

The Review | Three Times เข้าสู่จักรวาลแห่งความรักของ (ลุง) โหวเสี้ยวเสียน

ในทศวรรษ 90 จนข้ามผ่านมาถึงปี 2000 เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าหว่องกาไว คือคนทำหนังจีนที่เล่าเรื่องของความรักความสัมพันธ์ได้เหงาจับใจใครต่อใครมากที่สุด ด้วยสไตล์ที่จัดจ้าน กระแทกกระทั้น จนเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้กำกับหนังรุ่นใหม่ในเอเชียหลายต่อหลายคน

ถ้าหว่องกาไวคือผู้กำกับที่ทำให้คนทั้งโลกหันมามองภาพยนตร์ฮ่องกงว่าไม่ได้มีแค่หนังกำลังภายในหรือหนังแก๊งสเตอร์นกพิราบบินแล้ว อีกฝั่งของภาพยนตร์จีนก็มี โหวเสี้ยวเสียน ผู้กำกับชาวไต้หวัน เป็นหัวหอกสำคัญที่ทำให้คนดูหนังพบกับศิลปะการเล่าเรื่องที่มีความเฉพาะตัวไม่แพ้กัน

Three Times

 

Three Times (2005) : โมงยามที่งดงาม

     เมื่อพูดถึง โหวเสี้ยวเสียน สามสิ่งใหญ่ๆ ที่เราได้รับกลับมาคือ เขาเป็นใคร หนังจะเครียดไหม และดูยากไหม เพราะลุงโหวแกไม่ได้เป็นผู้กำกับที่ป็อปเหมือน อังลี เพื่อนร่วมชาติ หนังของแกมักจะมีประเด็นเรื่องการเมืองสอดแทรกเอาไว้ (แต่ไม่หนักหน่วงขนาดเฉินก่ายเค่อ) และแกเป็นคนชอบทดลองรูปแบบการเล่าเรื่องในส่วนงานภาพของหนังแต่ละเรื่อง ทำให้หลายครั้งหนังของแกถูกจัดไปอยู่ในหมวดหนังอาร์ต ซึ่งพอมีคำนี้ห้อยท้ายติดมา ก็กลายเป็นองค์ประกอบที่เพียงพอแล้วในการทำให้คนทั่วไปลังเลกับการดูหนังของแก

     Three Times ถูกส่งไปอยู่สายภาพยนตร์ประกวดในเทศกาลหนังเมืองคานส์ ปี 2005 ซึ่งแม้จะไม่ได้รับรางวัลอะไรกลับมาเลย แต่ก็ได้รับเสียงชื่นชมจากคนดูหนังเป็นจำนวนมาก และต่อมาก็ได้รับคัดเลือกจากนิวยอร์กไทมส์ให้เป็นหนึ่งใน 25 หนังที่ดีที่สุดของศตวรรษที่ 21 ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องลองดูหนังเรื่องนี้ของลุงโหวกัน

 

Three Times

 

A Time for Love: โมงยามแห่งความรัก

     หนังเปิดเรื่องในร้านสนุกเกอร์เล็กๆ ที่อยู่ในเมืองเกาสง ของไต้หวัน ช่วงปี ค.ศ. 1966 ซึ่งอยู่ในช่วงยุคอเมริกันดรีมของอเมริกา เรื่องราวในตอนนี้จึงเต็มไปด้วยภาพฝันที่สวยงามของคนหนุ่มสาว แต่ลุงโหวก็แอบเสียดสีเล็กๆ ในเรื่องการเมืองของไต้หวันที่ผู้ชายทุกคนในประเทศเมื่อถึงกำหนดต้องไปเกณฑ์ทหารโดยไม่มีข้อยกเว้น ความรักกุ๊กกิ๊กที่เกิดขึ้นของคนหนุ่มสาวอย่าง เฉิน และ เมย์ ที่ถูกพรากจากกันในช่วง puppy love จึงกลายเป็นเรื่องราวโรแมนติกที่คนดูพยายามเอาใจช่วยให้ทั้งคู่ได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง ใครที่ชอบบรรยากาศแบบไชนีสซิกตี้ น่าจะชอบตอนนี้เป็นพิเศษ และองค์ประกอบของภาพนั้นลุงโหวแกก็จัดวางได้อย่างสวยงามระดับที่เราสามารถกดพอสหนังเรื่องนี้ไว้ แล้วแคปเจอร์ออกมาเป็นรูปถ่ายสวยๆ ได้เลย

 

Three Times

 

A Time for Freedom: โมงยามแห่งเสรีภาพ

     หนังย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1911 ยุคที่ผู้ชายยังทำผมทรงแมนจู (ใช้นักแสดงกลุ่มเดิม แต่เล่าเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกันทั้งสามตอน) ซึ่งพาร์ตนี้ลุงโหวแกใช้วิธีเล่าเรื่องแบบหนังเงียบ คนดูจะรู้บทสนทนาของตัวละครได้จากตัวหนังสือที่ขึ้นมาบรรยายเป็นระยะ ให้เสียงเพลงขับอารมณ์ของตัวละครในเรื่อง

 

Three Times

 

     โดยตอนนี้จะพูดถึงคหบดีหนุ่มหัวก้าวหน้า (จางเจิ้น) ที่มักจะไปมาหาสู่กับนางคณิกาเจ้าประจำ (ซูฉี) โดยพวกเขาทั้งสองมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระดับที่สามารถเล่าเรื่องการเมืองที่เกิดขึ้น รวมถึงให้คำปรึกษา และช่วยเหลือนางคณิการุ่นน้องที่ตั้งท้องขึ้นมา เพื่อให้เธอได้แต่งงานเป็นภรรยาที่ 2 และออกเรือนไปมีชีวิตที่ดี แต่ในอีกด้านซูฉี ผู้ที่เฝ้าคอยความหวังว่าตัวเองจะได้รับการปลดปล่อยจากคณบดีที่เธอรักแบบนั้นบ้าง กลับต้องกลายเป็นคนที่ทนทุกข์อยู่ในสำนักโคมเขียวที่หรูหราของเธออย่างเจ็บปวด เหมือนกับว่าภาพฝันที่สวยงามในตอนแรกนั้นลุงโหวแกได้เอามาขยี้ลงในตอนนี้ ถ้าเรื่องราวในตอนแรกหมายถึงความสวยงามและอิสรเสรีของคนที่สามารถจะรักกันได้อย่างง่ายดาย เรื่องราวในตอนนี้คือการจองจำอิสระภาพ และความหวังที่ดับสูญของนางเอกที่ถ่ายทอดออกมาจากเสียงร้องเพลงที่เจ็บปวดของเธอในตอนท้าย

 

Three Times

 

A Time for Youth: โมงยามแห่งความเยาว์วัย

     หนังตัดกลับมาที่ปี 2005 ยุคที่อินเทอร์เน็ตเริ่มแพร่หลาย ความสัมพันธ์ที่ฉาบฉวยของคนหนุ่มสาว ความหลากหลายทางเพศ และความสับสนใจตัวเอง เรื่องราวของตอนนี้สะท้อนถึงสภาพสังคมของคนปัจจุบันอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นสถานะในแบบ ‘ไม่ต้องรู้ว่าเราคบกันแบบไหน’ การที่คนเราเริ่มไม่พูดคุยกันตรงๆ ต่อหน้า แต่ใช้การส่งข้อความหากัน การขยายตัวของเมือง สภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย เสียงรบกวนที่ถูกนำมาใช้ในตอนนี้เหมือนกับเรายืนอยู่ในย่านที่มีเสียงดังจอแจจนแทบไม่ได้ยินว่าคนที่เราคุยอยู่ด้วยนั้นกำลังพูดว่าอะไร และเราค่อนข้างเชื่อว่าท่าทีของตัวละครที่เต็มไปด้วยอาการของความกระอักกระอ่วน อ้ำๆ อึ้งๆ ที่มีต่อกันนั้น อาจจะหมายถึงการไม่แน่ใจของสหัสวรรษใหม่หลังปี 2000 ของไต้หวันกับจีน สำหรับลุงโหวก็ได้

 

 

     ภาษาจีนของหนังเรื่องนี้คือ 最好的时光 แปลได้ใจความว่า ‘ช่วงเวลาที่ดีที่สุด’ ดังนั้นทั้งสามตอนของลุงโหวเลือกนำมาใช้เล่าเรื่องจึงเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนแปลงของไต้หวัน โดยเริ่มต้นจากความฝันที่สวยงามเมื่อไต้หวันได้รับอิสรภาพจากจีน หลังจากถูกประเทศจีนปกครองมานาน และความเปลี่ยนแปลงที่ยังเห็นความไม่แน่นอนในอนาคตช่วงปี 2005 (ซึ่งไม่ต่างกับช่วงที่อังกฤษกำลังจะส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้กับประเทศจีน ตอนนั้นสถานการณ์ในฮ่องกงก็เต็มไปด้วยความอึมครึม สับสน และไม่ไว้วางใจเช่นเดียวกัน)

     ดังนั้นเรื่องราวของช่วงเวลาทั้งสามตอนที่ถูกร้อยเรียงออกมาเป็นหนังเรื่องนี้ จึงเป็นเหมือนการสังเกตการณ์ของโหวเสี้ยวเสียน ที่มีต่อประเทศไต้หวันด้วยความเคลือบแคลงไม่ไว้ใจ แม้ในตอนแรกสุดจะเป็นเรื่องราวที่สดใสในความรัก แต่เราเองก็ไม่รู้ว่าหลังจากนั้นแล้วตัวละครจะเป็นอย่างไรต่อไป ยิ่งมาเจอกับความสิ้นหวังที่อยู่ในตอนที่สอง ความสับสนจากสภาพสังคม และความรู้สึกภายในของตัวละครที่เกิดขึ้นในตอนที่สาม

     พอดูจบแล้วทำให้เรารู้สึกว่าทำไมสถานการณ์เหล่านี้ช่างคล้ายคลึงกับสิ่งที่ผ่านมา และกำลังเป็นอยู่ในบ้านเราตอนนี้เหลือเกิน

 


FYI

Three Times

     ดีวีดีของภาพยนตร์เรื่องนี้มักจะแอบๆ อยู่ตามกระบะดีวีดีลดราคาตามไฮเปอร์มาเก็ตแนะนำว่าลองแวะไปสำรวจดูคุณอาจจะได้หนังดีๆ กลับมาอีกหลายเรื่องเพราะส่วนใหญ่จะขายกันที่ 3 เรื่อง 100 บาท