weezer

The Review | สองอัลบั้มต้อนรับ 25 ปี ของ Weezer วงดนตรีแห่งยุค 90s ที่ไม่เคยแก่ไปตามเวลา

เสียงกีตาร์ที่แผดออกมาดังกึกก้อง Dance Fever รัชดาภิเษก ในคืนของวันที่ 4 สิงหาคม 1997 ของเพลง My Name Is Jonas ทำเอาเรากับวัยรุ่นอีกนับร้อยคนกระโดดกันจนหัวเปียก และเมื่อจบเพลงสุดท้าย Rivers Cuomo นักร้องนำของวงซึ่งตอนนั้นไว้ผมยาวถึงต้นคอ ก็เดินออกมาทักทายแฟนเพลงชาวไทยพร้อมกับแจกลายเซ็นให้กับคนที่มารุมล้อมพวกเขา และเราก็ได้ยินเสียงคนบางคนพูดขึ้นว่า โคตรเหมือน เคิร์ต โคเบน เลยว่ะ ในวันนั้นวง Weezer เหมือนกับพระเจ้าองค์หนึ่งของคนที่ฟังเพลงอัลเทอร์เนทีฟ และค่อยๆ หายไปตามเวลาที่เปลี่ยนผ่าน แต่พวกเขาก็ไม่ได้หายไปไหนอย่างที่หลายคนคิด เพราะตอนนี้ Weezer ยังคงผลิตผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง และยังคงเป็นวงที่คนอเมริกันรักอยู่ห่างๆ มาเสมอ

weezer

weezer

 

     Weezer คือหนึ่งในวงดนตรีอัลเทอร์เนทีฟจากยุค 90s ที่ออกอัลบั้มแรกในชื่อตัวเอง (Weezer) แต่แฟนเพลงกลับตั้งชื่อเล่นให้อัลบั้มนี้ว่า Blue Album โดยมีเพลง (โคตร) มหาฮิตคือ Buddy Holly ที่กวาดรางวัลด้านมิวสิกวิดีโอยอดเยี่ยมมามากมาย แถมยังติด 1 ใน 500 เพลงที่ดีที่สุดตลอดกาลจากนิตยสาร Rolling Stone (อยู่ในอันดับที่ 499) และมิวสิกวิดีโอเพลงนี้ก็ถูกนำไปบรรจุไว้ใน CD แผ่นลิขสิทธิ์ของ Windows 95 ด้วย ซึ่งเราก็ตามหาแผ่นวินโดวส์ (ของแท้) นี้ มาได้ในเวลาไม่นาน เพราะคนข้างบ้านซื้อคอมพิวเตอร์พีซีจากแบรนด์ที่ได้รับลิขสิทธิ์จากไมโครซอฟท์มาพอดีไม่ได้ซื้อเครื่องประกอบเองอย่างที่นิยมกันในช่วงนั้น เราจึงมีมิวสิกวิดีโอเพลง Buddy Holly ที่เป็นไฟล์ .AVI ความละเอียดต่ำภาพแตกยิบๆ แต่เราก็นั่งดูอย่างมีความสุขในวันที่ไม่มียูทูบหรือวิดีโอสตรีมมิงแบบทุกวันนี้ (อินเทอร์เน็ตยังเป็นเรื่องที่ไกลตัว ความเร็วต่ำ และแพงมากในสมัยนั้น)

 

 

     เมื่ออัลบั้มแรกประสบความสำเร็จ (อย่างมหาศาล) แน่นอนว่าความกดดันย่อมเกิดกับทุกวงดนตรีที่เริ่มต้นจากการทำเพลงเล่นๆ ตามใจฉัน ซึ่ง Weezer ก็ดูเหมือนจะรู้สึกแบบนั้นด้วย อัลบั้มต่อมาชื่อ Pinkerton (ซึ่งแฟนๆ ไม่ชอบชื่อนี้เลยตั้งชื่อให้ใหม่ว่า The Black Album แทน จนกระทั่ง Black Album ของจริงได้วางจำหน่ายในปีนี้) เพลงในอัลบั้มนี้มืดมน ตึงเครียด และเกรี้ยวกราด จนแทบจะไม่เหลือเค้าความสดใสที่ปรากฏอยู่ในอัลบั้มชุดแรกเลย (ถ้าใครที่คิดว่า Say It Ain’t So ในอัลบั้มแรกบาดลึก หม่นหมองแล้ว นั่นยังแค่ครึ่งเดียวของบรรยากาศที่อยู่ใน Pinkerton เอง) แม้อัลบั้มจะล้มเหลวทางด้านยอดขายและเสียงวิจารณ์ในช่วงแรกที่ปล่อยออกมา แต่เมื่อเวลาผ่านไป แฟนเพลงจำนวนมากกลับยกย่องให้อัลบั้ม Pinkerton เป็นอัลบั้มที่ดีอีกชุดหนึ่งของวง และยังติดอันดับ 100 อัลบั้มยอดเยี่ยมที่สุดของทศวรรษ 1990 ด้วย

 

 

     Weezer กลับมาออกอัลบั้มที่ 3 ในชื่อ The Green Album ในช่วงที่โลกเข้าสู่สหัสวรรษใหม่แล้ว (2001) แน่นอนว่าวงการเพลงในตอนนั้นกำลังตื่นเต้นกับการเกิดขึ้นของวงดนตรีแนว Nu Metal หรือการาจร็อกอย่าง The Strokes วงหน้าใหม่ฝีมือดีที่ทยอยกันฉายแสง Muse, Travis, Incubus หรือร็อกเมนสตรีมอย่าง Creed ล้วนสร้างความตื่นเต้นใหม่ๆ ให้กับคนฟังเพลง

 

weezer

 

     Weezer ได้หวนกลับไปใช้สุ้มเสียงแบบคอลเลจซาวนด์เหมือนอัลบั้มแรก ซึ่งก็ทำให้พวกเขายังพอมีที่ยืนของตัวเองโดยไม่ถูกกลืนหายไปเหมือนวงดนตรีรุ่นราวคราวเดียวกัน และดูเหมือนพวกเขาจะรู้ตัวแล้วว่าความเนิร์ดนิดๆ ดิบหน่อยๆ และบ้าบิ่นเล็กน้อย คือส่วนผสมที่ลงตัวของทางวง และก็เป็นเสน่ห์ที่ทำให้เขาเป็นวงดนตรีที่คนอเมริกันเอ็นดู (ถ้าเทียบให้เห็นภาพก็ประมาณวง Paradox ของบ้านเราที่ทุกวันนี้ยังเป็นที่ชื่นชอบของคนฟังเพลงทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่โตมาด้วยกัน)

     แม้ Weezer จะกลายเป็นวงดนตรีที่ได้ชื่อว่ามาจากยุค 90s แล้วก็ตาม แต่ดีกรีของพวกเขาก็ยังไม่โรยราไปตามวัย เพราะพวกเขายังขยันออกอัลบั้มมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปีนี้พี่แกก็นึกสนุกออกอัลบั้มติดกันมาถึงสองชุด นั่นคือ Teal Album และ Black Album weezer     ซึ่งอัลบั้มแรกนั้นเป็นการคัฟเวอร์เพลงดังๆ จากยุค 70s และ 80s อย่าง Take On Me ของ A-ha, Paranoid ของ Black Sabbath, Happy Together ของ The Turtles หรือ Billie Jean ของ Michael Jackson ซึ่งหลายคนก็ค่อนขอดว่านี่ไม่ใช่การคัฟเวอร์แล้วแต่เป็นการร้องคาราโอเกะชัดๆ เพราะในพาร์ตของดนตรีแทบไม่มีความต่างจากต้นฉบับเลย ซึ่งในตอนแรกเราเองก็คิดแบบเดียวกัน แต่เมื่อฟังอัลบั้มนี้ไปสองสามรอบ เราก็นึกบางอย่างได้ว่า จุดเริ่มต้นของวงนั้นคือการที่กลุ่มเพื่อนที่ชอบเล่นดนตรีมาจับกลุ่มรวมตัวกันเพื่อทำเพลงในแบบที่ตัวเองชอบ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในอัลบั้มแรกสุดของวงเองก็ไม่ต่างจากเด็กๆ ที่อยู่ในหนังเรื่อง Sing Street ที่อยากร้อง อยากเล่นดนตรีตามวงไอดอลที่ตัวเองชื่นชม ดังนั้น ก็ไม่เห็นจะแปลกอะไรถ้าพวกเขาจะไม่สนใจชื่อเสียงหรือความคาดหวังที่แฟนๆ มี ทำเพลงในแบบที่ตัวเองอยากร้องอยากเล่นจริงๆ ก็คือเล่นให้เหมือนกับต้นฉบับ ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งมุกที่วงดนตรีแอบแสบวงนี้นำมาใช้

 

weezer

 

     ส่วน Black Album ซึ่งออกตามหลังมาเพียงไม่กี่เดือนก็มาพร้อมกับซาวนด์ที่ร่วมสมัยขึ้น หลายๆ เพลงยังคงกลิ่นอายของ Weezer ในเรื่องของทำนองและเนื้อเพลง เพียงแต่ลดเสียงแผดกร้าวของกีตาร์อันเป็นเอกลักษณ์ของวงลงไป ซึ่งก็ยิ่งตอกย้ำให้เรามั่นใจกับแนวคิดของ Teal Album ว่าพวกเขาคงนึกสนุก และอยากทำเพลงแบบที่ตัวเองชอบฟังในตอนเด็กเหมือนกับเราที่อยากจะร้องเพลงของวงไมโครหรือพาราด็อกซ์ แบบที่ไม่ต้องไปตีความหรือทำดนตรีใหม่ให้วุ่นวาย

     เพราะตัวตนดั้งเดิมนั้นเจ๋งอยู่แล้ว ทำไมต้องไปเปลี่ยนอะไรเพื่อให้คนมาชอบด้วยล่ะ คงเป็นความคิดของวงดนตรีที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาตั้งแต่ยุคอัลเทอร์เนทีฟเฟื่องฟู และอยู่เป็นขวัญใจของวัยรุ่นอเมริกันแบบเฉพาะกลุ่มมาตลอด 25 ปี และเชื่อว่าพวกเขายังคงจะเป็นแบบนี้ต่อไป ซึ่งนี่คือสิ่งที่ให้วงดนตรีนี้ยังไม่เลือนหายไปจากคนฟังเพลงแม้ว่าเราจะอัพเกรดไปใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์เวอร์ชันไหนก็ตาม