ที่เราเศร้า อาจเป็นเพราะในช่วงเวลาที่ยากที่สุดของชีวิต กลับไม่มีใครสักคนคอยรับฟังเราด้วยหัวใจ

ในช่วงเวลาที่คุณเศร้าและทุกข์ที่สุด ภายในเต็มไปด้วยความรู้สึกกระวนกระวายและเรื่องราวอัดอั้นตันใจ คุณมีใครสักคนไหมที่จะคอยรับฟังทุกปัญหาที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตของคุณ คนที่คุณเชื่อมั่นว่าอย่างน้อยที่สุดเพียงแค่ได้บอกเล่าหรือระบายความในใจกับเขาแล้ว ความทุกข์ร้อนและเรื่องโศกเศร้าที่เคยมีจะบรรเทาเบาบางลง

     จากหัวใจที่บอบช้ำและความรู้สึกท้อแท้ที่อาจบั่นทอนชีวิตจนแทบสูญสิ้นความหวัง กลับได้รับการเยียวยาจนรู้สึกสบายใจมากขึ้นอีกครั้ง เพราะคุณตระหนักดีว่าในช่วงเวลาที่ยากที่สุดของชีวิต ยังมีคนสำคัญที่คอยเป็นกำลังใจและเป็นที่พึ่งทางใจให้คุณเสมอ ความรู้สึกอุ่นใจทั้งหมดนี้เกิดได้เพราะพลังของการรับฟังอย่างเข้าใจ

     แต่ทุกวันนี้เราต่างใช้ชีวิตอยู่ในสังคมแห่งการพร่ำบ่นก่นด่าและการเปล่งเสียงเรียกร้องความสนใจ แล้วสังคมก็จะค่อยๆ หล่อหลอมให้เรากลายเป็นคนพูดมากกว่าฟังอีกที จนในที่สุดทำให้เรามีมุมมองต่อทุกอย่างรอบตัวด้วยความฉาบฉวยอย่างไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ เพราะเราทุกคนเป็นผลผลิตหนึ่งของสังคมที่อาศัยอยู่ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของใครหรืออะไร และไม่มีประโยชน์ใดๆ หากเรามัวแต่กล่าวโทษสิ่งต่างๆ ในทางกลับกันเรายิ่งต้องหันมาใส่ใจและให้ความสำคัญกับการฟังมากขึ้น ถ้าให้ลึกซึ้งกว่านั้นคือการเปิดใจรับฟัง ซึ่งแตกต่างจากการได้ยิน

 

     เพื่อให้เข้าใจความแตกต่างระหว่างการได้ยินและการฟัง ต้องย้อนกลับไปตั้งต้นก่อนที่ทารกจะคลอดออกมาลืมตาดูโลก เพราะความจริงแล้วเราทุกคนเริ่มได้ยินเสียงครั้งแรกตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา หมายความว่าถ้าประสาทการรับเสียงของทารกปกติดี เสียงของแม่คือเสียงที่เด็กจะคุ้นเคยมากที่สุด หลังจากนั้นเมื่อทารกคลอดออกมา ระบบประสาทสัมผัสและการรับรู้ที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินจะเริ่มมีพัฒนาการมากขึ้นจนสมบูรณ์ เสียงรอบตัวทารกจึงกลายเป็นสิ่งเร้าแปลกใหม่ที่จะคอยกระตุ้นให้เด็กตกใจและผ่อนคลาย แต่เสียงที่ทำให้เด็กรู้สึกสงบและอุ่นใจทุกครั้งเมื่อได้ยินยังคงเป็นเสียงของแม่คนเดิม เพราะเขาคุ้นชินกับโทนเสียงนี้มาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ แม้ว่าจะยังไม่รู้ความหมายของเสียงและคำพูดเหล่านั้นก็ตาม ที่สำคัญเสียงและการได้ยินยังเกี่ยวข้องกับพัฒนาการด้านอื่นๆ อีกด้วย โดยเฉพาะการพูด การฟังเป็นรากฐานของการพูด เช่นเดียวกับการอ่านเป็นรากฐานของการเขียน ทักษะการเรียนรู้จึงเรียงลำดับตามพัฒนาการคือ ฟัง พูด อ่าน และเขียนนั่นเอง

     ต่อมาเมื่อเราเติบโตขึ้นและมีประสบการณ์มากพอจนรู้จักการใช้ชีวิต นอกเหนือจากการได้ยินเสียงทั่วไป เราจะเริ่มฟังมากขึ้น โดยเลือกให้ความหมายและการใส่ใจลงรายละเอียดในเสียงที่ได้ยินอีกทีหนึ่ง เราได้ยินเสียงก่อสร้าง เสียงรถบนท้องถนน เสียงจอแจในตลาด เสียงการทำงานของเครื่องปรับอากาศในบ้าน หรือแม้กระทั่งเสียงนกร้อง แต่เรากลับเลือกฟังเสียงของแม่ที่กำลังบ่นเรื่องความไม่เป็นระเบียบ เสียงของเพื่อนๆ ที่กำลังพรีเซนต์งานหน้าห้องเรียน เสียงของตัวละครในซีรีส์ที่กำลังดู เสียงนักพากย์ระหว่างที่บอลกำลังแข่งกันในสนาม หรือเสียงพูดของแฟนท่ามกลางเสียงดนตรีในปาร์ตี้ ดังนั้น เสียงเพลงในงานต่อให้ดังขนาดไหน ก็ไม่มีความหมายใดๆ ถ้าในระหว่างนั้นเรากำลังตั้งใจคุยอยู่กับแฟน เราอาจได้ยินเสียงเพลงก็จริง แต่เราเลือกให้ความสนใจและฟังเสียงพูดจากแฟนคนเดียว ทางจิตวิทยาเรียกการเลือกฟังเฉพาะสิ่งที่เราสนใจว่าเป็นปรากฏการณ์ Cocktail Party Effect ตรงจุดนี้เองที่ทำให้การฟังต่างจากการได้ยินอย่างสิ้นเชิง แล้วการรับฟังล่ะต่างจากการฟังอย่างไร

     การรับฟังเป็นมากกว่าการฟังทั่วไป เพราะเราต้องใช้ใจรับฟังสิ่งที่อีกฝ่ายพูดหรือถ่ายทอดออกมาอย่างเป็นกลางและเชื่อมโยงเข้าไปถึงความรู้สึกภายในที่ลึกเข้าไปถึงหัวใจ (empathy) โดยไม่ใช้มุมมอง ประสบการณ์ ความรู้สึก หรือความคาดหวังส่วนตัวมาตัดสินด้วยอคติว่าถูกผิดหรือดีเลว แต่จะค่อยๆ ฟังเรื่องราวแล้วคิดตาม เพื่อจับใจความสำคัญให้รู้สาเหตุความเป็นมาและปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น เมื่อใดก็ตามถ้าเกิดความรู้สึกไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เราเข้าใจกับสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการระบายถูกต้องตรงกันหรือเปล่าให้ทวนหรือถามกลับ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด เพราะปลายทางของการรับฟังกันและกันคือความเข้าใจที่ดี

 

     เคยสังเกตตัวเองไหมว่า เมื่อชีวิตมีเรื่องกังวลหรือไม่สบายใจ เราจะเลือกระบายความในใจเฉพาะกับใครบางคนเท่านั้น ในทางกลับกัน เมื่อเพื่อนหรือคนที่เรารู้จักมีปัญหา ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะพร้อมเข้ามาหาเราเสมอ แต่จะมีเพียงบางคนเท่านั้นที่ยอมปรับทุกข์และเล่าความในใจให้เราฟัง ถ้าถามว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้เราเลือกและถูกเลือกจากใครบางคน คำตอบที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับความรู้สึกเชื่อใจและไว้วางใจ การมีคนคอยรับฟังทำให้เราไม่ได้รู้สึกโดดเดี่ยวอยู่คนเดียวบนโลกนี้ อย่างน้อยที่สุดก็ยังมีคนที่คอยอยู่เป็นเพื่อนเราในเวลาที่ชีวิตต้องพบเจอกับความทุกข์ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีใครคนนั้น

     ด้วยเงื่อนไขการใช้ชีวิตและสภาพสังคมที่เป็นอยู่ คนทุกวันนี้จึงประสบกับปัญหาและมีความทุกข์ใจง่ายขึ้น แต่ต่อให้คิดว่าตัวเองเข้มแข็งขนาดไหน ความจริงซึ่งเป็นเรื่องปกติและธรรมดาที่สุดก็คือไม่มีใครรับมือกับทุกปัญหาได้ตลอดรอดฝั่ง หัวใจของคนในยุคสมัยนี้จึงแทบจะมีสถานะไม่ต่างจากลูกโป่ง ปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าชีวิตคือลมที่อัดเข้าไปข้างในซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนขยายใหญ่เต็มกำลังเกินกว่าที่ผิวบางๆ ของหัวใจจะรั้งตึงไหวได้ หากมีคมหนามหรือปลายเข็มเข้ามาสะกิดเพียงเบาๆ ลูกโป่งนี้ก็พร้อมจะแตกระเบิดออกจนไม่เหลือชิ้นดี ถ้าลูกโป่งที่แตกสลายนี้คือหัวใจจริงๆ สภาพจิตใจในตอนนั้นจะย่ำแย่แค่ไหน คงไม่มีใครอยากตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น เพราะตัวตนบางส่วนอาจหล่นหายไปจนกลายเป็น Invisible Man หรือคนที่ไม่ถูกมองเห็น ทำให้เข้าใจว่าชีวิตนี้ไร้ค่า ไร้ความหมาย จนกลายเป็นอาการซึมเศร้าในตอนท้าย

     การปรับทุกข์โดยมีใครสักคนคอยรับฟังอย่างเข้าใจจึงเหมือนการระบายลมหรือความอัดอั้นตันใจออกบ้าง ทำให้คนจำนวนหนึ่งเลือกวิธีดูแลหัวใจของตัวเองด้วยการเข้าพบจิตแพทย์ เพราะหลายครั้งที่เราเศร้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีใครสักคนคอยรับฟังเราด้วยหัวใจ

     การมีคนรับฟังความทุกข์ด้วยความเข้าใจจริงๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญของชีวิต ลึกซึ้งกว่านั้นเป็นความดีงามในชีวิตที่คอยเยียวยาเรา โดยเฉพาะถ้าเรื่องนั้นเป็นปัญหาที่เข้ามากระทบจิตใจและความรู้สึก เพื่อช่วยให้เราสามารถก้าวข้ามผ่านจุดที่ยากของชีวิตไปได้ และช่วยประคองใจที่เคยแตกสลายให้กลับมาเป็นรูปเป็นร่างอีกครั้งหนึ่ง การรับฟังอย่างตั้งใจจึงไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าต้องเกิดขึ้นแต่ในทางการบำบัดโดยจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเท่านั้น แต่เป็นเรื่องพื้นฐานของชีวิตทุกคนมากกว่า

     ในฐานะที่เรามีหัวใจที่ให้ความรักเป็นและรับความรักได้ ความเข้มแข็งและความอ่อนแอของจิตใจจึงไม่ใช่เรื่องใครเก่ง ใครแย่ หรือใครแพ้ไม่ได้ แต่เป็นเรื่องความเข้าใจและการยอมรับตัวเองเพื่อให้ชีวิตได้ระบายสิ่งที่คอยบั่นทอนเรามากกว่า เพราะท้ายที่สุดแล้ว ช่วงเวลาที่ยากที่สุดของชีวิต เราทุกคนก็อาจไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่า ใครสักคนที่จะคอยรับฟังเราอย่างเข้าใจจริงๆ

 

Active Listening

 

Active Listening 

     ความสำคัญของการรับฟังอย่างตั้งใจ หรือ Active Listening ได้รับการกล่าวถึงครั้งแรกในปี ค.ศ. 1957 โดย คาร์ล โรเจอร์ส (Carl Rogers) และ ริชาร์ด ฟาร์สัน (Richard Farson) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน โดยทั้งสองคนเชื่อว่า การรับฟังที่ดีจะเป็นวิธีที่นำพาโอกาสเข้ามาในชีวิต ซึ่งจะทำให้เติบโตภายในและเกิดความตระหนักในคุณค่าของตัวเอง ขณะเดียวกันก็ทำให้ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกทั้งต่อตัวเองและคนอื่น

     เมื่อรู้สึกว่าชีวิตกำลังพบเจอกับปัญหา วิธีบรรเทาความทุกข์ใจเบื้องต้นคือการระบายและปรับทุกข์กับคนใกล้ชิด หรือใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323 (ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง) ในกรณีที่เริ่มรู้สึกว่าไม่สามารถรับมือกับปัญหาได้จนส่งผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวันและการงานควรพบจิตแพทย์ทันที ค้นหารายชื่อโรงพยาบาลและคลินิกทั่วประเทศ ใกล้บ้านที่มีแผนกจิตเวช

 


Reference: