Dissociative Identity Disorder

Dissociative Identity Disorder | มุมมืดของตัวตน จุดบอดของชีวิต บุคลิกผิดแปลกจากใจที่แตกสลาย

Strange Case of Dr. Jekyll and Mr. Hyde (1886), Psycho (1960), Fight Club (1999), Sybil (2007), Black Swan (2010), Birdman (2014) และ Split (2017) คุณคิดว่าอะไรคือสิ่งที่วรรณกรรมและภาพยนตร์เหล่านี้มีเหมือนกัน อันที่จริงๆ คำตอบก็เฉลยชัดเจนอยู่ที่หัวข้อบทความแล้วล่ะ ซึ่งก็คือ บุคลิกภาพของตัวละครที่ผิดแปลกและเบี่ยงเบนไปจากความเป็นปกติ พวกเขาตกอยู่ในภาวะหลายบุคลิกโดยไม่รู้ตัว แต่ละพฤติกรรมที่แสดงออกมาจึงมักจะสร้างความรู้สึกสะพรึงกลัวและหวาดวิตกให้กับคนใกล้ชิด เพราะในช่วงเวลาหนึ่งเขาไม่ใช่คนที่เราเคยรู้จักอีกต่อไป

     ในโลกความเป็นจริง เมื่อเปิดดูเกณฑ์ในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders) ซึ่งเป็นระบบการจำแนกโรคทางจิตเวช โดยสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (American Psychiatric Association) เราจะพบว่า บุคลิกภาพของตัวละครเหล่านั้น ล้วนเข้าข่ายอาการของโรค Dissociative Identity Disorder (DID)

     เดิมทีโรคนี้ใช้ชื่อว่า Multiple Personality Disorder แต่ที่เป็นปัญหาจนต้องเปลี่ยนชื่อใหม่ก็เพราะตรงคำว่า Multiple Personality ได้สร้างข้อสงสัยและถกเถียงว่า ทำไมการที่คนคนหนึ่งมีหลายบุคลิกภาพจึงถูกตีตราหาว่าเป็นความผิดปกติไปได้ ทั้งๆ ที่โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกวิวัฒนาการมาให้รู้จักการเรียนรู้และปรับตัวตลอดเวลาเพื่อเหตุผลเรื่องความอยู่รอด ตัวอย่างเช่น เมื่ออยู่กับเพื่อนๆ เรากล้าแสดงออกอย่างเต็มที่ แต่กลับต้องสำรวมกิริยา สุขุมนิ่ง สร้างความน่าเชื่อถือให้ตัวเองตอนนำเสนองานกับลูกค้า หรืออาจกลายเป็นลูกขี้อ้อนเมื่ออยู่บ้านกับแม่ เห็นไหมว่าตัวเราสามารถมีได้มากกว่าหนึ่งบุคลิก ซึ่งแปรเปลี่ยนไปตามแต่สถานการณ์ บุคคลอื่นที่เรามีปฏิสัมพันธ์ และสภาวะแวดล้อมในขณะนั้น ซึ่งไม่นับเป็นโรคหรือความผิดปกติแต่อย่างใด ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดเรื่องบุคลิกภาพจากความหมายที่คลุมเครือของชื่อโรค ในที่สุดจึงมีการเปลี่ยนเป็นชื่อใหม่ให้ชัดเจนกว่าเดิม

     โดยทั่วไปแล้ว บุคลิกภาพคือลักษณะเฉพาะตัว เป็นผลรวมของภาพลักษณ์ทางกาย รูปร่าง หน้าตา การรับรู้ ความรู้สึกนึกคิด สติปัญญา ความเชื่อ อารมณ์ อุปนิสัยใจคอหรือสันดาน และประสบการณ์ แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในกระบวนการก่อร่างสร้างบุคลิก คือการเรียนรู้จากกลุ่มสังคม โดยเฉพาะครอบครัวและเพื่อน เนื่องจากเป็นสังคมกลุ่มแรกๆ ที่มีบทบาทกับตัวเราโดยตรงตั้งแต่วัยเด็ก ในทางจิตวิทยาและจิตเวชจึงมุ่งให้ความสนใจกับช่วงชีวิตวัยเด็กเป็นอย่างมาก เพราะเหตุการณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ล้วนส่งผลต่อทิศทางการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะระบบความคิดและการแสดงออกทางพฤติกรรม ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของบุคลิกภาพ

     บุคลิกภาพก็เหมือนกับหน้ากากที่เราเลือกหยิบขึ้นมาสวมตามเห็นสมควร ภายในตัวเราทุกคนจึงมีกล่องที่ใช้เก็บหน้ากากเหล่านี้ไว้ ซึ่งแต่ละคนมีจำนวนหน้ากากไม่เท่ากัน แตกต่างกันไปตามประสบการณ์ชีวิต แต่ทุกคนมีสติรู้ตัวเสมอว่าเมื่อไหร่จะใช้หน้ากากอันไหน กับใคร เมื่อไหร่ต้องเปลี่ยน และเมื่อไหร่ที่เราสามารถถอดหน้ากากออกได้

     แนวคิดทั้งหมดนี้เกิดขึ้นมาจากการสร้างคำ เพราะคำว่า personality มีรากศัพท์จากภาษากรีกคือ persona แปลว่า mask หรือ หน้ากาก ซึ่งคนกรีกโบราณใช้สวมใส่เพื่อสร้างบทบาท เป็นคนดี เป็นคนร้าย ขณะออกแสดงละครบทเวที

     แต่สำหรับบุคลิกภาพผิดปกติระดับป่วยเป็นโรคนั้นเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งระดับสารเคมีในร่างกาย เช่น ฮอร์โมนบางชนิดที่มีปริมาณสูงต่ำกว่าปกติ หรืออาจเกี่ยวข้องกับความบกพร่องในพัฒนาการวัยเด็ก รวมทั้งลักษณะการเลี้ยงดูที่ผิดแปลกจากผู้ใหญ่ อย่างการถูกทารุณกรรมหรือการทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมบางอย่าง ซึ่งความผิดปกติของบุคลิกภาพจะเริ่มแสดงอาการตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ชีวิตวัยรุ่นหรือช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ความผิดปกตินี้เกิดขึ้นได้ทั้งฉับพลันทันใด และค่อยเป็นค่อยไป หรืออาจเกิดขึ้นแบบชั่วคราว หรือเป็นอาการเรื้อรังก็ได้แล้วแต่กรณี

 

Dissociative Identity Disorder

 

     ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1885 กรุงปารีส ประเทศฝั่งเศส Louis Vivet คือคนแรกที่ถูกวินิจฉัยให้ป่วยเป็นโรค Multiple Personality Disorder อาการของเขาสร้างความตื่นตะลึงให้กับแพทย์ในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก เพราะเขามีถึง 10 บุคลิก จากคนปกติ กลายเป็นคนอัมพาตเดินไม่ได้ จากคนสุภาพเป็นมิตร กลายเป็นคนก้าวร้าว ขี้โมโห จากคนขยันขันแข็ง กลายเป็นคนเกียจคร้านไม่เอาการเอางาน เขาสับเปลี่ยนแต่ละบุคลิกไปมาตลอดการรักษาโดยไม่รู้ตัว เหมือนความทรงจำของแต่ละบุคลิกภาพแยกจากกันเป็นของตัวเอง ไม่มีใครบอกได้ว่าอีกไม่กี่นาทีข้างหน้าเขาจะเป็นคนไหน แต่น่าเสียดายข้อมูลการรักษาของ Louis Vivet ในบันทึกสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1886 แม้ว่าเราจะไม่ได้รู้เรื่องราวของเขาหลังจากนั้น แต่อาการแปลกประหลาดของเขาได้สร้างแรงบันดาลใจให้ Robert Louis Stevenson นักเขียนคนสำคัญของโลก สร้างสรรค์งานเขียนคลาสสิกตลอดกาลอย่าง Strange Case of Dr. Jekyll and Mr. Hyde ถือเป็นวรรณกรรมเรื่องแรกที่พูดถึงความผิดปกติของตัวตนหลายบุคลิก

     หรืออย่างกรณีของ Sybil Isabel Dorsett หญิงสาวอเมริกันผู้มีตัวตน 16 บุคลิก เธอบอกว่าตัวเองมักจะจำเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ไม่ได้ เธอเคยตื่นนอนขึ้นมาแล้วพบว่าตัวเองอยู่บนเตียงในโรงแรมที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชื่ออะไร และมาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร หรือรู้ตัวอีกทีก็พบว่าสิ่งของที่อยู่ตรงหน้าถูกทำลายพังจนแทบไม่เหลือชิ้นดี โดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่าเธอนั่นแหละเป็นคนทำลาย สุดท้ายเธอตัดสินใจเขารับการรักษากับจิตแพทย์ เพราะเธอทนใช้ชีวิตแบบนี้ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว เรื่องราวของเธอถูกนำมาถ่ายทอดเป็นหนังสือขื่อ Sybil: The True Story of a Woman Possessed by 16 Separate Personalities และถูกนำมาดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ชื่อ Sybil แม้ว่ากรณีของเธอจะถูกสังคมตั้งคำถามถึงความไม่น่าเป็นไปได้ รวมทั้งมีคนจำนวนมากตั้งข้อสงสัยว่าทั้งหมดนี้อาจเป็นเรื่องที่เธอแต่งขึ้นมาอย่างจงใจแหกตาเพื่อสร้างชื่อเสียง แต่อย่างน้อยเรื่องของเธอก็ได้กลายเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญกรณีหนึ่งที่เกี่ยวกับโรคและความผิดปกติของบุคลิกภาพ

 

Dissociative Identity Disorder

 

      หรือภาพยนตร์เรื่องล่าสุดที่นำเสนออาการของโรค Dissociative Identity Disorder ได้อย่างน่าสนใจและชวนให้รู้สึกตื่นเต้นตลอดทั้งเรื่องอย่าง Split ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงของ Billy Milligan หนุ่มอเมริกันผู้มีตัวตนมากถึง 24 บุคลิก โดยที่เขาเองในวัย 22 ปี ก็เพิ่งรู้ว่าแท้จริงแล้วภายในส่วนลึกที่สุดของจิตใจมีใครอีกหลายคนแอบซุกซ่อนอยู่ จากการถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมข้อหาลักพาตัวและข่มขื่นเหยื่อเพศหญิงจำนวน 3 คน ระหว่างสอบสวนเขาเริ่มเปิดตัวตนอื่นๆ ออกมา จิตแพทย์และนักจิตวิทยาลงความเห็นว่า อาการป่วยเหล่านี้เป็นผลมาจากถูกคุกคามทางเพศโดยพ่อเลี้ยงขณะที่เขาอายุประมาณ 8 ขวบ ทำให้เขาต้องสร้างตัวตนใหม่ๆ เพื่อหลีกหนีเหตุการณ์ในอดีตและพยายามรับมือความรู้สึกอันเจ็บปวดที่ไม่อาจลบออกไปจากความทรงจำได้

     อาการป่วยของเขาแตกต่างจากกรณีศึกษาที่ผ่านมา เพราะ Billy Milligan มีตัวตนหนึ่งที่คอยเปิดเผยชื่อจริง อายุ และลักษณะบุคลิกภาพเฉพาะของตัวตนอื่นๆ อย่างชัดเจน ขณะที่อาการป่วยโดยทั่วไปจะซ่อนเร้นข้อมูลเหล่านี้ไว้ หรือไม่ก็ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนแบบนี้ ท้ายที่สุดศาลตัดสินว่าอาชญกรรมที่เขาก่อ เกิดขึ้นจากความบกพร่องทางการรับรู้ตัวตน เป็นการกระทำที่ไม่ได้เกิดจากสติสัมปชัญญะ ทำให้ Billy Milligan คือผู้ป่วยโรค Dissociative Identity Disorder คนแรกที่ได้รับยกเว้นโทษ จากนั้นเขาเข้ารับการรักษาและอยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์สุขภาพจิตจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เรื่องราวของเขายังถูกบันทึกไว้ในหนังสือ The Minds of Billy Milligan

 

Dissociative Identity Disorder

 

     บุคลิกผิดปกติเหล่านี้จะมีลักษณะสำคัญที่เหมือนกันคือ เลือกที่จะสร้างตัวตนใหม่หรือให้คนอื่นปรับตัวเข้าหามากกว่า และพวกเขามักจะคิดว่าพฤติกรรมของตัวเองไม่ผิดปกติ แม้จะสร้างความเดือดร้อนให้คนรอบข้างก็ตาม แต่ในอีกมุมหนึ่งพวกเขาคือบุคคลที่น่าเห็นใจ ชีวิตที่ผิดปกติเหล่านี้ล้วนเกิดจากคนอื่นเป็นผู้ยัดเยียดให้ ผ่านการถูกกระทำรุนแรงและโหดร้าย

     สำหรับอาการสำคัญของ Dissociative Identity Disorder คือการไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีตัวตนมากกว่าสองบุคลิกขึ้นไป และอาการจะทวีความรุนแรนมากขึ้นก็ต่อเมื่อเกิดความกดดันบางอย่างในจิตใจ ส่วนการรักษาเริ่มต้นด้วยการทำให้ผู้ป่วยรู้ตัวเองว่ามีตัวตนอื่นๆ ก่อนที่จะใช้กระบวนการทางจิตบำบัดเชิงลึก ร่วมกับยาคลายกังวลและลดอารมณ์ซึมเศร้า

     ท้ายที่สุด Dissociative Identity Disorder ย้ำเตือนเราถึงความรุนแรงและผลลัพธ์อันน่ากลัวของการทารุณกรรมทั้งทางร่างกาย เพศ และจิตใจในวัยเด็ก ซึ่งทำให้ชีวิตของเด็กผู้ถูกกระทำเปลี่ยนแปลงไปทั้งชีวิต เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่บาดแผลในใจอาจทำให้เขามีตัวตนใหม่ บุคลิกใหม่ ที่น้อยคนนักจะได้รู้จัก เป็นมุมมืดของตัวตน เป็นจุดบอดของชีวิต และเป็นบุคลิกผิดแปลกจากใจที่แตกสลาย