หลังเกิดการรัฐประหาร ภายใต้การปกครองของอำนาจเผด็จการ ดูเหมือนว่าปัญหาเดิมๆ จากวิกฤตการณ์การเมืองที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ไม่เคยหายไปไหน มิหนำซ้ำยังทำให้เกิดปัญหาใหม่ๆ เพิ่มขึ้นตามมาอีกด้วย กลับกลายเป็นการสร้างปมเชือกให้ยุ่งเหยิงและผูกมัดความขัดแย้งไว้อยู่อย่างเดิม ภายใต้บรรยากาศของระบอบเผด็จการเช่นนี้ จึงแทบไม่ต่างจากมลภาวะที่สะสมอยู่ในอากาศธาตุ เป็นพิษแฝงเร้นอยู่ทุกอณูรอบตัวทุกคน นี่คือเงื่อนไขที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้
เมื่อทุกชีวิตต้องสูดดมอากาศเหล่านั้นเพื่อหายใจ ท้ายที่สุดผลกระทบทั้งหมดจากการลุแก่อำนาจของเผด็จการก็ตกอยู่กับประชาชน พลอยทำให้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกเหนื่อยหน่ายและเอือมระอากับวังวนความวุ่นวายของเหตุบ้านการเมืองเต็มที เพราะตลอดระยะเวลานานแสนนานที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นชัดเจนแล้วว่า ประเทศไทยยังคงย่ำอยู่กับพื้นที่เดิมเล็กๆ และไม่เคยก้าวผ่านปัญหาการเมืองไปได้จริง
นานเท่าไหร่ที่ความขัดแย้งทางการเมืองกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคน? นานเท่าไหร่ที่ผลพวงจากการปฏิวัติเปิดโอกาสให้เผด็จการเถลิงอำนาจปกครองประเทศ? นานเท่าไหร่ที่เราเฝ้าคอยให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง? อาจจะไม่ใช่ตลอดกาล แต่ก็นานพอที่จะทำให้ใครบางคนผู้เปี่ยมด้วยความหวัง ว่าวันหนึ่งอะไรหลายๆ อย่างคงจะดีขึ้น แปรเปลี่ยนเป็นคนที่หมดหวังและไม่หือไม่อือกับปัญหาใดๆ เพราะหลงเข้าใจว่าไม่ว่าจะพยายามแค่ไหนก็คงไม่มีทางแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงอะไรให้ดีขึ้นตามที่คาดหวังไว้ได้อีก จึงยอมจำนนต่อชีวิตที่สิ้นหวังของตนเอง โดยหารู้ไม่ว่าแท้จริงแล้วชีวิตที่ไร้หวังเป็นผลลัพธ์จากการถูกกระทำและมุมมองต่อความเป็นไปของทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นรอบตัว ซึ่งในทางจิตวิทยาเรียกลักษณะอาการเช่นนี้ว่า Learned Helplessness
ประสบการณ์ของการเป็นฝ่ายถูกกระทำบ่อนทำลายความหวังในชีวิต
ในปี 1960 มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้สร้างการทดลองขึ้นมาเพื่อศึกษาและหาคำอธิบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับ Learned Helplessness โดยเริ่มต้นแบ่งหมาออกเป็นสามกลุ่ม
หมากลุ่มแรกถูกจับใส่ปลอกคอไว้เฉยๆ เมื่อเวลาผ่านไปชั่วขณะหนึ่ง ผู้วิจัยจะถอดปลอกคอออกแล้วปล่อยพวกมันให้เป็นอิสระอีกครั้ง
หมากลุ่มที่สองแม้ว่าจะถูกจับใส่ปลอกคอเหมือนกัน แต่พวกมันจะถูกช็อตด้วยไฟฟ้าร่วมด้วย หนทางเดียวที่จะหยุดไฟฟ้าไม่ให้ช็อตต่อไปคือต้องเอาเท้าไปกดคาน
ส่วนหมากลุ่มที่สามน่าเห็นใจที่สุด เพราะมันถูกจับใส่ปลอกคอและโดนไฟฟ้าช็อตตลอดเวลา ที่สำคัญคือไม่มีทางที่จะหยุดกระแสไฟฟ้าได้ ไม่ว่าจะพยายามดิ้น สะบัดตัว หรือกระโดด ก็ไม่มีประโยชน์ พวกมันยังคงโดนช็อตต่อไป
เมื่อการทดลองขั้นแรกจบ ผู้วิจัยสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงในหมากลุ่มที่สาม พวกมันดูเซื่องซึมลงอย่างเห็นได้ชัด ผิดกับหมาสองกลุ่มแรกที่ยังดูปกติตามเดิม
ต่อมาผู้วิจัยนำหมาทั้งหมดมาทดลองอีกครั้ง ในการทดลองขั้นที่สอง หมาแต่ละตัวจะถูกจับใส่กล่องไม่ให้หนีไปไหนได้เหมือนกันหมด โดยกล่องนี้จะแบ่งพื้นที่เป็นสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งปล่อยกระแสไฟฟ้าให้ช็อตได้ อีกฝั่งหนึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัย ตรงกลางมีที่กั้นซึ่งเตี้ยมากพอให้หมาทุกตัวกระโดดข้ามไปยังอีกฝากหนึ่งอย่างง่ายดาย จากนั้นผู้วิจัยจะเปิดหลอดไฟกะพริบแสงเพื่อส่งสัญญาณให้หมารู้ล่วงหน้าก่อนปล่อยไฟฟ้าลงบนพื้นของฝั่งที่มีหมาอยู่ ทำแบบนี้ซ้ำๆ ตามลำดับ เปิดไฟกะพริบ ปล่อยไฟฟ้าช็อต เปิดไฟกะพริบ ปล่อยไฟฟ้าช็อต เพราะผู้วิจัยต้องการวางเงื่อนไขให้หมาเข้าใจว่ามันจะถูกช็อตหลังจากมีแสงที่หลอดไฟ เพื่อสังเกตรูปแบบพฤติกรรมและวิธีการตอบสนองของหมาแต่ละกลุ่มจากการทดลองในขั้นแรก
ผลปรากฏว่า หมากลุ่มแรกและกลุ่มสองสามารถกระโดดข้ามฝั่งไปยังพื้นที่ปลอดภัยได้สำเร็จ ซึ่งแตกต่างกับหมากลุ่มที่สามราวฟ้ากับเหว แม้ว่ากระแสไฟฟ้าจะทำให้รู้สึกเจ็บปวด แต่พวกมันกลับด้านชาไม่กระตือรือร้นกระโดดข้ามฟากสักนิด แต่ละตัวยอมนอนแน่นิ่งอยู่เฉยๆ ปล่อยให้โดนไฟฟ้าช็อตต่อไปเรื่อยๆ เหมือนความหวังที่จะทำให้ตัวมันรอดพ้นจากสถานการณ์อันตรายได้เลือนหายไปจากชีวิตจนหมดสิ้น เพราะประสบการณ์ของการเป็นฝ่ายถูกกระทำทำให้มันเรียนรู้ว่าชีวิตคงอับจนปัญญาและหนทางเลือกอื่นๆ
เมื่อถูกทำให้จนตรอกและหมดหนทางสู้ ชีวิตจึงเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างสิ้นหวัง
ตามธรรมชาติ เมื่อใดก็ตามที่ชีวิตต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์วิกฤตระดับคุกคามความปลอดภัยของชีวิต เป็นอันตรายและเสี่ยงต่อการถูกทำร้าย หรือส่งผลกระทบต่อการเป็นอยู่ที่ดี มนุษย์ (รวมถึงสัตว์) จะมีทางเลือกอยู่สองทาง คือถ้าไม่เผชิญหน้าเพื่อต่อสู้ (ffiight) ก็ต้องถอยหนีออกมา (ffllight) หลีกเลี่ยงการปะทะ เราเรียกรูปแบบปฏิกิริยาจากการทำงานของร่างกายเพื่อตอบสนองสิ่งเร้าที่เป็นอันตรายต่อความอยู่รอดของชีวิตเช่นนี้ว่า Fight-or-Flight Response
การศึกษาของจิตวิทยาวิวัฒนาการ (Evolutionary Psychology) ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงเรื่องนี้ไว้ว่าเป็นกลไกทางวิวัฒนาการอย่างหนึ่งที่ช่วยให้สิ่งมีชีวิตดำรงเผ่าพันธุ์มาได้จนถึงปัจจุบันและสืบเนื่องไปถึงอนาคต หมายความว่า ตราบใดที่สิ่งมีชีวิตต้องการอยู่รอดปลอดภัยมากเท่าไหร่ การมีปฏิกิริยาอย่างทันทีทันใดต่อสิ่งเร้าที่เป็นภัยก็ยิ่งมีความสำคัญมากเท่านั้น เพราะในสถานการณ์คับขันที่มีเพียงเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างความเป็นและความตาย เราไม่ได้มีเวลามากพอที่จะเตรียมการรับมือใดๆ ได้ จะมีก็เพียงการตัดสินใจสั้นๆ ให้ร่างกายตอบสนองแบบสู้หรือหนีเท่านั้น เพื่อรักษาชีวิตและเอาตัวให้รอดจากเหตุการณ์วิกฤตที่กำลังประสบพบเจอ
แต่จากการทดลองเกี่ยวกับปรากฏการณ์ Learned Helplessness ของเซลิกแมนนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิง พฤติกรรมการตอบสนองของหมากลุ่มสามคือผลลัพธ์ที่แสดงให้เห็นถึงภาวะสิ้นหวังจากการเรียนรู้ผ่านเงื่อนไขบางอย่าง ซึ่งถูกกำหนดขึ้นมาให้เกิดความคุ้นชินนานพอจนกลายเป็นภาพลวงว่าชีวิตไม่มีทางออกที่ดีกว่า
หมาในการทดลองถูกทำร้ายจากอันตราย (ไฟฟ้า) ที่หลบเลี่ยงไม่ได้เป็นเวลานาน จนทำให้มันหยุดดิ้นรนต่อสู้ในที่สุด เพราะหลงคิดไปว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีกแล้ว ถึงแม้ว่าต่อมาจะมีโอกาสหนีออกจากอันตรายนั้น แต่มันกลับไม่สนใจและยอมเป็นฝ่ายถูกกระทำตามเดิม
ยิ่งไปกว่านั้น ผลการศึกษานี้ถูกนำมาเชื่อมโยงกับพฤติกรรมความสิ้นหวังในมนุษย์อีกด้วย โดยมุ่งความสนใจไปยังศักยภาพและความสามารถของแต่ละคนในการรับมือกับปัญหาหรือความท้าทายในชีวิต คนที่มีมุมมองต่อมองโลกในแง่ลบมักจะสร้างความเข้าใจขึ้นมาว่าปัญหาที่กำลังเผชิญจะคงอยู่ตลอดไปไม่เปลี่ยนแปลง จึงเรียนรู้ที่จะไม่ต่อสู้ใดๆ หรือไม่คิดทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อลองฝ่าฟันปัญหานั้นอีกครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเคยประสบความล้มเหลวมาครั้งแล้วครั้งเล่า รวมถึงความคิดฝังใจว่าตนเองไม่มีความสามารถมากพอที่จะควบคุมผลลัพธ์ของเหตุการณ์นั้นๆ ได้ สุดท้ายคนเหล่านี้จะมีชีวิตอยู่ไปวันๆ ไร้ซึ่งความหวังและพลังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง
กอบกู้ความหวังด้วยการเปลี่ยนมุมมองต่อโลกและเหตุการณ์รอบตัว
หลังจากเซลิกแมนได้เผยแพร่การศึกษาเกี่ยวกับ Learned Helplessness อย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 1967 เวลาล่วงเลยมามากกว่ายี่สิบปี เขาปรับมุมมองและเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ในทางตรงกันข้าม ในเมื่อการเรียนรู้ทำให้เกิดความสิ้นหวังได้ แสดงว่าการกอบกู้ความหวังหรือสร้างภูมิคุ้มกันให้ชีวิตคิดบวกก็น่าจะเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ได้เหมือนกัน จึงเกิดเป็นแนวคิดขั้วตรงข้ามที่เรียกว่า Learned Optimism และเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology)
ในหนังสือ Learned Optimism: How to Change Your Mind and Your Life โดย มาร์ติน เซลิกแมน ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1990 ระบุว่า Optimism หรือการมองโลกในแง่มุมที่ดีเป็นรูปแบบการอธิบาย (explanatory style) ส่วนบุคคลต่อสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว ซึ่งแยกออกเป็นสามองค์ประกอบคือ มุมมองต่อสาเหตุและที่มาของเหตุการณ์ (personalization) ความถี่และระยะเวลาการคงอยู่ของเหตุการณ์ (permanence) และการแผ่ขยายไปสู่เรื่องอื่นๆ (pervasiveness)
หมายความว่าเมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้น คนที่มองโลกในแง่ดีจะคิดว่าเหตุการณ์นั้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากตัวเอง เป็นเพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น และไม่ได้มีอิทธิพลมากพอจะส่งผลถึงด้านอื่นๆ ของชีวิต ซึ่งตรงกันข้ามกับมุมมองของ Learned Helplessness ที่มองโลกในแง่ร้ายในทุกกรณี ดังนั้น มุมมองและทัศนคติที่มีต่อโลกคือสิ่งสำคัญที่จะคอยกำหนดทิศทางของชีวิต จะดี จะแย่ จะเปี่ยมหวัง จะสิ้นสูญ จะสุข จะทุกข์ ท้ายที่สุดทั้งหมดขึ้นอยู่กับตัวเราว่าจะเลือกมองความเป็นไปของโลกและเหตุการณ์รอบตัวอย่างไร
เป็นเรื่องปกติธรรมดา ทุกชีวิตมีความเป็นไปได้ที่จะประสบกับปัญหาเดิมๆ ซ้ำซากจนน่าเบื่อเกินทน ประกอบกับทุกคนต่างมีเงื่อนไขในชีวิตแตกต่างกันตามแต่ประสบการณ์ จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจถ้าเราเห็นคนจำนวนหนึ่งสิ้นหวังหรือหมดศรัทธากับอะไรหลายๆ อย่างในประเทศ ปล่อยตัวเองให้ไหลไปตามชะตากรรมที่ถูกกำหนดโดยคนอื่น ไม่ต่างกับกับหมาในการทดลองที่ยอมให้ถูกไฟฟ้าช็อตต่อไปเรื่อยๆ ถ้ามันยังขืนปล่อยตัวให้ตกอยู่ในภวังค์อันสิ้นหวังที่เรียกว่า Learned Helplessness สุดท้ายความรู้สึกพ่ายแพ้ต่อตัวเองและทุกสิ่งอย่างจะค่อยๆ กลืนกินชีวิตจนหมดสิ้น เลวร้ายที่สุดคือมีชีวิตที่ไร้ค่า ไร้ความหมาย แล้วถ้าเป็นชีวิตของมนุษย์ล่ะจะเป็นอย่างไร?
บรรยากาศวิกฤตการณ์การเมืองที่ทุกคนตกอยู่ในวงล้อม อาจเป็นสาเหตุทำให้เราหลงลืมไปว่าชีวิตมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าเสมอ หากแต่ต้องเปิดมุมมองใหม่ให้ตัวเอง รู้จัก Learned Optimism กอบกู้ความคิดความเชื่อว่าชีวิตไม่เคยไร้หวังอย่างสมบูรณ์ อย่างน้อยที่สุดหมาบางตัวที่กระโดดไปยังอีกฟากหนึ่งไม่ยอมให้โดนไฟฟ้าช็อตอีกต่อไป ก็เป็นข้อพิสูจน์ให้มนุษย์อย่างเราตระหนักในเรื่องนี้ได้ดีทีเดียว
ลองทดสอบมุมมองของคุณต่อสถานการณ์รอบตัวด้วย Learned Optimism Test สร้างขึ้นโดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ดัดแปลงจาก หนังสือ Learned Optimism: How to Change Your Mind and Your Life
References:
1. https://homepages.gac.edu/~jwotton2/PSY225/seligman.pdf
2. https://ppc.sas.upenn.edu/sites/default/files/learnedhelplessness.pdf
3. www.macmillanlearning.com/catalog/static/worth/bloom/content/psychquest/05/0504.htm