Political Conformity | สุดสุดไปเลย จะแรงสุดขั้วหรือยั่วยุสุดขีด ดูได้จากความสุดโต่งของกลุ่มการเมือง

ย้อนกลับไปหลายปีก่อน ช่วงที่กรุงเทพฯ เกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง จนมีการรวมกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อกดดันรัฐบาล แม่ของผมคือคนหนึ่งที่ตั้งใจไปเข้าร่วมการประท้วงในครั้งนั้น ผมเคารพการตัดสินใจของแม่ แต่แม่กลับไม่เคารพการตัดสินใจของผม ทำให้เราทั้งคู่ทะเลาะกันอย่างรุนแรงไม่ต่างกับความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนั้น

     ก่อนที่เราจะทะเลาะกัน ผมไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วอะไรคือฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้แม่ออกไปร่วมการชุมนุม (เพราะไม่เคยถามจนถึงตอนนี้) แต่ในตอนนั้นเคเบิลทีวีคือช่องทางเดียวที่แต่ละฝ่ายใช้ปลุกระดมความคิดและเน้นย้ำจุดยืนทางการเมืองกันอย่างเต็มที่ แล้วแม่ก็เสพแต่ข่าวเฉพาะฝ่ายที่ตนเองปักใจเชื่อ เป็นไปได้ว่าเนื้อหาจากข่าวสารอาจค่อยๆ เฉือนฟางเส้นนั้นของแม่ที่ละนิด จนขาดสะบั้นลงในที่สุด

     แม่รู้ดีว่าตัวเองกำลังคิดและทำอะไรอยู่ แล้วผมเองก็รู้เห็นมาโดยตลอด เพราะแม่ไม่เคยปิดบังอะไรผมเลย เราทั้งคู่เชื่อมั่นในหลักประชาธิปไตยก็จริง เพียงแต่ต่างกันที่การแสดงออก แม่ออกตัวประกาศจุดยืนทางการเมืองที่เลือกข้างไว้อย่างชัดเจน ทุกความคิดและการกระทำจึงเป็นไปในทิศทางที่สนับสนุนและตอกย้ำขั้วการเมืองที่เชื่อ จากที่เคยเปิดกว้างพูดคุยทุกประเด็นการเมืองกันได้เต็มที่ แม่เริ่มวิพากษ์วิจารณ์ขั้วตรงข้ามมากขึ้นเรื่อยๆ จนความคิดของแม่กลายเป็นความสุดโต่งในที่สุด

     จนถึงวันที่แม่ตัดสินใจว่าจะไปร่วมกลุ่มผู้ชุมนุม แม่บอกให้ผมช่วยทำป้ายที่มีทั้งข้อความสนับสนุนฝ่ายเดียวกันที่ชอบ และข้อความโจมตีฝ่ายตรงข้ามที่ชัง ผมตอบปฏิเสธทันที เพราะถ้าทำให้เท่ากับว่าผมคืออีกหนึ่งคนที่สนับสนุนความสุดโต่งนั้น ซึ่งผมไม่มีวันเห็นด้วยกับการกระทำของแม่ที่ใช้อารมณ์เป็นที่ตั้งมากกว่าเหตุผล ผมจำได้ดีว่าทำให้แม่โกรธจัด วันนั้นจึงเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่เราทั้งคู่ทะเลาะกันรุนแรง และกว่าจะปรับความเข้าใจกันได้ก็ต้องใช้เวลาอยู่นานพอสมควร

 

ขั้วการเมืองจากฐานความคิดคู่ตรงข้ามกับการเปิดกว้างและเปิดรับ

     สาเหตุที่นำความขัดแย้งระหว่างผมกับแม่มาบอกเล่าให้ฟังก็เพราะต้องการชี้ให้เห็นว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เราปักใจเชื่อในจุดยืนทางการเมืองที่เลือก หรือตอบตัวเองได้ชัดเจนแล้วว่ามีความคิดความอ่านไปในทิศทางไหน ลิเบอรัล (Liberal) คอนเซอร์เวทีฟ (Conservative) หรือจุดยืนอื่นใดอย่างไม่ลืมหูลืมตา เมื่อนั้นเรามีสิทธิ์ที่จะตกหลุมพรางความคิดของตัวเองได้เสมอ ทำให้กลายเป็นคนที่ขับเคลื่อนด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล แสดงออกถึงความเชื่อนั้นอย่างสุดโต่ง จนไม่สามารถแยกแยะและเปิดใจรับฟังความเห็นต่างอื่นๆ ได้เหมือนก่อนหน้านี้

     ความจริงแล้ว ในสังคมประชาธิปไตยเปิดกว้างให้กับความคิดเห็นที่แตกต่างและหลากหลาย ทุกคนมีเสรีภาพ และความเท่าเทียมกันที่จะแสดงออกในจุดยืนที่ตัวเองเลือก การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองจึงเป็นกลไกปกติอย่างหนึ่งในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบ่งขั้วการเมืองจากฐานความคิดคู่ตรงข้าม (binary opposition) ระหว่างลิเบอรัลและคอนเซอร์เวทีฟ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงปรากฏการณ์ทางสังคมเท่านั้น แต่หมายรวมถึงมุมมอง วิธีคิด และแนวทางการใช้ชีวิตของแต่ละคนเพื่อให้สอดคล้องกับความเชื่อนั้นๆ

     นึกย้อนกลับไปตอนผมที่ทะเลาะกับแม่ ผมบอกตัวเองว่าจะไม่มีทางเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่เอาแต่ใจแบบนั้น แต่ในเมื่อมนุษย์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราในวันนี้ไม่เหมือนกับวันก่อน แล้วเราในวันพรุ่งนี้ก็ไม่แน่นอนว่าจะเป็นอย่างไร การรู้เท่าทันตัวเองและความเป็นไปของสังคมรอบตัวจึงอาจเป็นหนทางที่ช่วยดึงสติไม่ให้เราก้าวเดินตกหลุมพรางความคิดสุดโต่งไร้เหตุผลจากขั้วการเมืองที่เราเชื่อได้

     โดยทั่วไป ขั้วตรงข้ามระหว่างลิเบอรัล และคอนเซอร์เวทีฟ มีลักษณะหนึ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือ การเปิดกว้างและเปิดรับ (openness) คนที่เปิดตัวเองมากๆ กล้าลองผิดลองถูก ชื่นชอบความแปลกใหม่ท้าทาย มีแนวโน้มจะเป็นลิเบอรัล ส่วนคนที่ไม่ค่อยเปิดตัวเอง พึงพอใจและคุ้นเคยกับสิ่งเดิมมากกว่าการเปลี่ยนแปลง จะมีแนวโน้มเป็นคอนเซอร์เวทีฟ ประกอบกับมนุษย์เป็นสัตว์สังคม คนที่มีความสนใจเหมือนกัน (ซึ่งในบริบทนี้คือจุดยืนทางการเมือง) ก็จะดึงดูดกันและกันโดยธรรมชาติ จนรวมเข้าเป็นกลุ่มสังคม สิ่งที่เกิดตามมาคือจะเกิดการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเฉพาะภายในกลุ่มเท่านั้น เพื่อตอกย้ำความเชื่อที่ทุกคนยึดถือร่วมกัน และเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มได้ แล้วทุกคนในกลุ่มก็จะค่อยๆ ปิดตัวเองโดยไม่รู้ตัว กลุ่มลิเบอรัลที่เคยเปิดรับความเห็นต่าง กลับกลายเป็นว่าไม่เปิดกว้างอีกต่อไป เกิดเป็นความสุดโต่งทั้งทางความคิดและพฤติกรรม (group polarization) ไม่ต่างจากกลุ่มคอนเซอร์เวทีฟ ซึ่งไม่นิยมเปิดกว้างแต่แรก ก็จะยิ่งรักษาความเชื่อของตัวเองต่อไป พยายามคงไว้ซึ่งสภาพเดิมมากที่สุด และนานที่สุด

 

จากอิทธิพลของกลุ่ม สู่ความสุดโต่งทั้งความคิดและพฤติกรรม

     กลุ่ม (conformity) กลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมมากกว่านิสัยหรือความเชื่อดั้งเดิมของคนเราเสียอีก ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมแม่ถึงกล้าแสดงออกทางการเมืองมากขนาดนั้น เพราะแม่มีกลุ่มเพื่อนที่คิดและเชื่อในสิ่งเดียวกัน แล้วพวกเขาทั้งหมดก็ออกไปร่วมกลุ่มชุมนุมทางการเมืองด้วยกัน

     ในปี ค.ศ. 1969 สแตนลีย์ มิลแกรม (Stanley Milgram) นักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกัน ได้พิสูจน์ให้เห็นว่ากลุ่มมีอิทธิพลจริง ผ่านการทดลองทางสังคมในมหานครนิวยอร์กที่คราคร่ำไปด้วยผู้คนเดินขวักไขว่ เขาให้หน้าม้าจำนวนหนึ่งหยุดเดินแล้วยืนเงยหน้ามองขึ้นไปยังหน้าต่างชั้นหกของอาคารธรรมดาอาคารหนึ่ง จากนั้นคอยสังเกตคนที่เดินผ่านไป ผลปรากฏว่ามีคนทั่วไปจำนวนหนึ่งหยุดเดินและมองดูตาม ยิ่งมีหน้าม้ามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีคนทำตามมากเท่านั้น

 

 

     นี่คืออิทธิพลของกลุ่มทั่วไป เมื่อเราเข้าไปอยู่ในกลุ่มแล้ว เรามีแนวโน้มทำตามคนในกลุ่ม แต่สำหรับกลุ่มเฉพาะซึ่งรวมคนที่มีความคิดความเชื่อเรื่องเดียวกัน อิทธิพลของกลุ่มจะยิ่งทำให้เกิดความสุดขั้วสุดโต่งมากกว่าเดิม ซึ่งปรากฏการณ์นี้สามารถอธิบายได้ดีในเรื่องการบ้านการเมือง

     ในปี ค.ศ. 1970 เดวิด ไมเออร์ (David Myers) และ จอร์จ บิชอป (George Bishop) ได้ออกแบบการทดลองโดยให้นักศึกษาทำแบบประเมินทัศนคติการเหยียดสีผิว จากนั้นแบ่งนักศึกษาออกเป็นสามกลุ่มตามระดับทัศนคติเหยียดสีผิวมาก ปานกลาง และน้อย แล้วให้ทั้งสามกลุ่มพูดคุยกันเรื่องเชื้อชาติและสีผิว เมื่อคุยจบนักศึกษาทุกคนจะได้ทำแบบประเมินใหม่อีกรอบ ผลที่ได้ยืนยันว่า กลุ่มที่มีแต่นักศึกษาทัศนคติเหยียดสีผิวมาก หลังคุยกันเสร็จจะมีทัศนคติที่แย่ลงกว่าเดิม ส่วนกลุ่มที่มีทัศนคติเหยียดสีผิวน้อย หลังคุยเสร็จมีทัศนคติที่ดีขึ้นกว่าเดิม

     นี่คืออิทธิพลของกลุ่มเฉพาะที่มีความสุดโต่ง เกลียดใครก็จะยิ่งเกลียดมากขึ้นไปอีก คลั่งไคล้ใครก็จะยิ่งคลั่งไคล้มากขึ้นกว่าที่เคย แล้วในท้ายที่สุดความสุดโต่งนี้ก็จะก่อให้เกิดปัญหาและความวุ่นวายตามมา เพราะคนในกลุ่มจะถูกลดความเป็นตัวตนลง (deindividuation) ทำให้ความสามารถในการคิดและไตร่ตรองต่อการกระทำลดลงตามไปด้วย เมื่ออารมณ์อยู่เหนือเหตุผล คนจึงกล้าแสดงพฤติกรรมรุนแรง และจะรุนแรงมากขึ้นไปอีกถ้าอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหานี้ คือเพิ่มการตระหนักรู้ในตัวเองไม่ให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มมากเกินไป

     แต่แนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่ลงรอยกันระหว่างความคิดทางการเมืองที่แบ่งข้างสุดขั้ว อาจต้องเริ่มต้นด้วยการออกมายืนนอกกลุ่มที่ฝักใฝ่เสียก่อน (ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย) เพราะหากยังยืนอยู่ในกลุ่มเดิมแล้วโจมตีฝ่ายตรงข้ามต่อไปเรื่อยๆ ก็ไร้ความหมายใดๆ การยิ่งปักใจเชื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะทำให้เกิดความเอนเอียง (bias) เชื่อแต่สิ่งนั้น จนกระทั่งไม่รู้ความผิดชอบชั่วดี ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับค่านิยมทางศีลธรรม (moral values)

 

ค่านิยมทางศีลธรรม หลักการพื้นฐานเพื่อความเข้าใจทุกกลุ่มทุกขั้ว

     โจนาธาน เฮดต์ (Jonathan Haidt) นักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกัน ได้ศึกษาเรื่องค่านิยมทางศีลธรรมพื้นฐานที่เกี่ยวกับการตัดสินใจเลือกขั้วการเมือง เขาชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ทุกคน ทุกสังคมมีระดับศีลธรรมเป็นของตัวเองซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐาน 5 ประการคือ ความปลอดภัย ความเท่าเทียม ความจงรักภักดีต่อกลุ่ม ความเคารพนับถือ และความสะอาดบริสุทธิ์ ซึ่งแต่ละคนจะปรับเลือกพื้นฐานค่านิยมทางศีลธรรมเหล่านี้ให้เหมาะสมกับตัวตน และเมื่อนำมาวิเคราะห์เข้ากับขั้วตรงข้ามทางการเมือง จะพบว่าลิเบอรัลให้ความสำคัญกับศีลธรรมด้านความปลอดภัย และความเท่าเทียม ขณะที่คอนเซอร์เวทีฟให้ความสำคัญกับความจงรักภักดีต่อกลุ่ม ความเคารพนับถือ และความสะอาดบริสุทธิ์

     โดยหลักการพื้นฐานตรงนี้จะทำให้เข้าใจที่มาที่ไปของความคิดความเชื่อที่แต่ละฝ่ายยึดถือ ซึ่งสังคมประชาธิปไตยเองก็ต้องการศีลธรรมทุกข้อที่ผสมปะปนอยู่ในคนทุกแบบ เราจึงไม่สามารถสรุปตัดสินใครได้เลย เราต้องให้น้ำหนักกับรากฐานศีลธรรมเหล่านี้เพื่อช่วยถ่วงดุลกันและกันไม่ให้สุดโต่งเกินไป แต่ในชีวิตจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ต่างคนต่างหมกมุ่นในจุดยืนที่ตัวเองเชื่อ หลายคนกดไลก์เพจที่นำเสนอความคิดความเชื่อเดียวกัน หลายคนเสพข่าวเฉพาะฝ่ายที่เลือกข้าง หลายคนคอมเมนต์ชื่นชมคนในฝ่าย และด่าทอฝ่ายตรงข้ามอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ปัญหาเก่าๆ ก็ยังคงวนเวียนไม่รู้จบสิ้น

 

     ในตอนนั้นผมไม่เคยหวังให้แม่เห็นพ้องต้องกันกับผม หรือผมต้องเปลี่ยนไปเห็นด้วยกับสิ่งที่แม่ทำทุกประการ แต่ผมหวังแค่ให้แม่ก้าวออกจากเส้นกรอบความคิดความเชื่อสุดโต่งของกลุ่ม เปิดกว้างรับความต่างด้วยความเข้าใจ และมีเหตุผลในการกระทำมากขึ้น

     วันเวลาผันผ่าน ทุกอย่างแปรเปลี่ยนไปไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ทุกวันนี้แม่ก้าวออกมาอยู่นอกกรอบความคิดสุดโต่งนั้นโดยสมบูรณ์ อดีตกลายเป็นบทเรียนที่คอยย้ำเตือนบางสิ่งบางอย่างในใจของคนที่ริเริ่มมองต่างมุม ผมกับแม่เคารพในจุดยืนของกันและกัน เราพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อประเด็นการเมืองที่เกิดขึ้นกันอีกครั้ง โดยเฉพาะนโยบายแต่ละพรรคและการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคมนี้ ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนพูดอะไรไปแม่คงไม่ทนฟัง

     การเปลี่ยนแปลงอาจต้องใช้เวลา และมนุษย์ทุกคนเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เสมอ อยู่ที่ว่าเราจะยอมรับความหลากหลายและใจกว้างมากแค่ไหนเท่านั้นเอง

 


References:

www.ted.com/talks/jonathan_haidt_on_the_moral_mind/details

https://en.m.wikipedia.org/wiki/Conformity

https://courses.lumenlearning.com/waymaker-psychology/chapter/conformity-compliance-and-obedience

https://courses.lumenlearning.com/waymaker-psychology/chapter/group-behavior