Post-Election Stress Disorder

Post-Election Stress Disorder | คุณคิดว่า ‘โรคเครียดหลังเลือกตั้ง’ เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง?

ในปี 2017 เมื่อผลการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาออกมาชัดเจนแล้วว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาทันทีคือ คนอเมริกันส่วนหนึ่งประสบกับมวลความรู้สึกผิดหวังอย่างรุนแรงกับการเลือกตั้ง เพราะผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่ใจของพวกเขาคาดคิดไว้ ทำให้คนจำนวนมากคิดไม่ตกกับความไม่แน่นอนของสถานะพลเมืองและความเป็นไปของชีวิตในอนาคต

 

ทั้งหมดนี้สร้างความกระวนกระวายใจเป็นอย่างมากกับคนอเมริกันที่กำลังจะกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายและแนวทางบริหารประเทศของโดนัลด์ ทรัมป์ จึงทำให้ตกอยู่ในสภาพป่วยการเมือง เกิดความเครียดและอาการหวั่นวิตกหลังเลือกตั้ง ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างตรงไปตรงมาว่า Post-Election Stress Disorder หรือ PESD
ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความจ้อจี้ของแวดวงจิตเวชในบรรยากาศการเมืองจากอาการป่วยการเมือง และประเด็นเรื่องชื่อโรคที่เกือบสร้างความเข้าใจผิดๆ ให้คนอเมริกันมาแล้ว

 

ถ้าคุณคิดว่าชื่อโรค Post-Election Stress Disorder เป็นเรื่องจริง คุณคิด…

     Post-Election Stress Disorder เป็นชื่อเรียกอาการเครียดที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ได้ไม่นาน ในช่วงที่สหรัฐอเมริกากำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี แม้จะไม่ปรากฏที่มาแน่ชัด แต่ Post-Election Stress Disorder ได้รับความสนใจอีกครั้งเมื่อ Thomas Plante ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและจิตเวช เขียนถึงอาการนี้ในบทความของเขาเรื่อง Post-Election Stress Disorder: Is It a Thing? และเผยแพร่บนเว็บไซต์ Psychology Today เพื่อใช้อธิบายอาการเครียดที่กำลังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางกับคนอเมริกันทั่วสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผลมาจากบรรยากาศการเมืองหลังการเลือกตั้งในขณะนั้น

     นอกจากนี้รายละเอียดในบทความยังมีการอ้างอิงถึงผลสำรวจของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) โดยยืนยันว่าคนอเมริกันมีระดับความเครียดเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงสิบปีหลังที่ผ่านมา พร้อมทั้งระบุด้วยว่าความเครียดเหล่านี้มีสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ซึ่งในท้ายที่สุดจะส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

     รวมถึงมีสำนักข่าวในสหรัฐอเมริกาหลายแห่งเริ่มพูดถึง Post-Election Stress Disorder ว่าเป็นโรคที่กำลังเป็นประเด็นในสังคม เพราะคนอเมริกันจำนวนหนึ่งประสบกับโรคเครียดนี้หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศชัยชนะ กลายเป็นว่าข้อมูลเหล่านี้ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า Post-Election Stress Disorder เป็นโรคเครียดประเภทหนึ่งที่พวกเข้าอาจกำลังประสบกับภาวะนี้อยู่

     หลังจากนั้นไม่กี่วัน American Council on Science and Health ออกมายืนยันว่า Post-Election Stress Disorder ไม่ใช่ชื่อโรค ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน Philip Levendusky ผู้อำนายการแผนกจิตวิทยา และ Ellen Slawaby จิตแพทย์ จากโรงเรียนการแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ต่างออกมาชี้แจงในทิศทางเดียวกันว่า Post-Election Stress Disorder เป็นชื่อโรคที่ไม่มีอยู่จริง รวมถึงแสดงความคิดเห็นว่าการพยายามตั้งชื่อโรคขึ้นมาใหม่โดยอิงกับสถานการณ์ที่สังคมกำลังให้ความสนใจเช่นนี้เป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลเท่าไร เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดๆ ได้

     สำหรับการวินิจฉัยโรคในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับความเครียด จิตแพทย์จะอ้างอิงเกณฑ์มาตรฐานการวินิจฉัยจาก 2 ระบบเท่านั้น คือ International Classiffiication of Diseases and Related Health Problem, 10th Revision (ICD-10) โดยองค์การอนามัยโลก เฉพาะบทที่ 5 ว่าด้วยความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรม และ Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, 5th Edition (DSM-5) โดยสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (American Psychiatric Association) ซึ่งเกณฑ์การวินิจฉัยโรคทั้งคู่ไม่ได้รับรองโรค Post-Election Stress Disorder ให้อยู่ในระบบ

     ดังนั้น หากใครก็ตามเชื่อว่าโรคเครียดหลังเลือกตั้งเป็นเรื่องจริง คุณคิดผิด… แต่ไม่ทั้งหมด เพราะอาการเครียดจากการเมืองนั้นมีอยู่จริง เพียงแต่เป็นภาวะที่อธิบายภาพรวมทั่วไปไม่ได้เจาะจงว่าจำเป็นต้องเกิดขึ้นเฉพาะหลังจากเลือกตั้งแล้วเท่านั้น

 

Political Stress Syndrome คนป่วยการเมือง เพราะการเมืองป่วยๆ

     โดยปกติ ‘การเมือง’ เป็นเรื่องที่ชวนคิดหนักอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเป็นการเมืองที่มีปัญหาและความขัดแย้งเกิดขึ้น ก็ยิ่งทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องมีความกังวลใจอยู่ภายใน โดยเฉพาะประชาชนที่รับรู้เหตุบ้านการเมืองตลอดเวลา หากหมกมุ่นเกินพอดี จะทำให้เกิดความเครียดสะสมจนสามารถเรียกได้ว่า ‘ป่วยการเมือง’

      อาการป่วยการเมืองนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Political Stress Syndrome (PSS) ซึ่งไม่ใช่โรคที่เกิดจากปัญหาทางสุขภาพจิต แต่ใช้เรียกกลุ่มอาการเครียดที่เป็นผลมาจากปฏิกิริยาด้านอารมณ์และการใช้ความคิดในหมู่คนที่มีความตื่นตัวหรือมีความสนใจในด้านการเมืองมากเป็นพิเศษ อาจเป็นคนที่มีความเอนเอียง หรือคนที่มีความคิดสุดโต่งทางการเมือง จนทำให้เกิดความวิตกกังวลถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคต (Anticipatory Anxiety) เพราะคาดการณ์ไม่ได้ว่าวันต่อๆ ไป ทิศทางการเมืองจะเป็นอย่างไร แล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับฝ่ายที่ตนเชียร์อยู่ ความกระวนกระวายใจจากเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดคะเนได้เหล่านี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิดความเครียดที่แสดงอาการออกมาทั้งทางร่างกาย ความรู้สึกนึดคิด รวมถึงปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ด้วย

 

     สำหรับคนไทย อุบัติการณ์หรือความเสี่ยงที่คนไทยจะประสบกับอาการป่วยการเมือง (Political Stress Syndrome) คือ 1 ใน 4 คน แสดงว่ารอบตัวเราเต็มไปด้วยคนที่กำลังเคร่งเครียดกับการเมือง ยิ่งไปกว่านั้นคนที่เป็นนักการเมือง คนที่สนับสนุนขั้วอำนาจทางการเมือง คนที่ติดตามการเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดจากข่าวสารและผู้ชุมนุมทางการเมือง หรือคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้ว คนเหล่านี้จะมีความเสี่ยงเป็น Political Stress Syndrome มากกว่าคนปกติทั่วไป

     สำหรับอาการป่วยการเมืองที่จะเกิดขึ้น แบ่งออกเป็น 3 ด้านหลักๆ คือ

     ด้านแรก อาการที่แสดงออกผ่านร่างกาย เช่น ปวดหัว รู้สึกตึงบริเวณขมับและต้นคอ ปวดกล้ามเนื้อ รู้สึกตึงบริเวณแขนและขา หรือรู้สึกชาตามร่างกาย เริ่มมีปัญหาเรื่องการนอน เพราะไม่หลับ หลับไม่เต็มอิ่ม หลับๆ ตื่นๆ หรือหลับแล้วตื่นขึ้นมากลางดึงและไม่สามารถข่มตาให้หลับต่อได้ ร่างกายเริ่มอ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หายใจได้ไม่เต็มปอด

     ด้านที่สอง เป็นอาการทางใจ เช่น ฟุ้งซ่าน ไม่มีสมาธิ ครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา วิตกกังวลง่าย หงุดหงิดง่าย ฉุนเฉียวและก้าวร้าวขึ้น บางครั้งรู้สึกเบื่อหน่าย ท้อแท้ และสิ้นหวังราวกับชีวิตเต็มไปด้วยทางตัน ซึ่งอาจนำไปสู่อาการซึมเศร้าได้

     ด้านที่สาม การแสดงออกทางพฤติกรรมเริ่มมีปัญหา เช่น มีการโต้เถียงเรื่องการเมืองอย่างรุนแรงกับคนอื่นๆ รวมถึงคนที่เคยมีความสัมพันธ์ที่ดีมาก่อนอย่างคนในครอบครัว เพื่อนฝูง และคนที่ทำงาน หากมีความคิดเห็นทางการเมืองต่างกัน รู้สึกอยากเอาชนะ ยับยั้งช่างใจตัวเองไม่ได้ ถึงขนาดสามารถทำร้ายร่างกาย สุดท้ายจะทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานกับทุกคน ไม่มีใครอยากคบหาด้วย

 

จะทำอย่างไรดี ถ้าตกอยู่ในความเสี่ยงป่วยการเมือง

     ในเมื่ออาการป่วยการเมืองเกิดขึ้นเพราะเอาตัวเองเข้าไปข้องเกี่ยวกับการเมืองมากเกินพอดี ดังนั้น วิธีพื้นฐานที่สุดที่จะแก้ไขหรือบรรเทาอาการเครียดได้ คือการนำตัวเองออกมาก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ความเครียดมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งสมาคมจิตวิทยาอเมริกันได้แนะนำแนวทางรับมือกับอาการป่วยการเมืองไว้ ดังนี้

     1. เสพข่าวสารการเมืองอย่างพอดี รู้ขีดจำกัดของตนเอง ควรรับรู้ข้อมูลที่สะท้อนความคิดหมายมุมมอง และนำเสนอแนวทางแก้ไข หลีกเลี่ยงข่าวที่นำเสนอข้อมูลด้านเดียวหรือมุ่งโจมตีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะจะเป็นการเร้าอารมณ์ให้เกิดความเครียดมากขึ้น

     2. เปิดใจรับฟังด้วยเหตุและผล ลดการโต้แย้งหรือการปะทะที่เกิดขึ้นจากความเชื่อฝังใจของขั้วการเมืองที่ตนเองยึดถือ ยอมรับและเคารพความเห็นต่างอย่างสร้างสรรค์ ค่อยๆ ปรับความคิดและทัศนคติทางการเมืองเข้าหากัน เพราะการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า จะทำให้ความไม่เข้าใจหรือความขัดแย้งที่มีอยู่แต่เดิมไม่ได้รับการแก้ไข และเป็นปัญหาต่อไปไม่จบสิ้น

     3. หันมาใส่ใจดูแลตัวเอง ฝึกวิธีผ่อนคลาย ทำสมาธิ ทำจิตใจให้สงบ ตระหนักรู้ความคิด ความรู้สึก และการกระทำของตัวเอง บริหารเวลาให้เหมาะสม ทำงานอดิเรก ออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาที่สนใจ อาจชวนคนอื่นมาทำกิจกรรมด้วย เพื่อสานสัมพันธ์ให้ดีขึ้น

     โดยทั่วไปอาการป่วยการเมืองหรือ Political Stress Syndrome เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และจะบรรเทาลงจนหายไปเองเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย แต่ถ้ารู้สึกว่าความเครียดที่เกิดขึ้นเริ่มส่งผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวัน และมีอาการยาวนานกว่า 1 สัปดาห์ ควรเข้าพบจิตแพทย์ทันที เพื่อขอคำปรึกษาและวิธีเยียวยาอาการป่วยการเมือง ก่อนที่ทุกอย่างจะรุนแรงหรือเลวร้ายลงไปมากกว่านี้

 

     สำหรับผู้อ่านที่ต้องการประเมินความเครียดเบื้องต้นด้วยตัวเอง สามารถทำแบบประเมินออนไลน์ได้ที่ แบบประเมินความเครียด (ST5) จัดทำโดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารสุข

 


References: