จะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต? ถ้าวันหนึ่งวันใดเรามองเห็นความผิดแปลกบางอย่างเกิดขึ้นบนใบหน้าคนอื่นๆ รวมถึงใบหน้าของตัวเองด้วย (หากส่องกระจก) เพราะตำแหน่งของตา จมูก และปาก ต่างสลับที่ผิดเพี้ยนไปหมด หรือไม่ก็มองเห็นเพียงแค่ใบหน้าโล่งโล้นไร้อวัยวะ เป็นภาพพร่าเลือนราวกับว่าตกอยู่ในภวังค์ของความฝันและจินตนาการ จนต้องรีบยกมือขึ้นมาจับหน้าตาตัวเองทันที เพื่อยืนยันระหว่างภาพลวงที่เห็นกับสภาพใบหน้าจริงที่เป็นอยู่ ซึ่งจะพบว่าทุกอย่างบนหน้ายังคงปกติดี ความขัดแย้งอันแปลกประหลาดระหว่างใบหน้าจริงกับใบหน้าที่มองเห็นเหล่านี้ เป็นผลลัพธ์จากความผิดปกติและความเสียหายของสมอง ซึ่งเราเรียกภาวะนี้ว่า Prosopagnosia
Prosopagnosia หรือเรียกอีกอย่างว่า Face Blindness คือความบกพร่องของสมองในการประมวลผลและแปลความหมายภาพใบหน้าที่ตารับรู้ เป็นภาวะสูญเสียการจดจำใบหน้าอย่างสมบูรณ์ ถึงแม้ว่าดวงตาจะไม่ได้บอด เพราะมองเห็นทุกสรรพสิ่งได้ปกติเหมือนเดิม ยกเว้นเพียงแต่ใบหน้าเท่านั้นที่กลับกลายเป็นภาพปริศนา ทำให้ไม่สามารถแยกแยะหรือระบุตัวตนคนอื่นๆ ได้ถูกต้องชัดเจนจากการมองหน้าเพียงอย่างเดียว คนที่ประสบกับภาวะ Prosopagnosia จะไม่รู้เลยว่าใครเป็นใคร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก เพราะต้องสร้างระบบจดจำคนใหม่ทั้งหมดเป็นของตัวเอง โดยอาศัยลักษณะเฉพาะตัวอื่นๆ ของแต่ละคนแทน เช่น น้ำเสียง รูปร่าง ท่าทาง ทรงผม และการแต่งตัว
ภาพจาก: Perceptual face processing in developmental prosopagnosia is not sensitive to the canonical location of face parts (2016)
ยาวนานนับร้อยปี กว่าโลกจะรู้ว่ามีโรค Prosopagnosia
แรกเริ่มเดิมที่ในประวัติศาสตร์การแพทย์ยังไม่มีการบัญญัติชื่ออย่างเป็นทางการไว้เรียกความบกพร่องนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความรู้เรื่องการทำงานของระบบประสาทและสมองในขณะนั้นมีอยู่อย่างจำกัด ประกอบกับในอดีตยังไม่มีการศึกษาผู้ป่วยโรคนี้อย่างจริงจัง ทำให้ไม่มีใครระบุสาเหตุและอาการเฉพาะของ Prosopagnosia ได้ ซึ่งนำไปสู่การวินิจฉัยผิดพลาดว่าเป็นเพียงอาการหลงลืมทั่วไปเท่านั้น จนกระทั่งเข้าช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 แพทย์และนักประสาทวิทยาเริ่มให้ความสนใจอาการเหล่านี้มากขึ้น โดยสันนิษฐานจากรายงานการรักษาของผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลของพวกเขา
รายงานแรกของโลกที่เกี่ยวข้องกับ Prosopagnosia (ในตอนนั้นยังไม่มีใครรู้ว่าเป็นโรค) ปรากฏอยู่ในส่วนหนึ่งของหนังสือ A new view of insanity: the duality of the mind proved by the structure, functions, and diseases of the brain, and by the phenomena of mental derangement and shown to be essential to moral responsibility เขียนโดย Arthur Ladbroke Wigan แพทย์ทั่วไป (General Practitioner) ชาวอังกฤษ ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1844 ซึ่งได้บรรยายอาการของคนไข้เพศชายรายหนึ่งผ่านการสังเกตไว้ว่า หลังจากคนไข้ได้พูดคุยกับคนอื่นๆ ร่วมชั่วโมง เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน ปรากฏว่าคนไข้จำหน้าคนที่เคยมีปฏิสัมพันธ์ไม่ได้เลย แม้แต่เพื่อนของตัวเอง
ต่อมาในปี ค.ศ. 1867 Antonio Quaglino และ Giambattista Borelli จักษุแพทย์ชาวอิตาเลียนทั้งสองคนนี้ ร่วมกันศึกษาอาการเส้นเลือดในสมองแตกของชายวัย 54 ปี ซึ่งทำให้เกิดแผลหรือรอยโรคในสมอง (brain lesions) ซีกขวา จากนั้นไม่นานผู้ป่วยกลายเป็นคนจดจำหน้าตาคนอื่นไม่ได้และเริ่มมีปัญหาการมองเห็นอื่นๆ ตามมา พวกเขาจึงเชื่อว่าปัญหาเหล่านี้เป็นผลมาจากแผลในสมองจริง เพียงแต่ยังไม่แน่ใจเรื่องตำแหน่งของแผลว่ามีความเกี่ยวข้องกับอาการต่างๆ มากน้อยแค่ไหน
เวลาผ่านไปเกือบสิบปี ในที่สุด John Hughlings Jackson นักประสาทวิทยาชาวอังกฤษทำเรื่องนี้ให้ชัดเจนมากขึ้น จากการศึกษาความผิดปกติของคนไข้หญิงรายหนึ่งในปี ค.ศ. 1876 ซึ่งเกิดความสับสนระหว่างลูกสาวกับหลานสาว เพราะแยกแยะไม่ได้ว่าใครเป็นใคร เขาเรียกอาการป่วยของคนไข้รายนี้ว่า imperception หรือการไม่สามารถตระหนักรู้ถึงบางสิ่งบางอย่าง และมีสาเหตุมาจากตำแหน่งของเนื้อสมองบนสมองซีกขวาที่ผิดปกติไป ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการชี้ชัดตำแหน่งความผิดปกติในสมองกับอาการป่วยที่แสดงออกของคนไข้
หลังจากนั้นยังคงมีรายงานอาการลืมใบหน้าเรื่อยๆ เช่น ปี ค.ศ. 1883 Jean Martin Charcot นักประสาทวิทยาชาวฝรั่งเศส ได้เขียนบันทึกถึงผู้ป่วยชายคนหนึ่งว่า พยายามจะจับมือ (shake hands) กับชายอีกคนหนึ่ง โดยที่คนไข้ไม่รู้ว่าชายคนนั้นคือตัวเขาเองที่ส่องสะท้อนกระจกเงา หรือบางครั้งก็กล่าวขอโทษที่ยืนขวางทางกับเงาของตัวเองในกระจก แต่คนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้กับโรค Prosopagnosia คือนักประสาทวิทยาชาวเยอรมันชื่อ Joachim Bodamer
ภาพจาก: www.prosopagnosia.de/Beschreibung_eng.html
ในปี ค.ศ. 1947 เขาได้สร้างคำว่า Prosopagnosia ขึ้นมาจากภาษากรีกโบราณ คือ prosopon (หมายถึง face หรือใบหน้า) และ agnosia (หมายถึง not knowing หรือไม่รู้) เพื่อใช้นิยามอาการสูญเสียการจดจำใบหน้าของทหารอายุ 24 ปีนายหนึ่ง ซึ่งเกิดจากสมองซีกขวาส่วนรอยนูนรูปกระสวยที่คอยทำหน้าที่แปลผลการรับรู้ใบหน้า (fusiform gyrus หรือ fusiform face area) ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจากลูกกระสุนระหว่างออกรบในสงครามโลกครั้งที่สอง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาโลกจึงได้รู้จักกับโรค Prosopagnosia อย่างเป็นทางการ
เอ๊ะ! ใช่หรือไม่ใช่ ลืมใบหน้าแบบไหนที่เข้าข่าย Prosopagnosia
โดยทั่วไปภาวะบอดใบหน้าจากโรค Prosopagnosia แบ่งออกเป็น 2 แบบด้วยกัน แบบแรกเป็นภาวะบอดใบหน้าตั้งแต่กำเนิด เนื่องจากมีความผิดปกติในช่วงพัฒนาการ (Developmental Prosopagnosia) ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการจดจำใบหน้าตลอดชีวิต และแบบที่สองเป็นภาวะบอดใบหน้าที่เกิดขึ้นภายหลัง (Acquired Prosopagnosia) เป็นผลมาจากความเสียหายของสมองจากโรคและอุบัติเหตุ ซึ่งแบ่งออกเป็นอีก 2 แบบ คือ Apperceptive Prosopagnosia ผู้ป่วยจะไม่สามารถประมวลภาพใบหน้าจากการมองเห็นได้เลย ไม่ว่าจะเป็นใบหน้าของใครก็ตามทั้งคนใกล้ชิด คนแปลกหน้า หรือคนดังก็ตาม ทำให้ผู้ป่วยต้องอาศัยลักษณะเฉพาะอื่นๆ มาช่วยจดจำคนแทน เช่น เสียงพูด เสื้อผ้า ทรงผม ส่วนอีกแบบหนึ่งคือ Associative Prosopagnosia ผู้ป่วยจะไม่สามารถเชื่อมโยงระหว่างภาพใบหน้ากับข้อมูลของคนนั้นๆ ที่เก็บไว้ก่อนหน้านี้ หมายความว่าผู้ป่วยยังจะพอเปรียบเทียบความต่างของรูปภาพใบหน้าได้ว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง แต่ถ้าจะให้ระบุชัดเจนว่าคนในภาพเป็นใคร ชื่ออะไร มีอาชีพอะไร หรือพบครั้งล่าสุดเมื่อไหร่นั้นไม่สามารถบอกได้
จะสังเกตเห็นว่า Prosopagnosia ทุกรูปแบบมีสาเหตุมาจากความเสียหายของสมองส่วนรับรู้และแปลความหมายใบหน้า รวมถึงปัญหาพัฒนาการที่ผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถจดจำใบหน้าของคนได้เท่านั้น ขณะที่การรับรู้และแปลผลจากการมองเห็นสิ่งอื่นๆ รวมถึงการทำงานของระบบประสาทและสมองยังคงเป็นปกติเช่นเดิม ผู้ป่วย Prosopagnosia จึงสามารถแยกแยะวัตถุสิ่งของได้ อ่านหนังสือและเข้าใจความหมายได้ รวมถึงตัดสินใจและเลือกให้เหตุผลจากความสามารถในการเรียนรู้ได้ตามปกติ
ดังนั้น ถ้ายังสามารถมองเห็นหน้าคนอื่นและหน้าตัวเองไม่ผิดเพี้ยน เพียงแต่จำไม่ได้ นึกไม่ออกว่าคือใคร ซึ่งเป็นเพียงอาการหลงลืมใบหน้าของคนที่ไม่ได้เจอกันนาน อาจมีสาเหตุมาจากความทรงจำเท่านั้น จึงไม่นับอาการเหล่านี้ว่าเป็นโรค Prosopagnosia
ปัจจุบันแม้ว่าทางการแพทย์และประสาทจิตวิทยาจะพยายามค้นหาหนทางรักษาความบกพร่องของ Prosopagnosia แต่ก็ยังไม่มีใครพบวิธีรักษาโรคให้หายขาด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นกับส่วนสมอง ซึ่งไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติได้อีก
เขาเป็นใครหนอ เขามาจากไหน ภาพใบหน้าจำลองที่ผู้ป่วย Prosopagnosia มองเห็น
ถ้าคุณมีภาวะบอดใบหน้าจากโรค Prosopagnosia นี่คือภาพใบหน้าปริศนาของบุคคลสำคัญที่คุณจะมองเห็น ตอบได้ไหมว่าเขาเป็นใคร (เฉลยคำตอบท้ายบทความ)
(1)
(2)
(3)
(4)
(5)
แบบประเมินทางประสาทจิตวิทยาเพื่อการตรวจหาภาวะบอดใบหน้า
นอกจากการตรวจหาร่องรอยความผิดปกติบนสมองแล้ว การตรวจประเมินทางประสาทจิตวิทยา ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ใช้ประกอบการวินิจฉัยปัญหาการจดจำใบหน้าเนื่องจากโรค Prosopagnosia เช่น การให้ดูใบหน้าของบุคคลที่มีชื่อเสียงแล้วให้ระบุชื่อของบุคคลเหล่านั้น แม้ว่าวิธีนี้จะนิยมใช้กันแพร่หลายและสามารถทำได้ง่าย แต่ไม่ถือว่าเป็นวิธีที่ดีพอเพราะยังขาดมาตรฐานกลาง ดังนั้น ผลที่ได้จึงคลาดเคลือนไปตามภาพบุคคลที่เลือกมาทดสอบ
วิธีต่อมาคือ BFRT หรือ Benton Facial Recognition Test แบบทดสอบนี้จะตัดทรงผม เสื้อผ้า และพื้นหลังของรูปออกทั้งหมด คงไว้เพียงใบหน้าของคนเท่านั้น แต่ละข้อจะมีภาพใบหน้าเป้าหมาย กำหนดไว้ให้จับคู่กับภาพใบหน้าในตัวเลือกทั้งหก แต่วิธีนี้ก็มีข้อจำกัดเพราะไม่สามารถวัดภาวะบอดใบหน้าจากโรค Prosopagnosia ได้ทุกแบบ เพราะแต่ละแบบมีเงื่อนไขมองเห็นภาพใบหน้าต่างกันไปตามแต่สาเหตุ
Cambridge Face Memory Test จึงเป็นแบบทดสอบใหม่ล่าสุดที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อลดข้อจำกัดในการใช้งานของแบบทดสอบอื่นๆ ก่อนหน้านี้ โดยใช้หลักการจดจำและจับคู่ใบหน้าเช่นเดียวกัน เพียงแต่มีรายละเอียดในการทดสอบที่แตกต่างมากกว่า เพื่อผลการตรวจที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีนำมาใช้กับการตรวจทั่วไป เพราะแบบทดสอบนี้ยังต้องการพัฒนาต่อและผลการวิจัยอื่นๆ มาประกอบผลการตรวจ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและยืนยันได้ว่าเป็นแบบทดสอบที่มีมาตรฐานมากพอ
สำหรับผู้อ่านที่อยากประเมินความจำใบหน้า สามารถทดสอบออนไลน์ได้ที่ Face Memory Test พัฒนาโดย School of Psychology, The University of Western Australia
เฉลยคำตอบภาพใบหน้าบุคคลสำคัญปริศนา
(1) Albert Einstein (1947) ถ่ายโดย Orren Jack Turner / (2) Mona Lisa (1503–19) วาดโดย Leonardo da Vinci (3) Elvis Presley จากภาพยนตร์สารคดี Elvis Presley: The Searcher (HBO) / (4) Diana, Princess of Wales ถ่ายโดย Tim Graham / (5) Prayuth Chan-o-cha (2014) ถ่ายโดย Narong Sangnak
References:
1. https://prosopagnosiaresearch.org
4. https://en.m.wikipedia.org/wiki/Prosopagnosia
5. หนังสือ Origins of Neuroscience: A History of Explorations Into Brain Function โดย Stanley Finger
6. หนังสือ Sight Unseen: An Exploration of Conscious and Unconscious Vision โดย Melvyn Goodale, David Milner